เครือข่าย FTA ลองของ รธน.50 ยื่นผู้ตรวจการ ขอให้ศาลวินิจฉัย JTEPA ไม่สมบูรณ์

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

เครือข่าย FTA ลองของ รธน.50 ยื่นผู้ตรวจการ ขอให้ศาลวินิจฉัย JTEPA ไม่สมบูรณ์

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 นี้ เวลา 14.00 น. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ได้แก่ มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีที่คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลนานนท์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีผลใช้บังคับภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 โดยไม่ต้องเสนอสภานิติบัญญัติเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ และต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการยื่นหนังสือทางการทูตกับฝ่ายญี่ปุ่นไปแล้วนั้น

ในคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า (1) กรณีการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นเป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยให้ถือว่าการแสดงเจตนาผูกพันเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีผลเป็นโมฆะ (2) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่ามติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 ที่ไม่นำเสนอความตกลง JTEPA เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้มีหนังสือทางการทูตและแจ้งความพร้อมในการปฏิบัติตาม JTEPA ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย (3) ขอให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามมาตรา 190 ที่บัญญัติให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน ตามมาตรา 190 วรรค 2

ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายที่ยื่นคำร้องชี้แจงว่า การดำเนินการครั้งนี้ไปโดยมีเจตนารมย์เพื่อให้กระบวนการเจรจาและจัดทำความตกลงระหว่างประเทศของไทยเป็นไปตามหลักการและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 และไม่สร้างปัญหาซ้ำรอยเหมือนเช่นที่ผ่านมา

อนึ่ง รศ.ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล ผู้อำนวยการโครงการสถาบันศึกษากฎหมายเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจเมื่อฉบับวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การวินิจฉัยจะออกมาใน 2 แนวทาง คือ "ขัด" กับ "ไม่ขัด" รัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลชี้ว่าไม่ขัดมาตรา 190 ถือว่าความตกลง JTEPA สมบูรณ์พร้อมใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนทันที และหากมีผู้ทักท้วงหรือภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความตกลง ก็สามารถทำได้ 4 แนวทาง คือ 1)การทบทวนความตกลง (revise) 2)แก้ไขเปลี่ยนแปลงความตกลง (modification) 3)แก้ไขเพิ่มเติมความตกลง (amendment) และ 4)การทำให้ความตกลงสิ้นสุดลง (termination)

ส่วนในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า JTEPA เข้าข่ายมาตรา 190 และการดำเนินการของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ ย่อมหมายความว่า การดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายภายในตามข้อ 172 ของความตกลง JTEPA นั้นไม่ชอบ และทำให้การส่งหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตให้กับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมนั้น ไม่ชอบด้วย

"ในกรณีนี้รัฐไทยต้องรีบแจ้งให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่นทราบว่า การแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างกันก่อนหน้านี้ เป็นกระบวนการภายในที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบตามกฎหมายภายใน ตามสนธิสัญญากรุงเวียนนา รัฐไทยสามารถแจ้งให้คู่สัญญาทราบและกลับมาดำเนินการตามกฎหมายขั้นตอนภายในให้เรียบร้อยก่อนแสดงผลผูกพันตามความตกลงได้อีกครั้งหนึ่ง" ดร.ลาวัณย์กล่าว

ส่วนผลหลังจากนั้นอาจเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 2 ทางในกรณีที่ความตกลงเจเทปาต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ ในแนวทางที่หนึ่ง หาก สนช.ไม่เห็นชอบในข้อบทความตกลง การดำเนินการต่างๆ ที่ดำเนินไปแล้ว ก็จบ และไม่สามารถแสดงเจตนาผูกพันได้

แต่ถ้าในกรณีที่ สนช.เห็นชอบกับความตกลง ก็จะมีเห็นชอบทั้งหมด หรือเห็นชอบแต่ต้องแก้ไข ซึ่งการเห็นชอบทั้งหมดจะทำให้แสดงเจตนาผูกพันได้ แต่ถ้าเห็นชอบโดยต้องแก้ไข อาจต้องเจรจากันใหม่ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายญี่ปุ่นว่าจะยินยอมหรือไม่ รศ.ดร.ลาวัณย์ ให้สัมภาษณ์

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: