รายงานเรื่อง องค์การการค้าโลก การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท-ตอนที่ 2 : องค์การการค้าโลกกับสิ่งแวดล้อม

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

 

องค์การการค้าโลก

 

การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท

 

 

The WTO

 

Five Years of Reasons

 

to Resist Corporate Globalization

 

 

 

โดย

 

โลรี  วัลลัช  (Lori Wallach)

 

มิเชล  สฟอร์ซา  (Michelle Sforza)

 

ภัควดี  วีระภาสพงษ์  แปล

 

2.

 

องค์การการค้าโลกกับสิ่งแวดล้อม

 

 

WTO  คือหายนภัยของสิ่งแวดล้อม   การข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องต่อ WTO  ซึ่งมักเป็นคำขู่จากภาคอุตสาหกรรม   แต่มีรัฐบาลคอยหนุนหลัง   กำลังถูกนำมาใช้เพื่อแช่แข็งการริเริ่มทางด้านสิ่งแวดล้อมและบ่อนทำลายข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของนานาประเทศ   เท่าที่ผ่านมา   การข่มขู่และการฟ้องร้องต่อ WTO  ได้ล้มล้างหรือคุกคามต่อรัฐบัญญัติอากาศสะอาดของสหรัฐอเมริกา  (U.S. Clean Air)   รัฐบัญญัติคุ้มครองสัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกา  (U.S. Endangered Species Act)   การปฏิบัติเพื่อบรรลุตามสนธิสัญญาเกียวโตของญี่ปุ่น  (ว่าด้วยปัญหาโลกร้อน)   กฎหมายสารพิษและการรีไซเคิลของยุโรป   นโยบายควบคุมการแพร่กระจายของด้วงหนวดพู่  (longhorned beetle)  ของสหรัฐอเมริกา   การติดป้ายฉลากเกี่ยวกับประเด็นทางด้านนิเวศวิทยาของสหภาพยุโรป   กฎหมายคุ้มครองปลาโลมาของสหรัฐอเมริกา   และกฎหมายการดักล่าสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมของสหภาพยุโรป

ทุกอย่างมีแต่จะเป็นไปในทางที่เลวร้ายลง   เมื่อภาคอุตสาหกรรมเริ่มวางแผนท้าทายต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม   โดยอาศัยเงื่อนไขใหม่ ๆ  ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ซึ่งพัฒนามาจากการเจรจารอบอุรุกวัย   ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นพร้อมกับการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ของ WTO   แทนที่จะเรียกร้องแค่ให้สินค้าภายในประเทศกับต่างประเทศได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน   แต่ WTO ยังก้าวไปถึงขั้นสร้างการตัดสินคุณค่าเกี่ยวกับ ระดับ ของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือลักษณะของเป้าหมายทางนโยบายที่ประเทศสมาชิก WTO  นำมาใช้ปฏิบัติ

 

การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด   ข้อตกลงรอบอุรุกวัยได้เพิ่มเติมข้อกำหนดใหม่ ๆ จำนวนมากที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อมและต่อต้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่กฎเกณฑ์เดิมของ GATT  ซึ่งเท่าที่มีอยู่ก็ถูกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงแล้ว   กฎเกณฑ์ที่เพิ่มเข้ามาใหม่นี้ทำให้กฎหมายสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก  ซึ่งต่อสู้ได้มาอย่างยากลำบาก  ต้องตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบที่เรียกว่า  “มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่กำแพงภาษี”  ต่อการค้า  (“Non-tariff barriers”  เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกกฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ไม่ใช่การตั้งกำแพงภาษี   แต่มีผลกระทบต่อการค้า)

ข้อตกลงของ WTO ว่าด้วยมาตรการเกี่ยวกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของพืชและสัตว์  (Agreement on Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS)   เห็นได้ชัดว่าเป็นการสร้างข้อจำกัดต่อรัฐบาลในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับอาหารและเกษตรกรรม   รวมทั้งการออกกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยทางด้านอาหาร   หรือคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  มนุษย์  พันธุ์พืช  หรืออนามัยของสัตว์   ด้วยเหตุนี้  นโยบายหลายประการที่รัฐบาลใช้เพื่อหลักเลี่ยงหรือควบคุมการแพร่ระบาดของสิ่งมีชีวิตบางอย่างไม่ให้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ   อาจกลายเป็นการละเมิดกฎของ WTO   ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า  (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT)   ตั้งเป็นข้อกำหนดว่า  มาตรฐานของสินค้า   (กล่าวคือ  กฎเกณฑ์ของชาติต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมคุณภาพและลักษณะเฉพาะของสินค้า)  จะต้องเป็นอุปสรรคต่อการค้าน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้   และต้องตั้งอยู่บนมาตรฐานสากล  นอกจากกรณียกเว้นเป็นพิเศษจริง ๆ เท่านั้น   ข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล  (Agreement on Government Procurement)  ตั้งข้อกำหนดว่า   เมื่อรัฐบาลตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้าง   จะต้องพิจารณาเฉพาะ  “ข้อพิจารณาทางด้านการค้า”  เท่านั้น   ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า  (Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property: TRIPs)   ตั้งข้อกำหนดว่า   ประเทศสมาชิกของ WTO  จะต้องให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่พันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม   ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม   ข้อตกลงทั้งหมดนี้ถูกนำมาบังคับใช้โดยอาศัยมาตรการข่มขู่ด้วยการลงโทษทางการค้าผ่านระบบตัดสินข้อพิพาทของ WTO

 

ขณะที่ WTO ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะให้การสนับสนุนต่อหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน   (“[สิ่งแวดล้อม] มีความสำคัญเสมอมาและจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อไปในระเบียบวาระของ WTO”)1  แต่ถ้าดูตามบันทึกประวัติที่ผ่านมา   กลับชี้ให้เห็นลำดับความสำคัญที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง   แท้ที่จริงแล้ว  ในคำตอบโต้อย่างขวานผ่าซากที่เผยให้เห็นธาตุแท้  นายเรนาโต  รุจจีเอโร  (Renato Ruggiero)  เลขาธิการใหญ่ของ WTO ในขณะนั้น  กล่าวว่า  มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมใน WTO  “จะต้องล้มคว่ำแน่นอนและรังแต่ทำลายระบบการค้าโลก”2

 

 

กฎเกณฑ์ที่ WTO บังคับใช้ทำให้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง

คดีที่ 1:   สหรัฐอเมริกายอมผ่อนปรนข้อบังคับเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศเพื่อปฏิบัติตามระเบียบของ WTO

 

WTO  เริ่มดำเนินการเพียงไม่กี่เดือน   การคุกคามต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญก็เปิดฉากทันที   เพื่อตอบสนองต่อคำฟ้องร้องของเวเนซุเอลาและบราซิล   คณะตุลาการคลี่คลายข้อพิพาทของ WTO ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1999  ตัดสินว่า  ข้อบังคับในรัฐบัญญัติอากาศสะอาด  (U.S. Clean Air Act)  ของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ปฏิบัติภายใต้ฉบับปรับปรุงแก้ไขปี ค.ศ. 1990   ถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO3    WTO  ชี้ขาดให้สหรัฐฯ แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับมาตรฐานความสะอาดของน้ำมันเชื้อเพลิงเสียใหม่4   สหรัฐอเมริกายอมปฏิบัติตามโดยใช้นโยบายจำกัดสารพิษในน้ำมัน   ซึ่งก่อนหน้านี้  หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา  (Evironmental Protection Agency-EPA)  เคยปฏิเสธมาแล้วว่าใช้ไม่ได้ผล5

ในปี ค.ศ. 1994   EPA  ออกกฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมรัฐบัญญัติอากาศสะอาดฉบับปรับปรุงแก้ไข ค.ศ. 1990 ของสภาคองเกรส   โดยกำหนดให้ลดสารปนเปื้อนในน้ำมันเชื้อเพลิงลง   กฎเกณฑ์นี้ตั้งข้อกำหนดว่า   ค่าความสะอาดของน้ำมันที่ขายในเมืองที่มีระดับมลภาวะสูงสุดในสหรัฐอเมริกา  จะต้องปรับเพิ่มขึ้นจากระดับของปี 1990 อีก 15%   และน้ำมันทั้งหมดที่ขายในเมืองอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา  จะต้องรักษาค่าความสะอาดไว้ที่ระดับของปี 1990 เป็นขั้นต่ำสุด

สำหรับผู้ผลิตน้ำมันที่  EPA  มีบันทึกไว้แล้วว่า  อยู่ในระดับความสะอาดของน้ำมันปี 1990   EPA  ตั้งเป้าหมายการปรับปรุงโดยดูจากการปฏิบัติงานจริงของโรงกลั่น   ส่วนน้ำมันจากโรงกลั่นต่างประเทศที่ส่งน้ำมันมาขายในสหรัฐอเมริกาน้อยกว่า 80%  ของกำลังการผลิต  (ซึ่งไม่ต้องยื่นเอกสารให้ EPA)  และน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศที่ไม่อยู่ในบันทึกของ EPA   จะต้องปรับปรุงน้ำมันของตนให้มีระดับของสารปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยตามความเป็นจริงที่คิดจากโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมดที่สามารถยื่นเอกสารครบถ้วนในปี 1990

เวเนซุเอลาและบราซิลอ้างว่า   ข้อบังคับของ EPA  ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันของตนตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ   ทั้ง ๆ ที่สองประเทศนี้ต้องปรับปรุงน้ำมันให้บรรลุค่าความสะอาดโดยเฉลี่ยเท่านั้นเอง   แต่สองประเทศก็ยังร้องเรียนว่า   กฎหมายที่ดูเหมือนเป็นกลางนี้สามารถส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ บางโรงได้รับอนุญาตให้ขายน้ำมันที่สะอาดน้อยกว่าค่าเฉลี่ย   ในขณะที่สองประเทศไม่ได้รับอนุญาต

 

คณะตุลาการของ WTO  เข้าข้างอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาและบราซิล   คำตัดสินชี้ขาดในปี ค.ศ. 1996  จากคณะศาลชั้นอุทธรณ์ของ WTO ยืนตามว่า   ข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าความสะอาดของน้ำมันที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งไว้อาจส่ง ผลกระทบ ในเชิงกีดกันการค้าต่อน้ำมันต่างประเทศ6

 

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1997   EPA   ออกข้อบังคับใหม่เพื่อแทนที่ข้อบังคับเดิมที่ WTO ตัดสินว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้า   ข้อบังคับใหม่นี้  “สอดคล้องกับข้อผูกมัดของสหรัฐอเมริกาภายใต้องค์การการค้าโลก”7   เป็นการปฏิบัติตามคำตัดสินชี้ขาดของ WTO   ข้อบังคับฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับ WTO นี้ตรงกันกับข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม   ซึ่ง EPA  เคยโต้แย้งไปก่อนหน้านี้แล้วว่า  ใช้ไม่ได้ผลและมีต้นทุนสูงเกินไป8

คดีน้ำมันครั้งนี้ยั่วยุให้เกิดการฟ้องร้องต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขตามมาอีกเป็นจำนวนมาก   ทั้ง ๆ ที่กว่าจะได้กฎหมายเหล่านี้มาก็อย่างยากเย็นอยู่แล้ว   จวบจนกระทั่งบัดนี้   คำตัดสินชี้ขาดของ GATT/WTO  ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม   ล้วนแล้วแต่เป็นผล (หรือจะเป็นผล  หากได้รับการปฏิบัติตาม)  ให้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลงทั้งสิ้น

 

คดีที่ 2:  รัฐบาลคลินตันเพิกถอนมาตรการคุ้มครองปลาโลมา

 

ภายใต้รัฐบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสหรัฐฯ  (Marine Mammal Protection Act-MMPA)  ฉบับปรับปรุงแก้ไข   ปลาทูน่าจากเรือประมงทั้งในหรือต่างประเทศที่จับปลาด้วยอวนที่ดักล้อมเป็นระยะทางยาวเป็นไมล์   หรือที่เรียกกันว่าอวน  “purse seine”  ถูกสั่งห้ามขายในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1988   ทั้งนี้เพราะฝูงปลาทูน่าในเขตโซนร้อนทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกชุมนุมกันอยู่ภายใต้ฝูงปลาโลมา   การใช้อวนแบบนั้นจึงฆ่าปลาโลมาไปหลายล้านตัวในน่านน้ำดังกล่าว9   กว่า 30 ปีที่ปลาโลมาถึง 7 ล้านตัวต้องจมน้ำตาย  ถูกบดอัดจนตาย  หรือถูกฆ่าตายในลักษณะอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการจับปลาทูน่าด้วยอวนแบบ purse seine นี้10

 

ในปี ค.ศ. 1991  คณะตุลาการของ GATT  ตัดสินแย้งต่อมาตรา 101 (a) (2)  ของกฎหมาย  MMPA ของสหรัฐฯ11   ซึ่งห้ามไม่ให้ขายปลาทูน่าที่จับโดยเรือประมงทั้งในหรือต่างประเทศที่ใช้อวนแบบ purse seine  ในตลาดสหรัฐฯ   คณะตุลาการตีความสำนวนในมาตรา III  ของ GATT   ซึ่งห้ามการปฏิบัติไม่เท่าเทียมระหว่างสินค้าต่าง ๆ ด้วยเหตุผลว่า  สินค้านั้นผลิตมาจาก แหล่งไหน   รวมทั้งห้ามการแบ่งแยกกีดกันระหว่างสินค้าต่าง ๆ ด้วยเหตุผลว่า  สินค้านั้นผลิตมา  อย่างไร   ในปี ค.ศ. 1994   คณะตุลาการของ GATT  ตัดสินแย้งต่อข้อกฎหมายใน MMPA  อีกครั้ง   ครั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อการฟ้องร้องที่คล้ายคลึงกันของยุโรป12

ในข้อที่การสั่งห้ามขายนี้เป็นการปฏิบัติต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเท่าเทียมกัน    GATT กลับไม่ถือเป็นข้อพิจารณา   ศาลชั้นต้นลงความเห็นว่า  กฎหมายฉบับนี้ไม่  “จำเป็น”  ในการคุ้มครองชีวิตปลาโลมา   เพราะในทัศนะของคณะตุลาการ   สหรัฐอเมริกาสามารถหาทางคุ้มครองปลาโลมาได้ด้วยมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ละเมิดต่อกฎเกณฑ์ของ GATT

เนื่องจากคำตัดสินแย้งต่อกฎหมายคุ้มครองปลาโลมาของสหรัฐฯ เป็นการชี้ขาดจากคณะตุลาการของ GATT   ไม่ใช่  WTO   จึงไม่มีผลบังคับให้ปฏิบัติตามโดยอัตโนมัติ   อันที่จริง   เม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาตกลงที่จะไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินนี้   เพราะทั้งสองประเทศเกรงว่าจะเป็นผลร้ายต่อการผ่านมติเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ  (North American Free Trade Agreement—NAFTA)

อย่างไรก็ตาม  พอถึงปี ค.ศ. 1995   เมื่อ NAFTA  ผ่านมติของรัฐสภาและ WTO เริ่มดำเนินงานแล้ว   เม็กซิโกเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของ GATT   เนื่องจากประธานาธิบดีคลินตันไม่ต้องการให้เกิดกรณีอื้อฉาวของการที่กฎหมายคุ้มครองปลาโลมาถูกฆ่าตัดตอนโดย WTO   คลินตันจึงส่งสารไปถึงประธานาธิบดีเม็กซิกัน  เอร์เนสโต  เซดีโย  (Ernesto Zedillo) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า  การผ่อนปรนมาตรการนี้  “เป็นความสำคัญอันดับแรกสุดในรัฐบาลของผมและโดยส่วนตัวของผมด้วย”13   ในปี ค.ศ. 1997   ทั้ง ๆ ที่มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายที่เคยสนับสนุนรัฐบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลในสภาคองเกรสและเครือข่ายของกลุ่มองค์กรสิ่งแวดล้อม  ผู้บริโภคและผลประโยชน์ส่วนรวมกลุ่มต่าง ๆ    คลินตันก็ยังดันทุรังนำคำชี้ขาดของ GATT มาบังคับใช้จนได้   เท่ากับเป็นการฆ่าตัดตอนกฎหมายฉบับนี้

เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1999   เป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ   ปลาทูน่าที่จับด้วยอวนแบบ  purse seine  ก็กลับมาขายในตลาดสหรัฐฯ อีกครั้ง

บรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในการตัดสินชี้ขาดคดีต่าง ๆ ของคณะตุลาการ GATT  มีความนัยที่ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง   GATT ห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกแบ่งแยกกีดกันระหว่างสินค้าที่ได้มาด้วย วิธีการผลิต ที่แตกต่างกัน   แม้ว่าการแบ่งแยกกีดกันนี้จะกระทำไปเพื่อส่งเสริมเป้าหมายที่ชอบธรรมทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมก็ตาม   ยกตัวอย่างเช่น   ภายใต้การอ้างเหตุผลดังกล่าว   การสั่งห้ามใช้หนังสัตว์ที่ได้มาด้วยการทุบหัวแมวน้ำอาจผิดกฎเกณฑ์ของ GATT   ในทำนองเดียวกัน   นโยบายสั่งห้ามสินค้าที่พัวพันกับการใช้แรงงานเด็กหรือกระทั่งแรงงานทาส   ย่อมเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO เช่นกัน

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1998   คณะตุลาการของ WTO  ตัดสินแย้งต่อข้อกำหนดในรัฐบัญญัติคุ้มครองสัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกา  (U.S. Endangered Species Act)   ซึ่งอนุญาตให้กุ้งที่ส่งเข้ามาขายในสหรัฐฯ  จะต้องเป็นกุ้งที่จับด้วยอวนซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ปล่อยเต่าทะเลเท่านั้น14   กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ต่อเรือประมงทั้งของสหรัฐฯ และต่างชาติ   และเป็นการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมข้อผูกมัดของสหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่เรียกว่า  CITES  (Convention on International Trade in Endangered Species)

 

อะไรเป็นรายการต่อไป?   ผลประโยชน์พิเศษบีบให้ WTO เดินหน้าขัดขวางการริเริ่มทางด้านสิ่งแวดล้อม   เนื้อความของการเจรจารอบอุรุกวัย   เช่น  ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า  (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT)   กำหนดให้ WTO มีคำสั่งห้ามต่อกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่จำกัดการเข้าถึงตลาดของบรรษัททางธุรกิจ  ด้วยเหตุผลว่าบรรษัทเหล่านี้ผลิตหรือดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าอย่างไร   ถึงแม้ว่ามาตรฐานนั้นจะบังคับใช้ต่อผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม

 

ข้อตกลง TBT วางเค้าโครงของขั้นตอนต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิก WTO ต้องปฏิบัติตาม  เมื่อประกาศใช้มาตรฐานสินค้าหรือข้อบังคับทางด้านเทคนิคอื่น ๆ    เงื่อนไขของข้อตกลงนี้ใช้กับสินค้าทุกประเภท  ครอบคลุมทั้งผลผลิตทางอุตสาหกรรมและการเกษตร   แต่ไม่ครอบคลุมถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอาหารที่สัมพันธ์กับสุขภาพ   หรือข้อบังคับสินค้าทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับศัตรูพืชหรืออนามัยของสัตว์เลี้ยง   ข้อตกลง TBT  สร้างข้อจำกัดต่อการที่รัฐบาลจะควบคุมกำกับการค้าเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม   โดยตั้งเงื่อนไขว่า  ข้อบังคับนั้นจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าเกินกว่าที่จำเป็น15   และต้องไม่แตกต่างจากมาตรฐานสากล16

 

แม้ว่าข้อตกลง TBT ยังไม่เคยเป็นหัวข้อให้คณะตุลาการ WTO ชี้ขาด   แต่เงื่อนไขของ TBT  ก็ถูกสหรัฐอเมริกานำมาใช้เพื่อกดดันญี่ปุ่นให้ผ่อนปรนกฎหมายอากาศสะอาด   ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงนานาชาติที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังใช้ TBT เพื่อโจมตีสหภาพยุโรปที่สั่งห้ามการวางกับดักเท้าสัตว์ซึ่งเห็นว่าเป็นการทารุณต่อสัตว์เกินไป   รัฐบาลสหรัฐฯ ยังโต้แย้งด้วยว่า  การติดป้ายฉลากสินค้าระบุว่าสินค้านั้น ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกทางด้านสิ่งแวดล้อมในหมู่ผู้บริโภค   --ดังที่เรียกกันว่า  eco-label--   เป็นข้อบังคับทางเทคนิคที่ WTO ควรเข้ามาตรวจสอบ   แคนาดาเองก็ใช้ข้อตกลง TBT  เพื่อยื่นฟ้อง WTO  ต่อกรณีที่ฝรั่งเศสสั่งห้ามนำเข้าแร่ใยหิน17

 

การข่มขู่ที่ 1:   สหรัฐฯ กดดันสหภาพยุโรปให้ยกเลิกมาตรฐานสูงที่มีเป้าหมายลดขยะมลพิษของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

ในกรณีที่ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญ   สมาคมอิเล็กทรอนิกส์อเมริกัน  (American Electronics Association—AEA)  ซึ่งมีสมาชิกถึง 3,000 บริษัท   รวมทั้งโมโตโรลาและอินเทลด้วย   ใช้ WTO เพื่อโจมตีการเสนอข้อบังคับของสหภาพยุโรปที่มุ่งควบคุมขยะมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์   AEA  อ้างว่าข้อบังคับของสหภาพยุโรปเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO   เพราะมันควบคุมจำกัดการค้าโลหะหนักบางอย่างที่ใช้ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์    ไม่ได้ตั้งอยู่บนมาตรฐานสากล   และเป็นอุปสรรคต่อการค้าเกินกว่าความจำเป็นในการสนองจุดประสงค์ของข้อบังคับ18    เอกสารทางการทูตฉบับหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยื่นประท้วงต่อสหภาพยุโรประบุว่า   ข้อบังคับนี้เป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO   และชักชวนให้สหภาพยุโรปหันมาใช้มาตรฐานขยะมลพิษอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า19

ข้อบังคับของสหภาพยุโรปมีจุดมุ่งหมายที่จะลดปริมาณขยะที่เกิดจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์   และย้ายต้นทุนในการทำความสะอาดด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมาไปไว้ที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์   แทนที่จะเป็นภาระของสังคมส่วนรวมอย่างที่เป็นอยู่    วิธีนี้ถือเป็นวิธีการที่ทันสมัยที่สุดตามทัศนะขององค์กรสิ่งแวดล้อม20   มันบังคับให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต้องรับผิดชอบสินค้าตั้งแต่อู่กำเนิดไปจนถึงป่าช้า

ประการแรก  ข้อบังคับนี้จะสั่งห้ามสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของตะกั่ว, ปรอท, แคดเมียม,  เฮ็กซาแวเลนท์  โครเมียม  (hexavalent chromium)  และ  halogenated flame retardants  โดยเริ่มต้นในปี ค.ศ. 200421   AEA กล่าวหาว่า   ข้อบังคับเช่นนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

ประการที่สอง  มันจะบังคับให้มีการใช้วัสดุรีไซเคิล 5% สำหรับส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นพลาสติก   ประการที่สาม  ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะต้องรับผิดชอบการเก็บคืนและการกำจัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์   แต่ตามข้อโต้แย้งของ AEA   สหภาพยุโรปไม่สามารถตั้งเงื่อนไขเรื่องการรีไซเคิลต่อผู้ผลิตต่างประเทศ   เพราะภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO   สหภาพยุโรปไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือสิทธิที่จะผลักดันการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประเทศต่างชาติที่เป็นแหล่งผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์22   อย่างไรก็ตาม   เนื่องจากสุดท้ายแล้ว  สินค้าเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะที่ต้องกำจัดในสหภาพยุโรป   สหภาพยุโรปจึงมีเหตุผลในการอ้างว่ามีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญในการออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุที่ใช้ในสินค้านั้น

 

ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1999   สหภาพยุโรปเสนอที่จะแก้ไขข้อบังคับ  โดยยกเลิกเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวกับการรีไซเคิลและกลับลำในเรื่องการสั่งห้ามวัสดุที่เป็นอันตรายบางอย่าง23

กรณีนี้ให้ภาพชัดเจนว่ากฎเกณฑ์ของ WTO  เกื้อหนุนต่อภาคอุตสาหกรรม   และบรรดากระทรวงทางด้านการค้าที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรม   มักสกัดกั้นความก้าวหน้าในอันที่จะปรับปรุงมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม   เมื่อรัฐบาลของประเทศใดพยายามต่อกรกับปัญหาสิ่งแวดล้อม   ภาคอุตสาหกรรมในประเทศผู้ผลิตก็จะใช้การข่มขู่ของ WTO  เพื่อขัดขวางการดำเนินการนั้น   ประเทศที่ต้องการออกกฎข้อบังคับต้องเผชิญทางแพร่งระหว่างการคุ้มครองประชาชนของตน  หรือต้องประจันหน้ากับคณะตุลาการคลี่คลายข้อพิพาทของ WTO  และความเป็นไปได้ที่อาจถูกลงโทษทางการค้า

 

การข่มขู่ที่ 2:   อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ และยุโรปจับมือโจมตีกฎเกณฑ์อากาศสะอาดของญี่ปุ่นซึ่งเป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาเกียวโต

 

รัฐบาลญี่ปุ่นผูกมัดตัวเองภายใต้อนุสัญญาเกียวโต  (สนธิสัญญาเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน)   และมุ่งมั่นที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 6% จากระดับในปี ค.ศ. 199024    ญี่ปุ่นจึงริเริ่มแผนการอย่างรอบด้านเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   ซึ่งรวมถึงการกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของรถยนต์   โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดกลาง   ซึ่งมีมาตรฐานเข้มงวดน้อยกว่ารถประเภทอื่น25   กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเทียบเท่ากับความสามารถของเครื่องยนต์ที่ปลอดมลพิษที่สุดเท่าที่มีอยู่ในรถขนาดกลาง   เครื่องยนต์ที่ปลอดมลพิษที่สุดเท่าที่มีอยู่ในรถประเภทนี้คือเครื่องยนต์ที่ออกแบบโดยบริษัทมิตซูบิชิ26

ในปี ค.ศ. 1999   สหภาพยุโรปก็โวยวายขึ้นมา   ร่อนหนังสือไปถึงสำนักงานเลขาธิการ TBT ของ WTO  ร้องเรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใหม่นี้27   สหรัฐอเมริกาตามติดมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้บริษัทเดมเลอร์-ไครสเลอร์และบริษัทฟอร์ดมอเตอร์28    ในจดหมายลงวันที่ 8 มีนาคม 1999 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น   สหรัฐฯ ยืนยันว่าตนสนับสนุนเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   แต่ขณะเดียวกันก็อ้างว่า  กฎเกณฑ์ใหม่ของญี่ปุ่นอาจผิดกฎ WTO29   ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่างตั้งคำถามกับการที่ญี่ปุ่นวางมาตรฐานใหม่ไว้ที่สมรรถนะของเครื่องยนต์มิตซูบิชิ   โดยอ้างถึงข้อตกลง TBT  สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปโต้แย้งว่า  นี่เป็นการกีดกันผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ชนิดนั้น   ญี่ปุ่นตอบโต้ว่า  รถยนต์ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีลดการปล่อยมลพิษที่ดีที่สุดควรเป็นเป้าหมายของการออกกฎข้อบังคับ   เพราะรถยนต์ประเภทนี้เป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา   ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกิจภายใต้อนุสัญญาเกียวโตได้   ฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันว่า  ข้อบังคับใหม่นี้ร่างขึ้นมาอย่างยืดหยุ่น   เปิดช่องให้ผู้ผลิตรถของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ด้วยวิธีการใดก็ได้   และไม่ได้บังคับให้ใช้เครื่องยนต์มิตซูบิชิ   เพียงขอให้บรรลุสมรรถนะการใช้น้ำมันในระดับเดียวกันก็พอ

ยังต้องรอดูกันต่อไปว่า  สหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาจะฟ้องร้องอย่างเป็นทางการต่อ WTO หรือไม่

หากอนุสัญญาเกียวโต   ซึ่งไม่มีข้อจำกัดทางการค้าแต่อย่างใด  ถูกชี้ขาดว่าขัดต่อกฎของ WTO   ถ้าเช่นนั้น  การคุกคามของ WTO ที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และความมั่นคงของสิ่งแวดล้อม   จะยิ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนและส่งผลกระทบโดยตรงมากกว่าที่เคยคิดกันก่อนหน้านี้

 

การข่มขู่ที่ 3:  ยุโรปผ่อนปรนการสั่งห้ามการใช้กับดักสัตว์อย่างทารุณ

สหภาพยุโรปให้ความสนใจต่อปัญหาสวัสดิภาพของสัตว์มานานแล้ว   และมีการออกกฎหมายที่ก้าวหน้าเพื่อต่อต้านการทารุณสัตว์   ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยง  การขนส่งและกระบวนการปฏิบัติในโรงฆ่าสัตว์   ในปี ค.ศ. 1991  สหภาพยุโรปพยายามขยายธรรมเนียมปฏิบัตินี้ให้ครอบคลุมถึงการล่าดักสัตว์เพื่อเอาขน   แต่ทว่าต้องเผชิญกับการข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องต่อ WTO  จากสหรัฐฯ และแคนาดา   จนในท้ายที่สุดทำให้ข้อเสนอกฎหมายใหม่นี้ต้องอ่อนกำลังลงไป

สหภาพยุโรปสั่งห้ามการใช้กับดักที่ดักขาสัตว์ด้วยฟันเลื่อยเหล็กสำหรับสัตว์มีขน 13 ชนิดในยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 199530   การนำเข้าหนังดิบที่ได้จากการดักแบบนี้จะถูกสั่งห้ามโดยเริ่มในปี ค.ศ. 1995   นอกเสียจากประเทศผู้ส่งออกจะสั่งห้ามการใช้กับดักที่ดักขาสัตว์ด้วยฟันเลื่อยเหล็กอันทารุณนี้   หรือปฏิบัติลุล่วงตามมาตรฐานการล่าดักสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมอื่น ๆ

นักล่าดักสัตว์และผู้ค้าขนสัตว์ในทวีปอเมริกาเหนือและรัสเซียโต้แย้งว่า   กฎหมายและข้อบังคับเช่นนี้ถือเป็นอุปสรรคต่อการค้าอย่างไม่เป็นธรรม   มีเจตนาที่จะขัดขวางการค้าจากต่างประเทศ   (มีสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดภายใต้กฎหมายของสหภาพยุโรปฉบับนี้ที่เป็นสัตว์ท้องถิ่นในยุโรป)   และกีดกันการนำเข้าโดยอ้างเหตุผลถึงวิธีการผลิตสินค้านั้น ๆ ในต่างประเทศ

หลังจากสหรัฐฯ กับ WTO ขยับดาบข่มขวัญอยู่พักใหญ่   สหภาพยุโรปก็บรรลุข้อตกลงอันอ่อนปวกเปียกกับสหรัฐอเมริกา   ข้อเสนอคือเปิดช่องให้ค่อย ๆ ยกเลิกการใช้กับดักฟันเลื่อยในอีกหกปีข้างหน้า   ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังสามารถส่งออกขนสัตว์ไปยังยุโรปได้ต่อไป31   กลุ่มที่รณรงค์เกี่ยวปัญหาสวัสดิภาพของสัตว์วิจารณ์ว่า   ภาษาที่ใช้ในข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปมีความคลุมเครือจนไม่มีทางนำมาบังคับใช้ได้จริงจัง

ในอนาคต   การข่มขู่ด้วยมาตรการของ WTO และข้อตกลงอันอ่อนปวกเปียกที่เป็นผลตามมา   อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม   อาทิเช่น  ข้อบังคับในการฆ่าสัตว์  การขนส่ง  และการทดสอบสินค้าอุปโภคบริโภคกับสัตว์ในห้องทดลอง   รวมทั้งวิธีการตัดขนสัตว์ด้วย

 

การข่มขู่ที่ 4:  สหรัฐฯ ขู่ว่าการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยสมัครใจขัดต่อกฎของ WTO

 

การติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-label)  เป็นการสื่อสารถึงความแตกต่างของสินค้าโดยอาศัยบรรทัดฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคม   โครงการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจเป็นไปโดยสมัครใจหรือเป็นไปตามกฎข้อบังคับก็ได้   โดยมีสถาบันรับรองเป็นสถาบันของรัฐหรือดำเนินงานโดยเอกชน   การติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยกฎข้อบังคับที่มีการรับรองจากรัฐบาล   เท่าที่คุ้นเคยกันก็มีอาทิเช่น  ฉลากจัดอันดับการประหยัดไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า   และป้ายฉลาก  “ปลอดภัยต่อปลาโลมา”  ในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งถูก WTO ตัดตอนไปเมื่อไม่นานนี้เอง  เป็นต้น   โครงการติดป้ายฉลากโดยสมัครใจ   ซึ่งมีการรับรองจากสถาบันเอกชน  มีอาทิเช่น  ฉลาก Greenseal  และ  The Nordic Swan  ของสหรัฐฯ   ฉลาก  Blue Angel  ของเยอรมนี  เป็นต้น   ใน ค.ศ. 1992   สหภาพยุโรปผลักดันโครงการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยสมัครใจให้ครอบคลุมทั่วทั้งสหภาพยุโรป32

ในปี 1996   กลุ่มบรรษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เปิดฉากโจมตีการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างอึกทึกครึกโครม   “สันนิบาตเพื่อความจริงในข้อมูลการตลาดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม”  (The Coalition for Truth in Environmental Marketing Information)  ประกอบด้วยสมาคมของธุรกิจด้านการทำป่าไม้  พลาสติก  เคมี  อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์   รวมทั้งสมาคมผู้ผลิตสินค้าขายปลีกแห่งอเมริกาและสมาคมอุตสาหกรรมผู้แปรรูปอาหารแห่งชาติ33   เป้าหมายหลักของกลุ่มบรรษัทเหล่านี้คือ   ผลักดันจุดยืนของสหรัฐฯ ใน WTO  เพื่อดำเนินการหยุดยั้งการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยสมัครใจ   รวมทั้งระบบการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยข้อบังคับที่มีอยู่จำนวนมาก   ด้วยการหาทางทำให้การติดป้ายฉลากแบบนี้ผิดกฎของ WTO

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1996   สหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอที่วางบรรทัดฐาน 6 ข้อสำหรับการติดป้ายฉลากที่ถือว่าถูกต้องตามกฎของ WTO34   ข้อเสนอนี้ถูกเปิดโปงว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ   เมื่อเอกสารชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า  “แนวทางพื้นฐานของข้อเสนอฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับหลักการที่สามารถนำไปใช้กับโครงการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”   ซึ่งมีบรรทัดฐานหกข้อที่เหมือนกันเกือบหมด   บังเอิญหลุดออกมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ   โดยมีตราประทับโทรสารของบริษัทกฎหมายของภาคธุรกิจที่เป็นผู้ร่างเอกสารเห็นชัดคาตา   ความอื้อฉาวเกี่ยวกับที่มาของข้อเสนอนี้ช่วยโหมกระพือการเร่งรณรงค์ของกลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคที่จับมือกันเป็นเครือข่าย  “รักษาตรา  รักษาสิ่งแวดล้อม”  (“Save the Seals”)  พร้อมกับพันธมิตรที่มีอยู่ในสภาคองเกรส

 

ข้อเสนอนี้  ซึ่งร่างอย่างกว้าง ๆ เสียจนรวบรวมเอาแม้แต่ตรารับรองอย่าง  Good Housekeeping Seal of Approval  และการจัดอันดับของ  Consumer Reports  ไว้ภายใต้อำนาจของ WTO   อีกทั้งยังบังคับใช้มาตรฐานที่ไร้สาระและเห็นได้ชัดว่าไม่มีทางปฏิบัติตามได้สำหรับองค์กรที่ออกตรารับรอง   ยกตัวอย่างเช่น   องค์กรเหล่านี้ต้องแสดงให้เห็นว่า  โครงการออกตรารับรองไม่ส่งผลลัพธ์ให้เกิด  “[การ]ปฏิเสธโอกาสแข่งขันที่เท่าเทียมกันในการนำเข้า”   “ไม่เป็นอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้าระหว่างประเทศ”   และตั้งอยู่บนหลักฐานตามบรรทัดฐานของ  “วิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ”  ซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลง TBT35

 

ประเด็นการติดป้ายฉลากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการคลี่คลาย   คณะกรรมาธิการของ WTO  ถือว่าประเด็นนี้จบลงด้วยความคิดเห็นแตกแยกที่ไม่มีทางลงรอยกัน   อย่างไรก็ตาม   เมื่อเร็ว ๆนี้  สหรัฐฯ กับแคนาดาหยิบยกประเด็นการติดป้ายฉลากขึ้นมาอีกครั้งในคณะกรรมาธิการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า   โดยเกี่ยวข้องกับข้อเสนอในอังกฤษและประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่ต้องการติดป้ายฉลากระบุอาหารดัดแปลงพันธุกรรม36   และสหรัฐอเมริกาประกาศแล้วว่า  มีแผนที่จะฟ้องร้อง WTO  ในคดีที่สหภาพยุโรปมีโครงการติดป้ายฉลากระบุประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ37

 

ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมขัดต่อกฎของ WTO   ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม  (Multilateral Environmental Agreements—MEAs)   ครอบคลุมประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก   นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกไปจนถึงมลภาวะทางอากาศ   สัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจนถึงการขนถ่ายขยะที่เป็นกากพิษ   ข้อตกลงเหล่านี้เป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมถึงความก้าวหน้าและข้อผูกมัดระดับโลกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม   กระนั้นก็ดี   กฎหลายข้อของ WTO  ขัดแย้งโดยตรงกับ  MEAs   รวมทั้งข้อตกลงที่มีผลก่อนหน้าการก่อตั้ง WTO  มานานแล้ว

มีหลายวิถีทางที่ MEAs สามารถขัดต่อกฎของ WTO ได้   ประการแรก  ข้อตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศบางฉบับจำกัดการค้าขายโดยตรง   ยกตัวอย่างเช่น   อนุสัญญาว่าด้วยการค้าพันธุ์พืชและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ระหว่างประเทศ  (Convention on International Trade in Endangered Species-CITES)  สั่งห้ามการค้าสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์    อนุสัญญาบาเซิลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายขยะกากพิษข้ามพรมแดน  (Basel Convention on the Transboundary Movement of Hazardous Waste)   ห้ามการส่งออกขยะที่เป็นพิษจากประเทศร่ำรวย  (ซึ่งเป็นต้นตอของขยะพิษ 98% ในโลก)  ไปยังประเทศกำลังพัฒนา   และพิธีสารมอนทรีออล  (Montreal Protocol)  ห้ามการค้าขายสารเคมีที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ   รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีเหล่านี้ด้วย   ประการที่สอง  สนธิสัญญาเหล่านี้และข้อตกลงอื่น ๆ  บางครั้งใช้การคว่ำบาตรทางการค้าเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์   จริงอยู่  ข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไม่ครอบคลุมถึงการคว่ำบาตรทางการค้า   แต่อาจเรียกร้องให้ประเทศที่ลงนามในสัญญาใช้นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะ  (เช่น  แร่ใยหิน)  ของประเทศหนึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์จากประเทศอื่น   ดังนั้น  ข้อตกลง MEAs ในทุกรูปแบบมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะขัดแย้งกับกฎของ WTO/GATT

นอกจากนั้น   มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วระหว่างกฎของ WTO  กับ  MEAs  ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการค้าด้วยซ้ำ   ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น   สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใช้ข้อผูกมัดของ WTO  เพื่อตอบโต้ต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่ปรับปรุงกฎหมายประสิทธิภาพการใช้น้ำมันให้เข้มงวดขึ้นตามข้อเรียกร้องภายใต้อนุสัญญาเกียวโตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก

ประการสุดท้าย   MEAs แตกต่างจาก WTO  ตรงที่  WTO มีอำนาจบังคับใช้กฎเกณฑ์ในตัวเอง  (self-executing  กล่าวคือ  มีกลไกบังคับใช้กฎเกณฑ์เป็นของตนเอง)   ส่วน MEAs เพียงแต่สร้างข้อผูกมัดที่แต่ละประเทศตกลงที่จะปฏิบัติตาม   ยกตัวอย่างเช่น  CITES จัดทำรายการสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์   ซึ่งประเทศที่ลงนามในข้อตกลงเห็นพ้องว่าจำเป็นต้องให้การคุ้มครอง   แต่การบังคับใช้ข้อตกลงของ CITES ไม่ได้มาจากองค์กรกลางของ CITES เอง   ทว่าเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายภายในประเทศของแต่ละประเทศที่ลงนามในข้อตกลงต่างหาก   ดังนั้น  ข้อผูกมัดตามข้อตกลง CITES ในสหรัฐอเมริกาจึงบังคับใช้โดยอาศัยรัฐบัญญัติคุ้มครองสัตว์และพืชใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐอเมริกา  (U.S. Endangered Species Act--ESA)    ข้อกำหนดใน ESA สั่งห้ามการนำเข้าสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ตามรายการของ CITES   รวมไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์และพืชประเภทนี้   และสนับสนุนให้มีการคว่ำบาตรต่อประเทศที่ละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าว   ประเทศอื่น ๆ ก็มีกฎหมายภายในประเทศคล้าย ๆ กันเพื่อส่งเสริมข้อผูกมัดของ CITES   แต่ภายใต้กฎของ WTO   กฎหมายภายในประเทศเช่นนี้สามารถถูกร้องเรียนว่าเป็นอุปสรรคต่อการค้าที่ไม่ชอบธรรม   และมีการร้องเรียนเกิดขึ้นแล้วด้วย

คณะตุลาการคลี่คลายข้อพิพาทของ WTO  ไม่จำเป็นต้องตีความว่าการมีอยู่ของข้อตกลง MEAs  เป็นหลักฐานสนับสนุนกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ถูกร้องเรียนว่าละเมิดกฎของ WTO    อันที่จริง  กติกาของกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า   ข้อผูกมัดระหว่างประเทศ  “ฉบับล่าสุด”  ถือว่าเหนือกว่าข้อผูกมัดก่อนหน้านี้   นอกเสียจากในกรณีที่เป็นข้อยกเว้น38   ในขณะที่ยังอุตส่าห์มีอนุมาตราที่เป็น  “ข้อยกเว้น”  สองสามข้อถูกผลักดันเข้าไปใน NAFTA   ซึ่งให้ความสำคัญแก่ข้อตกลง MEAs สามข้อเหนือกว่ากฎเกณฑ์การค้าเสรีที่ขัดแย้งกัน39   แต่เห็นได้ชัดว่าข้อยกเว้นเช่นนี้ขาดหายไปอย่างสิ้นเชิงใน WTO  หรือข้อตกลงที่นำไปสู่การก่อตั้งองค์การการค้าโลก   จนถึงปัจจุบัน  มีการตัดสินชี้ขาดหลายครั้ง  ทั้งภายใต้ GATT และ WTO  ที่เป็นผลร้ายต่อความพยายามภายในประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการปฏิบัติตามข้อผูกมัดภายใต้ MEAs

 


 

เชิงอรรถ

1.       WTO,  “Trade and the Environment in the WTO,”  Press Brief,  Apr. 16,1997.

2.       Robert Evans,  “Green Push Could Damage Trade Body—WTO Chief,”  Reuters,  May  15, 1998.

3.       WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline  (WT/DS2/R),  Report of the Panel,  Jan. 29, 1996.

4.       ดู  WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline  (WT/DS2/AB/R),  Report for the Appellate Body,  May 20, 1996.

5.       62  Fed.  Reg.  24776,  May 6, 1997,  at Appendix 19.

6.       WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline  (WT/DS2/9),  Consolidated Report of the Panel and the Appellate Body,  May 20, 1996, at Part C (Conclusions).

7.       62  Fed.  Reg.  24776,  May 6, 1997,  at Appendix 19.

8.       WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline,  Second Submission of the United States,  Aug. 17, 1995, at 22-24.

9.       John Malek and Dr. Peter Bowler,  Dolphin Protection in the Tuna Fishery,  Interdisciplinary Minor in Global Sustainability,  Seminar,  Irvine:  University of California Press  (1997),  at 1.

10.    GATT,  United States—Restrictions on Imports of Tuna  (DS21/R),  Report of the Panel,  Sep. 3, 1991.

11.    GATT,  United States—Restrictions on Imports of Tuna  (DS29/R),  Report of the Panel,  June 1994.

12.    “Clinton Pledges Early,  Renewed Effort to Pass Tuna-Dolphin Bill,”  Inside U.S. Trade,  Oct. 1996.

13.    Public Law 93-205,  16 U.S. 1531 et.seq.;  ดูประกอบ 52 Fed. Reg. 24244,  Jun. 29,  1987.

14.    Id.  at Article 2.2.

15.    Id.  at Article 2.4.

16.    European Communities—Measures Affecting the Prohibition of Asbestos and Asbestos Products  (LWT/DS 135),  Complaint by Canada,  May 28, 1998.

17.    American Electronics Association,  Legality Under International Trade Law of Draft Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment,  Mar. 1999,  prepared by Rod Hunter and Marta Lopez of Hunton & Williams,  Brussels,  on file with Public Citizen.

18.    U.S. Department of State Demarche to DG1,  DGIII  (industry)  and DGXI  (environment),  Jan. 11, 1999, at 4, on file with Public Citizen.

19.    Id.  at Article 4.4.

20.    European Union DGXI,  Second Draft Proposal for a Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment,  Jul. 1998.

21.    Id. at 13.

22.    ดู  Embassy of Japan,  Backgrounder on Amendments to its Law Concerning Rational Use of Energy Law (1999) , on file with Public Citizen.

23.    European Union DGX1,  Official Proposal for Directive on WEEE,  July 1999.

 

24.    ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี  lean-burn  ที่ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลง   โดยอาศัยการสูบอากาศเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าอัตราส่วนการสันดาประหว่างอากาศกับน้ำมันตามทฤษฎี   เพื่อทำให้เกิดการประหยัดน้ำมัน  ดู  Id.

25.    Japan,  Law Concerning Rational Use of Energy,  Jun. 22, 1979,  revised Jun. 5, 1998.

26.    ดู  “TBT Notification 99.003,”  Letter from European Commission Industrial Secretariat,  1999,  on file with Public Citizen.

27.    ตามแหล่งข่าวในรัฐบาลญี่ปุ่น   สหรัฐฯ เข้าร่วมในการต่อต้านกฎหมายประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของญี่ปุ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเดมเลอร์-ไครสเลอร์   ในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 1999   เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า  ประธานบริษัทฟอร์ดมอเตอร์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้ต่อนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน  จาก  Official with Japanese Embassy in Washington, D.C.,  personal communication with Michelle Sforza,  Research Director,  Public Citizen’s Global Trade Watch,  May 13, 1999.

28.    ดู  Letter from Ferial Ara Saeed,  First Secretary of the Economic Section of the U.S. Embassy to Mr.Kazuyoshi Umemoto,  Director of the First International Organizations Division of the Economics Affairs Bureau of the Ministry of Foreign Affairs,  Mar. 8, 1999.

29.    European Economic Council (EEC)  Regulation No. 3254/91,  Nov. 4, 1991,  at Articles 2 and 3,  Annex I.

30.    Neil Buckly,  “New Offer by U.S. on Leg-Hold Traps,”  Financial Times,  Dec. 1, 1997.

31.    ดู  U.S. Trade Representative,  1999 National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers  (1999),  at 115.

32.    ดู  Signatories to Feb. 6, 1996,  “Open Letter to Policymakers from Coalition for Truth  in Environmental Marketing Information,”  on file with Public Citizen.

33.    WTO Committee on Trade and Environment Document  WT/CTE/W/27,  “U.S. Proposals Regarding Further Work on Transparency of Eco-Labeling,”  Mar. 25, 1996.

34.    Suggested Basis of  U.S. Proposal Regarding Principles Applicable to Eco-Labeling Programs,  May 22, 1996,  on file with Public Citizen.

 

35.    Id.

36.    “TBT Committee Discusses Labeling Standards,”  BRIDGES Weekly Trade News Digest,  Vol. 3, no. 24,  June 14, 1999.

37.    Keith Koffler,  “Administration to Bring Seven Trade Complaints to the WTO,”  CongressDaily,  May 3, 1999.

38.    (1969)  Vienna Convention on the Law of Treaties  at Article 30(2).

39.    North American Free Trade Agreement (NAFTA)  at ò104.

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: