ในสังคมไทยที่ฐานล่างสุดคือชุมชนเกษตร โลกาภิวัตน์ในด้านอุตสาหกรรมเกษตรและส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต คือคลื่นลูกใหญ่ที่สามารถสร้างภัยพิบัติและผลกระทบมหาศาลต่อสังคมไทยถ้าปราศจากวิสัยทัศน์และการเตรียมการที่ดี จนถึงวันนี้ หลังการเปิดเสรีและทำเอฟทีเอไปแล้วหลายฉบับ เกษตรกรไทยยังคงตกเป็นฝ่ายสูญเสียและแบกรับความเดือดร้อนโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม สิ่งที่ตกอยู่ภายใต้การคุกคามและความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งประชาชนควรจับตาไว้ให้ดี ก็คือ ทรัพยากรชีวภาพหรือทรัพยากรพันธุกรรม - ทรัพย์สมบัติอันประเมินค่าไม่ได้ของประเทศไทย
ในส่วนของเกษตรกรไทย ผู้ถูกกระทำและผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นับตั้งแต่มีการลงนามเอฟทีเอกับประเทศจีนเป็นต้นมา ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญหน้าอยู่ ได้แก่
1. การเปิดการค้าเสรีต่างๆ และทำเอฟทีเอกับประเทศจีน ได้สร้างความเดือดร้อนและทำลายอาชีพเกษตรกรที่ปลูกผักและผลไม้เมืองหนาวไปแล้วนับแสนครอบครัว ตัวอย่างเช่น พื้นที่ปลูกกระเทียมลดลงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลจากราคากระเทียมราคาถูกไหลทะลักเข้ามาแทนที่ จนเกษตรกรที่ปลูกกระเทียมต้องสูญเสียอาชีพและถูกบีบให้เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือต้องไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ปลูกผักและผลไม้เมืองหนาว ทั้งที่อยู่ภายใต้โครงการหลวงและเกษตรกรนอกโครงการ ซึ่งไม่สามารถสู้ราคาผลผลิตที่มีราคาต่ำมากจากประเทศจีนได้ ผลกระทบดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดผลผลิตอื่นๆ เช่น ผลไม้เมืองร้อนด้วย เพราะความต้องการและกำลังซื้อผลไม้ค่อนข้างคงที่ เมื่อผลไม้ราคาถูกเข้ามาแทนที่ความต้องการซื้อผลไม้เมืองร้อนก็ลดลงตามไปด้วย
2. การทำเอฟทีเอกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กำลังจะสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมและโคเนื้อนับล้านครอบครัวในอนาคต เนื่องจากการลดภาษีจาก 35-40 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 15-20 ปีนี้ จะทำให้ผลิตภัณฑ์นมและเนื้อจากทั้งสองประเทศซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก ไหลทะลักเข้ามาตีตลาดประเทศไทยต่อไป และยากที่เกษตรกรไทยจะสามารถแข่งขันกับประเทศทั้งสองได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงโคมากกว่าไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือแม้แต่จีนเอง ก็ยังไม่ยินยอมที่จะลดกำแพงภาษีของตนให้กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เลย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เกษตรกรที่เลี้ยงโคนมในไทยประมาณหนึ่งในสามได้ถูกบีบให้เลิกอาชีพนี้แล้ว หลังการลงนามทำเอฟทีเอได้เพียงไม่นาน
3. ล่าสุด แม้ว่าการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่น (ภายใต้ชื่อ JTEPA) จะก่อให้เกิดคำถามและข้อวิตกกังวลในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นสิทธิบัตรและทรัพยาการชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ การทำเอฟทีเอที่พร้อมจะสร้างผลสะเทือนมากที่สุดต่อเกษตรกรและสังคมไทยโดยรวมในอนาคต ก็คือเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเจรจาและเตรียมการมานาน ก่อนจะหยุดไปชั่วคราวหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2550
ในส่วนของการทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนว่า สิ่งที่อเมริกาได้เรียกร้องต้องการมาตลอดก็คือ ให้ประเทศไทยยอมรับกฎหมายที่จะอนุญาตให้บรรษัทข้ามชาติจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เพื่อการเข้ามาครอบครองทรัพยากรชีวภาพของไทยได้ตามใจชอบ ให้ไทยรับรองสิทธิแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ในการผูกขาดเรื่องพันธุ์พืช รวมทั้งยังต้องการให้ไทยอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโออีกด้วย การผลักดันของอเมริกาในประเด็นเหล่านี้ เป็นการบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายภายในหลายฉบับ เช่น กฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช กฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น ในอนาคตข้างหน้า หากรัฐบาลไทยตกลงใจทำเอฟทีเอภายใต้การยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติล้ำค่าของไทย อันได้แก่ เมล็ดพันธุ์และทรัพยากรชีวภาพ ความสูญเสียจะตามมาอย่างมากมายมหาศาล รวมทั้งเกษตรกรไทย ก็จะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นอีกหลายเท่าตัว ตั้งแต่ 30-4,000 เปอร์เซ็นต์
ภายใต้ผลกระทบดังกล่าวข้างต้น เกษตรกรไทยจะถูกต้อนเข้าสู่มุมอับซ้ำซาก ต้องล้มละลายสูญเสียอาชีพ หนี้สินที่มากอยู่แล้วจะเพิ่มขึ้นไปอีก อันเนื่องมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากการประมาณการของแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) คาดว่าจำนวนเกษตรกรจะลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ภายในสองทศวรรษหน้า ซึ่งหมายถึงว่า จะมีจำนวนเกษตรกรที่ต้องเปลี่ยนอาชีพ กลายเป็นแรงงานราคาถูก หรือว่างงานรวมกันมากกว่า 10 ล้านคน
และสิ่งที่เราจะเห็นควบคู่กันไปอีกด้าน ภายใต้กระแสการเปิดเสรีด้านการลงทุนและข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ก็คือ ภาพของทุนใหญ่ต่างชาติที่จะเข้ามาครอบครองที่ดิน ทรัพยากรชีวภาพ และประกอบธุรกิจการเกษตรในระดับต่างๆ แทนที่เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ และนี่ย่อมจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศไทยไปพร้อมกัน
ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของการจัดสรรทรัพยากรที่ดินที่มีปัญหาอยู่แล้ว ก็จะพลอยได้รับผลกระทบซ้ำเติมไปด้วย เมื่อการเปิดเสรีส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อการครอบครองเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินทำกินหรือที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในการแย่งชิงที่ดินจะเพิ่มขึ้น ถ้ารัฐบาลยังไม่มีวิสัยทัศน์และลุกขึ้นมาปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรมไปถึงชุมชนแออัดในเมือง