การปฏิวัติทางนโยบาย กับการสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือก: ประสบการณ์จากละตินอเมริกา

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

*งาน บรรยายนี้จัดโดยศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2549

โดย  ศ.ดร. วอลเดน เบลโล
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์และ
ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
(Focus on the Global South)

 

สวัสดีครับ  ขอบคุณมากที่เชิญผมมาพูดในวันนี้และขอบคุณศูนย์เศรษฐศาสตร์ การเมือง อาจารย์นพนันท์ที่สนับสนุนการสัมมนาวันนี้  ผมได้รับคำร้องให้พูดถึงคลื่นประชานิยมที่กำลังเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา ผมคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะอยู่ไกลจากทวีปลาตินอเมริกา  แต่ว่าเราก็ได้ยินข่าวว่ามีเหตุการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้นในทวีปนั้นอยู่ตลอดเวลา  เวลาเรามองสถานการณ์โลกในตอนนี้ เราจะเห็นว่าความขัดแย้งในตะวันออกกลางเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  แต่ว่าเมื่อดูในลาตินอเมริกา  มันทำให้เรามีความหวังเพิ่มขึ้น  ดังนั้นวันนี้อยากจะอภิปรายว่าทำไมเหตุการณ์ในลาตินอเมริกาจึงสร้างความหวังให้กับชาวโลก 

คงพูดได้ว่าลาตินอเมริกากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิวัติ เห็นชัดว่าเป็นการปฏิวัติต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่  เป็นขบวนการที่ต่อต้านการครอบงำของสหรัฐอเมริกา  เพราะฉะนั้นจะลองดูว่ามันมีชุมทางของกระแสต่างๆอย่างไร  ในการปฏิวัติต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกา

เหตุการณ์แรกที่เห็นได้ชัดคือเมื่อฮูโก ชาเวซ  ขึ้นเป็นประธาธิบดีในเวเนซูเอล่าในปี 1998 (2541) โดยผ่านการเลือกตั้ง   หลังจากนั้นลูลาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธาธิบดีบราซิลในปี 2002 (2545) ซึ่งเป็นการรับสมัครเลือกตั้งครั้งที่สาม จึงชนะ  ในปี 2002 (2545) เนสเตอร์ คิชเนอร์ เป็นประธานาธิบดีใหม่ในอาร์เจนตินา  ปีที่แล้ว  เอโว โมลาเลส ได้เป็นประธานาธิบดีในโบลีเวีย  จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญสี่ครั้งที่แสดงถึงการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกา 
 
แอนเดรียส โลเปรส  โอปราดอร์   ของเม็กซิโกเองก็กำลังอยู่ในระหว่างการเลือกตั้ง  การเลือกตั้งในเม็กซิโกจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า  หนังสือพิมพ์นิวยอร์คสไทม์ได้อธิบายว่า โลเปรสเริ่มอาชีพโดยการอาศัยอยู่กับคนพื้นเมือง  แล้วก็เป็นผู้นำคนเข้าไปนั่งยึดภายในโรงงานน้ำมันและบ่อน้ำมันของรัฐวิสาหกิจ  ดังนั้นเขาจึงเป็นนักเคลื่อนไหวมาตั้งแต่แรก  จนขึ้นเมื่อเร็วๆนี้เป็นนายกเทศมนตรีของเม็กซิโกซิตี้   หนังสือพิมพ์บอกว่า ไม่ว่าจะชนะหรือไม่ เขาจะเป็นศูนย์กลางของการเลือกตั้ง เพราะเขาได้นำประเด็นความขัดแย้งทางชนชั้นออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์  ในคำแถลงของเขาเมื่อเร็วๆนี้  เขาได้ประกาศที่จะอุทิศตนเพื่อกำจัดสิทธิประโยชน์ของชนชั้นอภิสิทธิ์ซึ่งได้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองในเม็กซิโกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เขาได้ขอให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการลงประชามติของประชาชนด้วยว่าประเทศต้องการที่จะดำเนินนโยบายการค้าเสรีและเข้าข้างธุรกิจต่อไป  หรือว่าจะร่วมเข้ากับประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆซึ่งมีผู้นำประชานิยมฝ่ายซ้ายซึ่งประกาศที่จะให้รัฐมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ และกระจายรายได้ให้กับคนจน 

กระแสที่เรียกว่าเป็นประชานิยมฝ่ายซ้าย เกิดขึ้นโดยที่เราต้องตั้งข้อสังเกตว่านโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ได้นำมาใช้ในลาตินอเมริกามากกว่าประเทศอื่นๆในโลก  ดังนั้นจึงมีการบริหารเศรษฐกิจที่เป็นไปในทางตลาดเสรีมาโดยตลอด  เป็นหลักการใหญ่ที่ยึดมาในช่วงที่ผ่านมา  ไม่มีที่ไหนในโลกที่มีแนวนโยบายที่ยึดถือเสรีนิยมใหม่เท่าลาตินอเมริกา  ถ้าดูประเทศในลาตินอเมริกาจะเห็นว่าอาร์เจนตินาเป็นผู้ที่นำนโยบายไปใช้ แล้วได้รับผลกระทบอย่างค่อนข้างรุนแรง  ดังนั้นเราอาจจะต้องดูอาร์เจนตินาสักเล็กน้อย  อาร์เจนตินาลดภาษีศุลกากร   แปรรูปรัฐวิสาหกิจมากที่สุดในโลก  ขจัดการควบคุมทุน  ปล่อยเสรี ขายธนาคารให้ต่างชาติ  ใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงิน  ทำให้เป็นหนี้มากมายจนต้องหยุดชำระหนี้ 
เศรษฐกิจล่มสลาย  ปี 2002 (2545) จีดีพีติดลบไปเกือบ 4% คนตกงาน  ประมาณ 50% ตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน  อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทันทีทันใด  และจนยิ่งกว่าประเทศที่ยากจนก่อนหน้านั้นในลาตินอเมริกาเสียอีก  เทียบเท่ากับการโดนอาวุธนิวเคลียร์เลยทีเดียว จากที่รวยที่สุดไปเป็นจนที่สุด

ดังนั้น โรเบิร์ต รูบิน รัฐมนตรีคลังสมัยคลินตันของอเมริกา  บอกว่า ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมนโยบายตลาดเสรีไม่เกิดผลในลาตินอเมริกา  แต่ประชาชนของอาร์เจนตินาไม่รอที่จะทดลองอีกต่อไป  เพราะคิชเนอร์ออกมาประกาศว่าจะจ่ายคืนแค่ 10 สตางค์จากหนี้หนึ่งบาท  ประชาชนสนับสนุนอย่างล้นหลามในการตัดสินใจที่จะลดการชำระหนี้  เป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่  และจะจ่ายเงินเพียง 25 สตางค์ให้กับหนี้สถาบันเอกชน  ในความเป็นจริง  บางคนบอกว่า ถ้าคิชเนอร์ไม่มีท่าทีอย่างนี้  คือมีการประนีประนอม  เขาอาจจะถูกประชาชนไล่ออกก็ได้ 

ถึงแม้เราอาจจะว่าการตัดสินใจเช่นนี้เป็นการบ้าบิ่น  แต่ก็เป็นการตัดสินใจทางเดียวที่ทำให้อยู่รอดได้  คิชเนอร์สามารถทำตามที่เขาขู่ไว้  แม้ว่าเจ้าหนี้จะโวยวายฟ้องไอเอ็มเอฟให้มากำกับอาร์เจนตินา  เพราะว่าไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้ในประวัติศาสตร์ที่จ่ายเพียงหนึ่งในสี่ของหนี้ที่กู้ไป  คิชเนอร์บอกเจ้าหนี้ทั้งหลายว่าต้องรับสถานการณ์นี้  ไม่เช่นนั้นอีกไม่กี่สัปดาห์  เงินจะลดไปอีก  จะจ่ายเพียง 10 สตางค์ต่อหนี้ 1 ดอลลาร์ ดังนั้น  เขาทำอย่างนี้ได้  ทำให้หนี้อาร์เจนตินาลดลงอย่างฮวบฮาบ  ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งจากประชาชน  อีกอย่างที่เขาทำ คือ อาร์เจนตินาและบราซิลจ่ายหนี้ไอเอ็มเอฟคืนไปทั้งหมดเพื่อจะเป็นอิสระ    

อยากจะชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการในอาร์เจนตินา มีความสำคัญมากในการสร้างประชามติที่เป็นไปในทางต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ในลาตินอเมริกา  ดังนั้น กระแสประชานิยมฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกานี้มันคืออะไร  มีองค์ประกอบอะไรบ้าง  หลายคนได้ยินคำนี้ซึ่งใช้ในการอธิบายผู้นำในลาตินอเมริกา 

ประชานิยม เป็นแนวทางการเมืองและโครงการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับบารมีของปัจเจกบุคคล  เขาหรือเธอมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงประชาชนต่างชนชั้น  จะมีโครงการสำหรับคนงาน คนยากจนในสลัม  คนชั้นกลาง คนชนบทที่ยากจน  นี่คือลักษณะบุคลิกของผู้นำที่เข้าถึงชนชั้นต่างๆได้ในขณะเดียวกันก็แยกอภิสิทธิ์ชนออกไป   ส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกาเป็นการต่อต้านอเมริกา  เพราะว่าอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้จะทำงานกับอเมริกาคู่เคียงกันไป  ที่น่าสนใจคือ คนทางฝ่ายซ้ายที่ค่อนข้างจะทำงานเพื่อชนชั้น แต่ขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าร่วมกับฝ่ายประชานิยม

ในลาตินอเมริกามีประชานิยมฝ่ายซ้ายมายาวนาน   ผู้นำประชานิยมคนหนึ่งคือ โดมิโก เปรอน  ซึ่งสร้างมวลชนขึ้นมาจากสลัมในเมืองในช่วงปี 1950 (2493) ดังนั้น เปรอนจึงไม่ใช่แค่สามีของเอวิตา เปรอน  มันมีช่วงหนึ่งที่เขาได้รับความนิยมมากกว่าเอวิตาเสียอีก  และเขาเป็นผู้นำคนแรกๆที่นำประชานิยมฝ่ายซ้ายมาใช้ 

ที่น่าสนใจ  ในสายตาของอเมริกา  คือ ผู้นำที่อันตรายที่สุด ฮูโก ชาเวซ เขาเป็นมาอย่างไร ถึงทำให้ประชานิยมมีพลังมากถึงขนาดนี้


   
ฮูโก ชาเวซ  และ เอโว โมลาเลส


ฮูโกในสายตาของผมยังหนุ่มอยู่ คือ อายุแค่ 52 ปี  อย่างไรก็ตามคนพวกนี้ส่วนใหญ่อายุ 40-50 เท่านั้น  จึงอยู่ในรุ่นใกล้ๆกัน  และเป็นรุ่นหนุ่มถ้าเปรียบเทียบในหมู่ผู้นำด้วยกัน

เขาเป็นทหารแต่แรกเพราะตอนแรกต้องการเป็นนักเบสบอล  เพราะทหารเป็นสถาบันที่สนับสนุนผู้ต้องการเข้าร่วมทีมเบสบอล  หลายคนบอกว่าดีที่เขาไม่ได้เป็นนักเบสบอลอาชีพแต่เป็นนักการเมือง  เขาเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยด้านการสงครามที่ได้รับความนิยมสูง  เขาเข้าร่วมในการจัดตั้งแนวคิดตามซิมมอน โบลีวา  ซึ่งเป็นผู้นำในอดีตที่พยายามรวบรวมลาตินอเมริกาเข้าด้วยกันเพื่อต่อสู้กับสเปนในศตวรรษ 1800 ต่อมาเกิดเหตุการณ์หนึ่งเรียกว่าคารากัสโซ (Caracazo) ซึ่งเราพบเรื่องนี้ได้เวลาเราอ่านขบวนการต่อต้านไอเอ็มเอฟ  เพราะเป็นเหตุการณ์ต่อต้านครั้งใหญ่สุด  ตอนนั้น  เวเนซูเอลาขึ้นราคารถสาธารณะ  ประชาชนต่อต้านไอเอ็มเอฟ  เพราะเป็นเงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟสั่งการมา  คารากัสอยู่ในหุบเขา ดังนั้นคนรวยอยู่ในหุบเขา  คนจนอยู่บนไหล่เขา  การต่อต้านคือคนจนเดินขบวนออกมาล้อมคนรวยในหุบเขา  แต่ก็เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก  ชาเวซรู้สึกว่าถูกผู้นำใช้เพราะเป็นทหาร  ถูกสั่งให้ฆ่าประชาชน  เหตุการณ์นั้นทำให้ทหารหลายคนรู้สึกว่าถูกผู้นำใช้

ในปี 1992 (2535) ชาเวซก่อรัฐประหาร  โดยเพื่อนทหารร่วมกัน ซึ่งเกือบจะประสบความสำเร็จ  แต่ศูนย์กลางประกาศว่าไม่สามารถคุมคารากัสได้  ดังนั้นจึงต้องยอมมอบตัวต่อรัฐบาล  ชาเวซได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาของโทรทัศน์บอกให้ทุกคนวางอาวุธ  ซึ่งเขาประกาศได้  แต่เขาก็บอกด้วยว่าโอกาสมันจะยังมีอีกในเบื้องหน้า  เหตุการณ์นั้น เขาได้สร้างความหวังให้ประชาชน  เมื่อถูกปล่อยจากคุก  ในปี 1998 (2542) ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี  และได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงในเวเนซูเอลา 

ชาเวซกับพวกพ้อง  ร่างรัฐธรรมนูญ  มีการปฏิรูปที่ดิน  มีการจัดบริการทางสังคมใช้ทหารเป็นตัวนำส่งบริการ เปิดบริการของทหารให้คนจนมารักษาพยายาล  ปฏิรูประบบสาธารณสุข  แต่ปรากฎว่าหมอและพยาบาลต่อต้าน  เพราะการปฏิรูปเน้นไปที่การบริการคนยากจน  ดังนั้นสิ่งที่เขาทำคือ ยกหูโทรศัพท์พูดกับฟิเดล คาสโตร ของคิวบาเพื่อขอหมอมาช่วย  ดังนั้น คาสโตรจึงส่งหมอมาช่วย  และให้บริการสาธารณสุขมูลฐานในชนบท  ดังนั้นเราจึงเห็นแล้วว่าผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง  และก็มีคนโวยวายว่าเวเนซูเอลาถูกบุกโดยคิวบาจากการที่หมอเข้ามาในประเทศมากมาย

พัฒนาการที่น่าสนใจคือ หลังจากมีการรัฐปฏิหารต่อต้านชาเวซ  เขารอดมาได้เพราะคนจนตามไหล่เขาลงมาช่วย  ขณะนั้นคนนึกว่ารัฐประหารสำเร็จแล้ว  แต่ปรากฎว่าคนจนลงมาแล้วเรียกร้องให้ชาเวซเป็นประธานาธิบดีต่อไป คนทำรัฐประหารจึงกลัว  หลังจากนั้นไม่กี่วันเขาจึงเป็นประธานาธิบดีต่อไป

ชาเวซเป็นประชานิยม  แต่ก็มีความขัดแย้งหลายอย่าง   แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง  แต่ก็มีคนคัดค้านว่ามีการฉ้อฉล  ประธานาธิบดี จิมมี่ คาเตอร์ ของสหรัฐอเมริกา พยายามตรวจสอบการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ  เขายืนยันว่าเป็นการเลือกตั้งที่สะอาด 

ชาเวซอาจไม่ใช่คนที่เป็นอำนาจนิยม  แต่เขาใช้วิธีการค่อนข้างรวมศูนย์  ไม่วางใจในพรรคการเมือง เพราะว่าที่ผ่านมาคอรัปชั่นมากมาย  สถาบันเดียวที่ช่วยเขาได้คือสถาบันทางทหาร  เขาไม่เชื่อทั้งสถาบันทางศาสนาและพรรคการเมือง  เขาเชื่อว่าสถาบันทหารเป็นสถาบันเดียวที่ไม่ทุจริต  เขาใช้โอกาสในการรวบอำนาจทางทหาร จัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คนในปี 2002 (2545) ทหารเหล่านี้มีเส้นสายติดต่อกับรองกลาโหมของสหรัฐอเมริกา  และถูกสั่งให้ลาออกไป  เพื่อตัดการโยงใยกับกลาโหมสหรัฐอเมริกา 

ทหารได้ช่วยในปฏิรูปที่ดิน สร้างคลีนิค  ช่วยเรื่องสาธารณสุข โดยมีหมอจากคิวบา  กำลังสำรองนี้เรียกว่าเป็นกองกำลังโบลิวาเลียน  ทางฝ่ายผู้วิพากษ์วิจารณ์บอกว่านี่คือการทำให้เวเนซูเอลาเป็นรัฐทหาร  ส่วนผู้สนับสนุนบอกว่านี่คือการให้ทหารรับใช้สังคม  ดังนั้น คุณจะเห็นว่ามีความแตกต่างทางความคิด

ในมุมมองของสหรัฐอเมริกาและอภิสิทธิ์ชน  ชาเวซอันตรายเพราะสองประการ  หนึ่ง ชาเวซกระตือรือล้นในการปฏิรูป  สองเขาเป็นคนควบคุมแหล่งน้ำมัน และใช้มันทั้งในการบริการสังคมและสร้างพันธมิตรกับต่างประเทศ  เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนตัวยงกับรัฐบาลในโลกที่สาม  แม้กระทั่งรัฐบาลบางรัฐบาลที่เราอาจจะไม่ชอบ เช่น รัฐบาลลิเบีย และรัฐบาลซัดดัม ฮุดเซนในอิรัก  แต่ชาเวซเคารพกระบวนการประชาธิปไตย  ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะล้มล้างเขา  นี่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับฝ่ายขาวและสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่สามารถใช้ข้ออ้างความไม่เป็นประชาธิปไตยในการล้มล้างเขาได้ 

ชาเวซได้รับการสนับสนุนจากภายในและจากทหารเอง ในนิตยสาร Foreign Policy จะพูดถึงชาเวซในแง่ของนักอำนาจนิยมที่แข่งขัน  (competitive autocrat) ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าหมายความว่าอย่างไร  อาจหมายความว่าเป็นนักอำนาจนิยม แต่เข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง  ฝ่ายขวาจะมองว่าเขาเผด็จการ

นโยบายของเขาตอนนี้  ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะตอบโต้อย่างไร เขาสามารถที่จะโต้ได้  ดังนั้นเขาใช้นโยบายแข็งในการต่อต้านหรือตอบโต้สหรัฐอเมริกาในการสร้างฐานความนิยมในประเทศ  เขาพยายามที่จะหยุดยั้งการครอบงำของสหรัฐอเมริกา  โดยเฉพาะเรื่อง FTAA (เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา) ซึ่งเป็นการขยายออกจาก NAFTA (เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นคนพยายามผลักดัน

เขาพยายามตั้ง ALBA (Bolivarian Alternatives for the Americas)  แต่ก่อนที่จะไปถึง ALBA ทำไมชาเวซถึงถึงได้ประสบความสำเร็จนัก

ส่วนหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกาติดหล่มในอิรักมาก  ไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบความเคลื่อนไหวในลาตินอเมริกาได้ทันทีทันควัน  และเพราะสหรัฐอเมริกากำลังแพ้สงครามในอิรักและค่อนข้างอ่อนแอลงจึงไม่สามารถขู่ลาตินอเมริกาได้  เขาถูกมองว่าเป็นคนที่สามารถโดดเดี่ยวสหรัฐได้  ดังนั้น ผมคิดว่า  มันทำให้เข้าใจว่า ถ้าจะมีใครสามารถใช้ประโยชน์จากการที่สหรัฐอเมริกาถูกแช่แข็งในสงครามอิรัก  คนๆนั้นคือชาเวซ  ดังนั้น การเคลื่อนไหวของเขาจึงมีมิติทางการเมือง

ALBA คือ ทางเลือกสำหรับลาตินอเมริกา เป็นการเลียนคำ เพราะ FTAA ภาษาสเปนเรียก ALCA, ALBA  เป็นทางเลือกการค้าของประชาชน ที่คิวบา โบลีเวีย และเวเนซูเอลาร่วมกันลงนาม  ในปี 2003 (2546) เวเนซูเอลาจะช่วยนำน้ำมันให้คิวบา  คิวบาจะส่งหมอไปเวเนซูเอลาและโบลีเวีย เป็นการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้าและบริการของผู้ลงนามทั้งสามประเทศ  สำหรับคิวบา สินค้าส่งออกที่ดีที่สุดคือ หมอ  ดังนั้น จึงเป็นการทำให้สินค้าส่งออกเกิดผลบวกในเชิงการเมืองและสังคม

 

  

(หมอจากคิวบาระหว่างการเยี่ยมเยียนชานเมืองแห่งหนึ่งในเวเนซูเอลา)

 

ALBA ไม่ใช่แผนที่มีรายละเอียดมากมายอะไร  มันมีองค์ประกอบอื่นๆอะไรบ้าง  องค์ประกอบเหล่านั้น คือ
1. Petro Caribe เป็นข้อตกลงว่าประเทศในคาริบเบียนจะได้รับการลดราคาน้ำมันนำเข้า 40% จากเวเนซูเอลา 
2. Petro Sur เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนที่จะจ่ายเป็นเงินสด  อาร์เจนตินาจะจ่ายเป็นวัวให้เวเนซูเอลา  แทนที่จะจ่ายเป็นเงิน  โบลีเวียจะซื้อน้ำมันบางส่วนโดยใช้ถั่วเหลืองตามแต่จะตกลง  จึงเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน
3. Telesur เป็นเครือข่ายการสื่อสารทางโทรทัศน์ที่ต่อต้านโทรทัศน์ที่คุมการสื่อสารของโลกอย่าง CNN
4. Banco del Sur เป็นความพยายามในการสร้างธนาคารทางเลือกเพื่อทำหน้าที่แทนธนาคาร Inter American Development Bank ซึ่งคล้ายๆกับ Asian Development Bank ในเอเชีย  ธนาคารนี้จะถูกก่อตั้งเร็วๆนี้  ในเดือนมกราคมขณะที่ผมอยู่ที่คารากัส  ชาเวซบอกว่าเวเนซูเอลาพร้อมจะให้เงิน 5 พันล้าน สำหรับธนาคารทางเลือกนี้  และอีก 5 พันล้านจะมาจากบราซิล  ดังนั้นเขาพยายามที่ดึงให้บราซิลมาเข้าร่วมให้ทุน  และเป็นไปได้ว่าธนาคารนี้ต่อไปอาจจะเป็นทางเลือกแทนธนาคารโลกก็ได้ 

มีข้อเสนอที่น่าสนใจในการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติยาว 7,000 ไปยังบราซิลและอาร์เจนตินา ขยายจากเวเนซูเอลาและโบลีเวียซึ่งจะสร้างงานให้คนงานได้ล้านคนตลอดเส้นทาง

ชาเวซบอกว่า ALBA นี้ไปไกลกว่าทุนนิยม เป็นวิสัยทัศน์ที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ  ยังคงเป็นส่วนของการริเริ่มอยู่  แต่ชัดเจนคือไม่ใช่การค้าเสรีและไม่เป็นไปตามกติกาของตลาดหรือทุนนิยม 

ตอนนี้  อยากที่จะเปรียบเทียบบางประเด็นซึ่งอาจจะแลกเปลี่ยนได้เพิ่มเติม

ผมคิดว่ามีการเปรียบเทียบได้ 2-3 อย่าง เช่น ระหว่างคิชเนอร์และทักษิณว่าทักษิณเป็นประชานิยมหรือไม่  คำตอบของผมคือไม่  เพราะแนวหนึ่งของประชานิยมต้องต่อต้านคนกลุ่มน้อย  แต่ทักษิณเป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชนคนกลุ่มน้อย  ดังนั้นวิธีการอาจจะใช่ประชานิยม  แต่ตัวทักษิณไม่ใช่

เป็นไปได้แค่ไหนในการตั้งข้อตกลง ALBA ในเอเชีย   อาเซียนก่อตั้งตั้งแต่ 1967 (2510) อายุ 35 ปีแล้ว  แต่อาเซียนยังคงอ่อนแอ  แม้ว่าจะมีเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ก็ยังอยู่ในกระดาษมากกว่า  ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปเป็นเครื่องมือที่สำคัญ  ซึ่งผิดกับลาตินอเมริกา เพราะมีการนำเสนอต่อต้านการครอบงำ FTAA มี ALBA เป็นทางเลือกที่ชัดเจน  ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่อาเซียนจะมีการผสมผสานการค้าในแนวก้าวหน้าอย่าง ALBA

ท้ายที่สุด  ความแตกต่างที่เห็นกับในลาตินอเมริกาคือ ความริเริ่มทางการเมืองเศรษฐกิจไม่สามารถจะถูกนำทางโดยความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว เพราะเรายังมีอีก 2 ประเทศที่ต้องระวัง คือ จีน ซึ่งกำลังกลายเป็นประเทศมหาอำนาจและญี่ปุ่นซึ่งแม้ว่าอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังถดถอยแต่ก็ยังมีอำนาจมาก  ดังนั้นในอาเซียนจึงมีขั้วอำนาจที่ซับซ้อนมากกว่าในลาตินอเมริกา 

ดังนั้น เนื่องด้วยเวลามีจำกัด  ผมจงขอจบเพียงเท่านี้ แล้วจะได้แลกเปลี่ยน คำตอบหรือคำถาม เกี่ยวกับพัฒนาการในลาตินอเมริกา  ปรากฎการณ์ประชานิยมฝ่ายซ้าย บทเรียนสำหรับประเทศไทย  และ ALBA ว่ามีนัยยะอย่างไรต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค


-----------------------

 

ช่วงคำถาม คำตอบ


1. การที่ชาเวซสามารถใช้ทรัพยากรน้ำมันเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆที่ผ่านมานั้น  มันมีนัยยะการต่อรองกับบริษัทข้ามชาติหรือสหรัฐอเมริกาอย่างไร  มีกระบวนการในการได้มาซึ่งการควบคุมอย่างไร  และกระบวนการจัดการมีความแตกต่างกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวไอเอ็มเอฟอย่างไร 

 

ตอบ  มีสามเรื่อง  เรื่องแรกคือ  วิสาหกิจน้ำมัน  เหมือนรัฐหนึ่งของตัวมันเอง  ดังนั้นเขาจึงคุมได้  ดังนั้นหลังจากรัฐประหารที่คนจะล้มล้างเขา  แล้วเขาสามารถกลับเข้ามาอยู่ในอำนาจใหม่ได้  เขาสามารถจะไล่ผู้บริหารออกได้หลายพันคน  ดึงให้วิสาหกิจน้ำมันอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาเองได้  อีกปัจจัยคือ เวเนซูเอลามีบทบาทในโอเปค  ประมาณ 30% ของการนำเข้าน้ำมันของสหรัฐอเมริกามาจากเวเนซูเอลา  ดังนั้นเขาสามารถที่จะขู่สหรัฐอเมริกาได้  แล้วเขาก็พูดออกมาว่าถ้าสหรัฐอเมริกายังทำอย่างนี้ต่อไปจะไม่ขายน้ำมันให้  สหรัฐอเมริกามีรายงานออกมาว่าถ้าไม่ได้น้ำมันจากเวเนซูเอลาย่อมจะมีผลทางยุทธศาสตร์ที่ไม่พึงปรารถนา  ดังนั้นเวเนซูเอลาจึงเป็นผู้นำในการเริ่มขบวนการมีอิทธิพลในโอเปค  โดยเฉพาะการกำหนดราคา  เพราะราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ  เพราะชาเวซบอกว่าน้ำมันราคาต่ำเกินไปมาเป็นเวลานานแล้ว  จากการถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกา  ดังนั้น ถ้าเราเป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกา  เราสามารถกำหนดราคาตามที่มันควรจะเป็นได้  ดังนั้น น้ำมันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาเวซ  ไม่ใช่ทุกประเทศทำได้  เพราะประเทศส่วนมากไม่มีทรัพยากรน้ำมันที่จะใช้ได้ 

 

ชาเวซพยายามทำให้น้ำมันของเวเนซูเอลาให้ประชาชนใช้มากขึ้นและให้ประเทศบางประเทศ เช่น จีน ซึ่งต้องการมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและต้องการน้ำมันได้เข้าถึงน้ำมันได้  ในส่วนของโบลีเวีย การยึดคืนน้ำมัน  ในความเข้าใจผม คือทั้งบริษัทเอกชนและโบลีเวีย และบริษัทต่างด้าวต้องดำเนินการภายใต้สัญญาสัมปทาน  ทำให้รัฐบาลควบคุมการใช้แก็ซและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆได้อย่างเต็มที่ 

2. ประธานาธิบดีชาเวซในด้านหนึ่งไม่มีความเชื่อมั่นในพรรคการเมือง  แต่ในอีกด้าน เขาเคารพในระบอบประชาธิปไตย  แต่ระบอบประชาธิปไตย  ต้องมีพรรคการเมือง  ใช้อำนาจผ่านพรรคการเมือง ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน

 

ตอบ  เป็นคำถามที่น่าสนใจ  มีพรรคการเมืองในเวเนซูเอลา สองพรรคที่อยู่ในอำนาจมานาน  ชาเวซ มองว่าสองพรรคนี้เป็นพรรคของคนรวยซึ่งนำความทุกข์มาให้กับคนจน  ส่วนพรรคฝ่ายซ้ายเขาคิดว่ายึดในอุดมการณ์มากไปและแบ่งเป็นสายต่างๆ  ดังนั้นจึงมีปัญหาในแง่ของการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย  จริงๆมีขบวนการที่หนุนหลังเขา  แต่เขาต้องการแค่ให้เป็นขบวนการเคลื่อนไหว  ไม่ต้องการให้พัฒนาขึ้นพรรคการเมือง  ดังนั้นคนจึงถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับการปฏิวัติของคุณ  เพราะว่ามันจะขึ้นอยู่กับความคิดของคุณว่าจะทำอะไร  ทำอย่างไรจะให้เกิดสถาบันทางการเมืองที่ให้มีผลระยะยาว  ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนหนึ่งที่คนมองเห็นในนโยบายของชาเวซ  ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันที่แน่นอนมารองรับ

 

คนมองว่าถ้าซีไอเอสำเร็จในการสังหารชาเวซก็จะล้มเหลวทั้งหมด  เนื่องจากในเวเนซูเอลาทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่เขา  การปฏิบัติโบลีวาเรียนก็จะจบไป  ผมอาจจะไม่เห็นด้วยถึงขนาดนั้น  แต่มันก็เป็นปัญหา 

ชาเวซเป็นคนที่มีบารมีมากกับคนจนในสลัมและในเมือง  เขามีความสัมพันธ์  ออกรายการโทรทัศน์เป็นประจำเพื่อให้การศึกษากับคนเหล่านี้  ดังนั้นจึงเป็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเขากับประชาชนโดยไม่ผ่านพรรคการเมือง  อีกอย่างคือว่าเขาสามารถหลีกเลี่ยงการท้าทายของฝ่ายขวาได้เพราะว่าทำให้ขบวนเคลื่อนไหวเหล่านี้เข้ามาร่วมการเลือกตั้งในประชาธิปไตย  เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการแบ่งแยก  เพราะคนจำนวนมากไม่อยู่ในรายชื่อผู้เลือกตั้ง  สิ่งที่ชาเวซทำฉลาดมาก  คือ พยายามดึงคนลงทะเบียนมาเป็นคนเลือกตั้ง  รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในเวเนซูเอลามาเป็นเวลานาน  ดังนั้น ที่น่าสนใจ ที่เราเห็นคือการขยายของจำนวนคนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง  ดังนั้นจึงเป็นพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่น่าสนใจ  ดังนั้นสิ่งที่พรรคขวากำลังจับตา คือ เขาจะทำผิดรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ 

3.  มีกระแสที่ไม่เอาซ้ายในลาตินอเมริกา  เช่น ในเปรู  คนสนิทกับชาเวซก็แพ้  ในเม็กซิโก  ผู้รับสมัครฝ่ายซ้ายก็มีแนวโน้มเหมือนกันเพราะว่าสนิทกับชาเวซ  คิดว่าจะมีประเทศไหนอีกหรือไม่ที่จะมีแนวปฏิวัติทางซ้ายต่อจากโบลีเวีย  และอยากให้วิเคราะห์ต่อว่าเมื่อมีการเปลี่ยนประเทศแล้ว  กระบวนการภาคประชาชนแข็งแรงต่อหรือเปล่า  เพราะเคยได้ยินมาว่าโมลาเลสในโบลีเวียยึดบริษัทน้ำมันได้จริงเพราะประชาชนมีความแข็งแกร่ง

 

ตอบ  ในเรื่องประชาสังคม  กรณีเวเนซูเอลา  ค่อนข้างอ่อนแอ  ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เรื่องที่ดิน หรือเรื่องน้ำ  ยังไม่มีการจัดตั้งการต่อสู้มากเท่ากับในไทยหรือในฟิลิปปินส์  ดังนั้นจึงเป็นการจัดตั้งพรรคการเมืองแบบมวลชนมาโดยตลอด  มีคนชี้ว่า ชาเวซไม่ได้พยายามในการสร้างฐานประชาสังคมที่มั่นคง  ผมคิดว่าใช่  และก็ใช่ที่ว่าในโบลีเวีย  โมลาเลสมีขบวนการของคนที่สนับสนุนการปลูกใบโคคา  มีการต่อสู้การครอบงำบริษัทข้ามชาติ ทั้งน้ำมัน แก็ซ มีกลุ่มชาวนาที่ต่อต้านการทำลายล้างไร่โคคา  ซึ่งเป็นการท้าทายฝ่ายขวามาตลอด  ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีผ่านการเลือกตั้งได้

 

ชาเวซถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงในการเมืองประเทศอื่น เช่น เปรูและเม็กซิโก  เป็นข้อกล่าวหาที่ฝ่ายขวายกขึ้นมาโจมตีชาเวซได้ว่าใกล้กับโอเปรดอนเม็กซิโก  ในเปรูที่เขาแพ้ไปก็เป็นคนที่ชาเวซประกาศสนับสนุน  ดังนั้นจึงเป็นปฏิกริยาตอบโต้ชาเวซ  ซึ่งอาจจะเกิดกับเม็กซิโกก็ได้  เพราะว่ามีความกลัวกันว่าชาเวซจะมีอำนาจมากเกินไปในประเทศต่างๆ  อีกอย่าง คือ ชาเวซเป็นคนพูดมาก  พูดตลอดเวลา  ขี้โม้  ดังนั้น เป็นจุดอ่อนของเขา  อย่างเช่น ในเปรู  เขาถูกกดดันว่าจะต้องระวังคำพูด  ไม่เช่นนั้น พรรคการเมืองจะคิดว่ามีการแทรกแซงการเมืองในประเทศของตน  ชาเวซมองว่าละตินอเมริกาก็คือลาตินอเมริกา  พูดภาษาเดียวกัน  ดังนั้นจะพูดสนับสนุนใครก็ได้  แต่แน่นอนว่ามันมีชาตินิยมอยู่ด้วย  ดังนั้นอาจถูกการโต้กลับได้

นักการเมืองชื่อ อลัน การ์เซีย ในเปรู  เป็นผู้ที่ปฏิเสธหนี้ของเปรูในช่วง 1970 (2513) พยายามโต้ตอบคัดค้านไอเอ็มเอฟ  แต่มีชื่อเสียในคอรัปชั่น  เขาเป็นผู้ชนะที่เปรู ซึ่งจริงๆก็มาจากฝ่ายซ้าย

เม็กซิโกเป็นจุดยุทธศาสตร์มากสำหรับสหรัฐอเมริกา  เพราะว่าถ้าโลเปรสได้รับการเลือกตั้ง  จะมีการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์อย่างมหาศาลกับอเมริกา  ถ้าเขาได้รับเลือกตั้ง  สหรัฐอเมริกาจะกังวลมาก  คิดว่าตอนนี้มีกระบวนการที่พยายามล้มล้างเขาจากอเมริกา

4. อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านหรือเปล่า  ไปสู่อะไร  ถ้าประเทศเดียวในลาตินอเมริกาเปลี่ยนคงไม่เกิดอะไรเท่าไร  แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นลูกคลื่น อาจจะเข้าสู่กลไกในภูมิภาค  เรื่อง competitive autocrat ไม่ใช่สัญญาณที่ดีในระยะยาว  การต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและบริษัทช้ามชาติมันชัดเจนทำให้ชาตินิยมลงหลักปักฐานภายใน  เป็นไปได้หรือไม่ว่าชาตินิยมมันมากเสียจนไม่เกิดความเคลื่อนไหว เช่น การต่อสู้เรื่องที่ดิน  ไม่เกิดการสู้รบภายใน  อยากตั้งข้อสังเกตว่าเสรีนิยมใหม่พยายามลงรากในลาติน แต่ทำไม่ได้  อาจจะมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างมาก  และบทบาทของสหรัฐอเมริกาชัดเจนมากเกินไป  ขณะนี้  เสรีนิยมเกิดขึ้นในทุกอณู  กรณีที่เกิดกับลาตินไม่น่าจะเกิดในเอเชีย 

 

ตอบ  หลายคนผิดหวังสิ่งที่เกิดในบราซิล  เพราะคนคาดว่าจะมีการนำนโยบายฝ่ายซ้ายขึ้นมา  เพราะประธานาธิบดีลูลาเป็นตัวแทนของคนจนที่มาจากฝ่ายแรงงาน  เมื่อเห็นว่าลูลาจะขึ้นมามีอำนาจ  คนหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ นักวิชาชีพก็เข้ามารวม  ทำให้พรรคของลูลามีหลายหน้ามากขึ้น  จากเดิมเป็นพรรคแรงงาน  คนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอภิสิทธิ์ชนในบราซิล  ดังนั้นพลังฝ่ายขวาที่เข้ามาในพรรคการเมืองจึงถ่วงดุลไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป  สร้างอิทธิพลของตัวเองเพิ่มเรื่อยๆในพรรคการเมือง  หลายคนบอกว่าคนเหล่านี้นำนโยบายเสรีนิยมเข้ามาด้วยซ้ำไป  อีกปัจจัยหนึ่งคือ มีความกลัวว่าถ้าลูลามาเป็นประธานาธิบดี  จะที่การไหลออกของทุน  ดังนั้น เขาจึงให้สัญญากับไอเอ็มเอฟว่าจะเคารพตามเงื่อนไขไอเอ็มเอฟที่ประธานาธิบดีคนก่อนลงนามไว้  ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้เมื่อมามีอำนาจ  ทั้งๆที่จริงๆแล้ว  ยังมีการว่างงานในระดับสูง และการทำตามนโยบายไอเอ็มเอฟก็จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา

 

ในทางการค้า รัฐบาลลูลาพยายามผลักดันธุรกิจการเกษตรของบราซิล  ดังนั้นจึงน่าแปลกว่าขึ้นสู่อำนาจโดยมวลชน แต่กลับถูกครอบงำโดยฝ่ายขวา  ขณะนั้นคนมองว่าเป็นยุคทองของบราซิล  แต่ตอนนี้ลูลา กลายเป็นเพื่อนของประธานาธิบดีบุชไปแล้ว

ถ้าเราดูลาตินอเมริกา  มันก็เป็นอย่างเดียวกับประสบการณ์ของประเทศโลกที่สาม  ในช่วงทศวรรษ 1970 (2513) แทบทุกประเทศเป็นเผด็จการ  และหลังจากนั้นก็มีขบวนการประชาธิปไตย  ผู้นำประชาธิปไตยแบบเสรี คือผ่านการเลือกตั้งขึ้นมา  เป็นการแข่งขันระหว่างอภิสิทธิ์ชนด้วยกัน  จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและปฏิรูปน้อยมากตั้งแต่ 1980 (2523) เป็นต้นมา  ลัทธิประชานิยมในลาตินอเมริกาจึงเป็นปฏิกิริยาโต้กลับเสรีนิยม  ในฟิลิปปินส์  หลังปี 1986 (2529) ที่เอามาร์คอสออกไปได้ ประชาธิปไตยเป็นเสรีนิยมล้มเหลวมาก  เราอาจจะบอกว่าประชาธิปไตยของไทยหลัง 1992 (2535) ก็ไม่สามารถปฏิรูปทางสังคมเศรษฐกิจ การเมืองได้

ผู้นำในลาตินอเมริกา ไม่ใช่จะล้มล้างประชาธิปไตย  ทุกคนเคารพในประชาธิปไตย แต่ข้อบกพร่องคือไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้  ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดกับ     
ประชาธิปไตยแบบพรรคการเมืองได้  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและประชาชนที่เลือกเขาขึ้นมา  ยังเป็นความสัมพันธ์โดยตรง เหมือนจักรพรรดินโปเลียน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นอันตราย  ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราต้องการ

5. ที่อาจารย์พูดเป็นบทบาทของผู้นำมาก  การที่จะทำอย่างชาเวซ เช่น ธนาคารและสื่อทางเลือก  ต้องมีบุคลากรจำนวนมากที่จะปฏิบัติได้  และคนเหล่านี้คงไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้นำ  อยากทราบถึงบทบาทของคนเหล่านี้มากขึ้น  และมีการสร้างคนอย่างไร 

 

ตอบ   เรามีผู้นำที่มองตัวเองว่ากำลังทำทุกอย่างเพื่อประชาชน  ไม่มีใครสงสัยถึงความจริงใจของชาเวซ หรือโมลาเลส  แต่คำถามที่ถามคือ  เขาจะเอาประชาชนเข้ามาร่วมในการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันหรือเปล่า  ยังเป็นคำถามในใจของทุกคน  ประชาธิปไตยต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้เป็นสถาบัน  เพราะสิ่งที่เราต้องการเห็นคือ ผู้นำเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่ต้องพึ่งพาเขาเพียงอย่างเดียว  มีคนเสนอสิ่งนี้ให้กับชาเวซเยอะ  อย่างไรก็ตาม  เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้  อาจจะเป็นผู้นำของประชานิยมก็ได้  แม้ว่าจะมีความจริงใจและหัวก้าวหน้า  แต่จะดึงดันที่จะไม่ฟังหรืออยากฟังเฉพาะ     ข่าวดี  ถ้าเรามีโอกาสที่จะพบชาเวซ เราอย่าพลาดโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์  เพราะคนรอบข้างมักจะป้อนคำหวานให้แก่เขา  ถ้าผมมีเวลาหนึ่งนาทีกับชาเวซ  ผมจะบอกว่าเขาทำอะไรที่ผิดบ้าง

 

เมื่อครั้งที่ผมเจอกับชาเวซ  ผมบอกกับชาเวซในกรณีที่เกิดขึ้นที่ฮ่องกงกับการประชุมองค์การการค้าโลกว่าเห็นได้ชัดว่าท่านหักหลังขบวนการสังคมโลก  โดยการให้ความสัมพันธ์กับบราซิลสำคัญกว่าผลประโยชน์ของประชาชน  เพราะรอบโดฮาเป็นรอบที่แย่มาก ทุกคนรู้ดี  แต่บราซิลอยากให้จบเนื่องจากต้องการผลักดันธุรกิจการเกษตรของตนและบทบาทของเวเนซูเอลาไม่แข็งในการเจรจาที่ฮ่องกงเลย  ดังนั้นจึงขอให้ท่านมีจุดยืนที่แข็งในเจนีวา  ซึ่งเขาไม่ได้ตอบอะไร  ประเด็นที่ผมพยายามชี้คือ  มันสำคัญสำหรับผู้นำประชานิยมเหล่านี้ที่ขบวนการสังคมจะต้องเสนอข้อวิจารณ์ต่อผู้นำเหล่านี้ให้มากที่สุด      

6. มีการพูดถึงคิวบาหรือไม่  มีอะไรเป็นมิติใหม่ๆที่จะส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กับอเมริกา

 

ตอบ   การโดดเดี่ยวคิวบาของสหรัฐอเมริกาถูกทำลายลง เพราะการสร้างพันธมิตรระหว่างเวเนซูเอลาและคิวบา  ดังนั้น ในข้อตกลงที่เรียกว่าข้อตกลงประชาชนระหว่างคิวบา โบลีเวีย และเวเนซูเอาลา  เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ที่แสดงว่าประเทศในลาตินอเมริกาต้องการดึงคิวบาเข้ามาร่วมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค  ดังนั้น ผู้รับผลกระทบในที่นี่คือนโยบายสหรัฐอเมริกาที่ต้องการโดดเดี่ยวคิวบา  อีกประการหนึ่งที่ชัดเจน คือ เขาประกาศตลอดเวลาว่าคาสโตรเป็นพ่อของเขาไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร 

 

7. ถ้าเราจะทำ ALBA ในอาเซียน เราจะเริ่มอย่างไร

 

ตอบ  ในสหภาพยุโรปชัดเจนว่าจะมีการสร้างตลาดร่วมกัน ปกป้องตลาดภายใน  แต่อาเซียน ยังไม่เคยตกลงกันได้ว่าจะเป็นอะไร  ดังนั้นจึงมีแรงจูงใจสำหรับอาเซียน ในการผสมผสานค้าขายกันเอง  ปรากฏว่าคนที่ได้ประโยชน์คือ ญี่ปุ่น  คือ ค้าขายกันเองแต่เป็นสินค้าญี่ปุ่น  ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือสินค้าอิเล็คโทรนิค  เราให้ญี่ปุ่นผสมผสานการค้าขายในภูมิภาคของเราภายใต้ผลประโยชน์ของญี่ปุ่น  ดังนั้น ถึงบอกว่าเรามีกระบวนการที่อ่อนแอมากในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและธุรกิจด้วยกันในภูมิภาคผมคิดว่านี่เป็นภาระของเราที่จะทำให้อาเซียนเปลี่ยนกรอบจากการค้าเสรีไปเป็นสมาคมทางการค้าโดยมีการผสมผสานและเข้าร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ  มีการแบ่งงานกันทำในภูมิภาคตามความถนัดและระดับเทคโนโลยี  อภิสิทธิ์ชนของอาเซียน  ไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องร่วมมือใดๆกัน  เพราะคิดแต่ว่าเราจะเจาะตลาดคนอื่นโดยปิดตลาดเราได้อย่างไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  นั่นคือปัญหาใหญ่ของความร่วมมือ   ดังนั้น 35 ปีที่ผ่านมาจึงไม่มีการผสมผสานทางเศรษฐกิจ  ไม่สามารถแข่งกับจีนได้  ขณะนี้เราควรจะพยายามเคลื่อนไปข้างหน้า  มิเช่นนั้นเราจะกลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีน 

 

8. กรณีผู้นำลาตินที่ปฏิเสธอำนาจของอเมริกาและจะขับไล่อำนาจของบริษัทข้ามชาติ  คิดว่าการเมืองในลาตินจะเป็นไปได้แค่ไหนในการหลุดพ้นจากอำนาจของอเมริกา

 

ตอบ  นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น  ที่มันต่างจากโครงการอื่นที่ผ่านมา  เพราะว่าได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากเวเนซูเอลา  สิ่งเดียวที่เราเชื่อได้คือ เวเนซูเอลามีทรัพยากรน้ำมัน  ที่ชาเวซสามารถใช้เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค 

 

9. ความคิดที่มีต่อเศรษฐกิจทางเลือกคือ  เราต้องกลับไปยังรากเหง้าของปัญหา คือธรรมชาติของมนุษย์  Good governance เป็นปัจจัยใหญ่ในการสร้างระบบทางเลือกขึ้นมา  เพราะผุ้นำส่วนมากมีอัตตาสูง  อยากฟังว่ามีความเห็นต่อระบบเศรษฐกิจทางเลือก  ควรจะไปอย่างไร แล้วจะมีความยั่งยืน ทำได้อย่างไร  อีกอย่าง คือ ในขบวนการประชาชน   ทักษิณไม่ได้รับความนิยมเท่าเดิมแล้ว  แต่ว่ายังมองว่าเขาได้นำเสนอความเป็นผู้ประกอบการไปสู่คนชนบท  ซึ่งมองว่าเป็นจุดอ่อนของสังคมไทยอยู่แล้ว  เพราะไม่มีหัวการค้า  ดังนั้นระบบโอท็อปที่นำเข้ามาพัฒนาผู้ประกอบการนั้นเป็นปัจจัยทางบวกซึ่งยังอยากจะเห็นอยู่ 

 

ตอบ  ผมไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดในเรื่องการสร้างผู้ประกอบการของทักษิณว่าเป็นจริงแค่ไหน  แต่ประการหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ไม่ว่าทักษิณจะทำอะไรที่ผิดพลาดไป  แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นทางบวกคือ เมื่อเขารับตำแหน่งนายก  เขานำนโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่ต่อต้านไอเอ็มเอฟ  เป็นตามแนวเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ซึ่งไอเอ็มเอฟไม่ชอบ  แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการในตอนนั้น  ผมจำได้ว่า  เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว  ทักษิณบอกว่าไทยได้ประกาศเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟ  ใช่ไหม  น่าสนใจเหมือนกัน  สองเดือนก่อน  รัฐบาลบราซิลและอาร์เจนตินาคืนเงินกู้ทั้งหมดให้กับไอเอ็มเอฟและก็ประกาศว่าเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟ และสามอาทิตย์ก่อน  รัฐบาลอินโดนีเซียจะตามประเทศอื่นๆเพื่อเป็นอิสระจากไปเอ็มเอฟ  โดยจะจ่ายหนี้คืนทั้งหมดภายใน 2 ปี  ดังนั้น ถ้าจะถามว่ามีเรื่องบวกอะไรที่เกิดขึ้นในระบอบที่คอรัปชั่นอย่างนี้บ้าง  ผมก็จะบอกว่า อย่างน้อยในช่วงต้น  ก็คือการประกาศเป็นอิสระจากไอเอ็มเอฟ

 

10. เราเห็นประชานิยมในภูมิภาคนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดในลาตินอเมริกา  ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ  ความสามารถในการเชื่อมกับประชาชนในระดับล่าง  นักเศรษฐศาสตร์อาจวิจารณ์ระบบประชานิยมว่าเกี่ยวข้องกับการขาดวินัยทางการคลัง การใช้จ่ายเกินตัว  อย่างไรก็ตามในลาตินอเมริกามีการปฏิรูปโครงสร้างซึ่งในบ้านเราไม่มี  อยากถามว่าในลาตินอเมริกามีการปฏิรูปที่ดินหรือไม่  มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหรือไม่ 

 

ตอบ  สิ่งที่เกิดในไทย  คือ มีคำประกาศมากมายที่ดูเหมือนเป็นประชานิยม  แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่า  สิ่งที่ประเทศไทยมี คือ เป็นการนำประชานิยมไปใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะต่างไปจากที่เราจะเจอในลาตินอเมริกา  เช่น ในเวเนซูเอลาจะมีนโยบายต่อต้านอภิสิทธิ์ชนอย่างชัดเจน  และมีนโยบายทางภาษีและปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายทรัพยากรไปสู่คนจน  ซึ่งไม่เห็นเลยว่าทักษิณจะนำนโยบายเช่นนี้มาใช้ 


 

*งานบรรยายนี้จัดโดยศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2549

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: