องค์การการค้าโลก
การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท
The WTO
Five Years of Reasons
to Resist Corporate Globalization
โดย
โลรี วัลลัช (Lori Wallach)
มิเชล สฟอร์ซา (Michelle Sforza)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
3.
WTO กับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารและสาธารณสุข
ตลอดเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานตรวจสอบทางด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ คอยแทรกแซงเข้ามาในตลาดเพื่อรักษาชีวิตของชาวอเมริกันหลายล้านคน ไม่เช่นนั้น ประชาชนคงต้องตกอยู่ในภาวะล่อแหลมจากอันตรายของอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน1 แต่เพราะต้องการเพิ่มปริมาณการค้าอย่างหน้ามืดตามัว กฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ของ WTO กำลังทำลายมาตรการสำคัญ ๆ ที่คุ้มครองความปลอดภัยของอาหาร สาธารณสุข รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับอนามัยของสัตว์และพันธุ์พืชทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ทั่วโลก
นอกเหนือจากการฟ้องร้อง WTO เป็นผลสำเร็จต่อกรณีที่สหภาพยุโรปสั่งห้ามเนื้อวัวที่มีสารฮอร์โมนตกค้าง รวมถึงกฎหมายด่านกักกันโรคในหลาย ๆ ประเทศ การขู่ว่าจะฟ้องร้องต่อ WTO ยังทำให้เกาหลีใต้ยอมผ่อนปรนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารสองฉบับ การข่มขู่ด้วย WTO ยังเห็นได้เด่นชัดในกรณีที่สหรัฐฯ ตอบโต้ต่อการที่เดนมาร์กสั่งห้ามสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์หลายประเภท และนโยบายที่ใช้กันแพร่หลายในยุโรปเกี่ยวกับสารพิษในของเล่นเด็กที่ใช้กัด
ขณะเดียวกัน เงื่อนไขของ WTO ที่ต้องการให้ “สร้างความเป็นหนึ่งเดียว” ขึ้นในมาตรฐานของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดมาตรฐานสากลเพียงหนึ่งเดียว ยังทำให้สหรัฐอเมริกาประกาศว่า เนื้อวัวนำเข้าจากออสเตรเลียที่บริษัทดำเนินการตรวจสอบเองมีความปลอดภัยเท่าเทียมกับเนื้อวัวที่รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ตรวจสอบ เนื้อวัวนำเข้าเหล่านี้สามารถเข้ามาขายในตลาดสหรัฐฯ และติดป้ายฉลากว่าได้มาตรฐานตามกฎหมาย
ในประการสุดท้าย WTO ยังให้อำนาจแก่องค์กรระหว่างประเทศที่ถูกครอบงำโดยภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ให้เป็นผู้วางมาตรฐานที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO
ข้อตกลง SPS: การค้าสำคัญกว่าสุขภาพ ข้อตกลงของ WTO ว่าด้วยมาตรการเกี่ยวกับสุขอนามัยและความปลอดภัยของพืชและสัตว์ (Agreement on Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) กำหนดให้ประเทศสมาชิกของ WTO ต้องจำกัดนโยบายภายในประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร (รวมถึงสารปนเปื้อน สารปรุงแต่งและการตรวจสอบอาหาร) รวมทั้งอนามัยของพืชและสัตว์ (ข้อบังคับเกี่ยวกับศัตรูพืช ด่านกักกันโรคและยารักษาสัตว์) ให้อยู่ภายในขอบเขตคงที่ที่ WTO วางไว้
เป้าหมายพื้นฐานของข้อตกลง SPS ก็คือ อำนวยความสะดวกแก่การค้าโดยขจัดความแตกต่างในข้อบังคับเกี่ยวกับอาหารที่ทำให้ตลาดโลกแบ่งแยกออกจากกัน2 ข้อตกลงนี้วางกฎเกณฑ์เข้มงวดที่ครอบคลุมทั้งเป้าหมายทางนโยบายที่อนุญาตให้ใช้ได้ และวิธีการปฏิบัติที่แต่ละประเทศใช้คุ้มครองความปลอดภัยของอาหารและสุขอนามัยของพืชและสัตว์ ประเทศสมาชิก WTO สามารถฟ้องร้องซึ่งกันและกันว่า นโยบายของอีกฝ่ายหนึ่งตั้งเป้าเกินขอบเขตจำกัดที่ตั้งไว้ โดยอาศัยระบบคลี่คลายข้อพิพาทที่มีผลบังคับของ WTO
เพื่อกรุยทางให้เกิดมาตรฐานสากลเดียวกันในข้อบังคับเกี่ยวกับอาหาร ข้อตกลง SPS สร้างบรรทัดฐานและการทดสอบ ซึ่งนโยบายเกี่ยวกับอาหารและอนามัยของพืชและสัตว์ต้องสอบผ่านเพื่อให้เป็นไปตามกฎของ WTO ประการแรก มาตรการ SPS ไม่สามารถใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายอื่นใด นอกเหนือจากเป้าหมายทางด้านชีวิตหรือสุขอนามัยของคน พืชหรือสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศหนึ่งใดไม่สามารถสั่งห้ามยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่ง ด้วยเหตุเพราะยาฆ่าแมลงชนิดนั้นเป็นสาเหตุทำให้ไข่ของนกป่ามีเปลือกบางลง แล้วรับรองการสั่งห้ามนี้ว่าถูกต้องชอบธรรมตามมาตรการ SPS (นี่คือหลักการพื้นฐานในกรณีที่สหรัฐฯ สั่งห้ามดีดีที)
ประการที่สอง ภายใต้ข้อตกลง SPS ระดับความคุ้มครองที่ประเทศหนึ่ง ๆ เลือกใช้สำหรับประชาชนของตน เป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของ WTO แม้ว่ามาตรฐานนั้นจะใช้กับสินค้าภายในและต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม3 ข้อตกลง SPS ชี้นำให้ประเทศสมาชิกใช้เทคนิคที่เรียกกันว่า “การประเมินความเสี่ยง” ในการตั้งมาตรฐานเกี่ยวกับอาหาร กระนั้นก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐานของสหรัฐฯ บางข้อก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนการประเมินปริมาณความเสี่ยง ที่พอรับได้ แต่สั่งห้ามไว้ก่อนเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงนั้นเลย มาตรฐานแบบ “ความเสี่ยงเป็นศูนย์” เช่นนี้ แม้ว่าจะปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากกว่า แต่จะกลายเป็นปัญหาภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO เพราะไม่ได้ใช้การประเมินความเสี่ยงในรูปแบบที่ WTO ให้การรับรอง
ประการที่สาม ข้อตกลง SPS จำกัดสิทธิของประเทศต่าง ๆ ในอันที่จะใช้หรือรักษามาตรฐานที่สูงเกินกว่าบรรทัดฐานที่องค์กรระหว่างประเทศประกาศใช้5 WTO ให้อำนาจหน่วยงานบางแห่ง โดยยกให้เป็นองค์กรจัดวางมาตรฐานสากล เพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับความปลอดภัยของอาหารและอนามัยของพืชและสัตว์ (รวมทั้งความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และมาตรฐานทางเทคนิค)
น่าเสียดายที่องค์กรจัดวางมาตรฐานเหล่านี้ กล่าวคือ องค์กร Codex Alimentarius รับผิดชอบทางด้านความปลอดภัยของอาหาร และองค์การสร้างมาตรฐานสากล (International Organization on Standardization—ISO) ที่ดูแลมาตรฐานทางด้านเทคนิค ผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม ต่างถูกภาคอุตสาหกรรมครอบงำและดำเนินงานในระบบปิด ขาดความโปร่งใสหรือการกำกับดูแลจากสาธารณชน (หากจะกล่าวไปแล้ว ISO เป็นองค์กรภาคเอกชนล้วน ๆ ด้วยซ้ำ) ไม่น่าประหลาดใจเลยที่องค์กรเหล่านี้มักวางมาตรฐานที่อ่อนกว่ามาตรฐานของรัฐบาล ซึ่งมักมาจากการวางนโยบายที่เปิดกว้างและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง
ในการรักษาข้อบังคับที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานสากล ประเทศต่าง ๆ จำต้องก้าวข้ามกำแพงสูงที่เป็นเครื่องกีดขวาง ประเทศเหล่านี้ต้องพิสูจน์ว่า ระดับความคุ้มครองที่กำหนดเป็นไปตามเงื่อนไขของ WTO และไม่มีทางอื่นที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ชอบธรรมตามกฎเกณฑ์ของ WTO โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการค้า กฎเกณฑ์ของ SPS จะส่งผลมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการขจัดความแตกต่างในกฎหมายของชาติต่าง ๆ รวมทั้งจำกัดความเข้มงวดในการคุ้มครองความปลอดภัยของอาหาร
สถิติที่ผ่านมาของ WTO ในด้านความปลอดภัยของอาหารและกฎหมายด่านกักกันโรค หลังจากก่อตั้งมาได้ห้าปี แนวโน้มในเวทีทางด้านอาหารก็ออกลายให้เห็น คณะตุลาการของ WTO ชี้ขาดในทางที่เป็นผลร้ายต่อความปลอดภัยของอาหารและกฎหมายกักกันโรคพืชหรือสัตว์ในทุกกรณี โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการค้าเกินกว่าความจำเป็น กรณีที่เกิดขึ้นประกอบด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคของสหภาพยุโรปด้วยการสั่งห้ามนำเข้าเนื้อวัวที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ข้อกำหนดของญี่ปุ่นในการตรวจสอบเพื่อกันไม่ให้แมลงศัตรูพืชในผลไม้บางชนิดเล็ดรอดเข้ามาในประเทศ และกฎหมายกักกันโรคของออสเตรเลียในการนำเข้าปลาแซลมอนดิบ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองอนามัยของปลาในท้องถิ่น กรณีปลาแซลมอนของออสเตรเลียเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะคณะศาลชั้นอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นว่า ทุกครั้ง ก่อน ที่ประเทศสมาชิกจะผ่านหรือบังคับใช้กฎเกณฑ์ใด ๆ เกี่ยวกับศัตรูและโรคของพืชและสัตว์ ประเทศนั้น ๆ จะต้องจัดทำการประเมินความเสี่ยงซึ่งมีต้นทุนสูงและกินเวลานาน เพื่อชี้ชัดว่ามีความเสี่ยงอะไรแค่ไหนต่อสัตว์หรือพืชดังกล่าว6
คดีที่ 1: WTO ยืนกรานให้ยุโรปต้องยอมรับการนำเข้าเนื้อวัวที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต
นี่คือความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของนโยบายสาธารณสุขและความปลอดภัยที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดว่า สารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายควรได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยก่อนที่จะออกวางตลาด ในปี ค.ศ. 1997 คณะตุลาการของ WTO ตัดสินชี้ขาดเพื่อล้มคว่ำการสั่งห้ามของสหภาพยุโรปที่มีต่อเนื้อวัวที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1988 สหภาพยุโรปสั่งห้ามขายเนื้อวัวจากคอกปศุสัตว์ที่ใช้ฮอร์โมนเทียม คำสั่งห้ามนี้บังคับใช้อย่างไม่มีการแบ่งแยก ทั้งต่อผลิตภัณฑ์เนื้อวัวภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ7 การได้รับฮอร์โมนเทียมโดยตรงมีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งและการมีประจำเดือนก่อนวัยอันควรของเด็กผู้หญิง8 แม้ว่าฮอร์โมนเทียมที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์ที่บริโภคเข้าไปจะสร้างความเสี่ยงต่อมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีการตรวจวัดที่แน่ชัดก็ตามที แทนที่จะพยายามประเมินหาปริมาณความเสี่ยงที่พอรับได้ซึ่งหาความแน่นอนได้ยาก หรือรอให้ผลร้ายต่อสุขภาพมนุษย์สั่งสมจนเห็นผลในระยะยาว สหภาพยุโรปเลือกที่จะป้องกันไม่ให้สาธารณชนต้องรับความเสี่ยงจากฮอร์โมนชนิดนี้เสียเลย
อุตสาหกรรมเนื้อวัวและเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ คัดค้านนโยบายนี้ของสหภาพยุโรปมานานแล้ว9 ในเดือนมกราคม 1996 สหรัฐฯ ร้องเรียนคำสั่งห้ามนี้ต่อ WTO10 ในปี ค.ศ. 1998 คณะตุลาการของ WTO ชี้ขาดว่า การสั่งห้ามเนื้อวัวปนเปื้อนฮอร์โมนเป็นมาตรการที่ผิดกฎเกณฑ์ภายใต้ข้อตกลง SPS ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสั่งห้ามนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนการประเมินความเสี่ยงที่ WTO ให้การรับรอง11 คณะศาลชั้นอุทธรณ์ของ WTO ตัดสินยืนตามการชี้ขาดของคณะตุลาการชั้นต้น และมีคำสั่งให้สหภาพยุโรปต้องเริ่มนำเข้าเนื้อวัวที่ปนเปื้อนฮอร์โมนเทียมจากสหรัฐฯ ภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 199912
หลังจากที่สหภาพยุโรปไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะตุลาการ WTO เมื่อถึงกำหนดเส้นตายในเดือนพฤษภาคม 1999 ในวันที่ 12 กรกฎาคม 1999 WTO เห็นชอบต่อคำร้องขอของสหรัฐฯ ที่จะบังคับให้มีการลงโทษทางการค้าเพื่อตอบโต้ต่อสินค้าที่ผลิตในยุโรป13
ในคำตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับเนื้อวัวปนเปื้อนฮอร์โมนนี้ WTO ประกาศชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้ใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารก่อนที่จะมีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่นอน นอกจากนี้ WTO ยังพยายามขจัดปัจจัยอื่น ๆ ออกไปจากกระบวนการสร้างมาตรฐาน อาทิเช่น ค่านิยมทางวัฒนธรรม ทัศนคติและลำดับความสำคัญของในแต่ละสังคม รวมไปจนถึงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องประชาชนจากสารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายโดยไม่จำเป็นด้วย การชี้ขาดของ WTO ในคดีนี้ถือเป็นการสร้างผลสะเทือนโดยตรงต่อเสาหลักเสาหนึ่งในนโยบายสาธารณสุขปัจจุบัน นั่นคือ หลักการปลอดภัยไว้ก่อน (Precautionary Principle) ภายใต้หลักการนี้ สารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต้องได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยก่อนที่จะนำออกวางตลาด
แต่ WTO กลับล้มคว่ำกลับหัวหลักการปลอดภัยไว้ก่อนเสียใหม่ โดยผลักภาระในการพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ปลอดภัยหรือไม่ จากผู้ผลิตไปไว้ที่รัฐบาล ภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO รัฐบาลต้องมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นอันตรายเสียก่อน รัฐบาลจึงจะออกกฎควบคุมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ การไม่ยอมรับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ทั้ง ๆ ที่มีเหตุผลชัดเจนในหลักการปลอดภัยไว้ก่อน เท่ากับ WTO ประกาศกึกก้องแล้วว่า มันให้ความสำคัญต่อใครเป็นอันดับแรก
การข่มขู่ที่ 1: การข่มขู่ของสหรัฐอเมริกาต่อการสั่งห้ามของเล่นเด็กที่ใช้ฟันกัดของสหภาพยุโรปส่งผลสะท้อนกลับ
ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ทารกได้รับสารพิษจากของเล่นเด็ก ทำให้สหภาพยุโรปออกกฎควบคุมสารเคมีบางอย่างที่ใช้กันดาษดื่นในของเล่นเด็ก โดยเฉพาะยางสำหรับกัดและของเล่นที่ใส่เข้าปาก ด้วยการสั่งห้ามสารแธลเลทที่อาจเป็นพิษ สารนี้มีคุณสมบัติทำให้พลาสติกแข็งเกิดความอ่อนเหนียวยืดหยุ่น แทนที่จะเปราะแตกง่าย รวมทั้งบังคับให้ติดป้ายฉลากระบุส่วนประกอบของของเล่น14 ผู้ผลิตของเล่นสัญชาติอเมริกันออกมาชี้ว่า ข้อเสนอนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าที่ผิดกฎเกณฑ์15
เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพมีมากขึ้น ประเทศในยุโรปหลายประเทศออกมาแนะนำว่า อุตสาหกรรมของเล่นควรสมัครใจเลิกใช้สารสร้างความอ่อนตัวแก่พลาสติกในของเล่นที่วางตลาดให้เด็กอายุต่ำกว่าสามขวบภายในปี ค.ศ. 199716 ส่วนประเทศอื่น ๆ เริ่มพิจารณาที่จะออกคำสั่งห้ามเป็นรัฐบัญญัติ
ด้วยอาการวิตก “บริษัทผู้ผลิตของเล่นชั้นนำต่อสายไปถึงกระทรวงพาณิชย์...เพื่อแก้ไขปัญหา”17 ทั้งนี้เป็นข้อมูลตามบันทึกช่วยจำของกระทรวงการต่างประเทศ บันทึกของกระทรวงการต่างประเทศที่ส่งไปถึงผู้รับผิดชอบในรัฐบาลยุโรป กล่าวในทำนองว่า ประเทศในยุโรปกำลังเข้มงวดเกินไปและตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายอเมริกันจำกัดการใช้สารแธลเลทไปแล้ว บันทึกฉบับนี้ยังระบุว่า บริษัทผู้ผลิตของเล่นของอเมริกาเต็มใจจำกัดสารแธลเลทให้เหลือเพียง 3% ในหัวนมยางและของเล่นที่ใช้ฟันกัด บันทึกยังวิจารณ์ด้วยว่า การสั่งห้ามวางตลาดเป็นกฎเกณฑ์ที่เกินมาตรฐานของฝ่ายสหรัฐอเมริกา
กระทรวงการต่างประเทศส่งสัญญาณเตือนไปที่สถานกงสุลและสถานเอกอัครราชทูตให้หาทางกดดันเพื่อถอนคำสั่งห้ามวางตลาด “ให้ทันช่วงจับจ่ายสินค้าในเทศกาลคริสต์มาส”18 ลอสแองเจลิสไทมส์ รายงานว่า รัฐบาลคลินตันกำลัง “ดำเนินการตามคำสั่งของบริษัทแมทเทลและบริษัทของเล่น [อื่น ๆ]”19
แต่การโหมรณรงค์ของกลุ่มกรีนพีซและองค์กรอื่น ๆ สร้างแรงสนับสนุนที่เข้มแข็งเพียงพอแก่มาตรการนี้ รัฐบาลในยุโรปจึงไม่หวั่นเกรงต่อการข่มขู่ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1999 สหภาพยุโรปตัดสินใจปล่อยให้ประเทศสมาชิกออกกฎควบคุมสารแธลเลท โดยให้แต่ละประเทศออกเป็นกฎหมายกันเอาเอง20 ในที่สุด อุตสาหกรรมของเล่นก็ออกมาประกาศว่า จะเริ่มยกเลิกการใช้สารแธลเลทในผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้เด็กและทารกนำเข้าปาก21
เชิงอรรถ
1. WTO, “Trade and the Environment in the WTO,” Press Brief, Apr. 16,1997.
2. Robert Evans, “Green Push Could Damage Trade Body—WTO Chief,” Reuters, May 15, 1998.
3. WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline (WT/DS2/R), Report of the Panel, Jan. 29, 1996.
4. ดู WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline (WT/DS2/AB/R), Report for the Appellate Body, May 20, 1996.
5. 62 Fed. Reg. 24776, May 6, 1997, at Appendix 19.
6. WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline (WT/DS2/9), Consolidated Report of the Panel and the Appellate Body, May 20, 1996, at Part C (Conclusions).
7. 62 Fed. Reg. 24776, May 6, 1997, at Appendix 19.
8. WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline, Second Submission of the United States, Aug. 17, 1995, at 22-24.
9. John Malek and Dr. Peter Bowler, Dolphin Protection in the Tuna Fishery, Interdisciplinary Minor in Global Sustainability, Seminar, Irvine: University of California Press (1997), at 1.
10. GATT, United States—Restrictions on Imports of Tuna (DS21/R), Report of the Panel, Sep. 3, 1991.
11. GATT, United States—Restrictions on Imports of Tuna (DS29/R), Report of the Panel, June 1994.
12. “Clinton Pledges Early, Renewed Effort to Pass Tuna-Dolphin Bill,” Inside U.S. Trade, Oct. 1996.
13. Public Law 93-205, 16 U.S. 1531 et.seq.; ดูประกอบ 52 Fed. Reg. 24244, Jun. 29, 1987.
14. Id. at Article 2.2.
15. Id. at Article 2.4.
16. European Communities—Measures Affecting the Prohibition of Asbestos and Asbestos Products (LWT/DS 135), Complaint by Canada, May 28, 1998.
17. American Electronics Association, Legality Under International Trade Law of Draft Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment, Mar. 1999, prepared by Rod Hunter and Marta Lopez of Hunton & Williams, Brussels, on file with Public Citizen.
18. U.S. Department of State Demarche to DG1, DGIII (industry) and DGXI (environment), Jan. 11, 1999, at 4, on file with Public Citizen.
19. Id. at Article 4.4.
20. European Union DGXI, Second Draft Proposal for a Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment, Jul. 1998.
21. Id. at 13.
22. ดู Embassy of Japan, Backgrounder on Amendments to its Law Concerning Rational Use of Energy Law (1999) , on file with Public Citizen.
23. European Union DGX1, Official Proposal for Directive on WEEE, July 1999.
24. ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี lean-burn ที่ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลง โดยอาศัยการสูบอากาศเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าอัตราส่วนการสันดาประหว่างอากาศกับน้ำมันตามทฤษฎี เพื่อทำให้เกิดการประหยัดน้ำมัน ดู Id.
25. Japan, Law Concerning Rational Use of Energy, Jun. 22, 1979, revised Jun. 5, 1998.
26. ดู “TBT Notification 99.003,” Letter from European Commission Industrial Secretariat, 1999, on file with Public Citizen.
27. ตามแหล่งข่าวในรัฐบาลญี่ปุ่น สหรัฐฯ เข้าร่วมในการต่อต้านกฎหมายประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของญี่ปุ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเดมเลอร์-ไครสเลอร์ ในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1999 เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า ประธานบริษัทฟอร์ดมอเตอร์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้ต่อนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน จาก Official with Japanese Embassy in Washington, D.C., personal communication with Michelle Sforza, Research Director, Public Citizen’s Global Trade Watch, May 13, 1999.
28. ดู Letter from Ferial Ara Saeed, First Secretary of the Economic Section of the U.S. Embassy to Mr.Kazuyoshi Umemoto, Director of the First International Organizations Division of the Economics Affairs Bureau of the Ministry of Foreign Affairs, Mar. 8, 1999.
29. European Economic Council (EEC) Regulation No. 3254/91, Nov. 4, 1991, at Articles 2 and 3, Annex I.
30. Neil Buckly, “New Offer by U.S. on Leg-Hold Traps,” Financial Times, Dec. 1, 1997.
31. ดู U.S. Trade Representative, 1999 National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (1999), at 115.
32. ดู Signatories to Feb. 6, 1996, “Open Letter to Policymakers from Coalition for Truth in Environmental Marketing Information,” on file with Public Citizen.
33. WTO Committee on Trade and Environment Document WT/CTE/W/27, “U.S. Proposals Regarding Further Work on Transparency of Eco-Labeling,” Mar. 25, 1996.
34. Suggested Basis of U.S. Proposal Regarding Principles Applicable to Eco-Labeling Programs, May 22, 1996, on file with Public Citizen.
35. Id.
36. “TBT Committee Discusses Labeling Standards,” BRIDGES Weekly Trade News Digest, Vol. 3, no. 24, June 14, 1999.
37. Keith Koffler, “Administration to Bring Seven Trade Complaints to the WTO,” CongressDaily, May 3, 1999.
38. (1969) Vienna Convention on the Law of Treaties at Article 30(2).
39. North American Free Trade Agreement (NAFTA) at ò104.