บุคคลสำคัญที่มีบทบาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา กับราคาที่สังคมไทยต้องจ่าย

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

เมื่อ กลางเดือนที่ผ่านมา มีคนไทยคนหนึ่งได้รับการยกย่องจากสถาบันต่างประเทศให้เป็น 1 ใน 50 บุคคลสำคัญของโลก น่าแปลกที่ข่าวคราวค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงข่าวแจกของหน่วยราชการ และข่าวออนไลน์อีก 1 ชิ้นเท่านั้น เทียบไม่ได้กับข่าวน้องหม่องได้รางวัลจากการแข่งเครื่องบินพับ

"คน ไทย" ที่ว่านี้ คือ นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ที่ได้รับการเลือกเป็น The 50 Most Influential People in IP ของโลก จากการ "คัดสรร" ของนิตยสาร Managing Intellectual Property ประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2552

ซึ่ง ทางนิตยสารระบุว่า การเลือก 50 บุคคลสำคัญ ที่มีบทบาทอย่างสูงในวงการทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่มีการจัดอันดับ ไม่มีการลงคะแนนเสียง และไม่มีการว่าจ้างหรือรับจ้างให้ลงในบทความ

" นิตยสารได้แสดงความชื่นชมบทบาทของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้านการปราบปรามการ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย ซึ่งมีทรัพยากรจำกัด กอปรกับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ที่รัฐบาลหลายประเทศอาจให้ความสำคัญกับ การสร้างงานโดยไม่สนใจว่าจะเป็นงานลอกเลียนแบบที่ผิดกฎหมายหรือไม่ มากกว่าการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง นิตยสารยังได้กล่าวชื่นชมความพยายามของรัฐมนตรีช่วยว่าการ ในการดำเนินงานต่างๆ เพื่อมุ่งถอดประเทศไทยออกจาก PWL ด้วยการผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า เพื่อเอาผิดผู้ซื้อ ผู้ครอบครอง และผู้ให้เช่าพื้นที่ ขายสินค้าละเมิด เป็นต้น" (คัดลอกจากข่าวประชุม ครม.)

ถ้าดูจากคำยกย่องชื่นชม ก็น่าที่คนไทยจะร่วมชื่นชม แต่เหตุใด การได้รับคัดสรรเป็น 1 ใน 50 บุคคลสำคัญของโลก จึงเงียบเช่นนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจเป็นความเงียบที่ซ่อนความกระอักกระอ่วนของสังคมไทยก็ได้?

จึง สมควรที่คนไทยจะร่วมแบ่งปัน "ความรู้สึก" ที่ว่า ผ่านการย้อนกลับไปดูผลงานต่างๆ ที่รัฐมนตรีช่วยฯ พาณิชย์คนนี้ทำเอาไว้จนปรากฏเป็นเครื่องเบิกทางไปสู่ตำแหน่ง 50 บุคคลสำคัญของโลก

กลางเดือนมีนาคม 2552 นายอลงกรณ์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ได้เดินทางไปพบผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และตัวแทน PhRMA สมาคมอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ แม้ว่าเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย จะปฏิเสธว่าไม่ได้ไปรับปากที่จะแก้ไขกฎหมายเพิ่มความคุ้มครองด้านทรัพย์สิน ทางปัญญาให้สูงไปกว่ากฎหมายไทยที่มีอยู่

แต่ต่อมาก็พบว่า ในรายงาน Special 301 Report ของ USTR ได้ระบุถึงการที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปรับปากที่จะให้ความสำคัญในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น [The United States is encouraged, howiver, by the positive statements made by senior Thai officials in Prime Minister Abhisit"s Administration, which has been in office since mid-December 2008, on the new Government"s intentions to make IPR protection and inforcement a higher priority and to address the longstanding deficiencies in IPR protection in Thailand]

ซึ่งสร้างความพึงพอใจแก่ผู้แทนการค้าสหรัฐอย่างมาก

กลาง ดึกวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 กลุ่มชายชุดดำปฏิบัติการอย่างอุกอาจยึดสินค้าของพ่อค้าแม่ขายย่านพัฒนพงศ์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจนถึงขณะนี้ปฏิบัติการที่ว่านั้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องในชั้นศาล

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตหลังเหตุการณ์ว่า

" กระทรวงพาณิชย์ควรกำหนดมาตรการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่าง รัดกุมและเป็นธรรม เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก และควรมุ่งเน้นการปราบปรามแหล่งผลิตเป็นหลัก"

เช่นเดียวกับความเห็น ของรัฐสภา ที่เห็นว่า "การใช้หน่วยเฉพาะกิจของกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการปราบปรามอย่างไม่ถูกขั้นตอน เนื่องจากไม่มีตัวแทนเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเข้าร่วม ไม่มีการแยกแยะสินค้าที่ละเมิดและไม่ละเมิด พร้อมทั้งขอให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนการปฏิบัติหน้าที่"

ปลายเดือน พฤษภาคม 2552 ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิ และได้ให้นโยบายแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องรับจดสิทธิบัตรในพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ทุกชนิดนั้น ทั้งๆ ที่กฎหมายไทยไม่อนุญาต

เดือนกรกฎาคม 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตามที่นายอลงกรณ์เสนอ

ซึ่งขณะนี้ภาคประชาสังคมทำหนังสือถึงนายก รัฐมนตรี ขอใช้สิทธิตามมาตรา 11 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ฯ และแผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปราม เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยและผู้บริโภคชาวไทย

สาเหตุสำคัญ ของการขอทบทวนคือ ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และแผนเร่งรัดให้ความสำคัญและเน้นย้ำเพียงการปราบปราม การคุ้มครองผู้ทรงสิทธิ แต่มิได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนไทย การถ่ายเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย และการคุ้มครองผู้บริโภคคนไทย ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องมีความสมดุลกัน และยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบต่อ สุขภาพยังขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ แนวทางการปรามปราม ยังดึงหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทาง ปัญญา โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ให้ต้องเพิ่มภาระหน้าที่และปันส่วนงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเพื่อปกป้องสินทรัพย์เอกชน และยังเสี่ยงต่อการบังคับให้หน่วยงานไปทำงานเป็นตำรวจทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งๆ ที่หน้าที่หลักคือ การแลเรื่องความปลอดภัยของยา เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ซึ่งประเด็นนี้เกินไปกว่าความ ตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยผูกพันอยู่ หรือที่เรียกว่า ทริปส์ผนวก (TRIPS+) ซึ่งจะนำไปสู่การกีดกันยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ยาต้นแบบสามารถผูกขาดและคงราคาสูงมากต่อไป

บทบาทรัฐมนตรีช่วยฯพาณิชย์ แม้จะได้รับการ "ยกยอ" ให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโลกทัศน์แบบสหรัฐอเมริกา

อย่าง ไรก็ตาม ก็ได้สร้างความกังวลแก่นักสิทธิมนุยชนอย่างมาก โดย นายอนันด์ โกรเวอร์ (Anand Grover) ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิในสุขภาพ (UN Special Rapporteur on the right to health) ได้ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากภาคประชาสังคมไทยที่ทำงานด้านการเข้าถึงยา เพื่อติดตาม ตรวจสอบว่า ยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญา และแผนเร่งรัดปราบปรามดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิทางสุขภาพของประชาชนหรือ ไม่ เพื่อจะได้ทำรายงานเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

คง จะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความพยายามทั้งหมดของนายอลงกรณ์ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ ก.พาณิชย์ ไม่ใช่ Plan of Action ที่ไปรับปาก USTR มาตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม เพราะรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ครั้งที่ 3/2522 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระบุอย่างชัดเจนว่า แผนเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทำขึ้นเพื่อให้สหรัฐถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษ (PWL)

จริง อยู่ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น แต่การจัดทำแผนเร่งรัดฯนี้ เพื่อเอาใจอเมริกา โดยไม่สนใจว่า ผลของแผนจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา และการเข้าถึงความรู้ของประชาชนคนไทยอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่ง

ทั้งที่เรื่องนี้เป็นนโยบาย สาธารณะของประเทศ ควรจะมีกระบวนการจัดทำนโยบายที่ชัดเจน โปร่งใส ศึกษาถึงผลดีผลเสียของแผนเร่งรัดฯ และรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางขวางและรอบด้าน

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: