บทสรุป
ปัญหา ผลกระทบ และทางออกของเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น
จากการติดตามและวิเคราะห์ของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือชื่อเรียกสวยหรูว่า “หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น- JTEPA” นั้น เป็นข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่มีปัญหาสำคัญหลายประการ ทั้งในแง่กระบวนการเจรจาและลงนามซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วม และไม่โปร่งใสไม่แตกต่างใดๆกับการลงนามเอฟทีเอในสมัยรัฐบาล “เผด็จการทุนนิยม” ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในแง่ผลกระทบของสาระจากการเจรจาซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่และต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม
1. ปัญหาของกระบวนการจัดทำความตกลง
1. 1 กระบวนการเจรจา/ลงนามเป็นไปโดยไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และมีผลประโยชน์ทับซ้อน
- เอกสารความตกลงหนา 940 หน้าเป็นความลับ มีคนเพียงหยิบมือเดียวที่มีโอกาสได้เห็นสัญญาฉบับดังกล่าว ประชาชนไทยทั้งหมดรวมทั้งสมาชิกในรัฐสภาและองค์กรอิสระเกือบทั้งหมดจะมีโอกาสได้เห็นเอกสารสัญญาก็ต่อเมื่อมีการลงนามแล้วเสร็จซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขสัญญาใดๆได้อีก อนาคตของชาติและชะตากรรมของคนไทยจึงถูกกำหนดและตัดสินใจโดยคนไม่กี่คนในคณะเจรจา
- มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ระบุให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์และนำผลการเจรจาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแต่ก็มิได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ตามหลักการที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด หัวหน้าคณะเจรจาก็ยอมรับในภายหลังว่ามิได้มีการเจรจาแต่อย่างใด
- มีการอ้างว่ารัฐบาลนี้เปิดกว้างให้มีการอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงคือการอภิปรายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 นั้นเป็นเพียงการจัดฉาก เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดแทบไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสารสัญญาก่อนการอภิปราย
- หน่วยงานที่ควรจะมีบทบาทอย่างสูงในการเจรจาเช่น กรมควบคุมมลพิษ และกองคุ้มครองพันธุ์พืช มีส่วนร่วมน้อยมากในการเจรจา ข้าราชการระดับสูงของสองหน่วยงานเพิ่งมีโอกาสได้เห็นข้อตกลงทั้งฉบับเมื่อการเจรจาได้ดำเนินการไปเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
- คณะเจรจาถอนการเจรจาเรื่องข้าวออกไปเพื่อแลกกับผลประโยชน์การส่งออกกุ้ง ไก่ อาหารทะเล ของบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่การเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่นเกษตรกรไทย เช่น ชาวนา มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่ามากเพราะต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นสูงจนไม่อาจแข่งขันได้
- สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการใช้กลยุทธและเล่ห์เหลี่ยมของนักการทูตมาใช้กับคนไทยด้วยกันเองโดยการปิดบังการเข้าถึงข้อมูล การจำกัดขอบเขตมิให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบออกไปยังเรื่องที่มีความสำคัญ และการกำหนดเงื่อนเวลาต่างๆที่ทำให้ประชาชน และแม้กระทั่งคณะรัฐมนตรีไม่สามารถวิเคราะห์หรือปรับปรุงร่างข้อตกลงได้ทันการณ์ก่อนการลงนาม
1.2 ละเมิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549
จากกการวิเคราะห์ของนักกฎหมายชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับของไทยพบว่า ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้อำนาจรัฐบาลชั่วคราวในการลงนามข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นซึ่งมีผลกระทบต่อขอบเขตอำนาจแห่งรัฐ และมีผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายใน
- รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ระบุไว้ในมาตรา 38 ว่าในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใดรองรับให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง ซึ่งในทางกฎหมายหมายถึงการที่รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบก่อนการลงนาม ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั่นเอง
1.3 รัฐบาลชั่วคราวไม่มีความชอบธรรมใดๆในการตัดสินใจเรื่องที่ผลกระทบระยะยาวต่อประเทศชาติและประชาชน
รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และเป็นรัฐบาลชั่วคราวซึ่งควรจะทำหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่เป็นการฟื้นฟูบ้านเมืองและทุกข์ยากของประชาชนมากกว่าจะตัดสินใจทางนโยบายที่จะมีผลผูกมัดประเทศชาติและประชาชนในระยะยาวอย่างการลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่น การลงนามเพื่อแสดงให้ต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลชั่วคราวซึ่งมีอายุเหลืออยู่อีกเพียงไม่กี่เดือนชุดนี้ได้รับการยอมรับ เป็นเหตุผลที่ไม่อาจยอมรับได้
2. ปัญหาสาระของความตกลง
เอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่น มีเนื้อหาสาระแทบไม่แตกต่างใดๆกับเอฟทีเอที่ประเทศไทยเจรจากับสหรัฐอเมริกา รัฐบาลชั่วคราวชุดนี้เคยประกาศว่าจะไม่เดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯเพราะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่กลับเร่งรีบลงนามเอฟทีเอกับญี่ปุ่นซึ่งข้อบทในการเจรจาใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการลงทุน
2.1 สิทธิบัตรในจุลชีพหรือจุลินทรีย์ เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติซึ่งมีความสำคัญมากต่อการเกษตร อาหาร และยา ตัวอย่างเช่นมีเกษตรกรในประเทศไทยมากกว่า 2 ล้านครอบครัวที่ใช้จุลินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดิน การลงนามจะทำให้ฝ่ายญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาฉกฉวยจดสิทธิบัตรผูกขาดทรัพยากรจุลชีพของประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งได้ลงนามและเจรจาแล้วเสร็จตามลำดับหาได้ยอมรับข้อบทดังกล่าวเช่นเดียวกับประเทศไทยไม่
2.2 ประเด็นขยะและของเสียอันตราย มีรายการขยะของเสียอันตรายอย่างน้อย 40 รายการที่ถูกระบุเป็น “สินค้า” ที่ต้องลดภาษี เช่น ของเสียจากโรงพยาบาล ขยะเทศบาล แบตเตอรี่ใช้แล้ว แท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เป็นต้น รายการเหล่านี้ไม่ควรมีในข้อตกลงฉบับนี้ นอกเหนือจากนี้ประเด็นนี้จะเชื่อมโยงกับบทเรื่องการลงทุนซึ่งหากมีการลงทุนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะในเมืองไทย ประเทศไทยจะไม่สามารถนำเอามาตรการและกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้ได้ เพราะถือว่าละเมิดต่อนักลงทุน
2.3 สิทธิบัตรพันธุ์พืช ญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการให้สิทธิผูกขาดในพันธุ์พืชใหม่ใกล้เคียงกับกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชระหว่างกันได้ ฟิลิปปินส์ซึ่งได้เจรจากับญี่ปุ่นเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไม่ยอมตามแรงกดดันของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ โดยระบุไว้ในข้อตกลงว่าการคุ้มครองพันธุ์พืชของภาคีทั้งสองให้เป็นไปตามระบบกฎหมายภายในของแต่ละฝ่าย นอกเหนือจากนี้ภายใต้หลักประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง(MFN) บริษัทเมล็ดพันธุ์ของสหรัฐ และชาติอื่นๆจะได้รับสิทธิผูกขาดดังกล่าวไปโดยอัตโนมัติด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยในอนาคต
2.4 ผลกระทบต่อมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ ด้วยบทการลงทุนที่ระบุให้ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นการลงทุน ผนวกกับการคุ้มครองการลงทุนที่อาจตีความได้ว่า “มาตรการบังคับใช้สิทธิ”(Compulsory Lisensing)เป็นการ “ยึดทรัพย์ทางอ้อม” ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์เหมือนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ได้ ประเด็นนี้จะกระทบกับผู้ป่วยและผู้รับบริการสาธารณสุขชาวไทยที่จะต้องใช้ยาราคาแพงในกรณีที่เกิดการผูกขาดเรื่องยา หรือเกิดโรคระบาดขึ้น สหรัฐและยุโรปซึ่งเป็นประเทศผลิตยารายใหญ่จะใช้เงื่อนไขนี้ในการเจรจากับประเทศไทยในอนาคต
2.5 ไม่มีการเตรียมการปัญหาที่จะเกิดจากผุ้ป่วยญี่ปุ่นที่เข้ามาใช้บริการสาธารณสุขในประเทศ ขณะนี้มีหมอเพียง 5-8% ที่รักษาคนในชนบท 40 ล้านคน ในขณะที่เราต้องใช้หมอถึง 16% หรือ 2 เท่าที่รักษาคนในชนบท เพื่อรักษาคนไข้ต่างชาติ 1 ล้านคน ดังนั้นการยอมรับอย่างเป็นทางการให้คนไข้ญี่ปุ่นสามารถเบิกรักษาพยาบาลได้หากมาใช้บริการในประเทศไทย จะเกิดผลกระทบมากมายต่อคนไทยโดยทั่วไป โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีกระบวนการหรือมาตรการรับมือกับสถานการณ์การขาดแคลนแพทย์ หรือการเกลี่ยผลประโยชน์จากผู้ได้รับประโยชน์ไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบใดๆเลย
2.6 ผลกระทบจากข้อบทเรื่องการลงทุนต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และอธิปไตยของชาติ
ข้อบทเรื่องการลงทุนที่รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การสัมปทาน และอื่นๆ รวมทั้งการคุ้มครองนักลงทุน จะสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อนโยบาย กฎหมาย และมาตรการในการรักษาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และศีลธรรมของสังคม รวมถึงการกระจายอำนาจและจัดสรรทรัพยากรสู่ท้องถิ่น โดยนักลงทุนญี่ปุ่นจะอ้าง "การยึดทรัพย์ทางอ้อม" หรือ "การแบ่งแยกกีดกัน" หรือ "การปฏิบัติไม่เป็นตามมาตรฐานขั้นต่ำ" หากมีการดำเนินการใดๆตามนโยบายและมาตรการข้างต้น โดยนักลงทุนญี่ปุ่นจะใช้ข้อบทในเรื่องนี้ ฟ้องรัฐเรียกค่าเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินและผลประโยชน์จากการลงทุนของเขา
ผลกระทบที่สำคัญต่ออธิปไตยของประเทศคือข้อบทในเรื่องการลงทุนจะจำกัดบทบาทของอำนาจตุลาการในประเทศในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนญี่ปุ่นซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือเปิดช่องให้เอกชนญี่ปุ่นและชาติที่สามยื่นฟ้องรัฐได้เองผ่านอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ ซึ่งพิจารณาคดีเป็นความลับและไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าจะให้น้ำหนักกับการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ
3. ข้อเสนอ
กระบวนการจัดทำความตกลงทั้งหมดในเรื่องเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นดำเนินไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่โปร่งใส และมีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่แตกต่างใดๆกับรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
การตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่อประชาชนและอนาคตของชาติ ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย และโปร่งใส ในทางหลักการรัฐบาลรักษาการณ์ซึ่งมาจาการรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมใดๆทั้งทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่จะลงนามในความตกลงฉบับนี้ การลงนามในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นต้องให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้โดยต้องมีหลักประกันว่ากระบวนการทั้งหมดในการเจรจาและลงนามจะเป็นไปโดยประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง
ประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะปฏิเสธการลงนาม และดำเนินการใดๆทั้งในด้านกฎหมาย หรืออื่นๆเพื่อให้ข้อตกลงอันไม่ชอบธรรมนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ หรือมีผลเป็นโมฆะในท้ายที่สุด