องค์การการค้าโลก
การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท
The WTO
Five Years of Reasons
to Resist Corporate Globalization
โดย
โลรี วัลลัช (Lori Wallach)
มิเชล สฟอร์ซา (Michelle Sforza)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล
5.
WTO กับทรัพย์สินทางปัญญา
การเข้าถึงยาและการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต
สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights—IPRs) ให้สิทธิการครอบครองและการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ความคิด งานสร้างสรรค์ทางศิลปะ (เช่น นวนิยาย ดนตรีและภาพยนตร์) นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการตลาด (ตราและเครื่องหมายการค้า เป็นต้น) ข้อตกลงของ WTO ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property: TRIPs) ผลักดันให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามีผลบังคับใช้ทั่วโลก และตั้งเงื่อนไขให้สมาชิก WTO ทั้งหมดออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อบังคับใช้สิทธิดังกล่าว
ระดับของการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่กำหนดไว้ตามข้อตกลง TRIPs จัดว่าสูงมากทีเดียว สูงกว่าระดับที่ประเทศสมาชิก WTO ส่วนใหญ่กำหนดไว้ก่อนลงนามในข้อตกลงรอบอุรุกวัย มิหนำซ้ำยังกินความกว้างมาก ครอบคลุมตั้งแต่ยา สารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรกรรม สายพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์พลาสมา รวมทั้งสายพันธุ์ที่เป็นผลมาจากการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรหลายชั่วรุ่นและการปรับปรุงแก้ไขสายพันธุ์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น จุลินทรีย์ ฯลฯ อีกมากมาย แทนที่ข้อตกลง TRIPs จะส่งเสริม “การค้าเสรี” มันกลับผลักดันให้มีการผูกขาดสิทธิทางการตลาดแก่ผู้ถือครองสิทธิบัตรยาวนานถึง 20 ปีเต็ม กฎเกณฑ์ของ WTO ในข้อตกลงนี้กำหนดให้สหรัฐอเมริกาขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 17 ปี เป็น 20 ปี ซึ่งมีการคำนวณอย่างต่ำว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะต้องรับภาระเป็นเงินถึง 6 พันล้านดอลลาร์ เมื่อพิจารณาจากความล่าช้าออกไปในการเข้าถึงตัวยาสามัญของยารักษาโรคหลายชนิด1
ข้อตกลง TRIPs: การเข้าถึงอาหารและยาของประเทศกำลังพัฒนา ข้อตกลง TRIPs ก่อให้เกิดการประท้วงอย่างดุเดือดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศนิยมกีดกันอาหารและยาออกไปจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างหลักประกันว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานสองอย่างนี้ได้และไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมผูกขาดของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อตกลง TRIPs สิ่งที่เคยอยู่ในขอบเขตของส่วนรวม กล่าวคืออาหารและยา จะต้องถูกแปรรูปให้เป็นของเอกชนด้วยกฎหมายสิทธิบัตรระดับโลก ตามทัศนะของประเทศส่วนใหญ่ในโลกกำลังพัฒนา ซึ่งการขาดแคลนอาหารและการระบาดของโรคภัยไข้เจ็บคุกคามประชากรมาอย่างต่อเนื่อง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของภาคเอกชนตามข้อตกลง TRIPs เป็นการสร้างความพินาศให้แก่ศักยภาพของรัฐบาลที่จะตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของสาธารณชนโดยถ้วนหน้า และถือเป็นวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขอย่างแท้จริง
กฎเกณฑ์ตามข้อตกลง TRIPs สั่นคลอนความมั่นคงด้านอาหาร ข้อตกลง TRIPs ยังบ่อนทำลายความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกที่ง่อนแง่นอยู่แล้วให้ทรุดหนักลงไปอีก โดยซ้ำเติมด้วยปัญหาการเข้าถึงและการกระจายอาหารและเมล็ดพันธุ์ เงื่อนไขหนึ่งในข้อตกลงนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิก WTO ต้องคุ้มครองกรรมสิทธิ์ของบริษัทธุรกิจการเกษตรที่มีเหนือสายพันธุ์พืช รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ด้วย ข้อกำหนดนี้เท่ากับยื่นเครื่องมือชิ้นใหม่ไปเสริมอำนาจให้แก่บรรษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยย้ายการครอบครองและควบคุมคลังเมล็ดพันธุ์ไปจากเกษตรกร
เมื่อบรรษัทจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรท้องถิ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดนั้น ถึงแม้ว่าเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวเป็นผลลัพธ์ของการเพาะคัดสายพันธุ์ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วรุ่นโดยบรรพบุรุษของเกษตรกรเองแท้ ๆ จนถึงปัจจุบัน มีการให้สิทธิบัตรแก่ถั่วเหลือง ข้าวโพดและแคโนลา2 เกษตรกรที่เพาะปลูกเพื่อยังชีพย่อมลำบากยิ่งขึ้นที่ต้องแบกรับต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุก ๆ ปี ในอีกด้านหนึ่ง ข้อตกลง TRIPs ไม่ได้ให้ความคุ้มครองใด ๆ ต่อชุมชนท้องถิ่นที่เพาะปลูกและผสมพันธุ์พืชสืบทอดกันมาหลายศตวรรษเพื่อปรับปรุงเป็นสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด แต่กลับถูกนักเก็งกำไรทางชีวภาพเก็บรวบรวมและจดสิทธิบัตรให้แก่บรรษัทข้ามชาติที่อยู่ห่างไกลจากต้นกำเนิดของพืชชนิดนั้น
การผูกขาดกรรมสิทธิ์เหนือสายพันธุ์ของพืชผลชนิดต่าง ๆ ดังที่ข้อตกลง TRIPs มุ่งส่งเสริมนั้น ยังเชื่อมโยงกับการขยายตัวของ “เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว” (mono-culture agriculture) ด้วย การทำตลาดเชิงรุกของผลิตผลที่ได้รับการคุ้มครองจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา สามารถนำไปสู่การขยายตัวของการเพาะปลูกพืชผลหรือเลี้ยงสัตว์เพียงสายพันธุ์เดียวทั่วโลก และแย่งพื้นที่ไปจากพืชผลและสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีหลายร้อยชนิด3 การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวเป็นระบบนิเวศวิทยาที่ไร้เสถียรภาพอย่างร้ายแรง เพราะมันทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และลดทอนภูมิต้านทานที่พืชและสัตว์มีต่อแมลง โรคและสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ทุพภิกขภัยขั้นร้ายแรงที่สุดของยุโรปในศตวรรษที่ 19 ที่เรียกกันว่า ทุพภิกขภัยมันฝรั่งไอริช มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวนี่แหละ โรคเชื้อรามันฝรั่งสามารถระบาดจากไร่หนึ่งไปสู่อีกไร่หนึ่งทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้เพราะการพึ่งพิงมันฝรั่งเพียงสายพันธุ์เดียว นั่นคือพันธุ์ลัมเปอร์
ข้อตกลง TRIPs กรุยทางให้แก่การปล้มสะดมทางชีวภาพจากแหล่งทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนา การปล้นสะดมทางชีวภาพ (Biopiracy) คือการที่ภาคธุรกิจเข้ามาฉกฉวยเอาพืช เมล็ดพันธุ์ สมุนไพรหรือกระบวนการแปรรูปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณประโยชน์ทางการแพทย์หรือยาปราบศัตรูพืชจากพืชและสัตว์ท้องถิ่น ซึ่งชุมชนชนบทพื้นบ้านได้สั่งสมความรู้หรือใช้สืบต่อกันมาหลายร้อยหรือกระทั่งหลายพันปี บรรษัททางธุรกิจเข้ามาฉกฉวย จดสิทธิบัตรและแสวงหากำไรจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยไม่มีการคืนกำไรกลับไปให้ชุมชนที่เป็นต้นกำเนิดเลย การได้มาซึ่งสิทธิที่จะจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชชนิดหนึ่ง บริษัทเพียงแต่อ้างว่าตนได้เปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชนั้น แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวอ้างไม่ได้เปลี่ยนพืชชนิดนั้นไปในทางที่มีความหมายใด ๆ เลยแม้แต่น้อย4 เนื่องจากผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรมักไม่มีหนทางและเครื่องมือในการทดสอบ “คุณสมบัติใหม่” ตามที่บริษัทกล่าวอ้าง สิทธิบัตรจึงมักให้กันง่าย ๆ ส่วนความชอบธรรมของการอ้างสิทธิบัตรก็ผลักให้เป็นคดีความทางแพ่ง ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงเกินไปสำหรับชุมชนท้องถิ่นที่จะต่อสู้คดี5
เมื่อไรที่ข้อตกลง TRIPs ถูกนำมาใช้เต็มที่ ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิก WTO จะมีข้อผูกมัดต้องปฏิบัติตามสิทธิบัตรของบริษัทเมล็ดพันธุ์ โดยถอนทำลายพืชผลที่ “ผิดกฎหมาย” หรือไม่ก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเกษตรกรที่เพาะปลูกเพื่อยังชีพ การไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกมัดข้างต้น เท่ากับประเทศนั้นละเมิดข้อตกลง TRIPs และอาจตกเป็นเหยื่อของการลงโทษทางการค้า
ตัวอย่างอันอื้อฉาวตัวอย่างแรกของการปล้นสะดมทางชีวภาพ คือการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ได้จากต้นนีม ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่นของอินเดีย ชาวบ้านในอินเดียให้ความเคารพต่อต้นไม้ชนิดนี้เสมอมา เนื่องจากมันมีคุณค่าทางเวชกรรมและใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชตามธรรมชาติ7 โดยขนานนามเป็น “ร้านขายยาประจำหมู่บ้าน” เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ประชาชนในอินเดียใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นไม้ชนิดนี้ทำความสะอาดฟัน และใช้เป็นยารักษาแผลชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่สิวไปจนถึงแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้8
ตั้งแต่ ค.ศ. 1971 เมื่อผู้นำเข้าของสหรัฐฯ สังเกตเห็นคุณสมบัติทางยาของต้นไม้ชนิดนี้ บรรษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นวิ่งเต้นจนได้รับสิทธิบัตรหลายฉบับเหนือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สกัดจากต้นนีม9 บริษัทดับเบิลยู. อาร์. เกรซ (W.R. Grace) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน เริ่มผลิตและวางตลาดผลิตภัณฑ์จากต้นนีมโดยเข้ามาตั้งฐานในประเทศอินเดีย10 ข้ออ้างในการขอสิทธิบัตรของบริษัทเกรซก็คือ กระบวนการแปรรูปที่ทันสมัยของบริษัทถือเป็นนวัตกรรมที่แท้จริงอย่างหนึ่ง11 โดยไม่สนใจเลยว่า สิ่งที่แอบอ้างว่าเป็นนวัตกรรมนั้น ที่แท้แล้วก็มีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ยาฆ่าแมลงชีวภาพและยาที่ได้จากต้นนีมเป็นผลิตผลของประชากรท้องถิ่นในอินเดีย ซึ่งหลายอย่างมีการใช้กระบวนการสกัดและแปรรูปที่ซับซ้อนมาหลายร้อยปีแล้ว
เมื่อถูกฟ้องร้องต่อการอ้างสิทธิบัตร บริษัทดับเบิลยู. อาร์. เกรซยังคงเดินหน้าที่จะปกป้องสิทธิบัตรเหนือยาฆ่าแมลงพื้นเมือง และย้ำถึงข้อผูกมัดของอินเดียที่ต้องให้การคุ้มครองแก่สิทธิบัตรของบริษัท ตามเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลง TRIPs12
ประเทศไทยเริ่มออกกฎหมายเพื่อใช้ในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2540 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชีวภาพแบบเดียวกับต้นนีม ไทยเสนอกระบวนการเพื่อให้แพทย์ไทยแผนโบราณจดทะเบียนยาตำราพื้นบ้าน เผื่อว่าในกรณีที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพหรือบริษัทยาข้ามชาติพยายามจดสิทธิบัตรเหนือตัวยาหรือกระบวนการแปรรูปใด ๆ บริษัทนั้นจะต้องเจรจาต่อรองกับแพทย์แผนโบราณเสียก่อน13 เพื่อตอบโต้ต่อข้อเสนอนี้ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยในเดือนเมษายน พ.ศ. 2540 เตือนว่า “วอชิงตันเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ระบบการจดทะเบียนเช่นนี้อาจละเมิดข้อตกลง TRIPs และเป็นตัวถ่วงต่อการวิจัยทางการแพทย์ในด้านดังกล่าว”14
เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่สนใจคำข่มขู่ของฝ่ายสหรัฐฯ และกฎหมายฉบับนี้กำลังเข้าสู่รัฐสภา
ข้อตกลง TRIPs ยาและสาธารณสุข
การข่มขู่ที่ 1: สหรัฐฯ และบริษัทเกอร์เบอร์ใช้การข่มขู่ทางการค้ากดดันให้ประเทศกัวเตมาลาผ่อนปรนกฎหมายนมเด็กทารก
ด้วยความพยายามที่จะลดอัตราการตายของเด็กทารก กัวเตมาลาจึงผ่านกฎหมายและออกข้อบังคับในปี ค.ศ. 1983 โดยมีจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงทารกด้วยนมของตัวเอง และรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงอันตรายทางด้านสุขภาพของทารกที่เลี้ยงด้วยนมผงแทนนมแม่ กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งปฏิบัติตามเงื่อนไขของประมวลกฎเกณฑ์การทำตลาดของนมที่ใช้เลี้ยงทารกแทนนมแม่ขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ มีคำสั่งห้ามการใช้คำโฆษณาอย่างเช่น “นมที่ผ่านกระบวนการเหมือนน้ำนมมนุษย์” หรือ “เทียบเท่ากับนมมารดา” เพื่อให้ประชากรที่ไม่รู้หนังสือเข้าใจได้อย่างทั่วถึง ประมวลกฎเกณฑ์ของ WHO/UNICEF และข้อบังคับของกัวเตมาลาจึงครอบคลุมถึงการสั่งห้ามการโฆษณาด้วยรูปทารกที่ “สร้างภาพเชิญชวนให้การเลี้ยงลูกด้วยนมขวด”16
บริษัทผู้ผลิตนมผงสำหรับเลี้ยงทารก Gerber Food® (เกอร์เบอร์) ไม่พอใจกฎหมายและข้อบังคับของกัวเตมาลา เพราะเครื่องหมายการค้าของบริษัทมีรูปทารกจ้ำม่ำน่ารัก หรือที่เรียกกันว่า “หนูน้อยเกอร์เบอร์” ไม่นานก่อนที่ข้อตกลงรอบอุรุกวัยจะมีผลบังคับใช้ รองประธานบริษัทเกอร์เบอร์เขียนบันทึกถึงประธานาธิบดีกัวเตมาลา โดยมีนัยยะข่มขู่ถึงการลงโทษทางการค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง17 ข้อพิพาทนี้เป็นการปะทะกันระหว่างประเทศที่พยายามปกป้องประชากรที่อ่อนแอที่สุด นั่นคือทารกเกิดใหม่ กับบรรษัทผู้ผลิตอาหารข้ามชาติ (คำขวัญของบริษัทคือ: “ทารกคือธุรกิจของเรา”18) บรรษัทไม่เพียงรุกคืบในการขายนมผงสำหรับทารก แต่ยังต้องการที่จะทำตลาดผลิตภัณฑ์ของตนด้วยวิธีการที่กฎหมายของกัวเตมาลาเห็นว่าสร้างความไขว้เขวแก่ประชาชนด้วย
ตามข้อมูลขององค์การยูนิเซฟ แต่ละปีมีทารกเสียชีวิตถึง 1.5 ล้านราย เพราะมารดาของทารกถูกชักจูงให้ให้นมผงเลี้ยงลูกแทนนมแม่19 ยูนิเซฟรายงานว่า สาเหตุหลักของการตายคือโรคท้องร่วงที่เกิดจากมารดาในประเทศยากจนชงนมผงด้วยน้ำไม่สะอาด20 ยูนิเซฟยังให้ข้อมูลด้วยว่า มีทารกเพียง 44% ในประเทศกำลังพัฒนา (ตัวเลขน้อยกว่านี้อีกในประเทศอุตสาหกรรม) ที่ดื่มนมมารดา อันสืบเนื่องมาจากการโหมโฆษณานมผงอย่างไม่บันยะบันยัง21
เมื่อยกเว้นเกอร์เบอร์ที่เป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ เพียงบริษัทเดียว ผู้จำหน่ายนมผงและนมทารกที่ใช้แทนนมมารดารายอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งที่เป็นบริษัทในและต่างประเทศ ล้วนยินยอมเปลี่ยนแปลงลักษณะบรรจุภัณฑ์ตามความจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายของกัวเตมาลา22 อัตราการตายของทารกในกัวเตมาลาลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากออกกฎหมายฉบับนี้ และยูนิเซฟยกย่องให้กัวเตมาลาเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว23
แต่เกอร์เบอร์ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมายกัวเตมาลา ขู่ว่ากัวเตมาลาอาจต้องเผชิญกับการฟ้องร้องที่ WTO หากไม่ยกเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวเสีย อันที่จริง ข้อยกเว้นพิเศษทางด้านสาธารณสุขในข้อตกลง TRIPs อาจช่วยคุ้มครองมาตรการของกัวเตมาลาได้
แต่กัวเตมาลาไม่มีผู้เชี่ยวชาญในประเทศที่สามารถต่อสู้ในประเด็นปัญหาว่า การปฏิบัติตามประมวลกฎเกณฑ์ของ WHO/UNICEF ถือว่าถูกต้องตามกฎของ WTO หรือไม่24 ในปี ค.ศ. 1995 การข่มขู่ของเกอร์เบอร์ว่าจะฟ้องร้อง WTO ซึ่งถือเป็นเรื่องจริงจังสำหรับรัฐบาลกัวเตมาลาและสถานทูตวอชิงตันในประเทศนั้น ก็ประสบผลสำเร็จจนได้ กัวเตมาลายอมแก้ไขกฎหมาย อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหารทารกนำเข้าได้รับการยกเว้นจากนโยบายติดป้ายฉลากอันเข้มงวดของกัวเตมาลา25
การข่มขู่ที่ 2: อุตสาหกรรมยาขู่จะนำกฎหมายยาของแอฟริกาใต้ขึ้นร้องเรียนต่อ WTO
ข้อตกลง TRIPs กำหนดให้ประเทศสมาชิก WTO ต้องบังคับใช้การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในด้านการตั้งราคายาเป็นเวลา 20 ปี โดยต้องเริ่มบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2005 สิทธิบัตรยาทำให้บริษัทผลิตยามีสิทธิผูกขาดในการทำตลาดตัวยาบางอย่าง อย่างไรก็ตาม ข้อตกลง TRIPs ยังมีเงื่อนไขยกเว้นที่สำคัญหลายประการ อาทิเช่น การบังคับออกใบอนุญาตและการนำเข้าตัวยาเทียบเท่า เป็นต้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเปิดช่องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนสิทธิของผู้ครองสิทธิบัตรเพื่อส่งเสริมสาธารณสุขส่วนรวม ภายใต้การบังคับออกใบอนุญาต (compulsory licensing) รัฐบาลสามารถเรียกร้องให้ผู้ถือครองสิทธิบัตรออกใบอนุญาตตัวยาหรือสินค้าอื่น ๆ แก่ผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่ง โดยแลกกับการจ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่ผู้พัฒนาตัวยา การนำเข้าตัวยาเทียบเท่า (parallel importing) คือการให้นำเข้าสินค้าผ่านตัวแทนขายส่งหรือผู้ค้าคนกลางรายที่สามจากประเทศที่สินค้านี้มีราคาถูกกว่า แทนที่จะต้องซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง
รัฐบาลมักใช้นโยบายนำเข้าตัวยาเทียบเท่า ทั้งนี้เพราะยาในประเทศต่าง ๆ มักมีราคาแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ยาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) เม็ดหนึ่ง ราคา 50 เซ็นต์ในแอฟริกาใต้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านซิมบับเวขายในราคาเพียง 4 เซ็นต์
แม้ว่าจะมีเงื่อนไขยกเว้นทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญหลายประการอยู่ในข้อตกลง TRIPs อุตสาหกรรมยาข้ามชาติ พร้อมกับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลคลินตัน ก็ยังดิ้นรนใช้ข้อตกลง TRIPs เพื่อทวนกระแสความพยายามของอดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลาแห่งแอฟริกาใต้ ที่ต้องการส่งเสริมให้ชาวแอฟริกาใต้เข้าถึงการดูแลสุขภาพและยาได้มากขึ้น กฎหมายยาของแอฟริกาใต้ที่ออกมาในปี ค.ศ. 1997 แต่ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติใช้อย่างเต็มที่ จะส่งเสริมการใช้ตัวยาสามัญและห้ามบริษัทยาจ่ายเงินรางวัลจูงใจแก่หมอที่สั่งจ่ายผลิตภัณฑ์ยาของบริษัท (ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในสหรัฐฯ เช่นกัน ภายใต้กฎหมายต่อต้านสินจ้างรางวัล [anti-kickback law]) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการนำเข้าตัวยาเทียบเท่าและบังคับออกใบอนุญาต เพื่อใช้เป็นวิธีควบคุมราคายาด้วย26
อุตสาหกรรมยาทั้งของแอฟริกาใต้และของสหรัฐอเมริกาจับมือกันเป็นแนวหน้าต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยประธานของสมาคมผู้ผลิตยาแห่งแอฟริกาใต้ (South African Pharmaceutical Manufacturers’ Association—PMA) ข่มขู่รัฐบาลว่าจะร้องเรียนต่อ WTO27
รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาร่วมวงด้วย โดยจะ “ต่อสู้จนถึงชั้นฎีกา” ต่อกฎหมายของแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ตามถ้อยคำในบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศ28 เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง รวมถึงรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายของแอฟริกาใต้29 สหรัฐฯ ใช้หรือขู่ว่าจะใช้มาตรการลงโทษทางการค้าและมาตรการอื่น ๆ ต่อแอฟริกาใต้
กระนั้นก็ตาม แอฟริกาใต้ไม่ยอมถอยหลัง นักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโรคเอดส์ตระหนักดีว่า ความพยายามของแอฟริกาใต้ที่จะลดราคายาลงมา สามารถช่วยให้ยารักษาโรคเอดส์อยู่ในราคาที่หาซื้อได้สำหรับประชากรที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้ นักเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงนำขบวนรณรงค์สร้างแรงกดดันจนบีบให้สหรัฐฯ ต้องยอมถอนการข่มขู่ เรายังต้องติดตามกันต่อไปว่า สหรัฐอเมริกาจะยอมรับสิทธิของประเทศอื่น ๆ ในการใช้เงื่อนไขการบังคับออกใบอนุญาตและการนำเข้าตัวยาเทียบเท่าหรือไม่
เชิงอรรถ
1. WTO, “Trade and the Environment in the WTO,” Press Brief, Apr. 16,1997.
2. Robert Evans, “Green Push Could Damage Trade Body—WTO Chief,” Reuters, May 15, 1998.
3. WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline (WT/DS2/R), Report of the Panel, Jan. 29, 1996.
4. ดู WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline (WT/DS2/AB/R), Report for the Appellate Body, May 20, 1996.
5. 62 Fed. Reg. 24776, May 6, 1997, at Appendix 19.
6. WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline (WT/DS2/9), Consolidated Report of the Panel and the Appellate Body, May 20, 1996, at Part C (Conclusions).
7. 62 Fed. Reg. 24776, May 6, 1997, at Appendix 19.
8. WTO, United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline, Second Submission of the United States, Aug. 17, 1995, at 22-24.
9. John Malek and Dr. Peter Bowler, Dolphin Protection in the Tuna Fishery, Interdisciplinary Minor in Global Sustainability, Seminar, Irvine: University of California Press (1997), at 1.
10. GATT, United States—Restrictions on Imports of Tuna (DS21/R), Report of the Panel, Sep. 3, 1991.
11. GATT, United States—Restrictions on Imports of Tuna (DS29/R), Report of the Panel, June 1994.
12. “Clinton Pledges Early, Renewed Effort to Pass Tuna-Dolphin Bill,” Inside U.S. Trade, Oct. 1996.
13. Public Law 93-205, 16 U.S. 1531 et.seq.; ดูประกอบ 52 Fed. Reg. 24244, Jun. 29, 1987.
14. Id. at Article 2.2.
15. Id. at Article 2.4.
16. European Communities—Measures Affecting the Prohibition of Asbestos and Asbestos Products (LWT/DS 135), Complaint by Canada, May 28, 1998.
17. American Electronics Association, Legality Under International Trade Law of Draft Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment, Mar. 1999, prepared by Rod Hunter and Marta Lopez of Hunton & Williams, Brussels, on file with Public Citizen.
18. U.S. Department of State Demarche to DG1, DGIII (industry) and DGXI (environment), Jan. 11, 1999, at 4, on file with Public Citizen.
19. Id. at Article 4.4.
20. European Union DGXI, Second Draft Proposal for a Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment, Jul. 1998.
21. Id. at 13.
22. ดู Embassy of Japan, Backgrounder on Amendments to its Law Concerning Rational Use of Energy Law (1999) , on file with Public Citizen.
23. European Union DGX1, Official Proposal for Directive on WEEE, July 1999.
24. ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี lean-burn ที่ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลง โดยอาศัยการสูบอากาศเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าอัตราส่วนการสันดาประหว่างอากาศกับน้ำมันตามทฤษฎี เพื่อทำให้เกิดการประหยัดน้ำมัน ดู Id.
25. Japan, Law Concerning Rational Use of Energy, Jun. 22, 1979, revised Jun. 5, 1998.
26. ดู “TBT Notification 99.003,” Letter from European Commission Industrial Secretariat, 1999, on file with Public Citizen.
27. ตามแหล่งข่าวในรัฐบาลญี่ปุ่น สหรัฐฯ เข้าร่วมในการต่อต้านกฎหมายประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของญี่ปุ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเดมเลอร์-ไครสเลอร์ ในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1999 เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า ประธานบริษัทฟอร์ดมอเตอร์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้ต่อนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน จาก Official with Japanese Embassy in Washington, D.C., personal communication with Michelle Sforza, Research Director, Public Citizen’s Global Trade Watch, May 13, 1999.
28. ดู Letter from Ferial Ara Saeed, First Secretary of the Economic Section of the U.S. Embassy to Mr.Kazuyoshi Umemoto, Director of the First International Organizations Division of the Economics Affairs Bureau of the Ministry of Foreign Affairs, Mar. 8, 1999.
29. European Economic Council (EEC) Regulation No. 3254/91, Nov. 4, 1991, at Articles 2 and 3, Annex I.
30. Neil Buckly, “New Offer by U.S. on Leg-Hold Traps,” Financial Times, Dec. 1, 1997.
31. ดู U.S. Trade Representative, 1999 National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (1999), at 115.
32. ดู Signatories to Feb. 6, 1996, “Open Letter to Policymakers from Coalition for Truth in Environmental Marketing Information,” on file with Public Citizen.
33. WTO Committee on Trade and Environment Document WT/CTE/W/27, “U.S. Proposals Regarding Further Work on Transparency of Eco-Labeling,” Mar. 25, 1996.
34. Suggested Basis of U.S. Proposal Regarding Principles Applicable to Eco-Labeling Programs, May 22, 1996, on file with Public Citizen.
35. Id.
36. “TBT Committee Discusses Labeling Standards,” BRIDGES Weekly Trade News Digest, Vol. 3, no. 24, June 14, 1999.
37. Keith Koffler, “Administration to Bring Seven Trade Complaints to the WTO,” CongressDaily, May 3, 1999.
38. (1969) Vienna Convention on the Law of Treaties at Article 30(2).
39. North American Free Trade Agreement (NAFTA) at ò104.