จากรูปแบบการประกอบกิจการไฟฟ้าด้วยการวางแผนและการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่ผ่านมา ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นปมขัดแย้งในสังคมตลอด 50 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
มีการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ เพื่อคัดค้านและต่อสู้กับการสร้างโรงไฟฟ้า เพิ่มขึ้นทุกปี ผู้บริโภคตั้งคำถามกับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า ว่าเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟ หรือเป็นโครงสร้างที่รับประกันผลกำไรของผู้ลงทุนในกิจการไฟฟ้าขนาดใหญ่กันแน่?
ในปัจจุบัน สถานการณ์ปัญหากิจการไฟฟ้าในสังคมไทย ยังไม่คลี่คลายไปสู่แนวทางที่คำนึงถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนประชาชนที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นนับล้านคน
แต่ถึงกระนั้น ภาครัฐและนักการเมืองกลับไม่ตระหนักถึงปัญหา ไม่เคยทบทวนถึงทางเลือกใหม่ๆ แนวทางการประกอบกิจการไฟฟ้าในรูปแบบอื่น ซึ่งสามารถลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นที่มีการดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ : การประกอบกิจการไฟฟ้าขนาดเล็ก เป็นหน่วยย่อยๆ กระจายการผลิต กระจายอำนาจการประกอบกิจการไฟฟ้าให้ภาคประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และเอกชนรายย่อย เพื่อการกระจายผลประโยชน์และลดความเสี่ยงของผลกระทบ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยเอง ที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่มาก
ด้วยท่าทีแบบเดิมๆ และแนวทางที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงของเหล่าเทคโนแครตและผู้มีอำนาจเบื้องบน ล่าสุด สังคมไทยก็ได้ก้าวไปสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ เมื่อมีการรวบรัดผลักดันโครงการ ?โรงไฟฟ้านิวเคลียร์? เกิดขึ้น
โดยในเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมานี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานในการอนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งได้ระบุว่า ตลอดแผนตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2564 รวม 15 ปี จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30 กว่าโรง แบ่งเป็น ?โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง? และมีกำลังการผลิตในระยะเวลา 10 -15 ปีนี้ เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจาก 50 ปีที่ผ่านมา โดยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นใหม่ 31,700 เมกกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 27,788 เมกกะวัตต์
ซึ่งหมายความว่าในปี 15 ปีข้างหน้าเราจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกือบ 60,000 เมกกะวัตต์!! จากเดิมที่ใช้และเพิ่มกำลังการผลิตมาตลอด 50 ปี 20,000 กว่าเมกกะวัตต์
เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวของการวางแผนกิจการไฟฟ้านี้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา จะพบว่า คำตอบไม่เกี่ยวอะไรกับความต้องการใช้ไฟในอนาคต แต่กลับเป็นเรื่องของแรงจูงใจที่มาจากผลกำไรของการลงทุนล้วนๆ การลงทุนที่พร้อมจะปัดภาระความรับผิดชอบและความเสี่ยงให้กับผู้บริโภค ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างที่เคยเป็นมาตลอด
แต่ไหนแต่ไรมา ในระบบธุรกิจไฟฟ้าของไทย ทั้งที่รัฐวิสาหกิจผลิตเอง หรือที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่เป็นผู้ผลิต รัฐบาลได้กำหนดโครงสร้างราคาไฟฟ้าแบบ ?ประกันกำไรการลงทุน? ไว้ตั้งแต่ต้น แค่ลงทุนก็มีกำไร ด้วยระบบต้นทุนบวกกำไรตามที่ต้องการ ซึ่งในกรณีที่ผลิตไฟฟ้าล้นเกินเหลือใช้ ผู้บริโภคจะเป็นผู้แบกรับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าที่ล้นเกินนั้นเอง หรือพูดอีกอย่างได้ว่า...ถึงไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของคติที่ว่า ?ลงทุนไว้ก่อน? หรือ ?ลงทุนมาก ได้มาก? โดยไม่ต้องสนใจความต้องการใช้ไฟที่แท้จริง และไม่ต้องคิดด้วยว่าจะประหยัดไฟฟ้าในระบบจริงๆ ไปทำไม ในเมื่อมีประชาชนผู้บริโภคใช้ไฟ คอยแบกภาระให้ผู้ลงทุนอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อการกำหนดแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ตั้งแต่ปี 2550-2564 รวม 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน จะเป็นไปอย่างเกินจริง พิสดาร และไม่เคยสนใจข้อเท็จจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เนื่องจากกำไรที่ได้...คือกำไรที่มาจากการขูดเลือดประชาชน
เรื่องราวของ ?ความจำเป็นที่หลอกลวง? ยังมีมากกว่านั้น เมื่อหยิบแผนนี้มาพิจารณากันในรายละเอียด กระทรวงพลังงานได้บรรจุแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 4 โรง รวม 4,000 เมกกะวัตต์ ไว้ใน 9 ทางเลือก ซึ่งหมายถึง...ทุกทางเลือกที่ส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ด้วยกลเม็ดเช่นนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงกลายเป็น ?ทางเลือกที่ต้องเลือก? ไปโดยปริยาย พร้อมกับสร้างความกังขาอย่างยิ่งให้กับสังคมไทย ว่าเหตุใดสถานะของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผนนี้จึงมีที่ทางมั่นคงและได้รับการส่งเสริมอย่างมาก ขณะที่พลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง กลับถูกจำกัดการผลิตอยู่ที่ 1,700 เมกกะวัตต์
?เราไม่มีทางอื่นแล้วนอกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์? - ประชาชนถูกกรอกหูซ้ำซาก จากนั้น ภาครัฐและฝ่ายบริหาร ก็ได้พยายามยัดเยียด ?ความจำเป็นที่หลอกลวง? ให้แก่สังคมต่อไป โดยการอนุมัติงบประมาณ 1,800 ล้านบาทและตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการวางรากฐานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสังคมไทย เช่น การเตรียมงบประมาณและการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ได้
ปัจจุบัน วงการอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ตั้งเป้าค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบบที่มีการสร้างในญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลัง 1,000 เมกะวัตต์ จะต้องใช้เงินทุนก่อสร้างประมาณ 35,000-42,000 ล้านบาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์) ราคาที่ตั้งนี้เป็นราคาที่เรียกว่า "overnight capital cost" ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า ?โรงไฟฟ้านั้นสร้างแล้วเสร็จภายในหนึ่งคืน? กล่าวคือไม่ได้รวมค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องจ่ายระหว่างก่อสร้างนั่นเอง ไม่สนใจข้อเท็จจริงที่ว่า หากมีการประท้วงคัดค้านยืดเยื้อเกิดขึ้นเมื่อใด เงินลงทุนก็จะยิ่งบานปลายมากขึ้น
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) เป็นแผนระยะยาว ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่เป็นจริงอีกมาก เช่น การคิดราคาน้ำมันที่ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาเรล คงที่จนถึงปี 2564 ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันกำลังอยู่ในช่วงผันผวน ไต่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล หรือการคาดการความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.6% ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่ประเทศไทยยังก้าวไปไม่พ้น 4-5% ต่อปี ในรอบหลายปีนี้
จากการคาดการปัจจัยต่างๆ อย่างเกินจริงและพิสดาร จึงนำไปสู่การกำหนดตัวเลขการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินจริง สุรุ่ยสุร่าย ไร้ความรับผิดชอบ เพื่อสร้างมายาภาพหลอกลวงประชาชนว่า ประเทศไทยกำลังจะขาดพลังงานและไม่มีทางเลือก ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเลือกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ยิ่งกว่านั้น จากประสบการณ์ ?ราคาแพง? ในอดีต เมื่อปี 2546 ประเทศไทยก็เคยประสบกับภาระการลงทุนในกิจการไฟฟ้าที่เกินเลยความจำเป็นสูงถึง 400,000 ล้านบาทมาแล้ว!! และภาระนี้เองก็ได้ถูกส่งต่อมาในรูป ?ค่าไฟฟ้า? ที่เรียกเก็บกับผู้บริโภคมาโดยตลอด
แม้แต่ในส่วนของการจัดการและมาตรฐานความปลอดภัย จนถึงวันนี้ ความผิดพลาดและคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีการคลี่คลาย สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็น กรณีเหยื่อโคบอลล์ 60 ที่มีการจัดการที่หละหลวมจนเกิดอันตรายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง หรือกรณีตัวอย่างการทุจริตคอรัปชัน ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จากการเตรียมพื้นที่ในการวางเตาปฏิกรณ์วิจัย ซึ่งทั้ง 2 กรณีต่างก็เป็นกรณีที่มีการฟ้องร้องอย่างยืดเยื้อยาวนาน
รวมทั้งประสบการณ์เลวร้ายรุนแรงในต่างประเทศที่ไม่มีใครลืม เช่น กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย หรือ ยูเครนในปัจจุบัน ที่ทำให้มีคนตายถึง 20,000 คน
รวมทั้งข่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา พบว่ามีการค้นพบวัตถุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
พร้อมกับการรับรู้ในแวดวงคนนิวเคลียร์อยู่แล้วว่า อายุของการแผ่กัมตภาพรังสีอยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 100,000 ปี พร้อมกับปัญหาที่ไม่มีคำตอบที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงและถาวรต่อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว และกากนิวเคลียร์ รวมถึงปัญหาปลีกย่อยอีกมากมายในประเทศไทย เช่น พื้นที่รอยเลื่อนหลายพื้นที่ที่จะมีความเสี่ยงในการก่อสร้าง ปัญหาการจัดการและการคอรัปชันเช่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ปัญหาการฉวยโอกาสการก่อการร้าย การขมขู่ การวางระเบิด ฯลฯ
สุดท้าย ?ความจำเป็น? ของผู้มีอำนาจและนักลงทุนทั้งหลาย จึงเป็นได้แค่ ?ความไม่จำเป็น? ของสังคมไทย เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงรอบด้าน ตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ตามแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับพิสดารของกระทรวงพลังงาน ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างน้อย 10 ปี ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเอาอนาคตไปเสี่ยงภัยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้แต่นิดเดียว เพราะเรายังมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าอีกมากมายในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชน
การจัดการด้านพลังงานของไทยจะไม่ใช่เรื่องของโครงการขนาดใหญ่และความขัดแย้งแบบเดิมๆ อีกต่อไป ขอเพียงสังคมไทย...หันมาพูดความจริง ตัดสินใจบนข้อเท็จจริง และเลือกผู้นำที่ ?กล้าหาญ? พอที่จะยืนอยู่ข้างประชาชนเท่านั้น