รายงานเรื่อง องค์การการค้าโลก การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท-ตอนที่ 1 : ปฏิบัติการรัฐประหารอย่างแช่มช้าที่ WTO กระทำต่อสังคมประชาธิปไตย

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

องค์การการค้าโลก

 

การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท

 

 

The WTO

 

Five Years of Reasons

 

to Resist Corporate Globalization

 

 

 

โดย

 

โลรี  วัลลัช  (Lori Wallach)

 

มิเชล  สฟอร์ซา  (Michelle Sforza)

 

ภัควดี  วีระภาสพงษ์  แปล

 



 

 

1. 

 

ปฏิบัติการรัฐประหารอย่างแช่มช้า

 

ที่ WTO กระทำต่อสังคมประชาธิปไตย

 

 

องค์การการค้าโลกกำลังดำเนินการรัฐประหารอย่างช้า ๆ ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก

WTO แตกต่างจากสนธิสัญญาการค้าในอดีต   องค์การการค้าโลกกับข้อตกลงพื้นฐานของมันมีผลครอบคลุมมากกว่าหัวข้อทางการค้าดั้งเดิม  อาทิเช่น  ภาษีศุลกากร  โควตาสินค้านำเข้า  หรือข้อกำหนดว่าสินค้าในและต่างประเทศต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน   บทบัญญัติของ WTO ลดทอนความเข้มแข็งของกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางด้านอาหารของประเทศต่าง ๆ   รวมทั้งนโยบายการติดป้ายฉลากผลิตภัณฑ์    WTO ยังห้ามมิให้ประเทศต่าง ๆ สั่งห้ามสินค้าที่ผลิตด้วยแรงงานเด็ก   และถึงขนาดก้าวก่ายเข้าไปกำกับดูแลการใช้จ่ายภาษีของท้องถิ่นด้วย  (ยกตัวอย่างเช่น  ห้ามมิให้การตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลนำประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ)

WTO ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1995  โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) รอบอุรุกวัย   ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 134 ประเทศ   นับแต่ก่อตั้ง  องค์การการค้าโลกก็สั่งสมประวัติการทำงานอันเลวร้ายอย่างรวดเร็ว   การบังคับให้ปฏิบัติตามคำตัดสินจากศาลชำนัญพิเศษของ WTO เท่ากับบ่อนทำลายมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก   อีกทั้งบรรษัทธุรกิจยังอาศัยการข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องต่อ WTO เป็นการกดดัน  สกัดกั้น  หรือแช่แข็งกฎเกณฑ์นับจำนวนไม่ถ้วน  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ของแรงงาน  ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม  หรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาของประเทศยากจนในโลก

ผลลัพธ์ในแง่ร้ายนี้เป็นสิ่งที่ทำนายได้ล่วงหน้า   อันที่จริง  มีการทำนายล่วงหน้ามาแล้ว   ตอนที่กำลังมีการเจรจารอบอุรุกวัย   กลุ่มองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อม  แรงงานและผู้บริโภคเคยเตือนแล้วว่า  ระบบของ GATT  ซึ่งดำเนินมาหลายทศวรรษ  มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากและขยายออกไปในลักษณะที่กดขี่ข่มเหงผลประโยชน์ส่วนรวมในด้านสำคัญ ๆ  อาทิเช่น  การบริหารที่โปร่งใส  การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  สุขภาพกับความปลอดภัย  สิทธิมนุษยชนและสิทธิของแรงงาน   เพื่อยกผลประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ

 

ฝ่ายที่สนับสนุนการเจรจารอบอุรุกวัยและ WTO  เมินเฉยต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นนี้   โดยหาว่าเป็นคำพยากรณ์ที่มองโลกในแง่ร้ายอย่างไม่มีมูล   ฝ่ายสนับสนุน WTO  สัญญาว่า  การเจรจารอบอุรุกวัยและ WTO  ไม่มีทางเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยในประเทศหรือการกำหนดนโยบายที่โปร่งใสตามระบอบประชาธิปไตย   นอกจากนี้ยังสัญญาถึงผลได้ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก  หากการเจรจารอบอุรุกวัยลุล่วงไปได้  กล่าวคือ  ภาวะขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาจะลดลงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี1   ภูมิภาคลาตินอเมริกาจะรุ่งเรืองขึ้นและการเติบโตของเอเชียจะรุดหน้าต่อไป   ลอยด์  เบนท์เซ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในสมัยนั้น  ถึงกับทำนายว่า  การผ่านมติของการเจรจารอบอุรุกวัยจะส่งผลให้แต่ละครอบครัวในสหรัฐฯ มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 1,700 ดอลลาร์ต่อปี2

เมื่อผ่านมาเกือบห้าปีให้หลัง (1999)   เห็นชัดแล้วว่าผลได้ทางเศรษฐกิจที่สัญญาไว้ยังไม่ปรากฏเป็นจริง   ไม่เพียงแต่ WTO  ไม่สามารถทำตามที่ฝ่ายสนับสนุนสัญญาไว้เท่านั้น   แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องแก่มาตรการคุ้มครองด้านสาธารณสุข  สิทธิมนุษยชน  ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมด้วย

หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้เป็นฉบับคัดย่อของหนังสือเล่มใหญ่กว่า  (และมีเชิงอรรถอ้างอิงมากกว่า)  ที่ชื่อ  Whose Trade Organization?; Corporate Globalization and the Erosion of Democracy  ซึ่งสำรวจดูผลลัพธ์ที่เป็นจริงของการดำเนินงานของ WTO ในช่วงห้าปีหลังการก่อตั้ง

จุดประสงค์ของเราคือ รวบรวมข้อมูลให้เห็นถึงเล่ห์กะเท่ห์ในการยักย้ายเอาอำนาจการตัดสินใจทางด้านนโยบายไปจากเวทีประชาธิปไตยที่โปร่งใส  -ที่ซึ่งประชาชนมีโอกาสต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม-  ไปยกให้กับองค์กรระหว่างประเทศที่อยู่ห่างไกล  ดำเนินงานเป็นความลับและไม่มีความโปร่งใส  มิหนำซ้ำกฎเกณฑ์และการดำเนินงานยังถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ของบรรษัทธุรกิจ   ตลกร้ายก็คือ  ทั้ง ๆ ที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีกระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายที่โปร่งใสเปิดกว้างมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก   แต่สหรัฐฯ กลับกลายเป็นผู้นำในการใช้ WTO เพื่อบ่อนทำลายรากฐานของสถาบันและกลไกประชาธิปไตยทั่วโลก

เรายังมองไม่เห็นความใหญ่โตมหึมาของระบบโลกบาลใหม่นี้อย่างเต็มที่   ทั้งนี้เพราะกฎเกณฑ์ของ WTO  บางข้อยังไม่ได้นำมาบังคับใช้เต็มอัตรา   แต่เรื่องที่ชัดเจนแน่นอนก็คือ  กฎเกณฑ์ของ WTO  แทบไม่เกี่ยวอะไรเลยกับปรัชญา  “การค้าเสรี”  ของอดัม สมิธ หรือเดวิด  ริคาร์โด ในสมัยศตวรรษที่ 19   แต่กฎเกณฑ์ของ WTO  เป็นการสร้างต้นแบบโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจของบรรษัทขึ้นมาต่างหาก   ถ้าจะขนานนามให้ถูกต้องที่สุดก็คือ  “การค้าในเงื้อมมือบรรษัท”

ถึงเวลาแล้วที่ต้องถามว่า:  องค์การการค้าของใครกันแน่?   ดู ๆ ไปแล้ว  มันไม่ได้ยังประโยชน์หรือเป็นของพลเมืองส่วนใหญ่ในโลกนี้เลย   ระบบที่เกิดขึ้นมาอำนวยประโยชน์แก่บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่และคนส่วนน้อยหยิบมือหนึ่งที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเสียมากกว่า

แต่การวางรากฐานอย่างถาวรของระบบที่ยังอยู่ในช่วงก่อรูปก่อร่างนี้  ไม่ใช่ข้อสรุปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   แม้จะมีการโหมทำประชาสัมพันธ์จากฝ่ายผู้ได้ผลประโยชน์ในระบบบริหารจัดการแบบนี้เพื่อโน้มน้าวให้เราคล้อยตาม   แต่การก่อตั้ง WTO ก็เป็นแค่เจตนารมณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น   ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนอิทธิพลที่ดวงจันทร์มีต่อกระแสน้ำขึ้นน้ำลงหรือพลังธรรมชาติอื่นใด   การก่อตั้ง WTO และกระบวนการโลกาภิวัตน์ต่าง ๆ ที่มันส่งเสริม  ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการวางแผน  การประชาสัมพันธ์และการวิ่งเต้นทางการเมืองอย่างหนักหน่วงทั้งสิ้น   เรายังมีเสรีภาพที่จะคัดค้านเจตนารมณ์ของ WTO  เรายังมีอำนาจที่จะแสวงหาและพัฒนาหนทางเลือกอื่นที่แท้จริง   ในส่วนอื่น ๆ ของโลก   โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นที่ขาดแหล่งข้อมูลพื้นฐานและการเข้าถึงสื่อ  โอกาสเช่นนี้ย่อมไม่มี

เมื่ออ่านหนังสือเล่มเล็กนี้จนจบ   หากท่านเห็นพ้องกับเราว่า  ผลลัพธ์ของ WTO  เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและยอมรับไม่ได้   ก็โปรดพิจารณาหาทางปฏิบัติให้เป็นที่รับรู้   หากจับมือกัน  ประชาสังคมทั่วโลกสามารถสร้างข้อเรียกร้องให้ยกเลิกต้นแบบ WTO  และแทนที่ด้วยระบบที่มีความยุติธรรม  รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและมีความโปร่งใสในระบอบประชาธิปไตยมากกว่านี้

 

ผลได้ทางเศรษฐกิจที่สัญญาไว้ไม่ปรากฏเป็นจริง   เราไม่มีทางทราบถึงผลกระทบทางสังคมและนิเวศวิทยาในระยะยาวของการเจรจารอบอุรุกวัย   จนกว่าเงื่อนไขในข้อตกลงทั้งหมดจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่   แต่แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ปรากฏให้เห็นจนถึงบัดนี้  ส่อเค้าให้เห็นปัญหาฉกาจฉรรจ์   เพียงแค่จะฟื้นฟูประเทศกำลังพัฒนาให้ย้อนกลับไปสู่สภาพที่ดีกว่านี้ในยุคก่อนการเจรจารอบอุรุกวัย   ก็มีหนทางเดียวคือต้องทวนกระแสแนวโน้มขณะนี้โดยทันที   ยิ่งอย่าหวังว่ามันจะเป็นไปตามคำทำนายถึงผลประโยชน์ใหญ่โตถ้วนหน้าอย่างเหลือเชื่อที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการเจรจารอบอุรุกวัยพยายามปั่นออกมา

เท่าที่เรารู้ในวันนี้ก็คือ  นับตั้งแต่ก่อตั้ง WTO   โลกนี้ถูกรุมกระหน่ำด้วยความไร้เสถียรภาพทางการเงินอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน   ความเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาผ่อนช้าลง   ความเหลื่อมล้ำทางรายได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งภายในและระหว่างประเทศ3   แม้ว่าประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้น   แต่ค่าจ้างแรงงานในหลาย ๆ ประเทศกลับไม่ยอมเพิ่มตาม4?   ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำตลอดเวลา   เป็นเหตุให้มาตรฐานการครองชีพของประชาชนจำนวนมากตกต่ำลงไปด้วย   โดยเฉพาะในเอเชีย  ละตินอเมริกาและแอฟริกา5   อันที่จริง  ในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่   ยุคหลังการเจรจารอบอุรุกวัยนำมาซึ่งการพลิกผันในโชคชะตาครั้งใหญ่

 

ละตินอเมริกากำลังล้มลุกคลุกคลาน   จมปลักอยู่ในความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ลึกที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์หนี้สินในช่วงทศวรรษ 19806

 

เอเชียตะวันออกอ่อนเปลี้ยไปด้วยวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ   ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการลดข้อบังคับในภาคการเงินและการลงทุน  ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากกฎเกณฑ์ของ WTO  เอง   วิกฤตการณ์ครั้งนี้แพร่ลามไปสู่ชาติอื่น ๆ ด้วย    ในขณะที่สื่อมวลชนสหรัฐฯ ประกาศว่า   วิกฤตการณ์สิ้นสุดแล้ว   ประชาชนในเกาหลีใต้ต่างหากที่รู้ดีกว่า   ในเกาหลีใต้  วิกฤตการณ์ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่า   และอัตราความยากจนโดยสมบูรณ์ทวีขึ้นถึง 200%   ทำให้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาหลายทศวรรษถอยหลังกลับไปโดยสิ้นเชิง7

 

ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจโลกโดยรวมให้ภาพที่น่าเศร้า:   ช่องว่างรายได้ระหว่างประชากรหนึ่งในห้าของโลกที่อาศัยอยู่ในประเทศร่ำรวยที่สุดกับประชากรหนึ่งในห้าที่อาศัยในประเทศยากจนที่สุดคือ 74-ต่อ-1 ในปี ค.ศ. 1997   เพิ่มขึ้นจาก 60-ต่อ-1 ในปี ค.ศ. 1990  และ 30-ต่อ-1 ในปี ค.ศ. 19608   ในปี 1997   คนรวยที่สุด 20%  ครอบครองรายได้ของโลกถึง 86%   โดยที่คนจนที่สุด 20%  มีรายได้เพียง 1%9

 

ในสหรัฐอเมริกา   ภาวะขาดดุลการค้าสูงมาโดยตลอด  218,000 ล้านดอลลาร์และมีแต่เพิ่มสูงขึ้น10   โดยโป่งขึ้นมาจาก 98,000 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 1994  ไม่ได้ลดลงอย่างที่สัญญาไว้   รายได้ต่อครอบครัวโดยเฉลี่ยไม่ได้เพิ่มขึ้น 1,700 ดอลลาร์ต่อปีตลอด 4 ปีที่ผ่านมาดังที่รัฐบาลคลินตันเคยให้คำมั่นสัญญาไว้11

ในขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจให้ภาพแจ่มแจ้งมาก   มันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด   ประเด็นที่สำคัญพอ ๆ กัน  แต่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ก็คือ  WTO มีประวัติคงเส้นคงวาในการบ่อนเซาะทำลายนโยบายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมที่มุ่งหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  สุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน   สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

 

การฟ้องร้องและการข่มขู่ของ WTO บ่อนทำลายผลประโยชน์ส่วนรวม   การขยายข้อตกลงรอบอุรุกวัยเพื่อจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการรักษาข้อบังคับที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม  มีการบังคับใช้ผ่านทางระบบศาลชำนัญพิเศษอิสระของ WTO  ที่มีอำนาจตัดสินให้กฎหมายในประเทศต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO

นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1995   หนึ่งในสี่ของคดีที่มีการฟ้องร้องต่อ WTO  เกี่ยวข้องกับนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม  สาธารณสุขหรือความปลอดภัย   ในทุกคดี  WTO ตัดสินว่านโยบายเหล่านั้นเป็นเครื่องกีดขวางทางการค้าที่ผิดกฎเกณฑ์   ต้องขจัดทิ้งหรือเปลี่ยนแปลง   หากกฎหมายในประเทศใดถูก WTO ประกาศว่าเป็นเครื่องกีดขวางทางการค้า  --หรืออาจเพียงแค่ถูกข่มขู่ว่าจะนำไปฟ้องร้องต่อ WTO --  ประเทศนั้นก็จำเป็นต้องยกเลิกหรือผ่อนปรนนโยบายดังกล่าวลงเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของ WTO   นอกจากบ่อนทำลายนโยบายสำคัญ ๆ แล้ว   แนวโน้มเช่นนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบตามมา   นั่นคือประเทศต่าง ๆ มักไม่กล้าริเริ่มใช้กฎหมายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  สิทธิมนุษยชนหรือความปลอดภัย   ทั้งนี้เพราะต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกฟ้องร้องต่อ WTO

กลไกของ WTO  ซึ่งโน้มเอียงไปในทางเอื้ออำนวยต่อบรรษัทและการค้า  เป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ล่วงหน้าอยู่แล้ว   WTO ดำเนินงานโดยคณะกรรมการและองค์คณะตุลาการที่ประชุมหลังประตูปิดตายในนครเจนีวา  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์   ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับระบบศาลในประเทศสหรัฐอเมริกา  หรือแม้กระทั่งระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศอื่นใด  WTO ขาด  “ความโปร่งใส”  อย่างน่าใจหาย  นั่นคือ  ไม่มีการเปิดเผยและการชี้แจงต่อสาธารณชนเลย   สิ่งนี้ทำให้อำนาจและอิทธิพลของบรรษัทธุรกิจเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นจนเกินความพอดี

กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมที่ถูกตัดสินฉบับแล้วฉบับเล่า   ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้แพ้กลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบแบบนี้   ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่มีทั้งเงินและความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะยื่นคดีฟ้องร้องต่อ WTO  หรือแก้ต่างเพื่อปกป้องตัวเองเมื่อถูกฟ้องร้อง   มีหลายประเทศที่ยอมจำนนต่อการข่มขู่ของบรรษัทเสียง่าย ๆ  และยอมแก้ไขกฎหมายก่อนที่คดีจะยื่นถึง WTO ด้วยซ้ำ

เพราะ WTO ยังมีอายุไม่มากนัก   คดีต่าง ๆ ที่บรรยายไว้ในหนังสือเล่มเล็กนี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น   แต่มันก็ฉายให้เห็นภาพอันน่าหวาดผวาของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต    หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง

ปัญหาพื้นฐานประการแรกเกิดมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า  กฎหมายและเป้าหมายของนโยบายภายในประเทศต้องสอดรับกับกฎเกณฑ์ของ WTO   ซึ่งนอกจากข้อจำกัดอื่น ๆ แล้ว  ยังมีเงื่อนไขด้วยว่า  กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ   แม้ว่าไม่ขัดต่อเป้าหมายของ WTO  แต่ก็ต้องเป็นอุปสรรคต่อการค้าน้อยที่สุด

ประการต่อมา  กฎเกณฑ์ของ WTO ห้ามมิให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติแตกต่างกันต่อสินค้าชนิดเดียวกัน  โดยเหตุผลว่าสินค้านั้นผลิตหรือเก็บเกี่ยวมาอย่างไร   ยกตัวอย่างเช่น  ในสายตาของ WTO  ปลาทูน่าที่จับมาด้วยอวนที่ปลอดภัยต่อปลาโลมา  ต้องไม่ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากปลาทูน่าที่จับมาด้วยอวนที่เป็นอันตรายต่อปลาโลมา   นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลคลินตันจับมือกับสมาชิกสภาคองเกรสบางคนที่เป็นหัวขบวนต่อต้านสิ่งแวดล้อม  เพื่อผ่อนปรนกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่มุ่งหมายปกป้องปลาโลมาไม่ให้ถูกฆ่าตายในอวนจับปลาทูน่า  ทั้ง ๆ ที่กฎหมายนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างมาก   แต่มันก็ถูก WTO ตัดสินว่าเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้า   ตรรกะที่ถอยหลังเข้าคลองแบบนี้ยังทำลายกฎหมายห้ามค้าขายสินค้าที่ผลิตด้วยแรงงานเด็กหรือห้ามค้าขายกับประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

ปรัชญาของ WTO ยังทำลายการร่วมมือกันระดับโลกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  สาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน   หากประเทศหนึ่งเป็นสมาชิก WTO   การส่งเสริมข้อผูกมัดสากลอื่นใดภายในประเทศนั้นต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO ด้วย   ยกตัวอย่างเช่น  WTO วินิจฉัยแย้งต่อข้อกำหนดของรัฐบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ของสหรัฐอเมริกา  (U.S. Endangered Species Act)  ซึ่งกำหนดให้การทำประมงกุ้งต้องคุ้มครองเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์   กฎหมายฉบับนี้เป็นการส่งเสริมข้อผูกมัดของสหรัฐอเมริกาภายใต้สนธิสัญญาสิ่งแวดล้อมสากลที่เรียกกันว่า  อนุสัญญาว่าด้วยการค้าพันธุ์พืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระหว่างประเทศ  (Convention on International Trade in Endangered Species-CITES)   ตอนนี้  สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปกำลังข่มขู่ความพยายามของญี่ปุ่นในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมสนธิสัญญาเกียวโตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก  โดยหาว่าผิดต่อกฎเกณฑ์ของ WTO

กฎเกณฑ์ของ WTO ยังตั้งเพดานความปลอดภัย   โดยยึดถือเอามาตรฐานสากลบางอย่างมาตั้งเป็นมาตรฐานทางกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมหมด   มาตรฐานทางด้านสาธารณสุข  สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยส่วนรวมของประเทศใดที่สูงกว่ามาตรฐานสากล   จะต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดเพื่อ ไม่ให้ ถูกพิจารณาว่าเป็นเครื่องกีดกันทางการค้า  ขณะเดียวกัน  กลับไม่มีการตั้งมาตรฐานขั้นต่ำสุดทางด้านสาธารณสุขหรือความปลอดภัยที่บังคับให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม   ไม่มีเงื่อนไขให้ใช้มาตรฐานสากล   มีแต่เงื่อนไขว่ามาตรฐานในประเทศต้องไม่สูงกว่ามาตรฐานสากลที่ WTO  รับรอง

มีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า  ระบบของ WTO ทำลายรากฐานทางด้านนโยบายที่รัฐบาลก้าวหน้าบางประเทศใช้จัดการต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม  ความปลอดภัยของอาหารและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขอื่น ๆ    โดยปรกติแล้ว  ผู้ผลิตสินค้าเป็นฝ่ายต้องพิสูจน์ว่า  ผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย   และประเทศต่าง ๆ มักไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์วางตลาดได้  จนกว่าบริษัทต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อน   แต่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO  ภาระในเรื่องนี้พลิกกลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง   รัฐบาลกลับต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่า  ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่ปลอดภัยก่อนที่จะสั่งห้าม   มิหนำซ้ำในการสั่งห้าม รัฐบาลยังต้องฝ่าฟันผ่านกระบวนการและการนำเสนอหลักฐานที่ยากเย็นแสนเข็ญจนเกือบเป็นไปไม่ได้ด้วย

พร้อมกับการก่อตั้ง WTO ขึ้นมา  การตัดสินใจที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญ ๆ อย่างเช่น  ความปลอดภัยของอาหาร  ถูกดึงไปจากมือขององค์กรนิติบัญญัติภายในประเทศ  และยกผลประโยชน์ให้แก่บรรษัทข้ามชาติที่ช่วยเขียนกฎเกณฑ์ของ WTO ขึ้นมา   ตามการตัดสินชี้ขาดของ WTO  ตอนนี้ยุโรปจึงต้องยอมแบกรับภาระเป็นจำนวนเงิน 115 ล้านดอลลาร์ต่อปี  ตามมาตรการลงโทษทางการค้าที่ WTO เป็นผู้อนุมัติ  เพื่อแลกกับการสั่งห้ามนำเข้าเนื้อวัวที่มีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตตกค้าง

แง่มุมที่น่าตกใจอีกประการหนึ่งของระบบ WTO ก็คือ  การที่ ประเทศต่าง ๆ ทำตัวเป็นข้ารับใช้ของบรรษัท   โดยยินยอมทำหน้าที่ฟ้องร้องเพื่อคัดค้านกฎหมายที่บรรษัทธุรกิจไม่พอใจ   สหรัฐอเมริกาเสนอหน้าออกโรงแทนบริษัทชิควิต้า  (Chiquita)  ยักษ์ใหญ่ในวงการค้ากล้วย  เพื่อโจมตีการที่ยุโรปให้สิทธิพิเศษแก่กล้วยส่งออกจากอดีตอาณานิคมของอียูในหมู่เกาะแคริบเบียน12   สหรัฐอเมริกาไม่ได้ปลูกกล้วยเพื่อการส่งออก   และคนงานส่วนใหญ่ของชิควิต้าเป็นแรงงานภาคเกษตรที่ถูกกดค่าแรงและทำงานหลังขดหลังแข็งอยู่ในไร่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ในภูมิภาคอเมริกากลาง13   อียูประกาศว่าไม่มีทางเลือก  ได้แต่บอกยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า  อันเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวไร่กล้วยอิสระรายย่อยในหมู่เกาะแคริบเบียน

บ่อยครั้งที่เพียงแค่ข่มขู่ว่าจะยื่นฟ้องต่อ WTO ก็ได้ผลแล้ว   ยกตัวอย่างเช่น  หลังจากที่สหรัฐอเมริกาขู่ว่าจะยื่นฟ้องต่อ WTO   เกาหลีใต้ก็ยอมผ่อนปรนกฎหมายความปลอดภัยของอาหารสองฉบับ   ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับอายุการเก็บรักษาเนื้อสัตว์   อีกฉบับเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบผักผลไม้

เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักไม่มีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญในการแก้คดีที่ถูกฟ้องร้อง   การข่มขู่ต่อนโยบายต่าง ๆ จึงส่งผลร้ายอย่างยิ่ง  อย่างไรก็ตาม  ประเทศกำลังพัฒนาไม่ใช่ผู้แพ้เพียงฝ่ายเดียว   ประเทศร่ำรวยเองก็ได้เห็นนโยบายที่มีคุณค่าของตนถูกทำลายไปเหมือนกัน   คดีที่ขู่ว่าจะฟ้องร้องต่อ WTO ที่บรรยายไว้ในหนังสือเล่มเล็กนี้เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น   เนื่องจากมีความเป็นไปอีกมากที่ถูกปกปิดเป็นความลับ

 

แนวโน้มของ WTO:  การค้ามีความสำคัญสูงสุดเสมอ   เรื่องเดิม ๆ ที่ปรากฏให้เห็นเสมอเมื่อทบทวนดูประวัติการทำงานของ WTO ก็คือ   ในเวทีของ WTO  การค้าระดับโลกมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด  ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย  สาธารณสุข  ความยุติธรรม  สิ่งแวดล้อม  ความปลอดภัยของอาหาร  ฯลฯ   อันที่จริง  ภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO  การค้าระดับโลกมีความสำคัญเหนือว่าธุรกิจรายย่อยด้วยซ้ำ

ความคลั่งไคล้ที่ WTO มีต่อค่านิยมทางการค้าน่าจะเห็นชัดเจนที่สุด  เมื่อดูจากกฎเกณฑ์ที่พยายามเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสินค้า   กล่าวคือ  การแปรรูปทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นทรัพย์สินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  เพื่อให้นำมาซื้อขายได้   ยกตัวอย่างเช่น  ระบบใหม่นี้ให้สิทธิบัตรแก่รูปแบบทางชีวภาพและความรู้ท้องถิ่น   ซึ่งรวมถึงสิทธิผูกขาดในการทำตลาดด้วย   ลองพิจารณาตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอินเดีย   ชาวอินเดียท้องถิ่นใช้ต้นนีมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มาหลายชั่วอายุคน    หลังจากบริษัทผู้นำเข้าสัญชาติอเมริกันค้นพบคุณสมบัติทางยาของต้นไม้ชนิดนี้   บรรษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นก็วิ่งเต้นจนได้รับสิทธิบัตรเหนือผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ทำจากต้นนีม   ทอดทิ้งให้ประชาชนท้องถิ่นหมดหนทางสร้างกำไรจากความรู้ที่พัฒนามาหลายศตวรรษ

ลองพิจารณาถึงชะตากรรมของเกษตรกรเพื่อยังชีพด้วยก็ได้   ภายใต้การรับรองทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO   บริษัทธุรกิจสามารถมีสิทธิครอบครอง  กล่าวตามตัวอักษรก็คือมีสิทธิบัตรเหนือความรู้และความพยายามของเกษตรกรท้องถิ่นที่ปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืชมาตลอดหลายชั่วรุ่น   ทันทีที่บริษัทถือสิทธิบัตรเหนือเมล็ดพันธุ์พืชชนิดใดชนิดหนึ่ง   บริษัทสามารถบังคับให้เกษตรกรยากไร้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี   ซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปีหรือใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดนั้นไม่ได้อีกเลย   ทั้ง ๆ ที่มันอาจเป็นเมล็ดพันธุ์ชนิดเดียวที่หาได้หรือปลูกได้ผลในภูมิภาคนั้น

 

ระบบตัดสินข้อพิพาทของ WTO ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์   กฎเกณฑ์สุดขั้วแบบนี้นำมาบังคับใช้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างไร?   WTO มีกระบวนการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดาข้อตกลงสากลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่   WTO เป็นองค์กรอิสระที่มี  “สภาพนิติบุคคล”  (มีสถานะทางการเมืองเช่นเดียวกับสหประชาชาติ)   และมีอำนาจบังคับใช้กฎเกณฑ์ได้ในตัวเอง   หมายความว่า WTO มีกลไกการตัดสินข้อพิพาทที่มีผลผูกมัดให้บังคับใช้กฎเกณฑ์ทางการค้าที่มันบัญญัติขึ้น   ประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมอยู่ใน WTO เรียกว่า  “สมาชิก”   มีข้อผูกมัดตามเงื่อนไขของ WTO ทุกประการ   และจะสามารถผัดผ่อนการบังคับใช้กฎเกณฑ์ของ WTO ได้ก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทั้งหมด เห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์

 

สิ่งที่แตกต่างจาก GATT ก็คือ  คำชี้ขาดขององค์คณะตุลาการของ WTO ถือเป็นข้อผูกมัดที่ต้องปฏิบัติตามโดยอัตโนมัติ   ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมเป็นเอกฉันท์เพื่อนำมาบังคับใช้   อีกทั้งมาตรการลงโทษทางการค้าของ WTO ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับมติเห็นพ้อง   อันที่จริง  WTO มีความพิเศษเมื่อเทียบกับข้อตกลงสากลอื่น ๆ ทั้งหมด  ตรงที่การ ยุติ  การกระทำใด ๆ ของ WTO จำเป็นต้องมีมติเอกฉันท์จากชาติสมาชิกเท่านั้น   ทันทีที่ศาลชำนัญพิเศษของ WTO ประกาศว่า  กฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งผิดต่อหลักเกณฑ์ของ WTO   ประเทศนั้นต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายของตน   หรือไม่ก็ต้องเผชิญกับมาตรการลงโทษทางการค้า   ที่ยิ่งน่าประหวั่นกว่านั้นก็คือ  รัฐบาลสหรัฐฯ มีจุดยืนอย่างเป็นทางการว่า  มาตรการลงโทษทางการค้าหรือการชดเชยที่ต่อรองตกลงกันเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น   กฎเกณฑ์ของ WTO บังคับว่าทุกประเทศต้องยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศให้ได้14  

กระบวนการตัดสินข้อพิพาทที่มีผลผูกมัดของ WTO และการขยายกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ นับตั้งแต่การเจรจารอบอุรุกวัย   เป็นการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่ยึดถือกันมาแต่ดั้งเดิมว่าเป็นปริมณฑลของนโยบายภายในประเทศ   จึงเท่ากับเป็นการโอนย้ายการตัดสินใจในหลาย ๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขและความปลอดภัย   สิ่งแวดล้อมและสังคม  จากองค์กรภายในประเทศที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยไปไว้ที่ศาลชำนัญพิเศษของ WTO  ที่ประชุมกันเบื้องหลังบานประตูปิดตายในนครเจนีวา  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

หลังจากผ่านไปเกือบห้าปีที่มีการตัดสินชี้ขาดคดีต่าง ๆ ของ WTO   เราเห็นประวัติการทำงานได้อย่างชัดเจน   ประเทศที่สามารถยื่นฟ้องร้องต่อ WTO  มักเป็นฝ่ายชนะคดี   ตลอดห้าปีหลังจากก่อตั้ง WTO   ศาลชำนัญพิเศษของ WTO  เข้าข้างประเทศที่เป็นฝ่ายฟ้องร้องเกือบทุกครั้งและตัดสินในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายที่ตกเป็นเป้า   มีเพียงสามคดีจาก 22 คดีที่ตัดสินเสร็จสิ้นไปแล้วที่ประเทศฝ่ายแก้คดีชนะ   จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1999  สหรัฐอเมริกาแพ้ทุกคดีที่ถูกฟ้องร้อง   ลงเอยด้วยการที่ WTO ตีตรานโยบายหลายประการของสหรัฐฯ ว่าผิดกฎเกณฑ์การค้า   นับตั้งแต่กฎหมายคุ้มครองเต่าทะเล  ข้อบังคับเพื่อลดมลภาวะทางอากาศ  ไปจนถึงภาษีศุลกากรเพื่อป้องกันการทุ่มตลาด15   ส่วนสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายยื่นฟ้องร้องมากกว่าประเทศอื่นใด  เป็นประเทศผู้ร้องเรียนหรือร่วมร้องเรียนใน 9 คดีจาก 22 คดี16

 

กฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม  สาธารณสุขหรือความปลอดภัยของอาหารที่ได้มาด้วยกระบวนการประชาธิปไตยทุกฉบับที่ถูกฟ้องร้องต่อ WTO   ไม่มีฉบับใดที่แคล้วคลาดจากการโจมตีเลย   ทุกฉบับถูกประกาศว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้าทั้งสิ้น

 

ศาลชำนัญพิเศษของ WTO:  การพิจารณาคดีเป็นความลับ  ขาดกระบวนการที่เหมาะสม   การฟ้องร้องที่ประเทศสมาชิกกระทำต่อกฎหมายของประเทศอื่น  จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลชำนัญพิเศษที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ WTO ที่นครเจนีวา  และอยู่ภายใต้บันทึกความเข้าใจการตัดสินข้อพิพาทรอบอุรุกวัย  (Dispute Resolution Understanding-DSU)   DSU ตั้งกฎในการดำเนินคดีที่เฉพาะเจาะจงเพียงข้อเดียวคือ  กระบวนการทำงานขององค์คณะตุลาการและเอกสารทั้งหมดต้องเป็นความลับสุดยอด17   ภายใต้กฎข้อนี้  คณะตุลาการตัดสินข้อพิพาทจึงดำเนินคดีเป็นความลับ   เอกสารถูกจำกัดอยู่เฉพาะประเทศคู่กรณีเท่านั้น   กระบวนการพิจารณาคดีที่เหมาะสมเที่ยงธรรมและการมีส่วนร่วมของพลเมืองจึงขาดหายไป   และการอุทธรณ์ร้องเรียนจากภายนอกย่อมเป็นไปไม่ได้   ทั้งศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ของ WTO นั่งพิจารณาความอย่างปกปิดและการดำเนินคดีเป็นความลับ   เอกสารทุกชิ้นถูกจัดเป็นความลับเช่นกัน   ยกเว้นรัฐบาลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสมัครใจเปิดเผยต่อสาธารณชน18   สภาพปิดลับของกระบวนการตัดสินข้อพิพาททำให้กลุ่มประชาชนในประเทศที่สนับสนุนนโยบายทางด้านสาธารณสุข  สิ่งแวดล้อม หรือนโยบายอื่น ๆ ที่ถูกฟ้องร้อง  ไม่สามารถมีข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเพียงพอที่จะเสนอความคิดเห็นหรือมีบทบาทใด ๆ ได้

ศาลชำนัญพิเศษที่พิจารณาคดีพิพาทของ WTO ประกอบด้วยตุลาการสามคน   เลขาธิการของ WTO เป็นผู้เสนอชื่อสมาชิกคณะตุลาการในการตัดสินแต่ละคดี   และประเทศคู่กรณีสามารถคัดค้านรายชื่อที่เสนอมาก็ต่อเมื่อมี  “เหตุผลจำเป็นอย่างยิ่งยวด”  เท่านั้น   หลังจากคำชี้ขาดของคณะตุลาการแล้ว   มีทางแก้คดีเพียงหนทางเดียวคืออุทธรณ์ต่อศาลชั้นอุทธรณ์ของ WTO   ตลอดห้าปีหลังจากก่อตั้ง   ศาลชั้นอุทธรณ์  ซึ่งมีคณะตุลาการเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนของ WTO  ยอมกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นเพียงคดีเดียว

 

เจ้าหน้าที่ที่มีแต่ความเชี่ยวชาญด้านการค้ากลับกลายเป็นผู้ตัดสินนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม  สาธารณสุข  สิทธิแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจ   คุณวุฒิในการเข้ารับตำแหน่งตุลาการตัดสินข้อพิพาทของ WTO  ประกอบด้วย  การเคยทำหน้าที่เป็นตุลาการของ GATT ในอดีต   เคยเป็นตัวแทนของประเทศใดประเทศหนึ่งในสถาบันการค้าหรือศาลชำนัญพิเศษ   เคยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่นโยบายด้านการค้าอาวุโสของประเทศสมาชิก WTO   และเคยมีประสบการณ์การสอนหรือเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับนโยบายหรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ20   คุณวุฒิเหล่านี้ทำให้การคัดเลือกบุคคลมาเป็นตุลาการเปิดช่องให้เฉพาะคนที่มีจุดยืนแนบแน่นอยู่กับระบบและกฎเกณฑ์การค้าในปัจจุบัน   รวมทั้งปิดหนทางที่จะมีตุลาการที่ไม่เห็นด้วยกับปรัชญาของสถาบันการค้าระหว่างประเทศและบทบาทของระบบแบบ GATT ที่สนับสนุนสภาพอย่างที่เป็นอยู่

ไม่มีกลไกสร้างหลักประกันว่า  บุคคลที่รับตำแหน่งเป็นตุลาการมีความเชี่ยวชาญในประเด็นของข้อพิพาทที่ต้องพิจารณาความ   จึงน่าวิตกอย่างยิ่งในคดีพิพาทที่เกี่ยวกับมาตรการทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  เนื่องจากกฎเกณฑ์ของ WTO ไม่มีเงื่อนไขให้ตุลาการต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเลยด้วยซ้ำ

 

 

มาตรฐานของผลประโยชน์ทับซ้อนที่ WTO:  “อย่าถาม  อย่าบอก”   นับตั้งแต่ข้อตกลงรอบอุรุกวัย   ระบบคลี่คลายข้อพิพาทของ WTO  ขาดกลไกรับประกันว่า  บุคคลผู้เป็นตุลาการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่อยู่ในองค์คณะตุลาการ   กฎเกณฑ์ความประพฤติที่นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1996  ใช้วิธีเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนโดยสมัครใจและการถอนตัวจากองค์คณะตุลาการโดยสมัครใจ   อันเป็นมาตรฐานที่อ่อนปวกเปียกเสียจนไม่มีความหมาย21   ปัญหานี้เห็นได้ชัดเจนในคดีที่ตัวแทนหอการค้าระหว่างประเทศคนหนึ่ง  ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัทเนสท์เล่ด้วย   ได้รับแต่งตั้งให้ตัดสินคดีฟ้องร้องต่อ WTO ในกรณีที่รัฐบัญญัติฉบับเฮลมส์-เบอร์ตันมีมาตรการลงโทษทางการค้าต่อนักลงทุนชาวต่างประเทศในคิวบา  ซึ่งเนสท์เล่มีโรงงานอยู่ที่นั่น22

 

เจ็บตัวไม่พอ  ยังทำให้เจ็บใจ:  WTO กีดกันไม่ให้ประชาชนแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องของคณะตุลาการ   การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสาธารณสุข  สิ่งแวดล้อมและประเด็นอื่น ๆ ในส่วนของสมาชิกคณะตุลาการ   สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่งโดยตั้งเงื่อนไขให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระเฉพาะกิจ  (ad hoc)  เข้ามามีส่วนร่วมในคณะตุลาการ   หรือตั้งเงื่อนไขให้คณะตุลาการพิจารณาการเสนอความคิดเห็นของบุคคลภายนอกจากฝ่ายต่าง ๆ ที่มีความสนใจอย่างเด่นชัดในคดีนั้น ๆ  (amici curiae: หมายถึงผู้ที่ยื่นคำร้องเพื่อขอให้การต่อศาลในประเด็นข้อกฎหมายที่ยังมีข้อสงสัย  โดยมากจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป  เช่น  คดีเกี่ยวกับสิทธิของพลเมือง  เป็นต้น  หรือ  บันทึกสำนวน amicusหมายถึงการให้ปากคำของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางในคดีนั้น ๆ )   ระบบตัดสินข้อพิพาทของ WTO ไม่มีการตั้งเงื่อนไขข้างต้นนี้เลย

คณะตุลาการของ WTO สามารถขอข้อมูลจากและคำแนะนำด้านเทคนิคจากบุคคลภายนอกและองค์กรผู้เชี่ยวชาญ   แต่นี่ไม่ใช่เงื่อนไขที่จำเป็นต้องทำ   อย่างไรก็ตาม   รายชื่อของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ถือเป็นความลับ  จนกว่าคณะตุลาการจะเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับคดีนั้น ๆ 23   จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งของผลประโยชน์ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญเอง

 

แม้ว่าในระยะหลัง  WTO จะยกเลิกคำสั่งห้ามการใช้บันทึกสำนวน amicus   แต่ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องการเสนอความคิดเห็นในรูปแบบของบันทึกสำนวน amicus  ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมาย   ซึ่งรวมถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้ความยินยอมจากรัฐบาลในประเทศของตนเอง  ในอันที่จะผนวกรวมบันทึกสำนวนไว้ในการยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการ   นับเป็นอุปสรรคที่ยากลำบากอย่างแท้จริงสำหรับกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมและกลุ่มอื่น ๆ ที่อาจไม่เห็นพ้องกับจุดยืนของรัฐบาลตนเอง   แต่นี่กลับเป็นหนทางเดียวในการยื่นบันทึกสำนวนให้คณะตุลาการของ WTO พิจารณา24

 

ผู้ชนะได้หมด:   ไม่รับคำอุทธรณ์จากคนนอก   อนุญาตให้มีการลงโทษทางเศรษฐกิจด้วยสินค้าต่างกลุ่ม    คณะตุลาการของ WTO กำหนดเส้นตายที่ประเทศแพ้คดีต้องนำคำตัดสินของคณะตุลาการไปใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกนโยบายบางอย่าง25   หากไม่สามารถปฏิบัติได้ทันเส้นตายที่ระบุไว้   ฝ่ายที่ชนะคดีสามารถเรียกร้องการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดค่าชดเชยที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย26   หากไม่มีการขอค่าชดเชยหรือไม่สามารถตกลงกันได้   ฝ่ายชนะคดีสามารถร้องขออำนาจ WTO เพื่อบังคับบทลงโทษทางการค้า27   เมื่อใดที่มีร้องขอแล้ว   บทลงโทษจะยุติลงก็ต่อเมื่อมีมติเอกฉันท์จากสมาชิกทั้งหมดให้ระงับบทลงโทษนั้น   เท่ากับเป็นเงื่อนไขว่า  ประเทศที่ชนะคดีจะต้องยินยอมยกเลิกการร้องขอบทลงโทษด้วย28   แบบแผนเฉพาะตัวของ WTO เช่นนี้แตกต่างตรงกันข้ามกับการคุ้มครองอำนาจอิสระที่มักพบเห็นในข้อตกลงนานาชาติส่วนใหญ่   ซึ่งต้องการเพียงมติของเสียงส่วนใหญ่เพื่อดำเนินการต่อ

สิ่งที่แตกต่างจาก GATT ก็คือ  บทลงโทษของ WTO สามารถใช้กับสินค้า  “ต่างกลุ่ม”   (cross-sectoral)  หมายความว่าประเทศหนึ่งสามารถตอบโต้ต่อสินค้าส่งออกสำคัญของคู่กรณีที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำตัดสิน   และไม่จำเป็นต้องตอบโต้ด้วยสินค้าประเภทเดียวกันในกลุ่มเดียวกัน29   มาตรการนี้สร้างภาระหนักหน่วงเป็นพิเศษต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีสินค้าส่งออกหลากหลาย   ดังนั้น  จึงถูกกดดันได้ง่ายเมื่อถูกประเทศพัฒนาแล้วข่มขู่ว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้ต่อสินค้าส่งออกที่เป็นหัวใจหลักเพียงอย่างเดียวของประเทศนั้น ๆ

สำหรับรัฐบาลที่แพ้คดี   ไม่มีกระบวนการอุทธรณ์นอกเหนือจากคณะศาลชั้นอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลก   DSU  เพียงแต่ตั้งเงื่อนไขว่า  บุคคลที่รับตำแหน่งในคณะศาลชั้นอุทธรณ์ต้องเป็น  “บุคคลที่ได้รับความเชื่อถือ  โดยมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์แล้วในด้านกฎหมาย  การค้าระหว่างประเทศและสาระสำคัญที่ครอบคลุมอยู่ในข้อตกลงโดยรวม”30   อีกครั้งที่ไม่มีการตั้งเงื่อนไขให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม  กฎหมายผู้บริโภคหรือแรงงาน  เข้ารับตำแหน่งในคณะตุลาการ    ตุลาการในคณะศาลชั้นต้นถูกเรียกตัวมาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรณี ๆ ไป   แต่ตุลาการของศาลชั้นอุทธรณ์เป็นส่วนหนึ่งของคณะเจ็ดบุคคลที่มีตำแหน่งประจำในองค์กรของ WTO   หมายความว่าคนเหล่านี้ได้รับเงินเดือนประจำอย่างถาวรจาก WTO31   เท่านี้ก็ถือเป็นความขัดแย้งที่น่าตกใจแล้ว   ในเมื่อทุกคดีที่อุทธรณ์เป็นการร้องขอคำตัดสินว่า  ระหว่างกฎหมายในประเทศหรือกฎเกณฑ์ของนายจ้างเหนือผู้พิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์   อย่างไหนที่มีความสำคัญมากกว่ากัน

 

การประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่ซีแอตเติ้ล     ปลายเดือนพฤศจิกายน  ค.ศ. 1999   ประเทศสมาชิกของ WTO ที่มีอยู่ทั้งหมด 134 ประเทศในขณะนั้น  จัดประชุมกันที่เมืองซีแอตเติ้ล  รัฐวอชิงตัน   เป็นการประชุมสุดยอดระดับรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานในอนาคต   กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการผลักดันกฎเกณฑ์หลัก ๆ ของ WTO ให้ครอบคลุมไปถึงด้านการศึกษาและสาธารณสุข   รวมทั้งรองรับสิทธิใหม่ ๆ แก่นักเก็งกำไรทางด้านเงินตราและนักลงทุนต่างชาติ   (กล่าวคือ  เป็นการนำข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการลงทุน  [Multilateral Agreement on Investment-MAI]  เข้ามาไว้ใน WTO   MAI  เป็นข้อเสนอสนธิสัญญาทางการค้าที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งอย่างมาก   และถูกทำแท้งไปด้วยการคัดค้านจากฝ่ายนิติบัญญัติและสาธารณชนอย่างกว้างขวางในปี ค.ศ. 1998)

สหรัฐอเมริกาปรับลดวาระเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองแรงงานหรือสิ่งแวดล้อม   ทั้ง ๆ ที่มีวาระเหล่านี้น้อยอยู่แล้ว   แต่กลับตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงในการประชุมระดับรัฐมนตรีดังนี้:

 

Ø    เปิดฉากการเจรจาต่อรองรอบใหม่เพื่อขยายขอบเขตของ WTO ให้ครอบคลุมถึงภาคบริการต่าง ๆ  อาทิเช่น  สาธารณสุขและการศึกษา

Ø    ขยายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลให้ครอบคลุมประเทศสมาชิก WTO ทั้งหมด   โดยขั้นแรกคือตั้งเงื่อนไขให้ประเทศสมาชิกเปิดเผยรายการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดที่มีอยู่   และสร้างข้อตกลงถึงการเจรจาต่อรองในอนาคตที่จะจำกัดอำนาจของรัฐบาลไม่ให้นำข้อพิจารณาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า  (เช่น  การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาเศรษฐกิจ)  เข้ามามีอิทธิพลในการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้าง

Ø    ลงนามในข้อตกลง   “การตัดไม้เสรีทั่วโลก”   ซึ่งจะเพิ่มการทำลายป่าไม้อีก 4% ต่อปี

Ø    เปิดฉากการเจรจารอบใหม่ว่าด้วยการคุ้มครองผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีชีวภาพ  ( เช่น  สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม)   และ

Ø    เปิดเสรีการค้าผลิตผลทางการเกษตรมากขึ้น

 

แผนการส่วนใหญ่ของรัฐบาลอเมริกันที่จะขยายรูปแบบการดำเนินงานของ WTO ที่เป็นอยู่  สวนทางกับมติมหาชนในสหรัฐฯ    และเป็นการบ่อนทำลายความสามารถของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของตน   การสำรวจความคิดเห็นชี้ให้เห็นว่า  81% ของชาวอเมริกันเชื่อว่า  สภาคองเกรสควรคัดค้านสัญญาทางการค้าที่ทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจล้มล้างกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค  แรงงานหรือสิ่งแวดล้อมในอีกประเทศหนึ่ง

การผนึกกำลังกันในระดับโลกของกลุ่มประชาสังคมต่าง ๆ   --ทั้งองค์กรของผู้บริโภค  ศาสนา  สิ่งแวดล้อม  แรงงาน  เกษตรกรรมครอบครัว  ฯลฯ--  เรียกร้องให้หาหนทาง  “หันหลังกลับ”   เพื่อแทนที่มาตรการอันเลวร้ายของ WTO   “No New round,  Turnaround”  (“ไม่เอาการเจรจารอบใหม่   หันหลังกลับดีกว่า”)  คือคำขวัญเรียกร้องปลุกเร้าจากการประสานพลังครั้งใหญ่ขององค์กรเอกชนทั่วโลก

กลุ่มต่าง ๆ ที่มีความห่วงใยต่างแสวงหาการทบทวนความเป็นไปภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO ในปัจจุบันอย่างเป็นกลาง   ด้วยการจับตามองไปที่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ถูกปรับลดความสำคัญลง   จนทำให้มีการแทรกแซงการตัดสินนโยบายภายในประเทศอย่างไม่เหมาะสม   นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ตัดบางประเด็นออกไปจากอำนาจชี้ขาดของ WTO โดยสิ้นเชิง   และแทนที่กฎเกณฑ์อื่น ๆ ของ WTO ด้วยกฎเกณฑ์ที่มีเป้าหมายรับใช้ผลประโยชน์ส่วนรวม

 


 

เชิงอรรถ

 

1.       Lloyd Bentsen, “The Uruguay Round--Now,”  The Washington Post,  September 13, 1994  at A 21.

 

2.       Id.

3.       United Nations Development Program (UNDP),  Human Development Report 1999, Geneva: UNDP (1999) at 3.  Also see UNCTAD,  1998 Least Developed Countries Report:  Overview, Geneva: UNCTAD (1998) at 3.

4.       UNCTAD, 1997 Trade and Development Report:  Overview Geneva.  UNCTAD (1997) at 6.

5.       ดู  World Bank,  Global Development Finance 1999,  Washington, D.C.:  World Bank, pp 14-15.

6.       Anthony Faiola,  “Deep Recession Envelops Latin America,”  The Washington Post,  August 5, 1999  at 1.

7.       International Labor Organization, “Asian Labor Market Woes Deepening”  December 1998.

8.       UNDP, op cit., 3.

 

9.       Id.

10.    U. S. Department of Commerce,  International Trade Administration Data.

11.    Bentsen, op cit., n.1.

12.    Brook Larmer, “Brawl over Bananas,”  Newsweek,  April 28, 1997 at 24.

13.    Mike Gallagher and Cameron McWhirter, “Violence and Drugs:  Armed  Soldier Evict Residents in Chiquita Plan to Eliminate Union,”  The Cincinnati Enquirer, May 3, 1998.

14.    จุดยืนนี้สะท้อนออกมาในแถลงการณ์ของผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (USTR) ว่าด้วยกรณีพิพาท WTO เกี่ยวกับเนื้อวัวปนเปื้อนฮอร์โมน   USTR, “USTR Barshefsky Committed to Resolving Beef Hormone Dispute,”  Press Release, Apr. 19, 1999.

15.    ดู  WTO: Overview of the State-of-Play of WTO Disputes, at www.wto.org/, on file with Public Citizen.

 

16.    Id.

17.    WTO,  Understanding on Rules and Procedures Governing the Settlement of Disputes (DSU) at Article 14 and Appendix 3,  Paras. 2 and 3.

18.    Id.  at Appendix 3,  Para. 3.

19.    Id.  at Article 3.6.

20.    Id.  at Article 8.1.

21.    WTO Document WT/DSB/RC/1  (96-5267), December 11, 1996.

22.    Annual Report of Nestle, S.A.,  Nestle Management Report 1998,  Directors and Officers (1999). 

ในปี ค.ศ. 1996  สหรัฐอเมริกาออกรัฐบัญญัติที่เรียกกันว่า  Helms-Burton Act  (เพราะผลักดันโดยวุฒิสมาชิกเฮลมส์และเบอร์ตัน)  เพื่อคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบา   รัฐบัญญัติฉบับนี้  นอกจากห้ามมิให้บริษัทธุรกิจของอเมริกันลงทุนหรือค้าขายกับคิวบาแล้ว  ยังหาทางลงโทษบริษัทต่างชาติที่ค้าขายกับคิวบาด้วย   ประเทศในยุโรปจึงร้องเรียนต่อ WTO ว่า  กฎหมายฉบับนี้เป็นการต่อต้านการค้าเสรี   และกลายเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ประการหนึ่งระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป  (ผู้แปล)

23.    Id. At Appendix 3,  Para. 3.

24.    WTO,  United States-Import Prohibition of Certain Shrimp and Shrimp Products  (WT/DS58/AB/R),  Report of the Appellate Body,  October 12,  1998,  at Para. 100

25.    Id.  at Article 21.

26.    Id.  at Article 22.2.

 

27.    Id.

 

28.    Id.

29.    Id.  at Article 22.3.

30.    Id.  at Article 17.3.

31.    Id.  at Article 17.1.

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: