?มาตรา ๑๙๐? ปัญหาหรือทางออกของรัฐไทยในยุคโลกาภิวัตน์

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

ก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดของมาตรา ๑๙๐ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวทำความเข้าใจว่าการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้และพึงกระทำ เป็นความจริงว่ากระบวนการในการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญไม่ใช่กระบวนการเดียวกับการเขียนตำราทางกฎหมาย แต่เป็นผลผลิตของกระบวนการทางสังคมและการเมือง ดังนั้นเมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็จะสามารถเห็นข้อจำกัดทางกฎหมายได้ นอกจากนั้นเมื่อเป้าหมายหรือคุณค่าร่วมของสังคมเปลี่ยนไปการปรับปรุงก็ไม่น่าจะใช่สิ่งต้องห้าม หากแต่ประเด็นสำคัญคือการแก้ไขปรับปรุงต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อปกป้องหรือสนองประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ และต้องผ่านการศึกษาอย่างเปิดเผยจากหลายฝ่ายว่าประเด็นที่ต้องการแก้มีปัญหาจริงหรือไม่อย่างไร  ที่สำคัญ ขั้นตอนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นกระบวนการที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมจากประชนอย่างแท้จริงซึ่งไม่ได้หมายถึงการทำประชามติเท่านั้น

 

เมื่อหันมาพิจารณามาตรา ๑๙๐ อาจสามารถสรุปความสำคัญสั้นๆ ว่ามาตรานี้เป็นผลลัพธ์จากประสบการณ์ร่วมของสังคมไทยที่เห็นว่าการไปจัดทำพันธกรณีของรัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ (FTA)ได้ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในเชิงกระบวนการและผลกระทบจากการบังคับใช้อย่างใหญ่หลวง จึงจำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน

 

ถ้าจะทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังของมาตรา ๑๙๐ แล้ว คงจำเป็นเป็นที่จะต้องมองให้ลึกไปกว่าภาพที่ปรากฏอยู่ภายนอก อันที่จริง มาตรา ๑๙๐ ไม่ได้มีจุดกำเนิดมาจาก ‘การต่อต้าน เอฟทีเอ’ แต่มาจากความพร้อมของหลากหลายกลุ่มประชาชนที่ต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดวางนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่ความตกลงระหว่างประเทศมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการกำหนดความเป็นไปทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เรียกได้ว่านโยบายของฝ่ายบริหาร บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ และขอบเขตอำนาจของฝ่ายตุลาการ ล้วนมีส่วนถูกกำหนดภายใต้ความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสิ้น ในสภาวะการเช่นนี้ไม่น่าแปลกที่จะมีความต้องการเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชนในเรื่องดังกล่าว (ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศไทยเพียงเท่านั้น)  อย่างไรก็ตามความพร้อมของประชาชนกลับต้องปะทะกับความไม่พร้อมของภาครัฐซึ่งมีวิถีปฏิบัติต่อเรื่องนี้ในลักษณะที่ไม่ได้ยึดถือความโปร่งใสเป็นที่ตั้งรวมทั้งมีความเข้าใจต่างออกไปในหลักการและขาดทักษะในวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งยังได้ส่งผลให้เกิดความระแวงสงสัยถึงผลประโยชน์แอบแฝงต่างๆ ของฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่  บทบัญญัติมาตรา ๑๙๐ อย่างที่เราเห็นกัน ถึงที่สุดแล้วก็เป็นภาพสะท้อนพลวัตน์ของการปะทะสังสรรค์ในประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ดังนั้นการมองมาตรา ๑๙๐ ว่ามีไว้เพื่อขัดขวางเอฟทีเอ หรือเพื่อมัดแขนมัดขารัฐบาลจึงเป็นการมองที่ไม่ตรงจุด และทำให้ไม่สามารถใช้ปัจจัยด้านบวกอันเกิดจากเจตนารมณ์และหลักการของมาตรานี้ได้ กลุ่มประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่างก็อยากเห็นประเทศสามารถก่อพันธกรณีเชิงบวกไม่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ด้านเศรษฐกิจ ได้อย่างไม่ยุ่งยากจนเกินไป การมียุทธศาสตร์แบบมัดตราสังข์ฝ่ายบริหารจึงไม่เป็นคุณกับฝ่ายใดในระยะยาวทั้งสิ้น

 

ในส่วนเนื้อหาของมาตรานี้ หลายเสียงชี้ว่าเงื่อนไขที่ใช้ในการกำหนดประเภทหนังสือสัญญาตามวรรคสองของมาตรา๑๙๐ นั้นกว้างเกินไป จนเป็นผลให้รัฐบาลทำอะไรไม่ได้เนื่องจากต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนทั้งหมด เช่นการกำหนดว่า หนังสือสัญญาใด “มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง  หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” แต่เมื่อพิจารณาดูจะพบว่าหนังสือสัญญาที่จะเข้าข่ายตามที่กำหนดหาได้มีจำนวนมากไม่  เนื่องจาก  หนึ่ง ต้องเป็นพันธกรณีที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความ ‘มั่นคง…อย่างกว้างขวาง’ หรือ ต้องมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ ‘อย่างมีนัยสำคัญ’ กล่าวคือหมายถึงหนังสือสัญญาที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างมากเท่านั้น  สอง หากเกรงจะเป็นการยากที่จะทราบว่าหนังสือสัญญาใดจะเข้าเงื่อนไขเหล่านี้ ก็ควรที่จะเร่งออกกฎหมายเพื่อรองรับมาตรานี้โดยด่วน ตามที่รัฐธรรมนูญเองก็ได้กำหนดไว้ กฎหมายดังกล่าวสามารถช่วยให้รายละเอียดของเงื่อนไขในมาตรา ๑๙๐ เพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติมากขึ้น โดยไม่ต้องไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญทุกครั้งที่สงสัย อันที่จริงกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการการเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. นี้เสร็จและเสนอต่อรัฐบาลผ่านทางกระทรวงต่างประเทศไปตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว

 

นอกจากนั้นประเด็นที่ว่ารัฐบาลจะต้องเสนอขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาตามวรรคสามทุกครั้งก่อนเริ่มเจรจาจนทำให้เกิดความล่าช้าและลดประสิทธิภาพการเจรจา ไม่น่าจะใช่ปัญหาที่แท้จริง เนื่องจาก  หนึ่ง ตามที่กล่าวมาแล้วว่าไม่ใช่ทุกการเจรจาที่จะต้องเสนอกรอบต่อรัฐสภาก่อน  สอง ก่อนเริ่มการเจรจาใดๆ รัฐบาลพึงจัดทำกรอบและเป้าหมายการเจรจาอยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นการไปเพิ่มภาระในส่วนนี้  สาม การเสนอต่อรัฐสภาในขั้นตอนนี้เป็นการเสนอเพียงกรอบ ไม่ใช่เนื้อหาหรือรายละเอียดการเจรจา จึงไม่เป็นการเผยไต๋หรือทำให้เสียท่าทีตามที่บางคนกล่าวอ้าง ในทางตรงกันข้าม คณะเจรจาสามารถใช้เป็นประโยชน์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาโดยการอ้างว่ากรอบที่ตนใช้เจรจาได้รับความเห็นชอบจากผู้แทนประชาชนมาแล้ว และ สี่ ได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนนี้โดยรัฐบาลไปแล้วอย่างราบรื่นในกรณีการเจรจาทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป นอกจากนั้น กฎหมาย พ.ร.บ. ตามที่ เอฟทีเอ ว็อทช์ได้เสนอไป ก็ได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในเรื่องนี้อย่างชัดเจนจึงไม่ควรเกิดความสับสนหรือล่าช้าแต่อย่างใด

 

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่าว่าอำนาจในส่วนนี้เป็นของฝ่ายบริหาร มาตรา ๑๙๐ เพียงกำหนดเงื่อนไขของการใช้อำนาจนั้นเพื่ออำนวยให้เกิดกระบวนการตรวจสอบ มีส่วนร่วม สร้างความโปร่งใส และวางแนวทางเยียวยาผลกระทบเท่านั้น อันจะนำไปสู่ความรัดกุมและเป็นธรรมในการการจัดทำพันธกรณีระหว่างประเทศขณะที่ยังคำนึงถึงประสิทธิภาพการเจรจาเป็นสำคัญ

 

 

แน่นอนว่ามาตรา ๑๙๐ สามารถที่จะถูกปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญแบบ ‘เดินผิดทาง’ เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเวลานี้ หมายความว่าความพยายามในการแก้ไขมาตรา ๑๙๐ แทนที่จะเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น กลับเป็นการหาทางขจัดประชาชนออกไปโดยการลบทิ้งหลักการความโปร่งใสและมีส่วนร่วมในมาตรานี้เสีย

 

เป็นที่น่าเสียดายที่มาตรา ๑๙๐ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเอาชนะหรือสร้างความได้เปรียบทางการเมือง จนทำให้ผู้คนละเลยที่จะพิจารณาคุณค่าที่แท้จริง  จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้รู้และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรา ๑๙๐ หากเสนอว่าต้องการจะปรับปรุงมาตรานี้จริง จำเป็นที่จะต้องชี้ถึงวิธีการที่จะดำรงความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างสมดุลย์และเป็นรูปธรรมไปพร้อมกันด้วย มิเช่นนั้นความเห็นทางวิชาการของท่านก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือให้กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องนำไปอ้างเพื่อกำจัดหลักการประชาธิปไตยที่ปรากฏอยู่ในมาตรานี้ทิ้งไปเสีย จนอาจนำประเทศกลับไปสู่วังวนความขัดแย้งเดิมๆ และอาจเป็นอีกครั้งที่ก้าวย่างสู่การมีส่วนร่วมทางนโยบายของประชาชนจะต้องสะดุดลง

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: