มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญา ถือว่าเป็นมาตราที่มีความสำคัญ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เนื่องจากได้กำหนดหลักการสำคัญของกระบวนการเจรจาและการผูกพันพันธกรณีของประเทศกับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น การทำเขตการค้าเสรี (FTA) หรือการเจรจาปักปันเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น โดยหลักการสำคัญของมาตรา 190 นั้นประกอบด้วย
1) บทบาทที่ชัดเจนของรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาที่มีความสำคัญ
2) ความโปร่งใสในการจัดทำหนังสือสัญญาเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
3) การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อความรอบคอบและประสิทธิภาพในการเจรจา
4) การเยียวยาแก้ไขผลกระทบที่รวดเร็วและเป็นธรรม
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญนั้นสามารถกำหนดได้เพียงหลักการและเนื้อหาบางส่วนเท่านั้น ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติจริงจะปรากฏอยู่ในกฏหมายระดับรองลงมา
เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่กฏหมายที่ว่าด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม และความโปร่งใส กลับถูกร่างและผลักดันในที่มืด กีดกันผู้ส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ และประชาชน ไม่ให้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ทั้งที่หลายฝ่ายได้พยายามจัดเวทีแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่หน่วยงานที่รัฐผิดชอบกลับไม่เคยเปิดเผยข้อมูลและปฏิเสธการเข้าร่วมมาโดยตลอด นอกจากนี้กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ยังได้เคยยื่นหนังสือและเรียกร้องให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการร่างกฏหมายฉบับนี้ ณ กระทรวงการต่างประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
การกระทำของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่าตั้งใจที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างหมกเม็ดและมีวาระซ้อนเร้น ดังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. กระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ของรัฐบาล เช่น
1) แทนการกำหนดนิยามที่ชัดเจนว่าหนังสือสัญญาลักษณะใดบ้างที่จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา กลับมอบอำนาจให้เป็นการใช้ดุลยพินิจของรัฐบาลโดยคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศ การกำหนดเช่นนี้จะสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อน เนื่องจากความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างรัฐบาล และฝ่ายต่างๆ อาจต้องมีการยื่นศาลในทุกกรณีไป 2) สัญญาเงินกู้หรือเงินให้กู้ต่างประเทศ เช่นการกู้เงินจาก ไอ เอ็ม เอฟ หรือ การให้เงินกู้กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐสภา 3) หน่วยงานภาครัฐยังเป็นผู้ควบคุมและมีอำนาจจัดการและรายงานผลการรับฟังความเห็นประชาชน รวมถึงการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะก่อปัญหาด้านความไม่เป็นกลาง และการไม่ยอมรับจากสาธารณะ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 4) จะไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนแต่อย่างใดภายหลังการเจรจาเมื่อได้ร่างหนังสือสัญญาก่อนการเสนอขอความเเห็นชอบจากรัฐสภา อีกทั้งการรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนอื่น จะเป็นการใช้เว็บไซต์ซึ่งประชาชนจำนวนมากไม่อาจเข้าถึง
ด้วยเหตุนี้ เอฟ ที เอ ว็อทช์ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล 1) ยุติการเสนอกฏหมายรองรับมาตรา 190 นี้ในทันที 2) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางต่อ พ.ร.บ. นี้โดยเร็วที่สุด 3) พิจารณาและเผยแพร่คำแนะนำของอนุกรรมการพิจารณากฏหมายว่าด้วยขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาฯ ที่ตั้งขึ้นตาม รัฐธรรมนูญ |