รายงานเรื่อง องค์การการค้าโลก การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท- ตอนที่ 8 : ข้อเรียกร้องและบทสรุป

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

องค์การการค้าโลก

การรัฐประหารโลกสู่เงื้อมมือบรรษัท

 

The WTO

Five Years of Reasons

to Resist Corporate Globalization

 

 

โดย

โลรี  วัลลัช  (Lori Wallach)

มิเชล  สฟอร์ซา  (Michelle Sforza)

 

ภัควดี  วีระภาสพงษ์  แปล

8.

ข้อเรียกร้องและบทสรุป

 

ข้อตกลงรอบอุรุกวัยและ WTO สอบตกแม้แต่ข้อสอบที่ง่ายที่สุด   นั่นคือ  อย่าสร้างความเสียหายต่อไปอีก   ตรงกันข้าม   ในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญอย่างเช่น  สาธารณสุข   การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองประชาชน  การพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร   สภาพการณ์รังแต่เลวร้ายลงอันเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากกฎเกณฑ์ของ WTO

สิ่งที่น่าหวั่นวิตกก็คือ  สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่   ผลเสียหายข้างเคียงที่เลวร้ายที่สุดจากกฎเกณฑ์ของ WTO ยังมาไม่ถึง   เพราะกฎเกณฑ์เหล่านี้ยังใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะนำมาปฏิบัติอย่างเต็มที่   กระนั้นก็ตาม   เมื่อได้รับรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกฎเกณฑ์ของ WTO ที่ผ่านมาแล้ว   รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ   รวมทั้งองค์กรเอกชนหลายองค์กร  ได้ต่อสู้คัดค้านความต้องการที่จะเปิดการเจรจารอบใหม่ที่มีเนื้อหากว้างขวาง   และหันมาเรียกร้องให้  “หันหลังกลับ”  แทน   เพื่อแก้ไขความเสียหายที่เกิดจากระบบของ WTO ในปัจจุบัน

อันที่จริง   มีดรรชนีบ่งชี้ถึงปัญหาขั้นร้ายแรงในทุก ๆ ด้านสำคัญที่สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลประเทศอื่น ๆ เคยให้คำมั่นสัญญาว่า  ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์จาก WTO   โลกถูกรุมกระหน่ำจากความไร้เสถียรภาพทางการเงินครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน    ความไม่เท่าเทียมทางรายได้พุ่งทะยานขึ้นทั้งระหว่างและภายในประเทศต่าง ๆ    แม้ว่าประสิทธิภาพและปริมาณการผลิตดีขึ้น   แต่ค่าจ้างแรงงานในหลายประเทศไม่ขึ้นตาม   ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาตกต่ำตลอดเวลา   เป็นผลให้มาตรฐานการครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ในโลกตกต่ำลงไปจากเดิม

อคติฝังแน่นของ WTO  ที่ไม่นิยมการมีส่วนร่วมของสาธารณชน   ทำให้สถาบันนี้กลายเป็นสถานที่สมคบคิดชั้นเลิศสำหรับภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล   ในอันที่จะผลักดันวาระซึ่งคงล้มเหลวแน่นอนหากนำเข้าสู่เวทีเปิดที่มีความเป็นประชาธิปไตย   เจ้าหน้าที่ประจำ WTO คนหนึ่งยอมรับเรื่องนี้ต่อหนังสือพิมพ์  ไฟแนนเชียล ไทมส์  โดยกล่าวว่า  WTO  “เป็นสถานที่ให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มาสุมหัวกันเป็นความลับโดยไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในประเทศ”1

ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานมัดแน่น   แต่ในปี ค.ศ. 1999   สหภาพยุโรปก็ยังนำขบวนเปิดฉากการเจรจารอบใหม่ที่ทะเยอทะยานกว่าเดิม   เพื่อขยายข้อบังคับของ WTO ให้มีผลต่อการบริหารงานของรัฐบาลในประเด็นใหม่ ๆ    ข้อเสนอประการหนึ่งของสหภาพยุโรปก็คือ   รื้อฟื้นข้อตกลงพหุภาคีว่าด้วยการลงทุน  (Multilateral Agreement on Investment—MAI)  ที่ล้มเหลวไปก่อนหน้านี้ขึ้นมาใหม่   โดยสอดไส้ไว้ใน WTO2   ญี่ปุ่นหนุนหลังการริเริ่มของสหภาพยุโรปให้เปิดการเจรจารอบใหม่   เช่นเดียวกับรัฐบาลแคนาดา

รัฐบาลคลินตันไม่มีความกระตือรือร้นต่อการเจรจาที่ยืดเยื้อยาวนาน   ประการแรก   เพราะมันเพิ่งแพ้มติเกี่ยวกับอำนาจตัดสินใจทางการค้าที่เรียกว่า  “Fast Track”  และสูญเสียแรงสนับสนุนจากสภาคองเกรสและสาธารณชนต่อวาระทางโลกาภิวัตน์ที่ก้าวร้าว   ประการที่สอง   รัฐบาลคลินตันไม่ต้องการให้รองประธานาธิบดีอัล  กอร์ ถูกจับตามองว่า  มีประวัติบูชายัญเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมบนแท่นบูชาโลกาภิวัตน์  ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2000   ดังนั้น  รัฐบาลสหรัฐฯ จึงสนับสนุนวาระที่เรียกว่า  “มักน้อย”   นั่นคือเรียกร้องให้เปิดเสรีทางการเกษตรและการทำป่าไม้อย่างสุดขั้ว   ขยายอำนาจของ WTO ให้ครอบคลุมด้านอื่น ๆ มากขึ้นและลดข้อบังคับในภาคบริการ  (ซึ่งรวมทั้งสาธารณสุขและการศึกษา)   และสร้างหลักประกันใหม่ ๆ ว่าผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีชีวภาพต้องได้รับการยอมรับทั่วโลก

การสำรวจข้อมูลยาวนานนับปีที่เรานำมาเขียนหนังสือชื่อ  Whose Trade Organization?   ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมประเด็นปัญหาของ WTO อย่างกว้างขวางเลย   กระนั้นก็ตาม   มันยังแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า   เมื่อดูจากประวัติการณ์ตลอดห้าปีของ WTO   การเปิดเจรจารอบใหม่ที่กว้างขวางครอบคลุมกว่านี้ยังไม่สมควรเกิดขึ้น   ยิ่งไปกว่านั้น   จากการตรวจสอบยังมีหลักฐานชี้ว่า   มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรหันเหทิศทางกลับ 180 องศา   เพื่อหนีให้พ้นปัจจัยหลักที่มีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงในระบบของ WTO/GATT  ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในขณะที่กลุ่มองค์กรอย่าง  Public Citizen  สนับสนุนให้มีกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้   เพื่อควบคุมการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ   แต่เราไม่สนับสนุนให้ใช้กฎเกณฑ์ทางการค้าเหล่านี้ไปในทางที่บ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใสหรือทำลายมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของสาธารณชน   กลุ่มองค์กรเอกชนทั่วโลกมีความเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า   ต้องจำกัดบทบาทของ WTO ลงเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนสามารถ:

 

Ø    เข้าถึงสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ  เช่น  อาหารและยา

Ø    เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ    เช่น  น้ำสะอาด  สาธารณูปโภค  การศึกษา  ขนส่งมวลชนและการดูแลสุขภาพ

Ø    ได้รับความเคารพในสิทธิแรงงานพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ

Ø    มีความปลอดภัยในด้านสินค้า  อาหารและสถานที่ทำงาน

Ø    มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

Ø    สามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ   เช่น   การติดป้ายฉลากบ่งบอกวัตถุดิบและลักษณะของสินค้าอย่างถูกต้อง

Ø    มีทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการที่แข่งขันกันในด้านราคา

Ø    มีตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนในการตัดสินใจทางนโยบาย  และ

Ø    มีช่องทางเรียกร้องค่าเสียหาย   รวมทั้งสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากบรรษัทและรัฐบาลที่สร้างความเสียหายต่อสิทธิที่เป็นหัวใจสำคัญของประชาชน

 

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้   ปฏิบัติการเฉพาะหน้าที่ตามมาและเป็นสิ่งที่เห็นพ้องต้องกันในเดือนพฤศจิกายน  ค.ศ. 1999  เมื่อมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่ซีแอตเติ้ลก็คือ   เสียงเรียกร้องอย่างเกือบเป็นเอกฉันท์จากองค์กรเอกชนทั่วโลกให้ทบทวนการทำงานของ WTO  อย่างถี่ถ้วน   แทนที่จะเริ่มเจรจารอบใหม่เพื่อ ขยาย การเปิดเสรีทางการค้าหรือการลงทุนต่อไปอีก

กฎเกณฑ์ของ WTO  ไม่ควรขยายจนครอบคลุมถึงประเด็นใหม่ ๆ   เช่น  การลงทุน  (MAI)   และไม่ควรขยายอิทธิพลของภาคธุรกิจในข้อตกลงที่มีอยู่   (เช่น  ข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้เพิ่มรูปแบบสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเข้าไปในนิยามของคำว่า  “ทรัพย์สิน”   ภายใต้ข้อตกลง TRIPs  ที่มีอยู่แล้ว)   แต่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ พึงเห็นพ้องที่จะมีการทบทวนถึงผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีข้อตกลงรอบอุรุกวัยเป็นต้นมา   โดยพิจารณาดูว่ามีแง่มุมไหนบ้างที่ควรลดทอนลง  แทนที่หรือยกเลิกเสียเลย

แถลงการณ์ของกลุ่มองค์กรเอกชนต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีในซีแอตเติ้ล   มีเนื้อความดังต่อไปนี้:

 

แถลงการณ์ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีในซีแอตเติ้ล:   ข้อเรียกร้อง 7 ประการ

1.  ประกาศพักคำตัดสินชั่วคราวต่อการฟ้องร้องทางการค้าในบางคดี   เมื่อพิจารณาจากแบบแผนที่มีปัญหาในการตัดสินชี้ขาดของ WTO  ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความปลอดภัยของอาหาร  มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข   รัฐบาลจากประเทศสมาชิกของ WTO  ควรมีมติในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ล  ให้ประกาศพักคำตัดสินชั่วคราวที่มีต่อการร้องเรียนและการข่มขู่ที่เป็นอันตรายต่อมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม  สาธารณสุขและความปลอดภัย   ยุติการร้องเรียน WTO เกี่ยวกับกฎหมายภายในประเทศที่ตั้งอยู่บนระดับการคุ้มครองที่แต่ละประเทศตัดสินใจเลือกใช้  (เช่น  กรณีสั่งห้ามแร่ใยหินของฝรั่งเศส)   หรือการปฏิบัติตามหลักการปลอดภัยไว้ก่อน  (เช่น  กรณีที่สหภาพยุโรปสั่งห้ามเนื้อวัวที่มีสารฮอร์โมนเทียมตกค้าง)   การประกาศพักคำตัดสินชั่วคราวนี้รวมไปถึงการร้องเรียนต่อนโยบายของประเทศต่าง ๆ ที่ปฏิบัติต่อผู้ผลิตภายในและต่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน   โดยคำนึงถึงวิธีการในการผลิตสินค้านั้น ๆ   (เช่น  การสั่งห้ามสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก   หรือสินค้าที่ผลิตโดยสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม  เช่น  การใช้อวนจับปลาทูน่าที่เป็นอันตรายต่อปลาโลมา)   รวมไปจนถึงยุติการร้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมายภายในประเทศที่ส่งเสริมการปฏิบัติตามข้อผูกมัดนานาชาติ   เช่น  กฎหมายประสิทธิภาพการใช้น้ำมันตามพิธีสารเกียวโตของญี่ปุ่นและกฎหมายคุ้มครองเต่าทะเลของสหรัฐอเมริกา

 

2.  ทบทวนข้อตกลงรอบอุรุกวัยอย่างเป็นกลาง   การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ลต้องสร้างข้อผูกมัดให้มีการทบทวนการดำเนินงานของข้อตกลงรอบอุรุกวัยอย่างเปิดเผยและเป็นกลาง   โดยเปิดกว้างให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการวางแนวทางและส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามข้อทบทวนใหม่   เป้าหมายพึงเป็นการบ่งชี้ว่า   แง่มุมใดของข้อตกลงที่มีอยู่ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขหรือยกเลิกไป   เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมเหมือนดังที่สัญญาไว้ในคำปรารภของข้อตกลงรอบอุรุกวัย

 

3.  สร้างหลักประกันให้การเข้าถึงสินค้าและบริการ   อาหาร:   สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อความมั่นคงทางอาหารต้องถือว่ามีความสำคัญสูงสุด   การประเมินข้อตกลงการเกษตรของ WTO ต้องตั้งเป้าไปที่ความมั่นคงทางอาหาร   โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดและผู้บริโภคยากจนในประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารทั้งหมด   นอกจากนี้   ต้องมีการทบทวนถึงผลกระทบของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทางด้านเคมีการเกษตรและค้าธัญพืช   โดยพิจารณาดูว่าจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการผูกขาดระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง   เพื่อทลายการผูกขาดตลาดอย่างเข้มข้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   รวมทั้งต้องทบทวนถึงแง่มุมต่าง ๆ ของข้อตกลง TRIPs  โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารและเปิดช่องให้การปล้นสะดมทางชีวภาพ   การทบทวนกฎเกณฑ์ของ WTO  อย่างเป็นกลางจะนำไปสู่การเจรจาต่อรองในอนาคตเพื่อให้เกิดมาตราทางด้านความมั่นคงของอาหาร   และเอื้ออำนวยให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ หามาตรการที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อคุ้มครองอาหารจากผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งกับข้อผูกมัดที่มีต่อ WTO

ยา:  ต้องมีการทบทวนข้อตกลง TRIPs  โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การยกระดับภาคสาธารณสุขให้อยู่เหนือผลประโยชน์ทางการค้า   และสร้างมาตรการคุ้มครองให้ผู้บริโภคเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้   ข้อเสนอของประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศที่ต้องการให้ขยายกฎเกณฑ์ในข้อตกลง TRIPs  เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

บริการ:   การทบทวนข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าภาคบริการ  (General Agreement on Trade in Services—GATS)   ต้องคำนึงว่าข้อตกลงนี้ส่งผลเสียต่อสิทธิการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานโดยถ้วนหน้าอย่างไรบ้าง   อาทิเช่น  ในด้านการดูแลสุขภาพ  น้ำ  การศึกษาและสาธารณูปโภค  รวมทั้งการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม   การทบทวนข้อตกลงนี้พึงพิจารณาถึงการขาดไร้เครื่องมือที่จะต่อสู้กับการควบและผนวกรวมกิจการระหว่างประเทศที่ก่อให้เกิดการผูกขาดด้วย

 

4.  สร้างมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของสินค้า  อาหารและสถานที่ทำงาน   รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ  

หลักการปลอดภัยไว้ก่อน:   การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ลควรประกาศอย่างชัดเจน  ในลักษณะที่ผูกมัดคณะตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทของ WTO ในอนาคต   โดยห้ามไม่ให้มีการตีความกฎเกณฑ์ของ WTO  ข้อใด ๆ ในทางที่เป็นการจำกัดศักยภาพของรัฐบาลในการสร้างและรักษามาตรการคุ้มครองความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข  สิ่งแวดล้อม หรืออาหารโดยไม่เลือกปฏิบัติ   ซึ่งเป็นการบังคับใช้ที่ตั้งอยู่บนหลักการปลอดภัยไว้ก่อน

ความปลอดภัยของอาหารและการติดป้ายฉลาก:   การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ลต้องผูกมัดประเทศสมาชิก WTO ให้มีการทบทวนอย่างเปิดกว้างและเป็นกลางต่อข้อตกลงการเกษตร   โดยมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ในข้อตกลง SPS  เพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ สามารถสร้างและรักษามาตรการความปลอดภัยของอาหารโดยไม่เลือกปฏิบัติ   การทบทวนนี้ต้องแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับภาระการพิสูจน์ที่ตั้งข้อกำหนดว่า   สินค้าหนึ่ง ๆ ต้องได้รับการพิสูจน์ว่าไม่ปลอดภัยก่อนที่จะถูกควบคุมหรือสั่งห้ามได้   การทบทวนดังกล่าวยังต้องกำหนดคำนิยามของ  “ความเทียบเท่า”  (equivalence)  ในข้อตกลง SPS  ที่สร้างหลักประกันว่า   ข้อบังคับในต่างประเทศให้การคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพในระดับเดียวกับกฎหมายภายในประเทศ   อีกทั้งลำดับขั้นตอนของต่างประเทศและกลไกในการตรวจสอบจะต้องเข้มแข็งเทียบเท่ากับกฎหมายภายในประเทศเป็นอย่างต่ำที่สุด   ก่อนที่จะมีการประกาศว่าเทียบเท่ากันได้   การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ลต้องสร้างความชัดเจนว่า   มาตรการต่าง ๆ ที่สนับสนุนทางเลือกอย่างมีข้อมูลของผู้บริโภค   อาทิเช่น  เงื่อนไขการติดป้ายฉลากทางด้านโภชนาการและข้อมูลต่าง ๆ ที่ปฏิบัติต่อสินค้าภายในและนำเข้าอย่างเท่าเทียมกัน  (เช่น  การติดป้ายฉลากอาหารจีเอ็มโอ)   ไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์ของ SPS หรือ TBT

ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม:   ประเทศต่าง ๆ ต้องได้รับอนุญาตให้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์  สถานที่ทำงาน  สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้เอง   ตราบเท่าที่การบังคับใช้มาตรฐานนี้เป็นไปอย่างเท่าเทียม   (ยกตัวอย่างเช่น  ฝรั่งเศสควรได้รับอนุญาตให้คุ้มครองแรงงานในประเทศตนจากแร่ใยหินได้)

 

5.  ควบคุมกระแสการควบรวมกิจการและการครอบงำตลาด

การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขัน:   ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศเรียกร้องให้การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ลเปิดการเจรจาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การแข่งขันของ WTO    กระนั้นก็ตาม   ไม่มีประเทศไหนเรียกร้องให้จัดวางกฎเกณฑ์ที่จำเป็นในการควบคุมการดำเนินธุรกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขัน   รวมทั้งต่อสู้กับภัยคุกคามของการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จากการควบรวมกิจการระหว่างประเทศ    การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ลควรชี้นำให้คณะทำงานเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันที่มีอยู่แล้วใน WTO  จัดวางกลไกเพื่อ:

Ø    ควบคุมการดำเนินธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขัน   (เช่น   การฮั้วราคา   การโอนราคา  [transfer pricing:  ราคาสินค้าจากหน่วยผลิตไปยังหน่วยขาย  เพื่อแสดงผลการดำเนินงานแยกกัน  ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น—ผู้แปล]  และการดำเนินธุรกิจภายในบริษัทเครือข่ายในรูปแบบอื่น ๆ )  

Ø    ตรวจสอบรูปแบบต่าง ๆ ของการครอบงำตลาด   รวมทั้งการควบรวมกิจการและการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจข้ามพรมแดนที่กำลังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

6.  วางระบบผู้แทนจากภาคประชาชนและการชดเชยความเสียหาย

ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ:   ความรับผิดชอบและความโปร่งใสของ WTO ต่อสาธารณชนพึงมีมากขึ้น   การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติ้ลต้อง:

Ø    ยึดหลักการพื้นฐานของการเปิดกว้าง   เอกสารทั้งหมดของระบบคลี่คลายข้อพิพาท  (รวมทั้งบันทึกสำนวนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  บันทึกปากคำของผู้เชี่ยวชาญ   บันทึกช่วยจำของคณะทำงานด้านกฎหมายใน WTO  และคำตัดสินชี้ขาด)   ไม่ควรปิดเป็นความลับ   กระบวนการตัดสินข้อพิพาทต้องเปิดกว้างต่อสาธารณชน

Ø    สร้างกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลที่จะมาเป็นคณะตุลาการคลี่คลายข้อพิพาทเสียใหม่   ประกอบด้วย:  ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขคุณสมบัติของตุลาการเพื่อเปิดทางแก่ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่กว้างขวางกว่าเดิม   สร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีผลบังคับใช้   และสร้างหลักประกันว่า   หลังจากยกเลิกการประกาศพักคำตัดสินชั่วคราวต่อคดีฟ้องร้องทางด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขแล้ว   คดีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการคุ้มครองสุขภาพ  สิ่งแวดล้อม หรือผู้บริโภค   จะต้องมีตุลาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ อยู่ด้วย

Ø    จัดการกับปัญหาข้อจำกัดทางการเงิน  ทรัพยากรบุคคลและโครงสร้างพื้นฐานของคณะผู้แทนจากประเทศกำลังพัฒนา   โดยให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้เลือกวิธีการเอง   เพื่อสร้างหลักประกันว่า  ทุกประเทศสามารถมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพในการเจรจาต่อรอง

 

7.  สร้างหลักประกันว่ากฎเกณฑ์การลงทุนต้องสนับสนุนความมีเสถียรภาพทางการเงิน   ไม่ต้องการระบบลับ ๆ ล่อ ๆ แบบ MAI  อีก   ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าภาคบริการ (GATS)    ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า  (Agreement on Trade-Related Investment Measures--TRIMs)   และข้อตกลงภาคบริการทางการเงิน  (Financial Services Agreement)  เมื่อปี 1997   ต้องมีการทบทวนข้อตกลงเหล่านี้เพื่อพิจารณาดูว่า   มีกลไกใดบ้างที่ยังขาดอยู่   หรือในบางกรณี  มีมาตรการใดบ้างที่ถูกสั่งห้ามโดย WTO   เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดความมั่นคงของตลาด   การทบทวนควรครอบคลุมถึงมาตรการต่อต้านการเก็งกำไรค่าเงินและการลงทุนระยะสั้นที่ผันผวนง่าย  (ยกตัวอย่างเช่น  มาตรการควบคุมเงินทุนแบบชิลี  ซึ่งได้รับคำชมเชยจากนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ)

 

 

 

 

บทสรุป

 

ในระยะเวลาเพียงแค่ห้าปีนับแต่ก่อตั้ง   WTO  ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง   ทั้งต่อการจ้างงาน  ค่าแรงและการครองชีพ   รวมไปถึงการคุ้มครองความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม  สาธารณสุขและอาหาร  ทั้งระดับภายในประเทศและระดับนานาชาติ   ตลอดจนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ  สิทธิมนุษยชน   การค้าและการลงทุนในระดับโลก    ผลกระทบเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบหรือรายงานอย่างรอบด้านในสื่อมวลชน   ดังนั้น   ประชาชนส่วนใหญ่ในโลกจึงยังขาดความรับรู้ว่า  ชีวิต  การดำรงชีพ  อาหารและสิ่งแวดล้อม   --หรืออันที่จริงก็คือ   อนาคตของตนนั่นเอง--   กำลังถูกปั้นแต่งโดยสถาบันใหม่อันทรงอำนาจ

WTO  ไม่ได้เป็นแค่องค์กรเกี่ยวกับการค้าและแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ห่างไกลตัวเรา   แท้ที่จริงแล้ว   มันคือตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ทั้งทางด้านกฎหมาย  การเมือง  วัฒนธรรมและค่านิยม   ทั้งในระดับนานาชาติ  ระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเลยทีเดียว   เมื่อคำนึงถึงว่า  การเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ครั้งนี้มีผลกระทบต่อตัวเราทุกคนโดยตรงเช่นไร   เราหวังว่าหนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้จะช่วยกระตุ้นให้สาธารณชนได้รับรู้เกี่ยวกับ WTO   และทางแพร่งอันสำคัญที่เรากำลังเผชิญหน้าในยุคโลกาภิวัตน์

แม้จะมีการประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วงเพื่อทำให้เราเชื่อไปอีกทางหนึ่ง   แต่หาใช่ว่ารูปแบบของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจในเงื้อมมือบรรษัทที่โลกเรากำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปนี้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   อันที่จริง   กลุ่มผลประโยชน์ทรงอำนาจไม่กี่กลุ่มที่ได้รับผลดีจากรูปแบบนี้   ก็ต้องใช้เวลาหลายปีในการวางแผน  วิ่งเต้นและใช้อิทธิพลอย่างหนักเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการส่งเสริมรูปแบบเศรษฐกิจดังกล่าว

ยังมีรูปแบบเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่จะส่งผลให้เกิดสังคมที่เท่าเทียม  ปลอดภัย  รักษาสิ่งแวดล้อมและโปร่งใสมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้   คำถามก็คือ  ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ต้องแบกรับผลร้ายจากสภาพที่เป็นอยู่   จะรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวมตัวกันจัดตั้งเพื่อลงมือเปลี่ยนแปลงอย่างไรเท่านั้นเอง

 


เชิงอรรถ

1.       WTO,  “Trade and the Environment in the WTO,”  Press Brief,  Apr. 16,1997.

2.       Robert Evans,  “Green Push Could Damage Trade Body—WTO Chief,”  Reuters,  May  15, 1998.

3.       WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline  (WT/DS2/R),  Report of the Panel,  Jan. 29, 1996.

4.       ดู  WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline  (WT/DS2/AB/R),  Report for the Appellate Body,  May 20, 1996.

5.       62  Fed.  Reg.  24776,  May 6, 1997,  at Appendix 19.

6.       WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline  (WT/DS2/9),  Consolidated Report of the Panel and the Appellate Body,  May 20, 1996, at Part C (Conclusions).

7.       62  Fed.  Reg.  24776,  May 6, 1997,  at Appendix 19.

8.       WTO,  United States—Standards for Reformulated and Conventional Gasoline,  Second Submission of the United States,  Aug. 17, 1995, at 22-24.

9.       John Malek and Dr. Peter Bowler,  Dolphin Protection in the Tuna Fishery,  Interdisciplinary Minor in Global Sustainability,  Seminar,  Irvine:  University of California Press  (1997),  at 1.

10.    GATT,  United States—Restrictions on Imports of Tuna  (DS21/R),  Report of the Panel,  Sep. 3, 1991.

11.    GATT,  United States—Restrictions on Imports of Tuna  (DS29/R),  Report of the Panel,  June 1994.

12.    “Clinton Pledges Early,  Renewed Effort to Pass Tuna-Dolphin Bill,”  Inside U.S. Trade,  Oct. 1996.

13.    Public Law 93-205,  16 U.S. 1531 et.seq.;  ดูประกอบ 52 Fed. Reg. 24244,  Jun. 29,  1987.

14.    Id.  at Article 2.2.

15.    Id.  at Article 2.4.

16.    European Communities—Measures Affecting the Prohibition of Asbestos and Asbestos Products  (LWT/DS 135),  Complaint by Canada,  May 28, 1998.

17.    American Electronics Association,  Legality Under International Trade Law of Draft Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment,  Mar. 1999,  prepared by Rod Hunter and Marta Lopez of Hunton & Williams,  Brussels,  on file with Public Citizen.

18.    U.S. Department of State Demarche to DG1,  DGIII  (industry)  and DGXI  (environment),  Jan. 11, 1999, at 4, on file with Public Citizen.

19.    Id.  at Article 4.4.

20.    European Union DGXI,  Second Draft Proposal for a Directive on Waste from Electrical and Electronic Equipment,  Jul. 1998.

21.    Id. at 13.

22.    ดู  Embassy of Japan,  Backgrounder on Amendments to its Law Concerning Rational Use of Energy Law (1999) , on file with Public Citizen.

23.    European Union DGX1,  Official Proposal for Directive on WEEE,  July 1999.

24.    ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี  lean-burn  ที่ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลง   โดยอาศัยการสูบอากาศเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าอัตราส่วนการสันดาประหว่างอากาศกับน้ำมันตามทฤษฎี   เพื่อทำให้เกิดการประหยัดน้ำมัน  ดู  Id.

25.    Japan,  Law Concerning Rational Use of Energy,  Jun. 22, 1979,  revised Jun. 5, 1998.

26.    ดู  “TBT Notification 99.003,”  Letter from European Commission Industrial Secretariat,  1999,  on file with Public Citizen.

27.    ตามแหล่งข่าวในรัฐบาลญี่ปุ่น   สหรัฐฯ เข้าร่วมในการต่อต้านกฎหมายประสิทธิภาพการใช้น้ำมันของญี่ปุ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเดมเลอร์-ไครสเลอร์   ในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม  ค.ศ. 1999   เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า  ประธานบริษัทฟอร์ดมอเตอร์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้ต่อนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน  จาก  Official with Japanese Embassy in Washington, D.C.,  personal communication with Michelle Sforza,  Research Director,  Public Citizen’s Global Trade Watch,  May 13, 1999.

28.    ดู  Letter from Ferial Ara Saeed,  First Secretary of the Economic Section of the U.S. Embassy to Mr.Kazuyoshi Umemoto,  Director of the First International Organizations Division of the Economics Affairs Bureau of the Ministry of Foreign Affairs,  Mar. 8, 1999.

29.    European Economic Council (EEC)  Regulation No. 3254/91,  Nov. 4, 1991,  at Articles 2 and 3,  Annex I.

30.    Neil Buckly,  “New Offer by U.S. on Leg-Hold Traps,”  Financial Times,  Dec. 1, 1997.

31.    ดู  U.S. Trade Representative,  1999 National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers  (1999),  at 115.

32.    ดู  Signatories to Feb. 6, 1996,  “Open Letter to Policymakers from Coalition for Truth  in Environmental Marketing Information,”  on file with Public Citizen.

33.    WTO Committee on Trade and Environment Document  WT/CTE/W/27,  “U.S. Proposals Regarding Further Work on Transparency of Eco-Labeling,”  Mar. 25, 1996.

34.    Suggested Basis of  U.S. Proposal Regarding Principles Applicable to Eco-Labeling Programs,  May 22, 1996,  on file with Public Citizen.

35.    Id.

36.    “TBT Committee Discusses Labeling Standards,”  BRIDGES Weekly Trade News Digest,  Vol. 3, no. 24,  June 14, 1999.

37.    Keith Koffler,  “Administration to Bring Seven Trade Complaints to the WTO,”  CongressDaily,  May 3, 1999.

38.    (1969)  Vienna Convention on the Law of Treaties  at Article 30(2).

39.    North American Free Trade Agreement (NAFTA)  at ò104.

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: