โลกาภิวัฒน์ 2550 :กฎหมายเอฟทีเอ : ก้าวสำคัญเพื่อรับมือกับปัญหาโลกาภิวัตน์

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

ข้อมูลประกอบชิ้นที่ 4
พรรคการเมืองกับโลกาภิวัตน์ : ใครมีวิสัยทัศน์? ใครอยู่ข้างประชาชน

จากปัญหาโลกาภิวัตน์ในส่วนหลักๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียอาชีพและหนี้สินที่พอกพูนขึ้นของพี่น้องเกษตรกร ความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพ ราคายาที่แพงเกินความจำเป็น ความไม่เท่าเทียมกันของระบบสุขภาพในประเทศ มาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ด้อยลง ตลอดจน ค่าครองชีพและค่าสินค้าบริการที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และถูกผลักภาระให้ผู้บริโภคมากขึ้น ฯลฯ - - จะเห็นได้ว่า การทำสัญญาผูกพันระหว่างรัฐไทยกับต่างประเทศ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในรูปแบบเอฟทีเอ กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนในชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทั้งๆ ที่ข้อตกลงเหล่านี้ สามารถส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมในโอกาสต่อไป ที่ผ่านมา กระบวนการในการเจรจาและการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ กลับเป็นกระบวนการที่มีปัญหา และเต็มไปด้วยจุดบกพร่องมากมาย ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เป็นการดำเนินการโดยขาดความโปร่งใส และข้อมูลที่รอบด้าน รวมทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาตลอด

และท่ามกลางสภาวะที่จำกัด-ปิดกั้นนี้เอง ประชาชนและนักวิชาการในวงกว้าง จึงไม่มีโอกาสรับรู้ถึงเนื้อหาในสัญญาที่รัฐบาลแอบไปตกลงกับต่างชาติเอาไว้ การนำเสนอทางเลือก การแก้ไขหรืออุดช่องโหว่ในสัญญาจึงไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้การทำเอฟทีเอแต่ละฉบับ สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนจำนวนมาก และนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมตามมา

จนกระทั่งสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ความพยายามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นครั้งแรก เมื่อ “รัฐธรรมนูญปี 2550” ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะสร้างธรรมาภิบาลให้กับกระบวนการเจรจาเอฟทีเอ โดยใน มาตรา 190 ได้ระบุไว้ว่า หนังสือสัญญาที่มีความสำคัญ เช่น เอฟทีเอ “จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา” ร่างหนังสือสัญญาต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบและต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามีการส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมถึงการที่รัฐบาลจะต้องกำหนดมาตรการการรองรับเยียวยาผลกระทบที่รัดกุมไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก เพราะรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดได้เพียงหลักการและเนื้อหาบางส่วนเท่านั้น ขณะที่รายละเอียดทั้งหมดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ขึ้นอยู่กับการออกกฎหมายระดับรองลงมาเพื่อบังคับใช้ หรือการออก “กฎหมายลูก” นั่นเอง ดังนั้น กฎหมายลูกที่ว่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จนกล่าวได้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จะมีความหมายแค่ไหน เพียงใด คำตอบอยู่ในกฎหมายที่จะออกมารองรับฉบับนี้

หลังการเลือกตั้งปลายปี รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา มีภาระหน้าที่ที่จะต้องร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาบังคับใช้ภายในหนึ่งปี แต่พรรคไหนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ? พรรคไหนจะมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร? และที่สำคัญ นักการเมืองเหล่านั้นพร้อมจะสานต่อเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่? นี่คือประเด็นใหญ่ที่มีความหมายต่อชะตากรรมเราทุกคน และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

กฎหมายที่ว่าด้วยการทำสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับที่มีธรรมาภิบาล สานต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และยืนอยู่บนการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ ควรจะมีหน้าตาเช่นไร? เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในหมู่สาธารณชน และใช้เป็นแนวทาง-บรรทัดฐานในการผลักดันเคลื่อนไหวกับฝ่ายการเมือง ช่วงที่ผ่านมา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และเครือข่ายภาคประชาชนที่เฝ้าติดตามประเด็นนี้ จึงได้ร่วมกับนักวิชาการด้านกฎหมาย ยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ ‘พรบ การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ...’ โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่

 

เวทีเจรจาต้องเปิดกว้างสำหรับหลายฝ่าย

- รัฐบาลยังคงเป็นผู้กำหนดและแต่งตั้งสมาชิกและหัวหน้าคณะเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่ตาม พรบ. นี้ คณะเจรจาจะต้องมีองค์ประกอบของ “ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่สำคัญ” รวมอยู่ด้วย เพื่อความรอบคอบและมีประสิทธิภาพในการเจรจา

- ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการเจรจา ที่ผ่านมา รัฐมักจะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจบางส่วนเท่านั้น แต่ต่อไปนี้ เวทีนี้จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาชิกรัฐสภา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ ตลอดจนตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทั้งนี้ โดยผ่านขั้นตอนการเสนอชื่อของ “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

- และเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมสามารถเข้าถึงและพิจารณาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศได้อย่างถ่องแท้และเที่ยงตรง สะท้อนความเท่าเทียมของคู่ภาคีตามรัฐธรรมนูญ พรบ.นี้ จึงกำหนดให้มีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ “ภาคภาษาไทย” ที่ใช้ลงนามอย่างเป็นทางการ ควบคู่ไปกับฉบับภาษาต่างประเทศของคู่ภาคีด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นหลักปฏิบัติในหลายประเทศ

 

การศึกษาวิจัยผลกระทบต้องเป็นกลางและรอบด้าน

- เพื่อความโปร่งใสและเป็นกลาง พรบ. นี้จึงกำหนดข้อห้ามไม่ให้คณะเจรจาหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเจรจา เป็นผู้ว่าจ้างและเลือกนักวิจัยวิจัยได้เองโดยตรงดังเช่นที่มีการปฏิบัติมา แต่่ได้เสนอให้ “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมกับรัฐบาลอยู่แล้ว เป็นผู้บริหารการวิจัย โดยจะเป็นผู้วิจัยเองหรือจะว่าจ้างผู้อื่นให้ทำการวิจัยก็ได้

- เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดท่าทีการเจรจาได้อย่างรอบคอบรัดกุม และสามารถประเมินผลที่เกิดขึ้นจริงหลังหนังสือสัญญามีผลบังคับใช้และพร้อมหาทางแก้ไข การศึกษาวิจัยผลกระทบจะต้องเกิดขึ้นทั้ง 3 ขั้นตอน คือ (1) ก่อนการเสนอกรอบและวัตถุประสงค์การเจรจาของรัฐบาลต่อรัฐสภา (2) ภายหลังการเจรจา ก่อนเสนอร่างหนังสือสัญญาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และ (3) ทำการศึกษาภายหลังจากที่หนังสือสัญญามีผลบังคับใช้ไปแล้ว

- ที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยผลกระทบซึ่งเน้นเพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ต่อไปนี้ การศึกษาวิจัยผลกระทบจะต้องกระทำแบบครอบคลุมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่จะมีต่อกฎหมายภายในรัฐ ตลอดจนผลกระทบต่อความผูกพันกับภาคีอื่นๆ

 

ประชาพิจารณ์ต้องเป็นอิสระและน่าเชื่อถือ

- เพื่อความเป็นอิสระ ลดกระแสความระแวงสงสัย อันจะก่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย การจัดทำและรายงานผลประชาพิจารณ์สมควรจะอยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรที่เป็นกลาง เช่น “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”

- การจัดทำประชาพิจารณ์ต้องเกิดขึ้น 2 ขั้นตอน คือ (1) ก่อนการเสนอกรอบและวัตถุประสงค์การเจรจาของรัฐบาลต่อรัฐสภา และ (2) ภายหลังการเจรจา ก่อนเสนอร่างหนังสือสัญญาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อวิตกกังวลของประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น นำไปสู่การกำหนดท่าทีที่สะท้อนความต้องการของสังคมได้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความขัดแย้งดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้

และทั้งหมดนี้ ก็คือหลักการสำคัญของกฎหมายการทำสัญญาระหว่างประเทศ ที่จะยกระดับกระบวนการเจรจาเอฟทีเอ และการเจรจาอื่นๆ ที่สำคัญของไทยให้ก้าวหน้าและมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แม้ว่าปัญหาโลกาภิวัตน์ จะเป็นปัญหาใหม่ๆ ที่มีรายละเอียดซับซ้อนไร้พรมแดนมากแค่ไหน แต่ประชาชนทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกัน และแก้ปัญหาร่วมกันได้...ถ้าเพียงแต่เราได้เริ่มต้นที่ “กฎหมายที่เป็นของประชาชนจริงๆ” ฉบับนี้

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: