ในประเทศไทย เวลาคนพูดถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ เขากำลังหมายถึงการขยายตัวทางการค้า การขยายตัวการส่งออก การขยายตัวการลงทุนจากต่างประเทศ การจำกัดบทบาทรัฐ การให้สิทธิเอกชน และการเพิ่มการบริโภคของประชากร
นานๆครั้งเขาจึงจะหมายถึง การขยายการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนา น้อยครั้งมากที่จะเขาจะหมายความไปถึง การรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงคุณภาพการจ้างงาน การขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และ การรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงและความพอเพียงในการผลิตอาหารเลี้ยงตนเอง
ในประเทศไทย เวลาคนพูดถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ เขากำลังหมายถึงการขยายตัวทางการค้า การขยายตัวการส่งออก การขยายตัวการลงทุนจากต่างประเทศ การจำกัดบทบาทรัฐ การให้สิทธิเอกชน และการเพิ่มการบริโภคของประชากร
นานๆครั้งเขาจึงจะหมายถึง การขยายการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนา น้อยครั้งมากที่จะเขาจะหมายความไปถึง การรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงคุณภาพการจ้างงาน การขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และ การรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงและความพอเพียงในการผลิตอาหารเลี้ยงตนเอง
ใน “โลกาภิวัตน์แบบไม่ผูกขาดฯ” ฉบับที่สองนี้ จะขอนำท่านผู้อ่านไปแวะเวียนแถวละตินอเมริกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อไปยังประเทศโบลิเวีย โบลิเวียได้สร้างนวัตกรรมใหม่ในการเจรจาการค้าที่แหวกม่านประเพณีของการเจรจาเอฟทีเอแบบเดิมๆที่ผ่านมา โดยการกำหนดจุดยืนของตนเองที่มีรายละเอียดหลายอย่างที่น่าสนใจ และเพื่อให้เห็นความแตกต่างในวิธีคิดและแนวทาง จึงได้นำบางส่วนของเอกสารรายงานจุดยืนหรือยุทธศาสตร์ในการเจรจาการค้าของไทยซึ่งได้มาจากเว็บไซด์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาแสดงประกอบข้างล่างด้วย
ยุทธศาสตร์การทำเอฟทีเอของไทย
เป้าหมาย
เพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการส่งออก และปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยุทธศาสตร์การเจรจาเอฟทีเอ
เพื่อรักษาตลาดเดิมที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และและขยายตลาดใหม่ทั้งในแนวกว้างและเจาะลึกในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย ตลาดที่เป็นประตูการค้าในภูมิภาคอื่นๆ เช่นบาห์เรนในตะวันออกกลาง เปรู ในทวีปเอมริกาใต้ เป็นต้น
พิจารณาเตรียมความพร้อมในการทำเอฟทีเอก้าวต่อไป กับ สหภาพยุโรป แคนาดา แอฟริการใต้ ชิลี เม็กซิโก เกาหลี กลุ่ม เมอร์โคซัว (Mercosur) และเอฟต้า (EFTA) เป็นต้น
ยุทธศาสตร์รายสาขา ที่สำคัญมีดังนี้
(1) เกษตร
- เน้นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป
- สินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหว ให้เจรจาโดยมีเวลาในการปรับตัวที่นาน
- สินค้าเกษตรและอาหาร จะมีปัญหาเรื่องมาตรฐานด้านสุขอนามัยมาก ความปลอดภัยด้านอาหาร และสิ่งแวดล้อม ให้เจรจาลด/ยกเลิก หรือปรับไม่ให้เป็นอุปสรรค ขณะเดียวกันให้พัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล มีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านการค้าโดยการทำ MRA และ การถ่ายทอดเทคโนโลยี
- กำหนดมาตรฐานการนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามาแปรรูปเพื่อการส่งออกให้ได้มาตรฐาน และปลอดภัย
(2) อุตสาหกรรม
- เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งออกของไทย และกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีการร่วมลงทุนผลิตที่เป็นเครือข่ายการผลิต (production network) สาขาที่สำคัญ ที่ไทยมีศักยภาพมาก ได้แก่ แฟชั่น (เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
เครื่องประดับ รองเท้า) ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้าน และของแต่บ้าน
- มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรฐานสินค้า (TBT) สิ่งแวดล้อม ให้เจรจาลด/ยกเลิก หรือปรับไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้า พัฒนาการผลิตภายในประเทศให้ได้มาตรสากล และจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (MRA)
- การเจรจากำหนดเงื่อนไขกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ต้องสะท้อนสภาพการผลิตในประเทศ และในประเทศต้องปรับการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำให้มากขึ้น
(3) บริการ
- เปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้วิธีเจรจาแบบเลือกเปิดเสรีเฉพาะรายสาขา (positive-list approach)
- เน้นธุรกิจบริการที่มีความพร้อม เช่น ท่องเที่ยว สุขภาพ ก่อสร้างออกแบบ
- สนับสนุนธุรกิจที่มีอนาคต เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) การขนส่ง (logistics) บันเทิง ซ่อมบำรุง
- กลุ่มธุรกิจบริการที่ยังไม่พร้อม เช่น ธนาคาร ประกันภัย โทรคมนาคม ขนส่ง ให้มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (transition period) 10 ปี
(4) ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า
- เน้นระดับการคุ้มครองภายใต้ความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าในองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นหลัก
- ควรแสวงหาความร่วมมือจากประเทศคู่เจรจาในการอำนวยความสะดวกด้านการขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยในต่างประเทศ เช่น การขอรับการคุ้มครองพันธุ์ข้าวหอมมะลิ และเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิของไทย
- ผลักดันให้ประเทศคู้เจรจาให้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยมีผลประโยชน์ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งที่มาทางชีวภาพ
- ส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์ในข้อมูลสิทธิบัตร เพิ่มศักยภาพและทักษะของนักประดิษฐ์ของไทยในการวิจัยพัฒนาต่อยอด
ยุทธศาสตร์การเจรจาเอฟทีเอรายประเทศ
เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ
- เน้นการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระยะยาว
- ทั้งต้องคู่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
- ฝ่ายไทยควรจะยกร่างข้อตกลง (Text) ในส่วนที่สำคัญต่อผลประโยชน์ของไทย
- จัดลำดับความสำคัญของประเด็นการเจรจา เพื่อให้เกิดภาพว่าสามารถรับอะไร และเสียอะไรได้
- ทำการจัดจ้างบบริษัทที่ปรึกษาทั้งในลักษณะของนักล็อบบี้ทางการเมือง (Political Lobbyist) และที่ปรึกษา (Consultant) ในการเจรจา
- จัดทีมเจรจาในแต่ละเรื่องให้เหมาะสมรับกับทีมของสหรัฐฯ
- จัดทำ MRA เพื่อช่วยสนับสนุนการเข้าสู่ตลาด
- กำหนดช่วงเวลาในการลดภาษีนำเข้าของไทยอย่างเป็นขั้นตอน
เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น
- เน้นการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
- แสวงหาความร่วมมือทางการเกษตร การถ่ายทอดเทคโนโลยี
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. 2547. http://www.thaifta.com/ThaiFTA/Home/strategy/tabid/52/Default.aspx
แง้มหน้าต่างโบลิเวีย
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของการเจรจาของโบลิเวีย เราควรจะรู้จักโบลิเวียและสิ่งที่เกิดขึ้นในโบลิเวียสักเล็กน้อย เพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นที่ประเทศนั้นมากขึ้น
หลายคนอาจจะได้ยินชื่อโบลิเวียเมื่อไม่นานมานี้ จากข่าวการเข้ายึดคืนกิจการก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลโบลีเวีย
โบลิเวีย เป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ มีพรมแดนติดกับติดกับบราซิล อาร์เจนตินา เปรู และชิลี มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน โดยประมาณ 70-80% เป็นชาวพื้นเมืองซึ่งทำให้โบลิเวียเป็นประเทศที่มีพลเมืองชาวพื้นเมืองมากที่สุดในภูมิภาค
โบลิเวียนับได้ว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ แต่ว่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสินแร่และก๊าซธรรมชาติ ในยุคอาณานิคมนั้น ประเทศมหาอำนาจได้เข้ายึดครองโบลิเวียและฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ไปอย่างมาก
ก่อนหน้านี้ โบลิเวียก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่ดำเนินตามนโยบายฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งสนับสนุนการเปิดเสรีและการแปรรูปบริการสาธารณะให้เป็นของเอกชน ในโบลิเวีย กิจการทุกอย่างถูกแปรรูป ไม่เว้นแม้กระทั่งน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำลำคลอง ในระหว่างปี 2531-2541 โบลิเวียมีอัตราการแปรรูปมากที่สุดในภูมิภาค
การแปรรูปทำให้โบลิเวียสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกิจการ อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนจำนวนมหาศาลนี้กลับไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและการกีดกันทางสังคมภายในประเทศได้ ในระหว่างปี 2542-2545 จำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นจาก 62% เป็น 65% ประเทศกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ของจีดีพีในปี 2540 เป็น 8.7% ในปี 2545 ในขณะที่งบประมาณสำหรับการศึกษาและสาธารณสุขลดลง
ประชาชนออกมารวมตัวที่ท้องถนนในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยึดคืนกิจการก๊าซธรรมชาติซึ่งถูกแปรรูปไปสู่เอกชนและนักลงทุนจาต่างประเทศมากว่าทศวรรษ
โบลิเวียเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศในแถบเทือกเขาแอนเดียนหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า แคน (Community of Andean Nations- CAN) สมาชิกดั้งเดิมของกลุ่มนี้ คือ โบลิเวีย โคลัมเบีย เปรู เอกวาดอร์ และเวเนซุเอลา ในปี 2547 แคนได้ตกลงกับสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่จะจัดให้มี “ข้อตกลงสมาคม” ร่วมกัน โดยสาระสำคัญคือการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ แต่ในขณะนั้น โบลิเวียยังมีสถานะเป็นประเทศสังเกตการณ์
สหรัฐฯเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องการจะทำเอฟทีเอกับโบลี ในเดือนมกราคม 2549 โบลิเวียภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่ คือ เอโว โมลาเลส ยังไม่ประกาศชัดว่าจะเข้าร่วมกับอียูหรือสหรัฐฯในการทำเอฟทีเอหรือไม่ แต่ประกาศว่าโบลิเวียจะได้รับประโยชน์มากกว่าถ้ารวมกลุ่มกับเมอร์โคซัว (Mercosur ประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย) หรืออียู แทนที่จะเข้าร่วมเจรจากับสหรัฐฯ
เอโว โมลาเลส
ในเดือนเมษายน 2549 โบลิเวียเข้าร่วมกับเวเนซูเอลาและคิวบาในการทำข้อตกลงการค้าประชาชน (People Trade Agreement: PTA) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ทางเลือกของทวีปลาตินอเมริกา (ALBA) ที่หลุดไปจากกรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่บงการโดยสหรัฐฯและฉันทามติวอชิงตัน แต่ในขณะเดียวกันสมาชิก 3 ประเทศ ในกลุ่มแคน คือ โคลัมเบีย เปรู และเอกวาดอร์ ก็กำลังตั้งหน้าตั้งตาเจรจาเอฟทีเอเป็นรายประเทศกับสหรัฐฯ อยู่ การทำเอฟทีเอของทั้งสามประเทศนี้ทำให้เวเนซูเอลาซึ่งคัดค้านการเจรจากับสหรัฐฯมาโดยตลอดไม่พอใจและขอถอนตัวออกจากกลุ่มแคนไปในเดือนเดียวกัน
ในเดือนมิถุนายน 2549 ผู้นำกลุ่มแคนที่เหลือได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางเดินหน้าเพื่อเริ่มต้นการเจรจากับอียูภายหลังการถอนตัวของเวเนซูเอลา พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยืดอายุกฎหมายปราบปราบยาเสพติดและส่งเสริมการค้า (Andean Trade Promotion and Eradication of Drugs Act) ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปี 2549 เพื่อขยายอายุสิทธิพิเศษสำหรับประเทศในกลุ่มแคนส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯได้โดยไม่เสียภาษี
แม้ว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าโบลิเวียจะเข้าร่วมการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯหรือไม่ เนื่องจากยังคงมีแรงกดดันสนับสนุนการทำเอฟทีเอจากนักธุรกิจภายในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากตลาดส่งออกในสหรัฐฯอยู่ ขณะที่การเจรจาทำข้อตกลงสมาคมกับอียูนั้นก็ยังรู้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ความพยายามของโบลิเวียในการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและนำเสนอทางเลือกในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้นปรากฎชัดเจนอยู่ในจุดยืนการเจรจาที่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ
ข้อเสนอของโบลิเวีย
จุดยืนพื้นฐานสำหรับข้อตกลงสมาคมระหว่างประชาคมแห่งชาติแอนเดียน (แคน) กับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อประโยชน์ของประชาชน
1. ข้อตกลงสมาคม โดยพื้นฐานต้องเป็นข้อตกลงว่าด้วยการหนุนเสริมกันในระดับต่างๆระหว่างประชาคมแห่งชาติแอนเดียนและสหภาพยุโรปเพื่อที่จะร่วมกันหาทางออกสำหรับประเด็นการอพยพย้ายถิ่น การค้ายาเสพติด การสงวนรักษาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งก่อให้เกิดความยากจนและการว่างงาน การเพิ่มความแข็งแกร่งให้เอกลักษณ์ของเรา และการเสริมอำนาจและฟื้นคืนรัฐของเรา และการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงแบบมีส่วนร่วมและรวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองต่างๆซึ่งถูกกีดกันมากว่า 500 ปี
2. ประชาชน มนุษย์ และธรรมชาติจะต้องเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หลักของข้อตกลงสมาคม เราต้องเอาชนะวิธีปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของธุรกิจข้ามชาติก่อนความต้องการของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคมและองค์กรทางสังคมต้องเข้าร่วมอย่างกระตือรือล้นในการสร้างข้อตกลงสมาคมเพื่อที่จะสร้างการผนวกรวมที่แท้จริงซึ่งทั้งรัฐและประชาชนเข้าร่วม
3. การวิวาทะทางการเมืองจะต้องสมดุลและต่างตอบแทนกัน โดยตระหนักว่าทั้งสองฝ่ายมีสิ่งต้องเรียนรู้จากกันและกันมากมายในประเด็น เช่น ประชาธิปไตยแบบชุมชน แบบมีส่วนร่วมและแบบเป็นทางการ จำเป็นยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ เช่น การปกครองตนเอง การกระจายอำนาจ การต่อสู้กับคอรัปชั่น ความโปร่งใส วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยฉันทามติ วัฒนธรรมแห่งสันติและการบูรณาการกับอธิปไตย
4. การต่อสู้กับการค้ายาเสพติดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับแคนและอียู ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามให้ถึงที่สุดที่จะตัดความเชื่อมโยงอันหลากหลายในห่วงโซ่การค้ายา ซึ่งรวมถึงการฟอกเงินดอลลาร์ในธนาคาร การขนย้ายวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้เพื่อผลิตยาเสพติด การผลิต การขนส่งและการค้าขายยา จนถึงบัดนี้ สงครามต้านยาเสพติดล้มเหลว จำเป็นที่จะต้องก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความรวมถึงการทำงานกับสังคมเพื่อหยุดยั้งการระบาดของยาเสพติด
5. เราต้องไม่สับสนระหว่างใบโคคาและยาโคเคน ใบโคคาโดยรูปลักษณ์ตามธรรมชาติของมันไม่ทำอันตรายแก่ใคร และยิ่งกว่านั้นควรจะทำให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อจุดมุ่งหมายสุดท้ายอันเป็นประโยชน์แตกต่างกันออกไปสำหรับมนุษยชาติ จำเป็นยิ่งที่จะต้องทำให้ใบโคคาเป็นของถูกกฎหมายอย่างเร่งด่วน และได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของประชาชนพื้นเมืองในแถบแอนเดียน ในโบลิเวีย เรากำลังดำเนิน “นโยบายฉันทามติเพื่อต้านและควบคุมการผลิตโคคา” กับองค์กรชาวไร่ผู้ผลิตโคคารายย่อยเพื่อป้องกันการนำใบไม้ไปป้อนการผลิตโคเคน
6. ความช่วยเหลือจากอียูสำหรับแคน ควรจะปราศจากซึ่งเงื่อนไขที่กระทบต่อนโยบายอธิปไตยของรัฐในกลุ่มแคน ความช่วยเหลือจะต้องมีส่วนช่วยแก้ไขสาเหตุเชิงโครงสร้างของการพึ่งพิงและลัทธิอาณานิคมที่ปรากฎเป็นอยู่ในรัฐทั้งหลายของเรา การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลไกที่ก่อให้เกิดผลผลิต การแปรทรัพยากรธรรมชาติของเราไปสู่อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครบวงจร และการสร้างความเข้มแข็งในการจัดสรรบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง จะต้องเป็นภารกิจอันดับแรกของความช่วยเหลือที่ให้โดยไม่มีเงื่อนไข
7. เราต้องจัดตั้งกลไกทางการเงินสำหรับการพัฒนาที่จะก้าวข้ามประสบการณ์แง่ลบที่เกิดจากหนี้ภายนอกและเงินบริจาคซึ่งมาพร้อมกับเงื่อนไข เราต้องส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานในองค์กรความช่วยเหลือพหุภาคี (ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ไอเอดีบี และอื่นๆ) เพื่อตอบสนองภารกิจอันดับต้นๆที่รัฐอธิปไตยได้กำหนดไว้
8. การอพยพย้ายถิ่นเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่กระทบต่ออียูและแคน เราจะร่วมกันสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการว่างงานและความยากจนซึ่งทำให้ประชากรแอนเดียนหลายแสนคนต้องละทิ้งประเทศของพวกเขาไปเพื่อแสวงหาอนาคตบางประเภทในยุโรป ปรากฎการณ์ที่สะเทือนอารมณ์ของการย้ายถิ่นไม่สามารถจะแก้ไขได้โดยมาตรการทางตำรวจหรือทางด้านบริหารจัดการ หากจะต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของแรงงานอพยพไว้เสมอ จำเป็นยิ่งที่การแลกเปลี่ยนด้านความช่วยเหลือและการค้ากับสหภาพยุโรปจะต้องมีส่วนสนับสนุนการแก้เปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการสร้างงานที่ยั่งยืนและถาวร
9. จำเป็นที่จะต้องสร้างพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการทำลายล้างโดยมลภาวะอุตสาหกรรม เราต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆเคลื่อนย้ายจากภูมิภาคหนึ่งไปยังอีกภูมิภาคหนึ่งเพื่อฉกฉวยประโยชน์จากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ต่ำที่สุด เราทั้งหมดต้องเรียนรู้จากประชาชนพื้นเมืองในการที่จะอยู่อย่างกลมเกลียวกับธรรมชาติ
10. กติกาของข้อตกลงสมาคมในด้านการค้าไม่สามารถจะเสมอกันได้สำหรับทั้งสองฝ่าย ขณะที่ในเมื่อความไม่เท่าเทียมอันลึกล้ำอย่างมากดำรงอยู่ทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ- ผู้แปล) ของอียูมากกว่าจีดีพีของแคน 50 เท่า และมากกว่าถึง 300-1000 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศ เช่น เอกวาดอร์และโบลิเวีย เพื่อที่จะมีข้อตกลงที่ยุติธรรมและเสมอภาค กฎกติกาที่ได้รับการเห็นชอบจะต้องอำนวยประโยชน์ให้กับแคนมากกว่าอียู นี่ไม่ใช่เรื่องของการประยุกต์ใช้ “การปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่าง” แต่หมายถึงกติกาที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งเอื้อให้เกิดการผนวกรวมกลุ่มที่สมดุลระหว่างสถานการณ์จริงที่ไม่เท่าเทียมกัน
11. ในเรื่องการเข้าถึงตลาด เป็นเรื่องพื้นฐานที่สหภาพยุโรปจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรเป็นศูนย์แต่ฝ่ายเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์ของแคนทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพของผู้ผลิตขนาดเล็ก อุตสาหกรรมขนาดเล็ก สหกรณ์ สมาคมและองค์กรเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย ไม่เพียงเก็บภาษีเป็นศูนย์เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องเสนอตลาดที่มั่นคงให้แก่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาผ่านการให้สิทธิประโยชน์พิเศษในการจัดซื้อจัดหาของรัฐบาลของประเทศในสหภาพยุโรป รวมทั้งผ่านกลไกอื่นๆ การเปิดตลาดจะต้องทำจริง โดยกำจัดกำแพงกีดกั้นที่ไม่ใช่ภาษี กฎระเบียบทางเทคนิค และข้อจำกัดด้านสุขอนามัยซึ่งไม่อนุญาตให้การแลกเปลี่ยนทางการค้าที่ยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริง
12. เกษตรกรรมไม่สามารถจะได้รับการปฏิบัติเสมอเหมือนกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะชีวิตและโภชนาการของประชาชนนับล้านคนขึ้นอยู่กับกิจกรรมนี้ รวมถึงความอยู่รอดและวัฒนธรรมของประชาชนพื้นเมืองนับร้อยชาติพันธุ์ในภูมิภาคแอนเดียน รัฐมีสิทธิและพันธะกรณีที่จะสร้างหลักประกันอธิปไตยและความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชาชนของตน ให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ร่วมกันของสังคมจะอยู่เหนือผลประโยชน์ของธุรกิจการเกษตร การส่งเสริมเกษตรนิเวศจะต้องมาเป็นอันดับแรก รวมทั้งการเปิดตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จากแถบแอนเดียนเพื่อที่จะบรรลุการพัฒนาอันกลมเกลียวกันกับธรรมชาติ
13. เราต้องตระหนักในสิทธิของรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กที่สุด เพื่อปกป้องตลาดภายในของพวกเขา และให้แรงจูงใจสำหรับผู้ผลิตในประเทศโดยกลไกแตกต่างกันไป เช่น การจัดซื้อจัดหาของรัฐบาล การแทรกแซงของรัฐในทุกระดับเป็นรากฐานในการกระตุ้นกลไกการผลิตต่างๆในเศรษฐกิจที่เล็กที่สุดและมีความสามารถในการแข่งขันน้อยที่สุด
14. จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในภูมิภาคแอนเดียน ที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาโดยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้วัตถุดิบและวัสดุพื้นบ้าน การจ้างแรงงานในประเทศ และการเคารพกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อม และกฎระเบียบอื่นๆในแต่ละสาขา การรับประกันและปกป้องของรัฐจะต้องขยายไปครอบคลุมนักลงทุนที่ทำการลงทุนอย่างแท้จริงในประเทศ และข้อพิพาทใดๆระหว่างนักลงทุนต่างประเทศและรัฐจะต้องได้รับการแก้ไขภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลภายในประเทศ ไม่ใช่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศซึ่งได้ก่อผลร้ายรุนแรงต่อกลุ่มประเทศแอนเดียนมาแล้ว นักลงทุนต่างชาติทุกคนมีสิทธิที่จะได้เงินลงทุนกลับคืนและได้รับกำไรอย่างสมเหตุสมผล แต่ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยสำหรับกำไรที่สูงเกินควรหรือที่อาจจะได้ในอนาคต ข้อตกลงสมาคมต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับการตัดสินใจโดยอธิปไตยของประเทศในแถบแอนเดียนในการเรียกคืนและ/หรือการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของตน
15. ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องค้ำประกันการเข้าถึงยาสูตรสามัญ การบังคับใช้สิทธิสำหรับยาที่มีสิทธิบัตรจะต้องขยายให้สนองตอบความต้องการด้านสาธารณสุข การให้สิทธิบัตรพืช เมล็ดพันธุ์ สัตว์ และจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดจะไม่ได้รับอนุญาต เราต้องตระหนักและปกป้องความรู้ดั้งเดิมของประชาชนพื้นเมือง และต้องเริ่มการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงแนวคิดเรื่องสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อที่จะป้องกันการแปรรูปความรู้ให้เป็นของเอกชน
16. ในระดับของบริการ ข้อตกลงของสหภาพต้องเสริมสร้างความสามารถของรัฐในการควบคุมและการจัดการเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ได้ จำเป็นยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างความแข้มแข็งของบริการสาธารณะจำเป็นพื้นฐานและไม่ส่งเสริมการเปิดเสรีหรือแปรรูปบริการเหล่านี้ ข้อตกลงสมาคมต้องเป็นไปเพื่อเสริมสร้างและขยายบริการสาธารณะที่จำเป็น เช่น สุขภาพ การศึกษา การประกันสังคม น้ำและสุขาภิบาลพื้นฐาน ให้ทั่วถึงประชากรทุกคน โดยการส่งเสริมการรวมกลุ่มและการถ่ายทอดความรู้จากบริษัทที่จัดบริการสาธารณะเหล่านี้ในสหภาพยุโรป จำเป็นยิ่งที่จะต้องลดงบประมาณทางการทหารและอาวุธลงเพื่อที่จะถ่ายโอนทรัพยากรไปเพื่อค้ำประกันการกระจายบริการพื้นฐานสู่ประชากรทั้งปวง
17. เราต้องแปรทิศทางกระบวนการรวมกลุ่ม ไปในทางที่ลดความสำคัญของผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้เป็นรองความจำเป็นด้านการพัฒนาที่ประกอบด้วยอธิปไตยและลักษณะเฉพาะของแต่ละชาติและประชาชน สถานการณ์วิกฤตซึ่งเกิดขึ้นในระดับของการผนวกรวมกลุ่มที่แตกต่างกันจะต้องถือว่าเป็นโอกาสให้ทำการทบทวนกระบวนการเหล่านั้น แคนและรัฐบาลและประชาชนทั้งปวงของทวีปอเมริกาใต้กำลังเผชิญความท้าทายในการที่จะก้าวข้ามความผิดพลาดของเราและออกแบบกระบวนการใหม่ในการรวมกลุ่มกับประชาชนและเพื่อประชาชนภายในชุมชนชาติอเมริกาใต้
ที่มา: แปลจาก http://www.boliviasoberana.org/blog/English/_archives/2006/6/14/2032849.html
หมายเหตุ: ข้อความที่เป็นตัวหนาเป็นการเน้นโดยผู้เขียนเอง
ข้อเสนอโบลิเวียมีอะไรดี
ไม่เอาข้อตกลงการค้าเสรี (Tratado del libro Commercio: TLC)
จุดยืนของโบลิเวียข้างต้นนี้จัดทำขึ้นสำหรับการเจรจาข้อตกลงสมาคมระหว่างกลุ่มแคนและอียู แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกกลุ่มแคนที่เหลือให้เป็นจุดยืนร่วมกันของกลุ่มหรือไม่ แต่จุดยืนในการเจรจานี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการแหวกกรอบการเจรจาการค้าที่กำหนดโดยประเทศพัฒนาและบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังทิศทางการเจรจาที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ
1. จุดยืนของโบลิเวียนั้นไปไกลเกินกว่าเรื่องการค้าเช่นเดียวกับเอฟทีเอดั้งเดิม แต่ข้อเสนอของโบลิเวียนั้นเห็นว่าการค้าและการลงทุนเป็นเพียงวิธีการหนึ่งและไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง
2. จุดยืนของโบลิเวียระบุชัดเจนและมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายที่จะให้การค้าและการลงทุนตอบสนอง นั่นคือ เป้าหมายการลดความยากจน การรักษาสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแก้ปัญหาด้านการอพยพย้ายถิ่น ส่วนการรักษาตลาดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาระทั้งหมดเท่านั้น
3. จุดยืนของโบลิเวียส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างข้อตกลงสมาคมเพื่อให้ผลประโยชน์นั้นตกอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดจ้างบริษัทล็อบบี้เหมือนในกรณีของไทย
4. จุดยืนของโบลิเวียให้ความสำคัญกับกลไกภาครัฐในฐานะที่มีบทบาทจัดสรรบริการสาธารณะไปสู่ประชาชน และมุ่งส่งเสริมกลไกนั้นให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นผ่านการทำข้อตกลงสมาคม ขณะที่ไม่ส่งเสริมการแปรรูปหรือเปิดเสรีบริการเหล่านี้ ซึ่งขัดกับวิสัยทัศน์ของไทยที่มองการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและบริการสาธารณะเป็นเครื่องมือสำหรับการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศและการขยายตัวของตลาดหุ้น
5. จุดยืนโบลิเวียให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าจะต้องโอกาส ความช่วยเหลือและสิทธิพิเศษบางประการกับชาติที่มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าอย่างจริงใจ ซึ่งไทยเรียกร้องจากคู่เจรจาที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วน้อยมาก
6. จุดยืนของโบลิเวียให้สิทธิกับนักลงทุนแต่พอสมควร ขณะที่ยังรักษาสิทธิในการตัดสินข้อพิพาทให้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศ ตรงข้ามกับจุดยืนของไทยที่สนับสนุนให้มีการใช้อนุญาโตตุลาการนอกประเทศแทนระบบยุติธรรมในประเทศ
7. จุดยืนของโบลิเวียสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐภายใต้กรอบคิดใหม่ คือ เน้นไปที่การร่วมมือและความสมานฉันท์มากกว่าการแข่งขัน ส่วนจุดยืนของไทยนั้น คือ ต้องการสร้างการแข่งขันให้มากที่สุดโดยไม่ใส่ใจกับขนาดและความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการ เพราะมุ่งหวังเพียงประสิทธิภาพในการผลิตให้เกิดขึ้นเท่านั้น
8. จุดยืนของโบลิเวียให้ความสำคัญกับภาคเกษตรในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตและแหล่งความมั่นคงด้านอาหารของประชาชน ส่งเสริมผลประโยชน์ของผู้ผลิตรายย่อยซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศมากกว่าผู้ผลิตรายใหญ่ ขณะที่ไม่ให้ความสำคัญเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและการส่งเสริมการขยายขนาดการผลิตของบริษัทเกษตรขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งเหมือนกรณีไทย
9. จุดยืนของโบลิเวียให้ความสำคัญกับความรู้ท้องถิ่น กล้าตั้งคำถามกับแนวคิดเรื่องสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา และรับประกันประชาชนในการเข้าถึงยา ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ใช้มาตรการของรัฐที่จำเป็น ซึ่งไทยไม่มีจุดยืนด้านนี้ปรากฎในทางยุทธศาสตร์แต่อย่างใด
นอกจากเก้าประเด็นที่ยกมาข้างต้นแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะพบเจอประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆได้อีกซึ่งอยากขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม
และเมื่อมาถึงตรงนี้ อยากจะให้ท่านผู้อ่านลองกลับไปดูจุดยืนหรือที่ไทยเรียกว่า “ยุทธศาสตร์” ของประเทศอีกครั้งหนึ่งเพื่อความรู้สึกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ายุทธศาสตร์ของไทยนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใดในการไปเจรจาต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ และไม่ว่าจะระบุไว้หรือไม่ก็ตาม ไทยกำลังใช้เหยื่ออะไรในการแลกกับการขยายตลาดและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และใครกันแน่ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์การเจรจาแบบนี้
เราคงไม่ได้หวังให้ไทยกำหนดจุดยืนแบบโบลิเวียทั้งหมด เพราะเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งความต้องการของประชาชนในสองประเทศแตกต่างกัน แต่หากไทยจะสามารถพัฒนายุทธศาสตร์หรือจุดยืนของไทยไปให้ไกลกว่า “จุดยืนของพ่อค้า” ตามที่เป็นอยู่ และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในหลากหลายมิติอย่างที่โบลิเวียทำ แม้เพียงหนึ่งในสามก็จะทำให้การเจรจาเอฟทีเอของไทยเข้าใกล้คำว่า “มีประโยชน์ต่อประชาชน” มากขึ้น