วันนี้เป็นวันครบกำหนด 2 สัปดาห์ภายหลังการเข้ายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จากรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร
แม้ว่าในวันนี้คุณทักษิณและรัฐบาลทักษิณได้เป็นอดีตไปแล้ว แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ระบอบที่มาแทนที่ในปัจจุบัน (ที่นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้ง มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ถูกเขียนขึ้นโดยคนหยิบมือหนึ่ง มีโครงสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญแบบสภาสนามม้าซึ่งไม่ค่อยเต็มใจต้อนรับประชาชนนัก ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ฯลฯ) จะท้าทายสติปัญญาของสังคมไทยยิ่งกว่าครั้งไหนๆ การต่อสู้เพื่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่มีคุณภาพของประชาชนในช่วงที่ผ่านมาจะลงเอยด้วยการยกอำนาจและความไว้วางใจทั้งหมดไว้ที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง แทนพวกพ้องของคุณทักษิณหรือไม่ โลกใหม่เป็นไปได้ด้วยมือประชาชนนั้นหายไปไหน สังคมไทยในวันนี้กำลังถูกทดสอบอย่างเข้มข้น
คอลัมน์โลกาภิวัฒน์แบบไม่ผูกขาดฉบับ 4 นี้ แม้จะนำเสนอเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นของเศรษฐกิจของอินเดีย (แน่นอนว่า มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย) เป็นหลัก แต่ผู้บรรยาย คือ ดร. ชยะติ โกสะได้พูดถึงประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ
"ดิฉันคิดว่า จากประสบการณ์ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่น่าชื่มชม ในอินเดีย เรามีประชาธิปไตยที่ลงรากปักฐาน ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้ง แต่ยังหมายถึงการมีส่วนร่วมและตรวจสอบ แน่นอนมีการสู้กันในเชิงความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วย และที่จริงแล้วก็มีสงครามระหว่างชนชั้น แต่ประชาธิปไตยในอินเดียหยั่งรากลึก และก็เป็นไปไม่ได้ที่จะถอดออกไป และยังหมายความว่า อะไรที่มันสุดขั้วไม่ว่าจะไปในทางไหนก็ยากที่จะเกิดขึ้นเหมือนกัน หมายความว่า ความก้าวหน้าอาจจะเกิดขึ้นช้า แต่เราเชื่อว่าความเติบโตจะยังเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดก็จะมีความยั่งยืนมากขึ้น มีหลายอย่างในอินเดียที่ดิฉันรู้สึกไม่ดี แต่ดิฉันยังเชื่อมั่นและภูมิใจว่าประชาธิปไตยของเราทำให้แม้แต่รัฐบาลที่แย่ๆยังต้องทำอะไรบางอย่างที่ก้าวหน้า"
แม้ว่าจะเป็นคำบรรยายไม่กี่บรรทัด แต่สำหรับสถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าจะกระตุกต่อมความคิดของใครต่อใครหลายคนได้เป็นอย่างดีว่า กับ "ความเร็ว" และการสวิงแบบ "สุดขั้ว" ของผลลัพธ์ที่ได้ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยนั้น สังคมไทยเติบโตขึ้นจริงหรือ
******************************
อินเดียกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ: สู่ขั้วอำนาจใหม่เอเชีย*
ดร. ชยะติ โกสะ (Dr Jayati Ghosh)
ทุกคนมีความสนใจอินเดียเป็นอย่างยิ่งเพราะคิดว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อีกตัวที่เติบโตขึ้นมาในเศรษฐกิจโลกและจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น เพราะเราเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ถ้าเทียบกับจีน อาจจะยังเทียบไม่ได้ แต่ในอนาคตเป็นไปได้ว่าประชากรจะมากกว่าจีนด้วยซ้ำไป ดั้งนั้น จะขอพูดถึงลักษณะการเติบโตของอินเดีย หลังจากนั้น จะพูดถึงการเมืองที่เกิดขึ้นจากการเติบโตนั้นซึ่งมีความน่าสนใจ อย่างไรตาม ดิฉันแน่ใจว่าเมืองไทยมีการเมืองที่สนุกสนานมากกว่าในขณะนี้ แต่ดิฉันคิดว่า เราต้องเข้าใจการเมืองด้วยถึงจะเข้าใจทิศทางในอนาคตที่จะเกิดขึ้น สุดท้ายจะดูความเป็นไปได้ของความร่วมมือในภูมิภาค และความร่วมมือประเภทไหนที่เราสามารถคาดหวังเพื่อนำไปสู่ทางเลือกใหม่
คุณรู้ไหมว่า การเติบโตในอินเดียเกิดขึ้นตั้งแต่เกือบ 25 ปีมาแล้ว ไม่ใช่เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมาอย่างที่ใครๆว่า มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี 1980 (พ.ศ. 2523) แต่ว่าตัวนำของการเติบโตจะต่างกัน การเติบโตส่วนมากมาจากส่วนผสมของการปฏิรูปภายในประเทศ มีการเปิดเสรี อนุญาตให้มีการลงทุนประเภทใหม่ๆ อนุญาตให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในอนเดียมากขึ้น แล้วก็มีการเติบโตของงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ นั่นเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้เกิดการเติบโต แต่เป็นการใช้จ่ายภาครัฐที่ได้มาจากเงินยืมต่างประเทศ เพราะฉะนั้น เราคาดหวังได้เลยว่า หากเรากู้ยืมเรื่อยๆก็จะมีปัญหาเรื่องการขาดดุลการชำระเงิน และปัญหาก็เกิดขึ้น ในปี 1981 (พ.ศ. 2524) ทำให้เราต้องมีรูปแบบการดำเนินกิจกรรมใหม่ และตั้งแต่ปี 1991 (พ.ศ. 2534) เป็นต้นมาเรามีสิ่งที่เรียกว่า การเปิดเสรี หรือพูดง่ายๆ คือ การปฏิรูปเพราะว่าทุกวันนี้ อะไรที่เรียกว่าปฏิรูปก็คือการเปิดเสรีรวมกับการปฏิรูปนั่นเอง ไม่ได้หมายความว่าช่วงก่อนหน้าไม่มีการเปิดเสรี มี แต่เป็นการเปิดเสรีภายใน แต่หลังจากปี 1991 (พ.ศ. 2534) มีการขยายตัวของการปฏิรูปที่สูงมากในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ และแน่นอน มีคนตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำให้อินเดียมีการเติบโตที่สูงในปลายทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2534-2544) คนมองว่าเรามีความสำเร็จในภาคส่งออกบริการ เพราะเราเปิดเสรีในภาคต่างๆโดยเฉพาะในภาคไอที หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้บริษัทสามารถที่จะขยายกิจการได้มากขึ้น
และแน่นอนว่า ถ้าเรามองการเจริญเติบโตเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา มันมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างออกไป ส่วนใหญ่การเติบโตอยู่ในภาคบริการ สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมเหมือนเดิม ภาคอุตสาหกรรมยังคงคิดเป็นประมาณ 15-20% ของรายได้ประชาชาติ แต่ภาคบริการขยายขึ้นไปสองเท่า ภาคเกษตรล่มสลาย และภาคบริการที่ขยายตัวไม่ได้นำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมากนัก แม้ว่าภาคเกษตรจะคิดเป็นมูลค่าเพียง 14% ของรายได้ประชาชาติทั้งหมด แต่ประชากรอยู่ในภาคนี้มากกว่า 60% ดังนั้น ประชากรส่วนมากยังคงอยู่ในภาคเกษตรซึ่งประสบกับการลดลง ลดลง และลดลงของรายได้ เมื่อผลผลิตยุบลงก็มีผลต่อคนจำนวนมาก และมีปัญหาว่าการพัฒนาจะยั่งยืนได้อย่างไร
อีกอย่างคือ การเพิ่มสัดส่วนของมูลค่าภาคบริการ อยู่ในรูปของการเพิ่มขึ้นในบริการสมัยใหม่ (modern services) ของการพัฒนา บริการสมัยใหม่ที่ส่งออกมีอยู่ 2 ประเภท คือ ไอทีและคอมพิวเตอร์ แน่หละ นั่นคือสิ่งที่ทุกคนพูดถึง ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ ภาพของคนอินเดียนั่งทำงานในแคลิฟอร์เนียและกำลังเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน อีกอันคือ บริการทางการเงิน ทั้งสองส่วนเชื่อมโยงกับการผนวกรวมกับภายนอก ผนวกเข้ากับตลาดโลก ไอทีทำเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะไปยังสหรัฐฯ ส่วนซอฟต์แวร์ก็เช่นกัน อย่าลืมว่าบริการเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา อาจจะเริ่มจากการป้อนข้อมูลเข้าไป แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น การป้อนข้อมูลโดยคนก็ไม่จำเป็นแล้ว ตอนนี้พัฒนาไปสู่บริการภาคสาธารณสุขซึ่งคนจะบันทึกสิ่งที่แพทย์พูดลงไป (medical transcripts) แต่ตอนนี้คุณไม่ต้องใช้มันแล้ว เพราะว่ามีเครื่องกลที่จะจดบันทึกตามเสียงพูดให้ได้
ตอนนี้ เคลื่อนมาสู่บริการหลากหลายของศูนย์รับโทรศัพท์ (call center) หรือที่เรียกว่าสำนักงานเบื้องหลัง (back office) บริการบางอย่างก็ทำกันอยู่แล้วในกรุงเทพ ดังนั้น คุณรู้แน่นอนว่าดิฉันกำลังพูดถึงอะไร แน่นอนว่ามีงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริการลักษณะนี้ แต่แม้กระนั้นงานเหล่านี้ก็กำลังถูกคุกคามโดยเทคโนโลยี เพราะว่ามันถูกกว่าที่จะไม่จ้างคนเลย ดังนั้น คุณจะเห็นว่ามีการเคลื่อนจากงานสำนักงานเบื้องหลังไปสู่อย่างอื่นซึ่งใช้แรงงานน้อยลง และตอนนี้คุณมีบริการใหม่ๆซึ่งแต่ก่อนไม่ได้มองว่าจะส่งออกได้ ปัจจุบันนี้ อินเดียได้กลายเป็นศูนย์กลางที่มีซอฟต์แวร์ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ระดับโลก เช่น สารานุกรมของบริแทนนิคา (Britannica) ทำในอินเดีย หรือพจนานุกรมดนตรีโลก (World Dictionary of Music) หรือภาพยนตร์การ์ตูน (animation) ของฮอลลีวูดก็ทำในอินเดีย ซึ่งบริการเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะความสามารถของเทคโนโลยี
นัยยะของบริการเหล่านี้ต่างไปจากนัยยะของการขยายตัวทางบริการด้านการเงินซึ่งดิฉันจะขอพูดถึงทีหลัง อย่าลืมว่า การขยายตัวนี้ต่างจากการขยายตัวของจีนอย่างมาก ดังนั้น จะเห็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจใช้ประโยคอันสวยหรูว่า อินเดียคือสำนักงานของโลกและจีนเป็นโรงงานของโลก ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง จีนอาจจะได้เปรียบทางการค้ามากและกำลังขยายตัวทางการผลิตอุตสาหกรรม ขณะที่อินเดียมีรายได้ภาคบริการเกินดุล ในเอกสารที่แจกไป จะเห็นตัวเลขการส่งออกของจีนและอินเดียว่าจำกัดอยู่ที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและบริการอย่างมาก และทั้งสองประเทศได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จีนได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และส่วนมากของเงินลงทุนอยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนอินเดียได้เงินลงทุนระยะสั้นหรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio investment) เช่น ในตลาดหุ้น หรือในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด
คราวนี้ มันมีปัญหาหลายอย่าง การพึ่งพาการลงทุนต่างชาติมากเกินไป ไทยประสบปัญหานี้มาแล้ว ตั้งแต่ 1993 (พ.ศ. 2536) เป็นต้นมาที่มีการเปิดเสรีการเงิน ทำให้มีเงินเข้ามาในประเทศจำนวนมาก และนั่นก็เป็นเงินที่ไหลออกไปอย่างรวดเร็วในปี 1998 (พ.ศ. 2541) ในอินเดียก็เช่นกัน มีเงินต่างประเทศไหลเข้าจำนวนมาก 32 พันล้านดอลลาร์สำหรับปีที่แล้ว และอีก 27 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้านั้น แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากเมืองไทย เม็กซิโก อาร์เจนตินา ตุรกีและที่อื่นๆทำให้เรากลัวที่จะใช้เงิน เราไม่ใช้เงินเหล่านี้ แต่เก็บเป็นเงินทุนสำรอง ดังนั้นเงินทุนสำรองที่ธนาคารชาติถือไว้จึงเติบใหญ่ขึ้นทุกเดือน ทุกครั้งที่ดิฉันดูตัวเลขเงินสำรอง จะพบว่าเพิ่มขึ้นทีละ 10 พันล้าน ก่อนที่จะมาไทย เงินสำรองอยู่ที่ 145 พันล้านดอลลาร์ เมื่อตรวจสอบทางอินเตอร์เน็ตอีกทีเมื่อเช้านี้ ตัวเลขไปอยู่ที่ 152 พันล้านดอลลาร์แล้ว มันเป็นเรื่องโง่มากที่จะไม่ใช่เงินเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์
บางส่วนของเงินลงทุนเหล่านี้เป็นเงินที่บริษัทในประเทศไปกู้ยืมมา บางส่วนเป็นเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งสามารถที่จะไหลออกไปง่ายๆและสร้างวิกฤตขึ้นมาได้ เงินทุนสำรองที่เก็บไว้นั้นจะนำไปลงทุนแบบที่ปลอดภัย ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยซึ่งต่างประเทศหรือธนาคารคิดกับเราสูงกว่ามาก ดังนั้น จึงมีความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยทั้งสองมาก รัฐบาลอินเดียประมาณการณ์ว่าต้นทุนของการถือเงินสำรองเหล่านี้คิดเป็นจำนวนมากกว่า 1.5% ของจีดีพี ดังนั้น เราเสียเงินมากขึ้นทุกครั้งที่เราให้เงินลงทุนต่างชาติเข้ามา เรากลัวที่จะยับยั้งการไหลเข้าของเงินลงทุนเหล่านั้น เพราะกลัวว่าจะไปส่งสัญญาณที่เป็นลบกับนักลงทุนซึ่งเป็นสิ่งที่คุณไม่อยากทำ ขณะเดียวกันเราก็กลัวที่จะใช้เงินเพราะการใช้เงินอาจจะนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และนั่นก็จะส่งสัญญาณลบให้กับนักลงทุนอีก ดังนั้นไม่ว่าจะทางไหน เรากำลังเจอกับสถานการณ์ที่แปลกประหลาดที่เราต้องเสียค่าใช้จ่าย 1.5% ของจีดีพีเพียงเพราะเราไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับการเปิดเสรีด้านการเงินกับภายนอก รัฐบาลบอกว่าวิธีเดียวที่จะจัดการก็คือต้องให้คนอินเดียสามารถเอาเงินนี้ออกไปในลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้บัญชีเงินทุนเกิดการไหลกลับ คนรวยก็จะเอาเงินออกไปแต่คนในประเทศไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุนใหม่เลย จะเห็นว่าโลกนี้ชักจะแปลกประหลาดมากขึ้นเพราะเราสร้างสถานการณ์ที่มัดมือตัวเอง และหาทางแก้ไขโดยวิธีที่ซับซ้อน แทนที่จะใช้วิธีง่ายๆ คือ การนำเงินไปลงทุนและหยุดยั้งกระแสเงินทุนที่ไม่จำเป็น
จะพูดนิดนึงเกี่ยวกับภาคไอที เราต้องตระหนักว่าภาคนี้เป็นการส่งออกภาคใหญ่ที่สุดของอินเดีย แต่เงินที่ได้กลับมายังน้อยกว่าเงินส่งกลับของแรงงานอินเดียที่ไปทำงานในต่างประเทศ เงินส่งกลับจากแรงงานอินเดียเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดในดุลการชำระเงินในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมากกว่าเงินทุนไหลเข้าทั้งหมดรวมกัน เงินจำนวนมากมาจากแรงงานที่ทำงานในประเทศส่งออกน้ำมัน ในตะวันออกกลาง และในส่วนอื่นของเอเชีย และยังมาจากคนที่ไปทำงานระยะสั้นที่ใช้วีซ่าประเภท H-1B เพื่อไปทำงานผลิตซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ หรืออะไรประเภทนั้น ดังนั้นส่วนที่ได้รับกลับมาจากประชาชนจึงเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศแหล่งใหญ่ของอินเดีย
ทุกคนตื่นเต้นกับภาคไอทีมาก แต่ในความเป็นจริง มันเป็นอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวมาก แม้แต่ในอินเดีย บริษัทไม่กี่แห่งกุมประมาณ 85% ของรายได้ในภาคไอทีทั้งหมด ต้องไม่ลืมว่า จริงๆแล้ว ในระหว่างประเทศ ซอฟต์แวร์มีตลาดที่กระจุกตัวมาก เป็นตลาดที่มีการผูกขาดสูง เราทุกคนรู้ว่าบริษัทไมโครซอฟต์คุมตลาดโลกนี้อยู่มาก แต่ไม่ได้มีเพียงไมโครซอฟต์เท่านั้น มีประมาณ 6 บริษัทที่กุมตลาดประมาณ 70% ทั่วโลก แต่ในอินเดีย 8 บริษัทกุม 85% ของตลาดและ 4 บริษัทใหญ่ที่สุดกุมตลาดประมาณ 60% พวกนี้เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากที่ไม่ได้ประโยชน์มากนัก
แม้ว่าอินเดียจะประสบความสำเร็จมากมายในแง่ปริมาณ แต่ถ้าดูลำดับแล้ว ยังไม่อยู่ในชั้นแนวหน้าของการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรายังคงทำหน้าที่เติมเต็มส่วนที่ขาดและแก้ปัญหา (trouble shooting) ให้กับซอฟต์แวร์ในระดับนานาชาติเท่านั้น และแน่นอนว่ามันมีปัญหา ไม่ใช่แค่เรื่องซอฟต์แวร์ แต่กับไอทีและบริการอื่นๆโดยทั่วไป ประการแรก ตัวเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก สิ่งที่เราเคยให้บริการได้อาจจะทำไม่ได้อีกต่อไป สอง มีคู่แข่งใหม่ อินเดียเคยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศชั้นนำสำหรับไอทีและบริการ เพราะเรามีคนจำนวนมากที่พูดภาษาอังกฤษและใช้คอมพิวเตอร์เป็น แต่มีคู่แข่งเกิดขึ้นมาใหม่ในเอเชีย เช่น บังคลาเทศ ไทย มาเลเซีย จีน ซึ่งปัจจุบันถูกมองว่าเป็นแหล่งลงทุนด้านไอทีแหล่งที่สอง เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่ามาก ในแอฟริกาก็มีเคนยาหรือแอฟริกาใต้ ทุกประเทศต้องการทำอย่างเดียวกันเพราะมองว่านี่เป็นการเติบโตที่เร็วมาก ในอินเดียเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่แย่มาก นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ต่างจากจีน จีนใช้เงิน 20% ของจีดีพีทุกปีมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แต่ในอินเดียใช้เพียง 2% ดังนั้นในอินเดียเราแย่มาก แย่กว่าไทย ไม่ว่าจะเป็น ถนนหนทาง การขนส่ง ไฟฟ้า และอื่นๆ ขณะเดียวกัน เมื่อค่าแรงเพิ่ม นักลงทุนต่างชาติก็เลือกจะไปหาประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าเช่น บังคลาเทศและพม่า ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่การเจริญเติบโตที่เราจะหวังได้ว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในระดับเดิมในอนาคต การเจริญเติบโตจะต่ำลง
ส่วนภาคการเงิน มันก็มีปัญหา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะนำเราไปสู่วิกฤต โดยเฉพาะหากรัฐบาลมุ่งไปที่การเปิดเสรีของบัญชีทุน (capital account convertability) ให้มีเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรี
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมาคือ การขยายตัวของภาคหัตถอุตสาหกรรมซึ่งเน้นที่การส่งออกมายังเอเชีย ทั้งการส่งออกและนำเข้าขยายตัวอย่างมาก การค้าขายสินค้าหัตถอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือว่า ในเมืองจีน การขยายตัวส่งออกสูงมาก แต่ราคาวัตถุดิบสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมในเมืองจีนต่ำลง ดังนั้นจีนสามารถที่จะผลิตและส่งออกได้มากขึ้นเรื่อยๆเพราะว่ามูลค่าสิ่งที่ผลิตนั้นต่ำลงไปเรื่อยๆ ในอินเดีย ราคาของทั้งสองส่วน คือ มูลค่าการส่งออกและมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้นไปพร้อมกันซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติมาก ที่น่าสนใจมากอีกอย่างคือการเพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นการส่งออกและนำเข้าเครื่องจักรกลและเครื่องมือวิศวกรรม โดยส่งออกไปยุโรปลดลง แต่ไปยังเอเชียเพิ่มขึ้น และนั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม แสดงว่าขณะนี้อินเดียกำลังเข้าร่วมกับขบวนการโยกย้ายฐานการผลิตและทุนเพื่อผลิตและส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนี้อยู่พักหนึ่ง ที่คุณผลิตเพียงบางส่วนของโทรทัศน์ ขณะที่ส่วนอื่นๆของโทรทัศน์ถูกผลิตจากที่อื่นและอาจประกอบที่นี่หรือที่อื่น ดังนั้น ขณะนี้อินเดียได้เข้าร่วมกับขบวนการโยกย้ายฐานการผลิตระดับภูมิภาคแล้ว และคุณจะพบว่า อุตสาหกรรมจำนวนมากในปัจจุบันผลิตบางส่วนในอินเดีย และไปผลิตประกอบในมาเลเซีย เกาหลี เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ตลาดแหล่งสุดท้ายของทุกคนยังคงเป็นสหรัฐฯอยู่
แต่จริงๆแล้ว การเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของอินเดียที่มากสุดนั้นไปอยู่ที่จีน และการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าสำหรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็มาจากจีนเช่นกัน ตามมาด้วยสินค้าจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น เรากำลังมีการผนวกรวมแบบใหม่ที่เราไม่เคยมีมาก่อนในอดีต อย่าลืมว่า มันยังเป็นจริงที่ว่าตลาดสุดท้ายอยู่ที่สหรัฐฯ แต่การค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคนั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ขอบเขตของการขยายตัวการค้าระหว่างกันมีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในอัตราภาษีศุลกากร ภาษีส่งออก หรือการอุดหนุนด้านสินเชื่อจะสามารถส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อการค้าขายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นหากย้อนไป 10 ที่แล้ว ดิฉันจะกลับมาเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะว่ามันมีนัยยะอย่างมากต่อการผนวกรวมทางเศรษฐกิจในเอเชีย
ที่ผ่านมา ดิฉันพูดถึงเฉพาะข่าวดี แต่นอนว่าในอินเดีย มีข่าวร้ายมากมายด้วย อมาตยา เซ็น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มาเยี่ยมอินเดียทุกปีเพราะได้รับสิทธิในการเข้าออกอินเดียเสรีได้ตลอดชีพ เขาพูดเมื่อเร็วๆนี้อย่างหนึ่งซึ่งเป็นจริงอย่างที่สุดว่า ในอินเดีย เรามีทั้งแคลิฟอร์เนียและแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซะฮารา และลักษณะทั้งสองแบบก็เด่นชัดขึ้นทุกทีๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เรามีแคลิฟอร์เนียซึ่งชักจะกลายเป็นแบบแคลิฟอร์เนียขึ้นทุกวัน เรามีแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซะฮาราที่มีความอดอยาก การว่างงาน และความยากจนอย่างมากในหลายส่วนของประเทศ ถ้าคุณไปเยี่ยมอินเดียแล้วเห็นว่าความยากจนเป็นอย่างไร คุณคงช็อกด้วยเหมือนกัน ลักษณะรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจหลายอย่างนำมาสู่สิ่งเหล่านี้ มันคือการเติบโตที่พึ่งพิงความเหลื่อมล้ำ ส่วนที่โตสูงมากคือไอที ส่วนอื่นๆถ้าจะโตก็เพียงเพราะคนไม่มีทางไป คุณสูญเสียที่ดินและตกงาน ดังนั้นคุณจึงเอากล้วยมาวางขายข้างถนน เป็นต้น และนั่นก็คือ บริการ อีกประการคือ วิกฤตภาคเกษตรในอินเดีย ซึ่งรุนแรงกว่าที่เกิดในไทย แม้ว่าราคาพืชผลจะสูงขึ้น แต่ว่าอินเดียเป็นประเทศใหญ่มาก ทางเหนือไม่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของภาคไอที มีสภาพที่เลวมาก โครงสร้างพื้นฐานแย่ลง บางรัฐ เช่น มัธยะประเทศมีจำนวนถนนเมื่อ 10 ปีที่แล้วมากกว่าปัจจุบัน 5 เท่า ในบางส่วนของประเทศสถานการณ์แย่กว่านี้
ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทเพิ่มสูงขึ้นมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตที่เพิ่มขึ้นโดยรวมไม่ได้ทำให้คนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น คุณมีการเติบโตในบางภาค แต่การเติบโตนั้นไม่ได้ทำให้คุณมีงานทำ งานที่มีเพิ่มขึ้นกลับเป็นงานที่คนต้องตะเกียกตะกายทำ หมายถึง งานที่คนต้องยอมรับค่าจ้างราคาต่ำกว่าที่จะดำรงชีพได้ หรือยอมทำอะไรก็ได้เพื่อมีชีวิตอยู่ ปัญหาคือ งานที่มีในภาคที่ขยายตัวนั้นมีไม่พอจะรองรับความต้องการหางานทำของคนจำนวนมาก
อย่างที่ดิฉันกล่าวไว้ ภาคเกษตรกำลังอยู่ในวิกฤต สาเหตุหลักเพราะการทำเกษตรไม่สามารถทำให้อยู่รอดอีกต่อไป ทำไม เพราะราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอินเดียลดการอุดหนุนไม่ว่าเรื่องปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เรื่องน้ำ การชลประทาน ดังนั้น ผลผลิตจึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงมาก นอกจากนั้น เรายังผูกกับตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งบางครั้งราคาสูง บางครั้งราคาต่ำ มีเกษตรกรที่ต้องฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่สามารถอยู่รอดได้ ในการสำรวจระดับชาติ 40% ของเกษตรกรบอกว่าไม่อยากทำเกษตรอีกต่อไปแล้ว แต่อีก 40% บอกว่าไม่มีทางเลือก แต่บอกว่ารุ่นลูกของพวกเขาไม่ควรทำเกษตรอีก ดังนั้น 80% ของเกษตรกรไม่ต้องการทำเกษตร แต่ 60% ของประชากรของอินเดียยังอยู่ในภาคเกษตร เพราะเราไม่มีงานอื่นให้พวกเขา ดังนั้น เกษตรกรทำอย่างไร ปีแรก เมื่อราคาต้นทุนเพิ่มขึ้น พวกเขากู้ยืม เพราะคิดว่าจะจ่ายคืนได้ในปีหน้า แต่พอถึงปีหน้า สถานการณ์เหมือนเดิม ดังนั้นต้องกู้อีก และกู้จนไม่สามารถกู้ได้อีกเพราะคนไม่ให้สินเชื่ออีกต่อไป สุดท้ายพวกเขาฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ปี 1998 (พ.ศ. 2541) เกษตรกรฆ่าตัวตายไปมากกว่า 25,000 คน บางรัฐมีเกษตรกรที่ฆ่าตัวตายมากกว่ารัฐอื่น เช่น ในรัฐอันตรประเทศ จนถึงปี 2003 (พ.ศ. 2548) มีเกษตรกรฆ่าตัวตายไปเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ รัฐมหาราชตรา ส่วนที่ห่างจากเมืองไปเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตรเท่านั้น เฉพาะในปีนี้มีเขตหนึ่งที่เกษตรกรฆ่าตัวตายไปแล้ว 1,000 คน อีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา อีก 300 คนฆ่าตัวตาย เหล่านี้เป็นวิกฤตที่ก่อโดยมนุษย์โดยแท้ เพราะเงินอุดหนุนที่รัฐให้ชนบทลดลงและไม่มีการลงทุนในภาคเกษตร และลงทุนในเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำเกษตรโดยยั่งยืน สินเชื่อให้เกษตรกรลดลงเพราะมาตรการเปิดเสรีการเงิน และหลังจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ก็เปิดเสรีการค้า เปิดให้เกษตรกรถูกกระทบโดยวิกฤตระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดโดยบริษัทเกษตรขนาดใหญ่และการให้เงินอุดหนุนในประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น สิ่งเหล่านี้คือ วิกฤตที่เกิดโดยน้ำมือมนุษย์ ข่าวดีคือ เราสามารถแก้ไขไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ โดยการเปลี่ยนนโยบายเป็นตรงกันข้ามกับที่เป็นอยู่
ในบริบทนี้อยากจะพูดถึงการเมืองในอินเดียซึ่งมีความน่าสนใจ เพราะในช่วงที่ได้อธิบายมาคือ 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนำโดยพรรคบีเจพี ซึ่งมีนโยบายเน้นช่วยเหลือคนฮินดูเป็นหลัก (Hindu-majority approach) เป็นพรรคที่อิงแนวทางศาสนาฮินดูซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือ แต่ขณะเดียวกันเน้นในเรื่องเปิดเสรีโลกาภิวัฒน์อย่างมาก คือ รวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันอย่างก้าวร้าว เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา พวกเขามีสโลแกนว่า “อินเดียกำลังเปล่งแสง” ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ พรรคฝ่ายค้านก็แทบไม่ต้องทำอะไรมากในการหาเสียง เพียงแต่ชี้ไปที่สโลแกน อินเดียกำลังเปล่งแสง ขณะที่ความเป็นจริงคนส่วนมากกำลังย่ำแย่ มันเหมือนกับการเหยียบย่ำเย้ยหยันคนเหล่านี้ถ้าบอกว่าอินเดียกำลังเปล่งแสงเพียงเพราะบริษัทไม่กี่แห่งหรือวิศวกรซอฟต์แวร์ไม่กี่คนกำลังไปได้ดี แต่ที่เหลืออีกทั้งประเทศกำลังแย่ ดังนั้น พรรครัฐบาลจึงถูกถล่ม แม้แต่ในเมืองสำคัญๆพวกเขาก็พ่ายแพ้ ที่น่าสนใจ คือ พรรคคองเกรส ไม่ได้คิดว่าจะชนะกลับชนะการเลือกตั้ง พรรคนี้ขึ้นมามีอำนาจได้คราวนี้ก็เพราะประกาศนโยบายที่ถอนรากถอนโคนและก้าวหน้ามาก พวกเขาบอกว่าจะสร้างงาน จะให้การอุดหนุนเกษตรกรมากขึ้น จะแก้ไขนโยบาย เพราะไม่ได้คิดว่าจะชนะจึงคิดว่าเสนอนโยบายอย่างไรก็ได้ แต่จริงๆแล้ว ผู้นำพรรค ซอนยา คานธี เป็นผู้วางรากฐานด้านแนวคิดที่ก้าวหน้านี้ซึ่งทำให้พรรคคองเกรสได้รับชัยชนะ เธอบอกว่าเราต้องกลับลำระเบียบนโยบายที่เป็นอยู่ พรรคคองเกรสไม่ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก มีพรรคระดับมลรัฐเข้าร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคคองเกรส ทำไม เพราะในเขตการเลือกตั้งใดก็ตามที่มีการต่อสู้โดยตรงระหว่างพรรคคองเกรสกับพรรคบีเจพี พรรคบีเจพีจะแพ้ แต่เขตใดที่มีพรรคทางเลือกที่ไม่ใช่พรรคคองเกรส พรรคคองเกรสก็จะแพ้ด้วย ทั้งนี้เพราะทุกคนรู้ว่าพรรคคองเกรสดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่มาตลอด นายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์ เป็นเจ้าพ่อนโยบายเสรีนิยมใหม่ในอินเดีย ดังนั้น หากที่ใดมีพรรคระดับมลรัฐที่เข้มแข็งในการคัดค้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ พรรคคองเกรสก็จะพ่ายแพ้ในเขตเลือกตั้งนั้น จริงๆแล้ว 3 มลรัฐในอินเดียปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย-มาร์ซิสต์ (CPI-M)
ตั้งแต่ปี 2005 (พ.ศ. 2548) เรามีรัฐบาลที่แปลกมาก เป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคคองเกรสกับพรรคพันธมิตรในรัฐเหล่านี้ พรรคฝ่ายซ้ายได้ที่นั่งในสภา 62 จาก 540 ที่นั่ง ดังนั้นจึงไม่มาก มากกว่า 10% นิดหน่อย แต่มันเป็นการถ่วงดุลอำนาจ ถ้าพวกเขาไม่สนับสนุน รัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น เป็นเกมทางการเมืองที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลในอำนาจต้องพยายามผลักดันนโยบายไปให้ไกลที่สุดโดยไม่ให้พรรคฝ่ายซ้ายถอนเสียงสนับสนุน และพรรคซ้ายต้องพยายามผลักดันให้มีนโยบายที่ก้าวหน้าในรัฐบาลผสมนี้ ดิฉันควรจะบอกคุณด้วยว่า หลังการเลือกตั้ง ซอนยา คานธีชนะและรู้ตัวว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรี เธอเป็นคนอิตาลี เป็นลูกสะใภ้ของอินธิรา คานธี นายกรัฐมนตรีคนก่อนและภรรยาม่ายของราจีฟ คานธี ซึ่งเป็นหลานของเนห์รู ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของการสืบสกุล แต่เมื่อเธอกำลังจะได้เป็นนายกฯ พรรคบีเจพีก็ออกมาโวยวายว่าจะให้คนต่างชาติมาเป็นนายกฯของอินเดียได้อย่างไร เธอก็เลยมอบอำนาจให้มันโมฮัน ซิงห์ ผู้ซึ่งไม่เคยได้รับชนะการเลือกตั้งเลย ครั้งเดียวที่เขาลงเลือกตั้งก็แพ้ เขาเป็นเทคโนแครต ไม่ใช่นักการเมือง ซอนยาคงคิดว่าเลือกเขาปลอดภัยดี คงไม่เป็นคู่แข่งทางการเมือง จากนั้น มันโมฮัน ซิงห์ ก็ตั้งคนสนิทมาเป็นประธานคณะกรรมการวางแผนแห่งชาติซึ่งเคยทำงานให้ธนาคารโลก และเคยเป็นผู้ช่วยของเขาสมัยที่เขาเป็นรัฐมนตรีการคลังในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ผู้ช่วยคนนี้เป็นผู้ตรวจการพิเศษของไอเอ็มเอฟ ตอนจะรับตำแหน่ง เขาต้องบินจากวอชิงตันมาอินเดียเพื่อรับตำแหน่ง นอกจากนี้ รัฐบาลชุดนี้ก็มีรัฐมนตรีคลังที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน เป็นนักกฎหมายที่ว่าความให้บริษัทเอ็นรอนในคดีที่บริษัทฟ้องรัฐบาลรัฐมหาราชตรา
ดังนั้น อินเดียจึงมีคน 3 คนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาคุมอำนาจและวางแผนให้ประเทศ ทั้งหมดผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเดียวกับที่ทำให้รัฐบาลก่อนหน้านี้ต้องแพ้การเลือกตั้งไป นโยบายจำนวนมากมุ่งไปในแนวเสรีนิยมใหม่ ขณะที่ปัญหาของชาวบ้านที่มีอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่เรามีพรรคฝ่ายซ้าย คือ พรรคคอมมิวนิสต์ของอินเดียซึ่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายเหล่านี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ คือ การเสนอกฎหมายประกันการจ้างงานในชนบทประจำชาติ (National Rural Employment Guarantee Act) มันไม่ใช่แค่โครงการสาธารณะขนาดใหญ่ แต่เป็นกฎหมาย ซึ่งกำหนดว่ารัฐบาลกลางต้องสร้างงานให้ประชาชนมีรายได้ 100 วันทำงานต่อปีต่อครัวเรือน หมายความว่ามีสวัสดิการขั้นต่ำสำหรับคนในชนบท กฎหมายนี้ผลักดันโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชนสนับสนุน นี่เป็นนโยบายที่ค่อนข้างก้าวหน้า เป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนโดยถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีงานทำ แม้ว่าจะเป็นสิทธิที่จำกัดเพียง 100 วันต่อครัวเรือน แต่อย่างน้อยมันก็อยู่บนพื้นฐานของสิทธิที่ประชาชนจะมีงานทำและมีรายได้
ที่น่าสนใจและเป็นลักษณะพิเศษของอินเดีย คือ ระบบวรรณะ ดิฉันคิดว่าเราล้วนมาจากสังคมที่มาจากการแบ่งชนชั้น แต่ไม่มีอะไรที่เหมือนระบบวรรณะ ดิฉันไม่ทราบว่าจะเริ่มอธิบายเรื่องนี้อย่างไรหรือแม้แต่จะเข้าใจเองว่ามันหยั่งรากลึกแค่ไหน แต่มันเป็นสิ่งที่มาจากศาสนาฮินดูแน่นอน คุณจะพบว่าระบบวรรณะมีอยู่ในกลุ่มคนมุสลิม คนคริสต์ คนที่อยู่แต่ละวรรณะไม่สามารถหลุดออกมาได้ แต่ก่อนดิฉันเชื่อว่าวรรณะไม่สำคัญ แต่ต้องยอมรับว่ามันยังคงอยู่และมีอิทธิพลกับหลายสิ่งหลายอย่าง ดังนั้น จึงมีการเมืองจำนวนมากที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องวรรณะ เราอาจมองในแง่ของมาร์กซิสต์แล้วเชื่อว่าระบบชนชั้นเป็นระบบที่มีปัญหาและยุ่งเหยิง แต่มันเกิดขึ้นจริงว่าวรรณะต่ำสุดไม่มีทางเป็นเจ้าของทรัพย์สินอะไรได้ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับบริการใดๆ ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องของชนชั้นมาก ที่ผ่านมา มีบางพรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของคนในวรรณะต่ำสุดแต่พวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน แต่กลับเรียกร้องให้มีโควต้าอาชีพ โควต้าการศึกษาสำหรับคนกลุ่มนี้และอื่นๆที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ยังมีพรรคการเมืองที่อิงกับชนชั้นล้าหลังอื่นๆ (backward classes) ซึ่งบอกว่าชนชั้นเหล่านี้จำนวนมากมีความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ยังขาดความเสมอภาคทางสังคม ยังไม่ได้รับการศึกษาในระดับสูงเหมือนชนชั้นอื่น ดังนั้นพวกเขาเรียกร้องให้มีโควต้าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยให้กับชนชั้นล้าหลังนี้ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นเรื่องใหญ่ในอินเดียขณะนี้ ซึ่งทำให้คนชั้นกลางตื่นเต้นกันมาก ดิฉันเคยเห็นนักวิชาการทางการเมืองคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ต้องการเข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่ถ้าคุณพูดถึงเรื่องวรรณะขึ้นมา เขาจะโมโหขึ้นมาทันที คุณรู้ไหมว่า หมอในวิทยาลัยการแพทย์ของเราซึ่งมีสำนึกว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่น ถ้าคุณพูดเรื่องโควต้าเมื่อไร พวกเขาพร้อมที่จะประท้วงโดยปล่อยให้คนไข้ตาย ดังนั้น ปรากฎการณ์ใหม่นี้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ การเมืองของวรรณะได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการเมืองในอินเดียและนำไปสู่การเมืองอื่นๆที่ดิฉันได้อธิบายมา เช่น วิกฤตเกษตร การว่างงาน ซึ่งเข้าไปพัวพันกับเรื่องวรรณะ ดังนั้น อินเดียจึงอยู่ในยุคที่น่าสนใจ
ท้ายที่สุด เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผนวกรวมในภูมิภาค สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนอย่างในอินเดีย คือ การเติบโตที่ผ่านมาไม่ใช่การเติบโตสำหรับทุกคน แต่สำหรับคนชั้นกลางที่พูดภาษาอังกฤษที่ได้ประโยชน์จากภาคไอที และเป็นการเติบโตบริษัทธุรกิจ สัดส่วนกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งภาคบริษัทธุรกิจไม่เคยทำได้ดีขนาดนี้มาก่อนและเพราะสิ่งนี้ อินเดียจึงขยายตัวและมองออกไปทางตะวันออกมากขึ้นทุกที ไม่ได้มองแต่ตะวันตกอย่างเดียว มีกรณีที่ดังมากคือ บริษัททาทา ของอินเดียซื้อกิจการของบริษัทในยุโรป หรือ บริษัทเหล็กชื่อมิตตอลของอินเดียพยายามซื้อบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสในลักเซิมเบิร์กซึ่งเป็นบริษัทผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ดังนั้น เราจะเห็นบทบาทของบริษัทใหญ่ของอินเดียที่พยายามเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคและในระดับโลกมากขึ้น แต่ในระดับภูมิภาค เมื่อดูจากการส่งออกแล้วจะเห็นว่าเป้าหมายหลักของอินเดียคือเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทอินเดียต้องการเข้ามาอยู่ในระบบการผลิตของเอเชีย ดังนั้น บริษัทต้องการเปิดธุรกิจในกรุงเทพ เซี่ยงไฮ้ โซล ฯลฯ และแรงผลักดันจำนวนมากมาจากแรงผลักของบริษัทอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นการเติบโตของอินเดียจึงเป็นการเติบโตด้านรายได้ ไม่ใช่การเติบโตด้านการจ้างงาน ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้การผนวกรวมทางเศรษฐกิจให้ประโยชน์กับประชาชนในภูมิภาคจริง เราต้องมองหาความร่วมมือที่สร้างการมีงานทำ ให้ประโยชน์กับสาขาที่มีประชากรส่วนใหญ่ของเราทำงานอยู่ ให้ประโยชน์แก่อุตสาหกรรมและบริการขนาดเล็ก เราควรจะคิดถึงการเติบโตในลักษณะนั้น ซึ่งมันมีความเป็นไปได้ รัฐบาลอินเดีย ออกมาพูดมากถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ทิศทางของมันมุ่งไปสู่ความร่วมมือที่จะให้ประโยชน์กับบรรษัทข้ามชาติมากกว่า เราต้องเปลี่ยนจุดสนใจของความร่วมมือแบบนี้ไปสู่ความร่วมมือที่สร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายร่วมกันของทุกคนในภูมิภาคเอเชีย ขณะนี้เราอยู่ในช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจแน่ๆ ทำอย่างไรที่ให้การเติบโตกระจายประโยชน์ให้ทั่วถึง ซึ่งเราไม่สามารถที่จะใช้ยุทธศาสตร์ที่เคยใช้แล้วไม่ว่าจะในอินเดียหรือในที่อื่นในภูมิภาค คิดว่าแค่นี้คนอาจมีคำถามในใจมากแล้ว จะขอหยุดเพียงเท่านี้ก่อน
---------------------------
ช่วงคำถาม คำตอบ
1. นักการเมืองปัจจุบัน ไม่ใช่สุดโต่งอย่างใดอย่างหนึ่งแบบชัดๆ แต่ผสมผสาน อย่าง พรรคบีเจพี ปิดร้านเคเอฟซีและไม่ให้คนส่งการ์ดวันวาเลนไทน์ ขณะเดียวกันก็ผลักดันเสรีนิยมใหม่ บ้านเราก็เห็นเหมือนกัน เป็นสวัสดิการเอื้ออาทร แต่ข้างบนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น บางคนบอกว่าผมเป็นเคนเซี่ยน (Keynesian) แต่ข้างบนไปหาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องวรรณะ เราได้ยินเกี่ยวกับประชาธิปไตยจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ว่าเราเห็นว่ามีการกดขี่ บางคนไม่มีที่ดิน มีนักวิชาการบอกว่าลัทธิแบ่งแยกวรรณะเท่ากับลัทธิเหยียดผิว (casteism = racism) แต่ทางฝ่ายขวาของอินเดียบอกว่ามันเป็นการแบ่งงานกันทำ ซึ่งจะทำให้ทำงานได้ดี ยังมีเรื่องอื่นๆด้วยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เช่น นโยบายการต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น อยากถามว่า ฟังดูแล้ว จีนดูดี ซึ่งรายงานการพัฒนามนุษย์ (Human Development Report) ปี 2548 ตำหนิจีนหลายเรื่องไม่ว่าเรื่องกระจายรายได้ หายนะทางสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงบริการสาธารณะ และความไม่เสมอภาคที่แย่มาก อยากทราบว่าอาจารย์คิดอย่างไร
ตอบ
น่าสนใจมากที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา เมื่อ 2 อาทิตย์นี้แล้ว ไปสัมมนาที่เซี่ยงไฮ้ แล้วเจอนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก คิดว่าจีนทำอะไรหลายอย่างที่อินเดียไม่ได้ทำ เช่น การปฏิรูปที่ดิน กระจายทรัพย์สิน ให้ประกันการศึกษาอย่างทั่วถึง ที่น่ากลัวของการเติบโตของจีน คือ มันจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานดีๆที่จีนจัดตั้งไว้ นักเศรษฐศาสตร์จีนบางคนนำเสนอตัวเลขที่น่ากลัว เช่น 150 ล้านคนปัจจุบันเป็นผู้อพยพจากชนบทเข้าสู่เมือง จากการสำรวจ 85% ของแรงงานทำงาน 7 วัน ไม่มีใครได้รายได้ขั้นต่ำ ไม่มีเลยสักคน พวกเขาอยู่อาศัยในพื้นที่โดยเฉลี่ย 5 ตารางเมตร ไม่มีประกันสุขภาพ ต้องจ่ายค่าการศึกษาสำหรับบุตรมากกว่าคนอื่น บางคนไม่ได้กินอาหารมากกว่าวันละสองมื้อ คนที่จะเข้ามาใช้ชีวิตแบบนี้แสดงว่าแหล่งที่มาในชนบทของเขาคงยิ่งแย่กว่านี้มาก คนจีนหลายคนรวมทั้งคนที่อยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกเราว่า สถานการณ์ในชนบทนั้น มีการลุกฮือของชาวนา 7 แห่งทุกวัน มีการจลาจลของผู้ใช้แรงงาน และในเหมืองแร่ก็มีการจลาจล ดังนั้น จึงอันตรายอย่างมาก ดิฉันคิดว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร
2. ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในว่าจะในจีน ไทย อินเดีย มันเป็นเรื่องของระบอบทรัพย์สินใหม่ (new property regime) หรือไม่ คือ สุดท้าย จะมีไม่กี่คนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แล้วก็ย้ายไปเรื่อยๆ บางคนบอกว่ามันเป็นทรราชเอกชน บางคนบอกเป็นจักรวรรดินิยม แล้วหนังสือของท่านเล่มหนึ่งเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ของจักรวรรดินิยมใหม่ ช่วยอธิบายมุมมองภาพกว้างให้ด้วยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
ตอบ
เป็นคำถามที่ยากมาก ดิฉันคิดว่าปัจจุบัน จักรวรรดินิยมยังเป็นลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่จักรวรรดินิยมแบบเลนิน ซึ่งเป็นการต่อสู่แย่งชิงทรัพยากร แต่เป็นการเข้าควบคุมทรัพยากร ตลาด แรงงาน และในที่สุด คือ วัฒนธรรม ของทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น เราจะเห็นการต่อสู้กับการแย่งชิงทรัพยากร รวมถึงทรัพยากรทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นแหล่งใหม่ของค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และในที่สุด คือการครอบงำความคิดของคนผ่านสื่อ ในจีน ได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนทั้งที่อยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาคิดว่าจักรวรรดินิยมไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว เขาคิดว่าเขาต้องไล่ตามสหรัฐฯ ซึ่งในการทำเช่นนั้น พวกเขากำลังผลิตซ้ำกระบวนการจักรวรรดินิยมในประเทศของตนขึ้นมา ดังนั้น เมื่อดิฉันพูดถึงจักรวรรดินิยม มันมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับทุนนิยม ในจีน มีการก่อตัวของระบบเศรษฐกิจตลาดและกิจกรรมตลาด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นแนวเดียวกับที่เกิดในสหรัฐฯ ทำให้จีนได้เข้ามาสู่เครือข่ายของจักรวรรดินิยมสากลแล้ว ดังนั้น จึงต้องมีความตระหนักที่มากขึ้นในเมืองจีนและขบวนการทางสังคมที่แข็งแกร่งมากขึ้น คิดว่าชนชั้นนำในจีนยังไม่ได้ตระหนักการครอบงำของจักรวรรดิยนิยม สิ่งที่ทำให้จักรวรรดินิยมประสบความสำเร็จ คือ มันไม่ได้ทำให้ประเทศหนึ่งต้องแข่งกับอีกประเทศหนึ่ง เช่น อินเดียกับไทย แต่เป็นการครอบงำคนกลุ่มหนึ่งในแต่ละประเทศที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากโครงสร้างแบบนี้ และคนกลุ่มนี้แหละที่ผลักดันให้กระบวนการจักรวรรดินิยมเกิดขึ้นในประเทศของพวกเขา
3. หลายคนคิดถึงความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน การค้าขายระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันน่าจะลดความเหลื่อมล้ำ ไทยกำลังเจรจาการค้ากับจีนและอินเดียด้วย ซึ่งคนมองว่าน่าจะเป็นภาพที่ดีกว่าการเจรจากับสหภาพยุโรปหรือสหรัฐฯ เพราะอำนาจการต่อรองใกล้เคียงกันมากกว่า คุณคิดว่าการร่วมมือระหว่างประเทศฝ่ายใต้ด้วยกันจะก่อให้เกิดผลทางบวกมากกว่าหรือไม่ แล้วจะมีปัจจัยอะไร และว่าถ้าไม่ใช่ จะต้องมีเงื่อนไขอะไรที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
ตอบ
มันจริงบางส่วนที่เวลาเราได้ยินว่ามีการเจรจาระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันแล้วมันดี และจริงว่าประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ มีอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯมากกว่ามาก และยังมีข้อเรียกร้องที่ส่งผลกระทบเลวร้ายหลายอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าการเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยอัตโนมัติ สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ รายละเอียดเป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องรู้รายละเอียดข้อตกลง เพราะมันเป็นอำนาจที่สำคัญ เช่น เอฟทีเอไทยและสหรัฐฯ มีเงื่อนไขว่าบริษัทสหรัฐฯไม่ต้องทำตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทย นี่คือสิ่งที่เขียนอยู่ในเนื้อหาการเจรจา เงื่อนไขนี้สำหรับบริษัทของอเมริกาเท่านั้น ดังนั้นในรายละเอียดต่างๆ เราต้องดู ให้ดี พูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าต้องการจะหยุดยั้งการไหลข้ามประเทศของทุน ทุนน่าจะก่อให้เกิดการจ้างงาน นั่นคือลักษณะของทุน แต่เวลาเราดูเนื้อหาการเจรจา สำคัญที่สุด คือ ต้องดูว่าทำอย่างไรคุณจะไม่สูญเสียสิทธิของประเทศในการควบคุมทุน เพราะบริษัทอินเดียก็คงไม่ได้ดีไปกว่าบริษัทจากสหรัฐฯเมื่อพูดถึงเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือกดขี่แรงงานหรอก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ คุณต้องดำรงอำนาจของสังคมในการควบคุมทุน นั่นประการแรก อีกประการหนึ่ง คือ การเจรจาการค้าส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการการส่งออกมากขึ้น ทำให้เราคิดว่าจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าคู่เจรจามีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ต่างกัน การส่งออกไม่มีทางเพิ่มขึ้น การวิจัยของเราพบว่าประเทศที่เซ็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ปรากฎว่าการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนของสหรัฐฯในตลาดภายในประเทศเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้ว่าจะมีการลดภาษี มันยังมีวิธีการอื่นมากมายที่ประเทศจะกีดกันการส่งออกได้ มันเป็นจริงว่าเอฟทีเอระหว่างประเทศที่มีอำนาจต่อรองใกล้เคียงกันอาจจะทำให้การส่งออกของเราเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องถาม คือ เราจะยอมแลกภาคการผลิตที่ประชากรส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงอยู่เพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหรือ ในอินเดีย มีความกังวลว่าถ้าอินเดียเซ็นเอฟทีเอกับอาเซียน เกษตรกรในการผลิตปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบ เพราะน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศจะเข้ามาตีตลาด ดังนั้นจึงไม่ลงนามในสินค้านี้
4. ความเห็น
เห็นด้วยกับคำถามข้างต้นว่าเราจะร่วมมือกันอย่างไร กรณีของไมโครซอฟต์เป็นตัวอย่างที่ชัดมาก ทำอย่างไรไม่ให้เป็นการผูกขาด ทั้งห้องนี้หรือทั้งเมืองนี้สาบานที่จะเลิกใช้ก็ไม่พอ ทั้งประเทศร่วมมือก็ยังไม่พอ แต่ถ้าทั้งภูมิภาคบอกว่าเราจะไม่ใช้ไมโครซอฟต์ ถ้าไม่ทำให้มันใช้ได้กับซอฟต์แวร์อื่นได้ด้วยอาจจะพอ ดังนั้น ใหญ่ก็จำเป็นเพื่อทำให้เล็กนั้นงาม
5. เคยไปศึกษาระดับมัธยมศึกษาอยู่ประมาณ 7-8 ปี ที่อินเดีย จากหัวข้อ คือ อินเดียสู่ขั้วอำนาจใหม่ในเอเชีย คิดว่าเรื่องท่องเที่ยวเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่อินเดีย เพื่อนหลายคนอยากจะไปเที่ยวอินเดีย แต่มีปัญหาการเดินทางลำบากมาก ดังนั้น ถ้าคนจะไปลงทุนในตะวันตก ต้องมีความสะดวกในการเดินทางด้วย
ตอบ
คุณพูดถูก โครงสร้างพื้นฐานเป็นอุปสรรคของหลายๆอย่าง เพราะเราไม่ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาเลย 30% ของหมู่บ้านไม่มีถนนด้วยซ้ำไป
6. ที่นายกรัฐมนตรีอินเดียเคยกล่าวว่าอยากให้อินเดียเป็นมหาอำนาจทางเศษฐกิจในอีก 20 ปี อยากให้วาดภาพว่าอินเดียจะเป็นอย่างไรในอีก 5, 10, 15, 20 ปี อินเดียจะแก้ปัญหาที่กล่าวมาอย่างไร และในฐานะขั้วอำนาจในภูมิภาค อินเดียพร้อมหรือยังที่จะเข้ามามีบทบาท หลายท่านให้ความเห็นไว้ว่า อินเดียยังไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องพม่าเท่าที่ควรในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยอันดับหนึ่งของโลก
ตอบ
ต้องชัดเจนว่า สิ่งที่ดิฉันพูดไม่ใช่จุดยืนทางการของรัฐบาล อินเดียอยากเป็นมหาอำนาจ แต่มีเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญที่เราต้องทำก่อน สิ่งหนึ่ง คือ เรื่องการศึกษา ปัจจุบันยังไม่เป็นสากล เด็กจำนวนครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ อีกเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ คือ สิ่งที่เรียกว่า โครงการพัฒนา จะต้องให้ประชาชนมีสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และอาหารขั้นพื้นฐานเพียงพอ ถ้าเรายังทำสิ่งนี้ไม่ได้ คุณจะไปเป็นมหาอำนาจได้อย่างไร คุณไม่มีทางมีเศรษฐกิจที่มั่นคงพอที่จะเชิญคนอื่นๆมาเข้าร่วมได้ และหากเรายังไม่ทำสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่มีความหมายอะไรเลยที่จะพูดถึงการเป็นมหาอำนาจ แต่ก็จริงว่า อินเดียเป็นประเทศใหญ่ ดังนั้น มีโอกาสมากมายอยู่ในนั้น อินเดียมีพลังงานนิวเคลียร์ มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก มีอภิสิทธิ์ชนหลายคนค่อนข้างก้าวร้าวที่อยากเป็นมหาอำนาจ อินเดียอยากเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงของสหประชาชาติ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการนิยามการพัฒนาประเทศจากมุมมองของอภิสิทธิ์ชน โดยไม่สนใจว่าคนที่เหลือในประเทศกำลังเผชิญกับอะไรบ้าง ดังนั้น จึงเป็นความตั้งใจของคนชั้นสูงที่เป็นชนชั้นปกครองที่ต้องการเป็นมหาอำนาจ เป็นผู้เล่นในระดับโลก แต่สำหรับดิฉันแล้ว ไม่คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ยั่งยืนถ้ามาตรฐานการครองชีพไม่พัฒนา
อย่างไรก็ตาม คิดว่าความอลหม่านยังคงอยู่ต่อไป เพราะว่ามีความแบ่งแยกในอินเดียอยู่พอสมวร มีภาษาที่ใช้อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 200-300 ภาษา และมีความแตกต่างระหว่างภาคต่างๆของประเทศ เพื่อนบ้านส่วนมากเกลียดเรา เพราะเราชอบไปครอบเขา เช่น เราชอบบอกบังคลาเทศ และภูฏานว่าต้องทำอะไร รวมถึงศรีลังกาด้วย รัฐมนตรีศรีลังกาบ่นว่า กรุณาบอกเอกอัครราชทูตอินเดียหน่อยว่าคุณไม่ใช่คนปกครองประเทศนี้นะ ดังนั้น เรามีชื่อมากในด้านความสัมพันธ์ไม่ดีกับเพื่อนบ้าน ส่วนปัญหาที่เกิดกับปากีสถาน เป็นเพราะว่าเราคิดว่าเราใหญ่กว่าปากีสถาน แต่ก่อนหน้านี้ ในขบวนการไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด อินเดียมียุทธศาสตร์ชัดเจนร่วมกับประเทศอื่น แต่ตอนนี้อินเดียค่อนข้างก้าวร้าว แล้วเราก็ไปน้อมรับกราบไหว้ประเทศที่มีอำนาจเหนือเรา เช่น สหรัฐฯ เพื่อที่อินเดียจะสามารถไปยุ่มย่ามกับประเทศอื่นได้ ดังนั้น จึงมีหลายสาเหตุที่อินเดียไม่น่าเป็นมหาอำนาจขึ้นมาได้
นอกจากนี้ ประชากรอินเดียมากกว่าคนอื่น ในโลกนี้ และภายในปี 2568 อินเดียจะมีประชากรที่เป็นวัยทำงานมากที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดความตึงเครียดมากถ้าเราไม่มีงานให้พวกเขาทำ อีกอันคือ ประชาธิปไตย ดิฉันคิดว่า จากประสบการณ์ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่น่าชื่มชม ในอินเดีย เรามีประชาธิปไตยที่ลงรากปักฐาน ไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้ง แต่ยังหมายถึงการมีส่วนร่วมและตรวจสอบ แน่นอนมีการสู้กันในเชิงความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วย และที่จริงแล้วก็มีสงครามระหว่างชนชั้น แต่ประชาธิปไตยในอินเดียหยั่งรากลึก และก็เป็นไปไม่ได้ที่จะถอดออกไป และยังหมายความว่า อะไรที่มันสุดขั้วไม่ว่าจะไปในทางไหนก็ยากที่จะเกิดขึ้นเหมือนกัน หมายความว่า ความก้าวหน้าอาจจะเกิดขึ้นช้า แต่เราเชื่อว่าความเติบโตจะยังเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดก็จะมีความยั่งยืนมากขึ้น มีหลายอย่างในอินเดียที่ดิฉันรู้สึกไม่ดี แต่ดิฉันยังเชื่อมั่นและภูมิใจว่าประชาธิปไตยของเราทำให้แม้แต่รัฐบาลที่แย่ๆยังต้องทำอะไรบางอย่างที่ก้าวหน้า รวมถึงการออกกฎหมายประกันการจ้างงานในชนบท
7. ความเห็น
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะมีที่ปรึกษาของวุฒิสภาสหรัฐฯมาเมืองไทย เขามีสองคำถาม ข้อแรก คือ เท่าที่สอนหนังสือมา มีใครสนใจเรื่องจีนเป็นพิเศษไหม คำถามที่สอง ทำไมไม่มีโทรทัศน์ช่องอินเดียในไทย ดังนั้นผมพยายามจะบอกว่า สองคำถามทำให้เราคิดได้เยอะได้ว่า สหรัฐฯไม่ต้องการให้จีนขึ้นมามีอำนาจแน่ สอง มหาอำนาจใหม่ที่จะเป็นลูกมือให้สหรัฐฯ คือ อินเดีย ดังนั้น นโยบายที่จะรับผู้อพยพลี้ภัยจากพม่ามาอินเดีย ซึ่งอินเดียทำได้ดีมากเพราะมนุษยธรรมไม่มีแล้ว เพราะเขาจะเข้ากับเผด็จการทหารพม่า และมีการฝึกรบทางเรือที่ใหญ่มากด้วย ดังนั้นสังเกตดูว่าทั้งจีนและอินเดียนิ่งๆ จีบพม่าอยู่ในช่วง 8-9 ปี เรื่องนิวเคลียร์ อินเดียเป็นผู้ใช้ลำดับที่สอง นั่นหมายถึงมีไว้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ นั่นหมายความรวมถึงการเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงของยูเอ็นด้วย
8. จุดแข็งของอินเดียคือ เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำไมไม่คิดถึงการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจหรือลงทุนในประเทศ แต่ไปถือเงินสำรองไว้ ทั้งๆที่อินเดียมีปัญหาเรื่องการศึกษาและการเกษตร ทำไมไม่เอาเงินไปลงทุนในภาคเหล่านี้
ตอบ
เห็นด้วยอย่างยิ่ง นี่คือสิ่งที่เราเรียกร้องให้รัฐบาลทำ เพราะเห็นได้ชัดว่าการถือเงินไว้เฉยๆ มีค่าใช้จ่าย เรื่องการศึกษามีกฎหมายเรื่องสิทธิในการศึกษา แต่รัฐบาลไม่ผ่านเพราะบอกว่าไม่มีเงิน ทั้งๆที่ 1.5% ที่เสียไปสามารถนำมาใช้ได้ ทำไมเป็นอย่างนี้ เพราะมันไม่มีกำไรจากการจัดการศึกษาให้คนยากจน ไม่มีกำไรในการจัดบริการสาธารณสุข มีกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์จากการที่ธุรกิจเฟื่องในช่วง 15 ปี ทั้งภาคการเงินและไอที พวกเขาได้รับกำไรมากมาย แต่พวกเขากลัวว่าจะต้องเสียเงินไปถ้าเกิดเศรษฐกิจตกต่ำ จึงเอาเงินไปไว้นอกประเทศเพื่อความปลอดภัย รัฐบาลอินเดียก็แก้กฎหมายให้ทำได้แล้ว เห็นชัดว่าเป็นปัญหาชนชั้น มีบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ว่า 70% ของลูกของบรรดารัฐมนตรีหรือผู้นำในรัฐบาลล้วนทำงานในบริษัทการเงินข้ามชาติ บางทีเราน่าจะตรวจสอบดูเหมือนกันว่าลูกหลานของผู้นำประเทศเราทำงานอยู่ในบริษัทการเงินข้ามชาติมากน้อยแค่ไหน
9. โดยธรรมชาติของมนุษย์ ชนชั้นที่ได้ประโยชน์ก็ไม่อยากจะแบ่งปันอะไร คิดว่าอินเดียจะมีโอกาสสลายกำแพงของวรรณะก่อนที่มนุษยชาติจะล่มหรือไม่ และเป็นไปได้ไหมว่าแง่มุมทางด้านสิทธิมนุษยชนจะช่วยแก้เรื่องวรรณะ และจะมีความสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจสังคมอย่างไร
ตอบ
ดิฉันไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้นัก แต่ที่ผ่านมามันมีการเปลี่ยนแปลง ในรัฐเบงกอล 20-30 ปีมาแล้วที่ผู้หญิงได้รับการศึกษา ย่ายายของดิฉันอยู่ในระบอบเดิม แต่มันเปลี่ยนแปลงแล้ว หลักการด้านสิทธมนุษยชนช่วยได้ อย่างหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์มันมีมุมมองของเศรษฐศาสตร์ด้วย เพราะไม่ใช่แง่มุมของความเป็นมนุษย์อย่างเดียว แต่คนที่อยู่ในวรรณะสูงได้รับบริการต่างๆที่ดี ดังนั้นจึงเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ มีการฆ่ากันข้ามวรรณะถ้าลูกสาวของตนเองไปแต่งงานกับคนต่างวรรณะ เพราะไม่ต้องการให้วรรณะอื่นได้รับทรัพย์สมบัติของวรรณะตน แต่ก็มีการท้าทายระบบวรรณะมากขึ้น
10. ถ้าเศรษฐกิจโตช้าลง จะเป็นเรื่องที่พึงปรารถนามากขึ้นหรือไม่ ถ้าเทียบกับอดีตของอินเดียที่การเจริญเติบโตต่ำ คุณภาพชีวิตของคนดีกว่าในปัจจุบันหรือไม่ และเป็นไปได้ไหมว่าการเลือกตั้งในระบบตัวแทนทำให้รัฐบาลมุ่งผลประโยชน์ในระยะสั้น ซึ่งต่างจากจีนที่เน้นโครงสร้างพื้นฐาน และมองในระยะยาว ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบตัวแทนจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศหรือไม่ แล้วเราควรเน้นส่งเสริมการศึกษาเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ผลประโยชน์
ตอบ
คำถามแรก ใช่ นักเศรษฐศาสตร์เริ่มหันมาดูตัวเลขด้านการกระจายรายได้ ถ้าเราเติบโตน้อยลง แต่ทำให้คุณภาพชีวิตของสามัญชนดีขึ้นจะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการมากกว่า ที่จริงแล้ว ถ้าจะทำอย่างนั้น คงต้องมีการเติบโตที่ลดลง เพราะการลงทุนในภาคสังคมไม่มีกำไรเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะทำให้คุณมีการลงทุนจากต่างประเทศน้อยลง แต่คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และนั่นจะนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนขึ้นแทน คำถามที่สองเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ในเมืองไทย เห็นว่ารัฐบาลทหารที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเลวร้ายกว่ารัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่สามารถพูดได้ว่ารัฐบาลแบบใดจะมีสายตาสั้นหรือไกลกว่ากัน ในอินเดีย อย่างน้อยที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปตามแนวเสรีนิยมใหม่อยู่ไม่เคยรอด แต่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็พยายามทำอย่างเดียวกัน เพราะว่าคนที่อยู่ในอำนาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่แม้ว่าพวกเขาจะอยากปฏิรูป รัฐบาลถูกบังคับให้ทำอย่างอื่น เช่น การให้การศึกษาอย่างทั่วถึงแต่เดิมไม่เคยเป็นประเด็นทางสังคมเลย แม้ว่าจะระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญมา 60 ปีแล้ว แต่ขณะนี้เป็นประเด็นการหาเสียงเลือกตั้งก็เพราะประชาชนเรียกร้องและส่งเสียงดัง ถ้าประชาชนไม่เรียกร้อง มันก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้นำประเทศไม่สนใจเรื่องนี้ ดังนั้น อย่างหนึ่งที่ดิฉันเชื่อคือ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
11. เมื่อสองสามวันที่แล้ว มีรัฐหนึ่งในทางใต้ของอินเดียเกราลา ประกาศว่าจะให้โรงเรียน 18,000 โรงเลิกใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟต์ และก่อนหน้านี้ก็มีการประกาศต้านโคคาโคลา อยากถามว่าอะไรที่ทำให้รัฐนี้สามารถทำให้บริษัทข้ามชาติออกไปจากรัฐได้ และมีที่อื่นหรือไม่ อีกประเด็นคือ อินเดียพยายามสร้างให้เป็นประเทศที่เข้ากับโลกนานาชาติ โดยเปลี่ยนชื่อเมืองบางเมืองให้มีความเป็นสากลมากขึ้น จริงหรือไม่
ตอบ
สำหรับรัฐเกราลา มีการเลือกตั้งรัฐบาลระดับมลรัฐต้นปีนี้ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ของอินเดียได้ขึ้นเป็นรัฐบาล เพื่อนของดิฉันอยู่ในสำนักนโยบายและแผนของรัฐนี้ เขาไม่ได้ไล่ไมโครซอฟต์ออกไป แต่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้ซอฟต์แวร์อิสระ (free software) เพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดของไมโครซอฟต์ ส่วนเรื่องโคคาโคลาและเป็ปซี่ มีประวัติที่น่าสนใจ ในพื้นที่หนึ่งของเกราลา มีการต่อสู้มานานของคนท้องถิ่น รัฐบาลท้องถิ่นต่อต้านบริษัทเหล่านี้เพราะบริษัทแย่งน้ำบาดาลจากชุมชนและปล่อยน้ำเสีย และสามารถปิดโรงงานได้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ดังนั้นในเกราลาจึงมีการต่อสู้ค่อนข้างยาวนาน ในปัจจุบันมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่พยายามติดตามการออกกฎหมายควบคุมน้ำขวดเหล่านี้ เพราะตรวจพบว่ามีสารยาฆ่าแมลงปนเปื้อนจำนวนมาก เราไม่สามารถห้ามโคคาโคลาได้เพราะยังไม่มีมาตรฐานด้านสุขภาพ ที่ผ่านมา ในรัฐหลายรัฐ มีการห้ามขายน้ำขวดเหล่านี้ในโรงเรียนแล้ว เพราะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เรื่องเปลี่ยนชื่อเมือง คิดว่าตรงกันข้ามมากกว่า เพราะตัวเองมาจากเมืองชื่อกัลกัตตา แต่คนเมืองเรียก โกลกัตตามตลอด เพียงเพราะคนอังกฤษออกเสียงไม่ได้เลยเปลี่ยนชื่อ อย่างบอมเบย์ คนที่นั่งเองเรียกมุมไบ หรือเมืองบังกาลอร์ คนท้องที่เรียก บังกาลูร
12. อยากถามความคิดเห็นเรื่องพันธบัตรเอเชีย (Asia bond)
ตอบ
คิดว่าดีมาก อะไรก็ตามที่ลดอำนาจของมหาอำนาจสหรัฐฯเป็นสิ่งดี เพราะว่าขณะนี้เราเป็นคนจ่ายเงินค่าทำสงครามของสหรัฐฯ จากการที่เราซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ ดิฉันเชื่อว่าพันธบัตรเอเชียจะเกิดขึ้นและจะเป็นผลดี
13. อยากทราบว่าคนจนของอินเดียดำรงชีพอย่างไร ในกระแสทุนนิยม เขาจะมีชีวิตรอดได้นานเท่าไร ในประเทศไทย เราพยายามเปลี่ยนจากการผลิตแบบเดิมที่ใช้สารเคมีไปสู่เกษตรยั่งยืนมากขึ้น
ตอบ
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรเพื่อให้ยั่งยืนและสามารถผลิตอาหารให้ประชาชนได้พอ สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดีย คือ ประเภทพืชดั้งเดิมที่เกษตรกรเคยปลูกซึ่งพวกเขาว่าแย่กว่า ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันดีกว่า เป็นพืชจำพวกข้าวและปลูกแบบอินทรีย์นั้น เกษตรกรหยุดปลูกและหันไปปลูกพืชผลเศรษฐกิจ (cash crops) โดยมากคือ ปาล์มน้ำมัน ฝ้าย ข้าวสาลี เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง ฯลฯ และในพืชเศรษฐกิจ พวกเขาใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงซึ่งเพิ่มต้นทุนและต้องขายราคาแพงขึ้น ในหลายพื้นที่ของอินเดีย มีขบวนการที่จะกลับไปสู่พืชดั้งเดิม และหันไปสู่การผลิตแบบอินทรีย์ที่ยั่งยืนขึ้น ในอันตรประเทศ คนไม่ซื้อฝ้าย เพราะสารเคมีมากจนเป็นพิษ พวกเขาหันไปสู่การจัดการยาฆ่าแมลง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จถ้ารัฐบาลไม่ผลักดัน รัฐบาลต้องให้ข้อมูลและอุดหนุน ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก มีแต่เรียกร้องให้เกษตรกรผลิตให้ถูกลง
*งานสัมมนานี้มีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2549 จัดโดยศูนย์เอเชียใต้ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)