การเจรจา WTO บทพิสูจน์อีกครั้งของรัฐบาลไทยกับมาตรา 190

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

การเจรจาการค้ารอบโดฮาภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 กำลังมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ หลังจากที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมได้พยายามกดดันประเทศกำลังพัฒนาให้โอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของตนมายาวนาน ขณะนี้การเจรจาอย่างไม่เป็นทางการโดยรัฐมนตรีของ 30 ประเทศสมาชิกจากจำนวนทั้งหมด 150 ประเทศ มีแนวโน้มที่บรรลุเอกสารความตกลงสำคัญซึ่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก นายปาสกาล ลามี เป็นผู้นำเสนอ

กระบวนการที่ขาดความโปร่งใสและกีดกันประเทศสมาชิกจำนวนมากไม่ให้มีส่วนร่วมได้อย่างเสมอภาคซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมการเจรจาในสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างเท่าเทียมเช่นกัน ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนาน แต่กำลังกลายเป็นกระบวนการอันจะนำไปสู่การผูกมัดด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญยิ่ง จากการศึกษาเอกสารดังกล่าวพบว่าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากคนจนในประเทศเหล่านี้ จะต้องเป็นผู้แบกรับผลจากการเปิดเสรีมากขึ้นไปอีก

 

ตัวอย่างเช่น

1.สินค้าเกษตร - เอกสารนี้จะอนุญาตให้ประเทศรํ่ารวยอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปไม่ต้องปรับลดเงินอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่อย่างมหาศาลแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบประเทศยากจน ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯจะสามารถใช้เงินอุดหนุนสินค้าเกษตรของตนได้สูงสุดถึง 480,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มจากระดับในปัจจุบันที่ 260,000 ล้านบาทด้วยซํ้า

2.สินค้าอุตสาหกรรม – เอกสารนี้กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องลดอัตราภาษีมากว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายเท่า ในบางกรณีอาจต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมเฉลี่ยถึงมากกว่าร้อยละ 60  ซึ่งขัดกับหลักการที่ต้องคำนึงถึงระดับการพัฒนาประเทศที่มีความแตกต่างกัน อันเป็นหลักการที่มีการยอมรับร่วมกันก่อนหน้านี้อยู่แล้ว การลดอัตราภาษีผูกพันอย่างมากเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาอย่างสำคัญ

เนื่องจากความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกนี้จะก่อให้เกิดความผูกพันด้านการค้า และกฏระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้า ซึ่งเป็นความผูกพันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากความตกลงภายใต้รอบอุรุกวัยเมื่อมากกว่าทศวรรษมาแล้ว จึงเป็นไปตามเงื่อนไข ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพการเจรจาและความเป็นธรรมของความตกลง รวมถึงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฏหมายอันอาจเกิดขึ้นในอนาคต กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ข้อเรียกร้องให้

1.รัฐบาลไทยจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเปิดเผยและทั่วถึงต่อร่างเอกสารความตกลงดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

2.รัฐบาลควรยืนยันอย่างเป็นทางการต่อประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกและประชาชนไทยว่าการลงนามใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในการเจรจารอบนี้ จะยังไม่มีผลผูกพันประเทศไทย จนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามมาตรา 190 อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงการเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา การรับฟังความคิดเห็นประชาชน การนำเสนอแผนการป้องการและเยียวยาแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

 

การดำเนินการตามมาตรา 190 ในกรณีนี้ จะไม่ก่อให้เกิดความล่าช้าแต่อย่างใดเนื่องจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกอีกจำนวนมากก็ต้องกลับไปใช้เวลาในการดำเนินการตามกฏหมายของแต่ละประเทศในลักษณะคล้ายคลึงกัน


หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจที่จะดำเนินการด้วยวิถีทางประชาธิปไตยภายใต้มาตรา 190 แล้ว จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า เจตนารมณ์และหลักการในมาตราดังกล่าวหาใช่อุปสรรค แต่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองในเวทีเจรจาระหว่างประเทศ และมีความละเอียดรอบคอบในการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีความสำคัญเช่นนี้มากขึ้น

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: