เอฟทีเอ ว็อทช์ แถลงข่าวระบุความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ยังคงเปิดช่องให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นที่ทิ้งขยะพิษ
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ได้แถลงข่าวตั้งข้อสังเกตถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคมนี้
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า ความตกลง AJCEP ยังคงยึดแนวเดียวกับ เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ที่เปิดโอกาสให้ของเสียอันตรายหรือขยะพิษเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นต้องการส่งออกมาทิ้งในประเทศต่างๆ
?ตามข้อ 25 ใน AJCEP ได้กำหนดลักษณะของสินค้าที่จัดว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศภาคีซึ่งอาเซียนและญี่ปุ่นได้ตกลงกันที่จะผูกพันลดภาษีนำเข้าหากสินค้านั้น รวมถึง ?ของที่ไม่ได้ใช้? (Waste) และ ?เศษ? (Scrap) ที่ได้จากการดำเนินการผลิตหรือผ่านกระบวนการ หรือการบริโภค ซึ่งรวมทั้งของเสียจากบ้านเรือน เหมืองแร่ โรงเผาขยะ ขยะจากการก่อสร้าง ทั้งเพื่อนำมารีไซเคิลและการกำจัด ซึ่งหากดูตามพิกัดภาษีจะยิ่งพบว่ามีขยะอันตรายทุกประเภที่ประเภทที่ประเทศไทยห้ามไว้ โดยที่ประเทศไทยไม่สามารถใช้ ?มาตรการปกป้อง? (Safeguard Measures) ได้ เพราะในความตกลงระบุว่า จะใช้มาตรการปกป้องได้ก็ต่อเมื่อต้องมี ?ความเสียหายรุนแรง? (Serious Injury) เกิดขึ้นต่อ ?อุตสาหกรรมภายใน? ดังนั้น หากมีปัญหามลพิษหรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการนำเข้าของเสียอันตรายต่อสังคม ประชาชน ก็ไม่แน่ใจว่าจะยังสามารถใช้ได้ และหากนำมาใช้อาจจะขัดกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติอีกด้วย?
ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง สมาชิกกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการอ้างว่า JTEPA ไม่ได้ทำให้มีการนำเข้าขยะพิษเพิ่มขึ้น เพราะมีเอกชนเพียง 2 รายที่ขยะเข้ามาจัดการในประเทศไทย
?เอกชน 2 รายที่ว่าเป็นการใช้สิทธิ JTEPA แต่หากดูข้อมูลการนำเข้าทั้งหมด จะพบว่า มีการนำเข้าขยะพิษและของเสียอันตรายจากญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้แจ้งใช้สิทธิจาก JTEPA อาทิ ยางเก่า ขยะอิเล็คทรอนิค แบตเตอร์เก่า แผงวงจรเก่า ขี้เถ้าจากเตาเผาขยะ และกากกัมมันตภาพรังสี?
ในส่วนของเนื้อหาในภาพรวมนั้น นายจักรชัย โฉมทองดี สมาชิกกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายราชการยังคงหยิบยกเพียงด้านดีของความตกลงฯเป็นชูโรง โดยที่ไม่ใส่ใจรายจ่ายอื่นๆที่อาจสูงกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการทำ FTA ด้วยซ้ำ
?สรุปสาระสำคัญความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่จัดทำโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์อ้างการศึกษาที่ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ผลของความตกลงฯ เมื่อมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ว่า จีดีพีจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 สำหรับอาเซียน และร้อยละ 0.07 สำหรับญี่ปุ่น ทั้งๆที่การศึกษาตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น สมมุติฐานเชื่อว่า สภาพตลาดเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ผู้ผลิตแต่ละรายมีขนาดเล็ก และไม่มีอิทธิพลต่อราคาตลาด เชื่อว่าปัจจัยแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างอุตสาหกรรมได้ แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้ เชื่อว่ามีการทดแทนอย่างสมบูรณ์ในรายสินค้าและบริการระหว่างภายในประเทศและต่างประเทศ ฯลฯ สมมุติฐานที่ผิดพลาดเช่นนี้ จึงน่าเชื่อว่า ตัวเลขจีดีพีที่อ้างน่าจะเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น ขณะที่ ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม กลับไม่ถูกพิจารณาอย่างครบถ้วน?
ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ ยังหวังว่า สมาชิกรัฐสภาจะพิจารณาความตกลงฯนี้อย่างรอบคอบ และพยายามแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เพื่อช่วยให้ไทยไม่ตกเป็นที่ทิ้งขยะของญี่ปุ่น