“โลกที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้” เป็นสโลแกนของงานสมัชชาสังคมไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 21-22 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ถ้าใครได้มีโอกาสไปงานนี้ จะเห็นว่ามีเวทีการเสวนา นิทรรศการ และกิจกรรมจากกลุ่มต่างๆมากมาย แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่พืนที่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ถูกแปลงสภาพเป็นงานมหกรรมขนาดย่อม ที่เปิดโอกาสให้ความหลากหลายของสังคมไทยได้เผยโฉมออกมา มีทั้งกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ ทั้งหมดรวมกันแล้ว 70 องค์กร จำนวนกว่า 3,000 คน
เวทีหนึ่งที่นำเสนอเรื่องทางเลือกที่น่าสนใจและน่านำไปขบคิดต่อ คือ เวทีการสัมมนาเรื่อง “แนวคิดระบบเศรษฐกิจทางเลือก” ซึ่งฉบับนี้จะได้นำเนื้อหาโดยย่อของการสัมมนามาให้ได้อ่านกัน
วิทยากรประกอบด้วย ดร. วิทยากร เชียงกูล (คณบดีคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต) ดร. ฐิติพร ศิริพันธ์ พันธเสน (คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) คุณพูลศักดิ์ สมบูรณ์ (เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก อ.กุดชุม จ.ยโสธร) คุณธำรง แสงสุริยจันทร์ (กลุ่มปฐมอโศก)
**********************
1. ดร. วิทยากร เชียงกูล คณบดีคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
"เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ “ระบบเศรษฐกิจ” แต่เป็นปรัชญา"
- ในสมัยก่อนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบศักดินา ควบคู่กับแบบพึ่งตนเอง เพราะทรัพยากรมากที่ดินเยอะแต่คนน้อยจึงเป็นลักษณะ”พอเพียง” มากกว่า “ทุนนิยม”
- เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ “ระบบเศรษฐกิจ” แต่เป็นปรัชญา
- “ทุนนิยม” ให้ความสำคัญความเป็นปัจเจกชน กับปัจจัยการผลิต กลไกการตลาดในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา มีความพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นระบบทำลายล้างทำให้คนไม่มีงานทำ ทำลายความภาคภูมิใจของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องมีศักดิ์ศรี มีการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรที่ยั่งยืน
- ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจไทยมีลักษณะของความเป็นทุนนิยมผูกขาด (ตลาดเสรี) เพราะอำนาจทางการตลาดอยู่เฉพาะในมือของบริษัทขนาดใหญ่ ขาดการกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้กับแรงงาน
- เศรษฐกิจพอเพียงเป็นความคิดในเชิงอ่อนข้อ ประนีประนอมกับทุนนิยม และขึ้นกับการตีความตามอัตตวิสัยของแต่ละบุคคลแต่ไม่คิดถึงระบบอย่างจริงจัง
- ระบบสหกรณ์เป็นความพยายามที่จะแก้ไขความบกพร่องของทุนนิยมแต่ถูกจัดการภายใต้ระบบราชการซึ่งจุดอ่อนคือการวางแผนจากศูนย์กลางต่างคนต่างทำ กระจายไม่ทั่วถึง
- ประเทศไทยมีประชากร 64 ล้านคน มีอาหารพอเพียงพอ สามารถส่งออกต่างประเทศได้ จึงควรมีการจัดการทรัพยากรแบบรวมหมู่ ช้าๆ พอเพียงแต่กระจายอย่างเป็นธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่ มิใช่การเปิดประเทศที่มากเกินไปและพึ่งพาตลาดภายนอกมากกว่าตลาดภายในประเทศ
- เศรษฐกิจพึ่งตนเองต้องทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ เช่น ภูมิปัญญาแพทย์ทางเลือกซึ่งสามารถฟื้นฟูได้ แต่ไม่ใช่การหลงใหลในอดีต เพราะจำนวนคนเรามากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีระบบการจัดการที่ทำให้คนมีงานทำ มีการศึกษา มีปัจจัยสี่อย่างพอเพียงและได้รับการพัฒนา มิใช่มุ่งแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว
- สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำ คือการทำให้คนไทยมีการศึกษา มีงานทำ มีรายได้แล้วเศรษฐกิจของไทยก็จะยิ่งใหญ่ได้ หากเราสามารถเอาสินค้าการเกษตรมาทำให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจ ไม่มีความจำเป็นต้องมีการรวมศูนย์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ขนาดเล็กหรือขนาดกลางก็ให้ประโยชน์ได้และการออกพันธบัตรเพื่อคุ้มครองคนจน ไม่ใช่อุ้มคนรวย
- ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่ดี จะแยกออกไปจากสาขาเทคโนโลยีทางเลือกมีการผลิต พัฒนาและการยกระดับ ซึ่งต้องมีปัจจัย 3 อย่าง คือ
หนึ่ง ต้องมีประสิทธิภาพใช้แรงงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
สอง ต้องมีความเป็นธรรมมิใช่ ทำแค่เพียงฉาบฉวย เช่น กรณีที่รัฐบาลทักษิณนำเงินอนาคตไปใช้ในโครงการต่างๆ แต่เน้นให้บริโภคซึ่งเป็นเรื่องการตลาด แต่ไม่ได้ปฏิรูปให้คนมีความเข้มแข็งและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สาม ความยั่งยืนทั้งตัวเราและลูกหลานในอนาคต - ควรสร้างทางเลือก พัฒนาเศรษฐกิจภายใน สร้างชุมชน กลุ่มและเครือข่าย อย่าให้ทุนนิยมทำลายวัฒนธรรมชุมชน
- การต่อสู้กับทุนนิยมควรมีทางเลือกที่หลากหลาย ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราต้องทำเศรษฐกิจชาตินิยมมากขึ้นหน่อย ต้องพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศก่อน มิใช่การทำให้สังคมอ่อนแอหรือทำให้คนเป็นปัจเจกมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากสื่อต่างๆ
- ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA นั้น ทุกประเทศต่างต่อรองซึ่งกันและกัน ประเทศไทยกลับไม่ต่อรองเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นไปในนามกลุ่มทุนเฉพาะ
ระบบเศรษฐกิจทางเลือกควรนำสิ่งที่ดีของทุนนิยมกับสังคมนิยมมารวมกัน และคัดส่วนที่ไม่ดีออกไปให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนมากกว่าตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP
2. ดร. ฐิติพร ศิริพันธ์ พันธเสน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"การหันกลับสู่เศรษฐกิจแบบ “เบา สบาย มีสุข พอเพียง” จึงเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก"
- เหตุผลหลักๆ ที่ต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ เกิดจากความผิดพลาดจากระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่เร่งรวย จนเกิดความรุนแรงทำลายระบบหล่อเลี้ยงชีวิต รวมทั้งระบบวัฒนธรรม ผลักไสคนออกจากถิ่นที่อยู่ ซึ่งเกิดขึ้นทุกมุมโลก
- การพัฒนาคนไปสู่การปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะคนจน
- เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เป็นที่มาของวัฒนธรรมเชิดชูวัตถุ ซึ่งเน้นมิติของการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้านเดียว ทั้งที่ “ความเป็นคน” มีกิจกรรมอื่นๆ อยู่ด้วย
- การหันกลับสู่เศรษฐกิจแบบ “เบา สบาย มีสุข พอเพียง” จึงเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น ระบบ eco-village ฯลฯ แสดงว่า ผู้คนต้องการเศรษฐกิจขนาดเล็ก ไม่เป็นทางการ สามารถเชื่อมโยงชีวิตท้องถิ่นและชุมชน ที่สำคัญ ควรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับทุกคนบนโลกนี้
- ระบบเศรษฐกิจกระแสหลักได้ปัดชีวิตมนุษย์ในมิติอื่นๆ ออกไปอย่างเลือดเย็น ขณะเดียวกัน ก็ผลักดันให้คนเรากล้าหาญ และเรียกคืนพลังการผลิตของชุมชนขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม เราควรขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความรู้ซึ่งไม่ใช่แค่ทางเทคนิค แต่เป็น การรู้ (Knowing) ที่มีมโนธรรมสำนึกกำกับ ที่เรียกว่า ปัญญา
- หลักการสำคัญในการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ พลังวัฒนธรรมแห่งการพึ่งตนเอง, ไม่เบียดเบียน, ใช้ทรัพยากรท้องถิ่น เป็นต้น
- ในเชิงทฤษฎีเศรษฐกิจพอพียง พบว่ามี 3 ขั้น คือ พอเพียงแบบพื้นฐาน, แบบก้าวหน้า และ แบบนามธรรมที่โยงว่า หากชุมชนมีเศรษฐกิจแบบพอเพียงแล้วจะส่งผลต่อระดับประเทศไปได้เอง อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้อง “ถอดรหัส” แนวคิดนี้ว่า หมายถึงอะไร เช่น คือ “ความเป็นธรรม” ที่ทุกคนมีกินมีใช้
- สถานภาพของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อยู่บนพื้นฐานของ “ความพอประมาณ” และ “การพัฒนาแบบยั่งยืน”
- ข้อสังเกตต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดขึ้น ก็เพราะต้องการต้านระบบเศรษฐกิจหลักที่บีบคั้นมนุษย์ แล้วผันสู่วัฒนธรรม “ทวนกระแส” ที่เน้น การแสวงหาและส่งเสริม “สาระเชิงคุณค่า” เช่น ตัวอย่างเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทยในอดีต ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่เน้นความสัมพันธ์เชิงสังคม
- เศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy) ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ตระหนักถึงธรรมชาติ การรวมตัวกัน ทำงานจากล่างสู่บน และพยายามขัดขืนแรงจูงใจด้านผลกำไร
- ความท้าทายของเศรษฐกิจแบบพอเพียง ท่ามกลางกระแสหลักว่า จะอยู่ร่วมหรือทดแทนกันไปเลย ถ้ายังทดแทนไม่ได้ ก็ต้องอยู่โดยการเพิ่มพูนความรู้ให้รู้แบบเท่าทัน มุ่งมั่นให้คิดวิเคราะห์ ทดลองทำ และลองปฏิบัติออกมาเป็นระบบที่มีหลายรูปแบบ
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มักเริ่มเล็กๆ เสมอ
3. คุณพูลศักดิ์ สมบูรณ์ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรทางเลือก อ.กุดชุม จ.ยโสธร และผู้ออกรายการคนค้นคน ตอน อรหันต์ชาวนา
"เศรษฐกิจคือการแบ่งปัน มีญาติพี่น้อง มีเครือข่าย
ใครมีองค์ความรู้ก็นำมาแบ่งปันกัน มากระจายความสุขให้กัน"
- “ทีวีทำผม ทำให้ผมไม่ได้นอน” เสียงสะท้อนคุณพูลศักดิ์ หลังออกรายการโทรทัศน์คนค้นคน
- ผมจบ ป.6ไม่ได้เรียนต่อ ไม่ได้อยากเรียนจบสูงๆ แค่อ่านออกเขียนได้ทำนายู่บ้านนอก อ.กุดชุม จ.ยโสธร ผมแปลความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นเรื่องของการทำอยู่ทำกิน ไม่ได้ยื้อแย่ง เอาเปรียบใคร ครอบครัวมีความสุขไม่ต้องโยกย้ายไปขายแรงงาน ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวทำอย่างไรให้ชีวิตอยู่รอด ดำเนินชีวิตตามวิถีที่พ่อแม่บรรพบุรุษถ่ายทอดให้และเราได้รักษาไว้
- แต่ก่อนเคยคิดว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงิน เราต้องเอาเปรียบเขาเราจึงจะอยู่รอดได้ แต่เดี๋ยวนี้คิดว่าไม่ใช่ คิดว่าเศรษฐกิจคือการแบ่งปัน มีญาติพี่น้อง มีเครือข่าย ใครมีองค์ความรู้ก็นำมาแบ่งปันกัน มากระจายความสุขให้กันเลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ทำนา ต้องกระจายความรู้ให้ออกไปทดลองปฏิบัติกันให้มาก หากรากหญ้าพอเพียง ประเทศชาติจึงจะพอเพียงได้
- อยากให้มีโรงเรียนชาวนา ให้คนทำนามาเรียนรู้ร่วมกัน คุยแลกเปลี่ยนในวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำนา หรือการเรียนรู้ว่าใครมีหนี้บ้างในชุมชน แต่ละคนมีหนี้มากน้อยแค่ไหน และมีวิธีการจัดการหนี้อย่างไร หากต้องการปลดหนี้จะมีวิธีการจัดการอย่างไร จะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไร มีการให้กำลังใจกัน จึงจะเป็นการช่วยให้ประสบความสำเร็จในชีวิตซึ่งสำคัญและมาก่อนเรื่องเงิน
4. คุณธำรง แสงสุริยจันทร์ กลุ่มปฐมอโศก
"จุดเน้น คือ การพัฒนาคนก่อนวัตถุ"
- นำเสนอแนวคิด โครงสร้างการจัดการ และตัวอย่างกิจกรรมตาม ระบบวิถีชีวิตที่เรียกว่า วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจบุญนิยม เน้นการพึ่งตนเองของชุมชน การสร้างเครือข่าย โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การผลิต การตลาด และสังคม ฯลฯ
- ตัวอย่างกิจการบุญนิยม เช่น การเมือง พาณิชย์ ศาสนา การศึกษา
กสิกรรม อุตสาหกิจบุญนิยม ฯลฯ สมาชิกทุกคนควรมีส่วนร่วมในงานเกษตรกรรม เพราะเป็นรายได้พื้นฐาน
- จุดเน้น คือ การพัฒนาคนก่อนวัตถุ และการทำกิจกรรมใดๆ ที่ไม่มุ่งรายได้ แต่สละออกเพื่อคนอื่น มุ่งความเรียบง่าย และศึกษาสัจธรรมว่า คนเราเกิดมานั้นต้องการอะไรในชีวิต