โลกาภิวัฒน์ 2550 : ปฏิรูปที่ดิน : กุญแจแก้ปัญหาพื้นฐานสังคมไทย

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

ข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระหว่างภาครัฐและคนจนไร้ที่ดิน โดย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย

ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาพื้นฐานที่ยืดเยื้อมานานในสังคมไทย ส่งผลไปถึงปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มว่า ปัญหานี้จะยิ่งทวีความซับซ้อน และส่งผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้น รุนแรงขึ้น ในโอกาสต่อไป

ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทย จะร่วมกันแสวงหาทางออก และผลักดันนโยบายปฏิรูปที่ดิน “ฉบับประชาชน” ที่หมายถึง “การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม” และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถึงรากถึงโคน และต่อไปนี้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้น

ภาพรวมปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในประเทศไทย  ความขัดแย้งระหว่างคนจนไร้ที่ดินและหน่วยงานภาครัฐ

 

ปัญหาพื้นฐาน

1)  ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่  เป็นพื้นที่ปาประมาณ 100 ล้านไร่  เป็นพื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่  ทรัพยากรที่ดินในประเทศไทยมีเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคนในประเทศ  ถ้าทรัพยากรที่ดินเหล่านี้จะมีการจัดสรร  แบ่งปัน  และกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม

2)  ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศคือ ประมาณ 90 % มีที่ดินถือครองแค่ไม่ถึง 1 ไร่  ในขณะที่ประชาชนกลุ่มเล็ก ที่เหลือ 10 % มีที่ดินถือครองคนละ มากกว่า 100 ไร่  ชี้ให้เห็นถึง ความเหลื่อมล้ำของสัดส่วนคนในสังคมไทยที่มีที่ดินน้อยและมีที่ดินมาก

3)  ข้อมูลจากการวิจัยของมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ปี 2544 พบว่า 70 % ของที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า  ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึง 50 %  ประเมินความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้านบาทต่อปี  ข้อมูลบ่งชี้ว่า  มีคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยถือครองที่ดินจำนวนมากไว้  โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร  หากเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร เป็นสินค้าเพื่อขายต่อ

4)  ในขณะที่ข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจนของกระทรวงมหาดไทยระบุว่า มีประชาชนมาลงทะเบียนว่าตนเองมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนับรวมได้ 4.2 ล้านปัญหา  แบ่งเป็นคนไม่มีที่ดินเลย 1.3 ล้านคน  มีที่ดินทำกินอยู่บ้างแต่ไม่พอทำกินแม้ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง 1.6 ล้านคน ขอเช่าที่ดินรัฐและครอบครองที่ดินรัฐอยู่ 3 แสนคน  รวมแล้วมีเกษตรกรและคนไร้ที่ดินในสังคมไทยทีมีปัญหาที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัว  ข้อมูลจากการสำรวจและการวิจัยเรื่องที่ดินจากทุกสถาบันโชว์ทุกครั้งว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่เกษตรกรทั่วประเทศเห็นว่าสำคัญและวิกฤตสำหรับเกษตรกรไทย  แต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ มีเพียงมาตรการสำรวจและศึกษาวิจัยต่อไป  โดยไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

รากฐานของปัญหา

1)  การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในสังคมไทยที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมในสังคม  แต่มุ่งเน้นการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้กับเอกชนและเกษตรกร  ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนไร้ที่ดินได้

2)  สังคมไทยไม่มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน  ใครรวยก็มีสิทธิซื้อที่ดินจำนวนเท่าไรมาถือครองไว้ก็ได้  จะซื้อครึ่งหรือค่อนประเทศก็ไม่มีใครจำกัดสิทธิได้  ในขณะที่คนจนจะสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินทำกินจำนวนกี่ล้านครอบครัวก็ได้   รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน

3)  สังคมไทยไม่มีกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า  ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่สำคัญที่จะทำให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากเอาไว้ และไม่ได้ใช้ประโยชน์  ต้องเสียภาษีที่ดินจำนวนมาก   ในระดับที่ไม่สามารถเก็บกักที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร   ต้องปล่อยขายที่ดินออกมา  ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถช้อนซื้อที่ดินเหล่านั้นไว้เพื่อนำมาปฏิรูปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ต้องการที่ดินทำกิน

4)  การปฏิรูปที่ดินของรัฐที่ผ่านมา   ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปี 2518 ที่ต้องการให้รัฐใช้อำนาจและมาตรการต่างๆ นำที่ดินที่ถือครองโดยเอกชน  มากระจายให้กับคนจนไร้ที่ดิน  แต่กลับเบี่ยงเบนประเด็นไปที่การจัดสรรที่ป่าสงวนแห่งชาติให้กับเอกชน

5)  ที่ผ่านมาคนจนไร้ที่ดินและไร้ที่อยู่อาศัย  ไม่มีช่องทางและไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการบริการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดความเป็นธรรมได้  การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินรวมศูนย์อำนาจอยู๋ที่ภาครัฐ   ส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น  ขาดการตรวจสอบ  และกรณีพิพาทความขัดแย้งเรื่องที่ดินจำนวนมาก

 

ปรากฏการณ์ความขัดแย้ง

1)  ในภาคเหนือและภาคใต้  มีการออกเอกสารที่ดินโดยมิชอบ  ผิดกฎหมาย  ในหลายกรณีทั้งในที่ดินเอกชน  ที่ดินที่ชุมชนใช้ประโยชน์อยู่  เช่น ที่ดินทำกิน ที่ป่าชุมชน  ที่สาธารณประโยชน์ และที่ ส.ป.ก.  ที่ดินที่ถูกออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเหล่านี้  ต่อมาได้ถูกนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้  กลายเป็นหนี้เน่า NPL  ถูกธนาคารฟ้องร้องยึดและขายทอดตลาด  กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า  เมือประชาชนมีมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เป็นรูปธรรม  โดยการเข้าทำกินปฏิรูปการถือครองโดยประชาชน  รัฐได้ใช้อำนาจทางกฎหมายกับคนจนไรที่ดินเหล่านี้ด้วยการจับกุมดำเนินคดีความ 

2)  ในภาคเหนือ  ภาคใต้และภาคอีสาน  ด้วยความจำกัดในข้อมูล  รัฐได้ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และเขตป่าสงวน  บนพื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย ที่สาธารณประโยชน์และที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน  ก่อให้เกิดกรณีพิพาทความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้าน  ซึ่งกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินและการแก้ไขปัญหายังถูกรวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐ  ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้อำนาจทางกฎหมายทีแข็งกร้าวมากขึ้น  นอกจากฟ้องร้องคนจนในคดีอาญาแล้ว  ยังฟ้องร้องเพิ่มในคดีแพ่งเรียกร้องให้คนจนจ่ายค่าเสียหายให้กรมอุทยานฯ ครอบครัวละ 2-5 ล้านบาท ต่อครอบครัว

3)  ในภาคอีสานและภาคใต้  รัฐได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนสัมปทานเช่าพื้นที่ป่าสงวนระยะยาวเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจ  ยูคาลิปตัส  ยางพารา  และปาล์มน้ำมัน เมื่อเอกชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าเกินกว่าสัญญาเช่า  หรือสัญญาเช่าหมดลง  คนจนไร้ที่ดินเรียกร้องให้รัฐหยุดสัญญาเช่าแต่ไม่เป็นผล  เมื่อประชาชนมีมาตรการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง  โดยการเข้าทำกินปฏิรูปที่ดินการถือครองโดยประชาชน  รัฐได้ใช้อำนาจทางกฎหมาย  ด้วยการจับกุมดำเนินคคีข้อหารุนแรง

4)  ในขณะที่ชุมชนสลัมกว่า 3700 ชุมชนทั่วประเทศ  อยู่ในภาวะสั่นคลอน ไม่ได้ถูกรับรองและไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  อยู่ในสภาพที่จะถูกไล่รื้อจากหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทธุรกิจเอกชนวันใดก็ได้ 

หลักการสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน : เพื่อสร้างความมั่นคงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนไร้ที่ดิน และคนจนไร้ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 

1)  ที่ดินเป็นทรัพยากรของสังคมและทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ   สังคมจะต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  ให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยมีที่ดินเป็นของตนเอง   เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

2)  รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิในการอยู่อาศัยและทำมาหากินของเกษตรกรและคนจน  โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม  มิใช่การยึดตามตัวบทกฎหมายที่ขัดแย้งกับสภาพสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสังคมท้องถิ่น

3)  ที่ดินที่กักตุนไว้เพื่อเก็งกำไร มีเจ้าของ แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ คือตัวบ่งชี้ความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดิน  ควรถูกมาใช้ในการผลิตและจัดสรรให้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรไร้ที่ดิน และคนจนไร้ที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน

4)  รัฐต้องมีนโยบายและดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 8 ด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 85 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น

 

มาตรการเร่งด่วน

1)  ยุติปัญหาการใช้ความรุนแรงของหน่วยงานภาครัฐกับคนจนไร้ที่ดิน ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายของรัฐ   เช่น  การอพยพโยกย้าย  การทำลายชีวิตทรัพย์สิน   การใช้กฎหมายข่มขู่และคุกคามชาวบ้านผู้เดือดร้อน

2)  ยุติการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับรัฐ   จนกว่าการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายจะแล้วเสร็จ   และกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน ให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับชาวบ้านโดยเร่งด่วน

3) ยุติการไล่รื้อชุมชนแออัด  ตั้งคณะกรรมการที่ชุมชนมีส่วนร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดิน

 

มาตรการระยะสั้น

1)  จัดตั้งคณะกรรมการในรูปองค์กรอิสระเพื่อดำเนินการตรวจสอบการถือครองและทำประโยชน์ที่ดินของเอกชน บริษัทธุรกิจและนักการเมืองที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ สัญญาเช่าสัมปทานที่ดินรัฐขนาดใหญ่  และเจ้าพนักงานที่ดินที่มีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง

2)  เพิกถอนที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ  และและที่ดินที่เจ้าของทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์  นำมาปฏิรูปการถือครองให้กับคนจนไร้ที่อยู่อาศัยและคนจนไร้ที่ดินทำกิน

3)  คุ้มครองและเคารพสิทธิขององค์กรชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนในสังคมท้องถิ่น  โดยไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมบังคับและล่วงละเมิดสิทธิของสังคมท้องถิ่น

4)  ชะลอการประกาศเขตหรือการขยายเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายอื่นๆ จนกว่ากระบวนการตรวจสอบพิสูจน์รับรองสิทธิ์ของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย กฎหมายเหล่านี้จะแล้วเสร็จ

5)  ประกาศนโยบายหยุดการไล่รื้อชุมชนแออัด  และตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการไล่รื้อชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม  เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาตามแนวนโยบายบ้านมั่นคง

6)  ให้รัฐบาลมีความสั่งยุติการดำเนินการผลักดันโครงการคาร์บอนเครดิตขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)ที่จะนำพื้นที่สวนป่า ออป. ประมาณ ๒๐๐ แปลงเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑.๒ ล้านไร่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตามข้อตกลงการพัฒนากลไกแบบสะอาด (CDM) ในพิธีสารเกียวโต ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่สวนป่า ออป. หลายแห่งทับซ้อนหรือมีการปลูกสร้างทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานร่วม ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการเร่งรัดตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จ จากนั้นให้นำที่ดินมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนต่อไป

 

มาตรการระยะยาว

1)  ดำเนินการแก้ไข  เพิกถอนหรือยกเลิกกฎหมายและนโยบาย มติ คำสั่ง ระเบียบข้อบังคับ และกลไกที่มีผลกระทบและปิดกั้นต่อสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร และการเข้าถึงสิทธิในที่ดินของประชาชน  อาทิ    พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. สวนป่า และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นต้น

2)  สร้างเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน ให้ประชาชนเกิดการรวมกลุ่ม  เข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการกำหนดนโยบายด้านที่ดินและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐ   เข้าถึงการตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินทุกระดับ

3)  อุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรยากจนอย่างเต็มที่  โดยการยกเลิกหนี้สินอันเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐ  สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค  ประกันราคาพืชผลการผลิตให้คุ้มกับตันทุนการผลิตที่เกษตรกรต้องจ่ายไป  ช่วยเหลือด้านการแปรรูปผลผลิตและสนับสนุนการขายผลผลิตในตลาดท้องถิ่น  ยุติการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าเสรีที่บีบให้เกษตรกรทำการผลิตภายใต้กลไกตลาดที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่

4)  การกำหนดมาตรการทางด้านกฎหมายและนโยบายในการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518  โดยรับรองสิทธิการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน  การกำหนดอัตราภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า การกำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การจัดตั้งธนาคารที่ดิน อนุญาตให้ชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยในที่ดินรัฐสามารถเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ 30 ปี 

 

 

สนับสนุนข้อมูลประเด็นปฏิรูปที่ดินโดย

เครือข่ายสลัม 4ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายปฏิรูปทีดินภาคอีสาน, เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้,เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินในพื้นที่สินามิ

เรียบเรียงโดย กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: