โลกาภิวัฒน์ 2550 : สิทธิบัตรยา และระบบสาธารณสุข

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

มีหลายวิธีที่บรรษัทยาข้ามชาติ ใช้ขูดรีดหากำไรพร้อมกับบ่อนทำลายระบบสาธารณสุขในประเทศไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทุ่มตลาดทำให้ยาราคาถูกในช่วงแรกจนผู้ผลิตยาในประเทศต้องล้มเลิกกิจการ การแทรกแซงเพื่อให้แก้ไขกฎระเบียบภายในประเทศ ให้เอื้อต่อการผูกขาดตลาดยาทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจน การผลักดันให้มีการทำเอฟทีเอในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา

 

เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลไทยทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์ร้ายแรงอย่างหนึ่งที่จะตามมา ก็คือปัญหาการเข้าถึงยาหรือยามีราคาแพงยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา อเมริกาได้เรียกร้องกดดันไทยทุกวิถีทาง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้บริษัทยายักษ์ใหญ่ของตนสามารถเข้ามาผูกขาดตลาดยาได้ ไม่ว่าจะเป็น ให้ไทยยกเลิกมาตรการควบคุมราคายา ยกเลิกคณะกรรมการสิทธิบัตรยา ขยายสิทธิในผูกขาดการขายและกำหนดราคายาจาก 20 ปีเป็น 25 ปี และที่สำคัญ “มาตรการบังคับใช้สิทธิ์” หรือซีแอล...ที่องค์การการค้าโลกอนุญาตให้ใช้เพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดยาได้ และไทยเองก็ใช้อยู่เวลานี้ จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

 อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาสิทธิบัตรและการผูกขาดยาที่จะต้องจับตากันต่อไป ในปัจจุบัน ภายใต้โลกาภิวัตน์เที่ยวล่าสุด ระบบสาธารณสุขไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ก่อตัวขึ้นใหม่ นั่นก็คือ ปัญหามาตรฐานและคุณภาพของการรักษาพยาบาลคนไข้ชาวไทย อันเนื่องจากการไหลเทของทรัพยากรทางการแพทย์ไปสู่ตลาดคนไข้ชาวต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชน

จากการที่ไทยพยายามจะส่งเสริมจุดขายด้านบริการสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ชาวต่างชาติผู้มีฐานะหลั่งไหลเข้ามาเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชนไทยจำนวนมาก พร้อมกันนั้น บุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ก็ถูกดูดเข้าไปกระจุกตัวอยู่ในบริการส่วนนี้ไปด้วย ส่งผลถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในระบบสุขภาพ และมาตรฐานการรักษาพยาบาลคนไทยด้วยกันตามมา และสัญญาณอันตรายรอบล่าสุดก็คือ การทำเอฟทีเอหรือข้อตกลงทางการค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งผูกมัดให้คนไข้ญี่ปุ่นสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับบริการในประเทศไทยได้ กำลังจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่ว่านี้ให้เข้มข้นขึ้นไปอีกในอนาคต

และนี่คือข้อเท็จจริงเบื้องต้นของปัญหาที่กำลังรอการแก้ไข

 

  • การเปิดการค้าเสรีด้านบริการที่เน้นสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์สุขภาพให้บริการผู้ป่วยต่างชาติ กำลังทำให้แพทย์หลั่งไหลไปสู่ภาคเอกชน การลงทุนผลิตแพทย์ต้องสูญเปล่าไปถึง 420-1,260 ล้านบาทต่อการรับผู้ป่วยต่างชาติ 1 แสนคนต่อปี
  • ตลาดคนไข้ต่างชาติในไทยมีการเติบโตตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2549 คาดว่าโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีคนไข้ชาวต่างชาติประมาณ 1.4 ล้านคนคิดเป็นรายได้ประมาณ 36,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2548 ที่โรงพยาบาลเอกชนของไทยมีคนไข้ชาวต่างชาติเข้าใช้บริการประมาณ 1.28 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 33,000 ล้านบาท ทั้งนี้ นอกเหนือจากศักยภาพทางด้านความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย บริการรักษาพยาบาลของไทยยังมีราคาต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
  • งานวิจัยที่เคยศึกษามาแล้วยืนยันชัดเจนว่า แพทย์ไทยใช้เวลารักษาชาวต่างชาติ 1 คนเท่ากับแพทย์รักษาคนไทยจำนวน 5 คน
  • ขณะนี้เรามีแพทย์เพียง 5-8% ที่ต้องดูแลสุขภาพคนในชนบทกว่า 41 ล้านคน ขณะที่เราใช้แพทย์ถึง 16% หรือ 2 เท่า สำหรับการดูแลรักษาคนไข้ต่างชาติ 1 ล้านคน
  • เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแพทย์ การกระจายของแพทย์ไม่เหมาะสม ในต่างจังหวัดแพทย์ 1 คน ต้องตรวจคนไข้มาก กว่า 100 คน ภายใน 3 ชม. เฉลี่ยคนละ 2-3 นาที ส่งผลให้การฟ้องร้องที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า จากปีละ 50 เรื่อง เป็นปีละกว่า 300 เรื่อง
  • ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กำลังมีปัญหาด้อยคุณภาพ ส่งผลให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น และยังส่งผลถึงสวัสดิการด้านสุขภาพที่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสไม่ได้รับอีกด้วย
  • องค์กรควบคุมกำกับ-แพทยสภา ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ผู้ป่วยได้จริง 

ปัญหาเหล่านี้ ถือเป็นปัญหาด้านบริการพื้นฐานที่ใกล้ตัวคนไทยทุกคน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภค การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน สามารถทำได้โดยการผลักดันให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดคดีความการฟ้องร้องและความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ลงได้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั้งหมด ถ้ารัฐบาลยังคงเดินหน้าทำข้อตกลงทางการค้าแบบสนับสนุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงภาระหน้าที่ที่มีต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ปัญหาคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาลคนไข้ชาวไทย ทั้งในเมืองและชนบท ก็จะมีแนวโน้มที่ตกต่ำลงไปอีก

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: