รังสรรค์ลอกคราบ?ทักษิโณมิกส์?ถลุงเงินคลังหาเสียง

สนองตระกูลรวยหุ้น

?รังสรรค์?ชำแหละ ?4ปีรัฐบาลทักษิณ?ใช้นโยบายกึ่งการคลังเป็นเครื่องมือถลุงเงินประเทศสนอง?ทักษิโณมิกส์?โกยคะแนนเสียง-ผลประโยชน์พวกพ้อง แต่ปิดบังซ่อนเร้นภาระความเสี่ยงหนี้เน่างบดุลการคลังขาดดุล ชี้ 4 ปีข้างหน้ากลุ่ม "ตระกูลรวยหุ้น "ในรัฐบาล พร้อมจะแสวงหาค่าเช่าทั้งส่วนเกินทางเศรษฐกิจมโหฬาร-เข็นทรัพยากรของรัฐเข้าตลาดหุ้น ฐานหาทุนพรรคสำคัญ ขณะที่ภาวะความเสี่ยงหนี้เน่าและขาดดุลในโครงการประชานิยมจะค่อยๆ โผล่ให้เห็น

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีปาฏกถาวิชาการเรื่อง ?Thaksinomics ภายใต้ทักษิณาธิปไตย? โดย นายรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2546

นายรังสรรค์ กล่าวถึงแนวทางการรณรงค์การเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย ที่พยายามสร้างยี่ห้อของพรรคระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้ประชาชนได้จงรักภักดีต่อพรรค เป้าหมายเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ด้วยการมอบความสุขผ่านเมนูนโยบายการเมือง (Policy Manu) เช่น นโยบายประชานิยมให้เห็นถึงแตกต่าง และแยกแยะจากนโยบายพรรคการเมืองอื่น โดยชูชื่อของหัวหน้าพรรคมาใช้หาเสียงเพื่อเสริมสร้างบุญญาปาฏิหาริย์ต่อประชาชน

?ต้องยอมรับ 4 ปีที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทยเก่งสามารถสร้างเทคโนโลยีรักษาสัญญา นโยบายที่โฆษณาหาหาเสียงไว้ไปปฏิบัติได้จริง จึงได้คะแนนเสียงท่วมท้น? กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า แต่ในทางกลับกัน การสร้างยี่ห้อพรรคไทยรักไทยในการดึงดูนักการเมืองเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค นักการเมืองกลับมิได้จงรักภักดีต่อพรรคไทยรักไทยอย่างแท้จริง แต่จะต้องจงรักภักดี ประจบสอพอต่อกลุ่ม ก๊วน และแก๊งของตระกูลที่ฐานการเงินที่มีอิทธิพลอยู่ในพรรคไทยรักไทยมากกว่า เพราะพรรคไทยรักไทยดำรงอยู่ได้ด้วยการเกื้อหนุนของฐานธุรกิจ ด้วยความเป็นเจ้าของของตระกูลชินวัตร แม้ในพรรคจะมีหลากหลายตระกูลที่ร่วมมีหุ้นส่วนอยู่ด้วย แต่ตระกูลชินวัตรมีความเป็นเจ้าของพรรคมากที่สุด เหมือนกับพรรคชาติไทย ชาติพัฒนา จึงเป็นได้แค่การบริหารแบบเถ้าแก่เท่านั้น มิใช่ซีอีโอ

?ทุนของเถ้าแก่มีความสำคัญต่อการเติบโตของพรรค ไม่เชื่อว่าการที่ทักษิณควักกระเป๋าตัวเองจ่ายให้สมาชิกพรรค และตัวเองจะไม่กำหนดหรือออกนโยบายเศรษฐกิจที่ตัวเองมีอำนาจรัฐอยู่เพื่อแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ และส่วนเกินทางเศรษฐกิจ เพื่อหาเงินมาอุดหนุนพรรคไทยรักไทย? ศ.รังสรรค์กล่าว

นายรังสรรค์ กล่าวว่า ดังนั้นทักษิณเป็น Supreme Commander จึงทำให้รัฐมนตรีต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะไม่ทำตัวมีปัญหา เช่น ระหว่างประชุม ครม.จะไม่มีรัฐมนตรีคนไหนลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น ทัดทาน ท้วงติง หรือวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี ทำให้ 4 ปีที่ผ่านมาในการบริหารประเทศเต็มไปด้วยรัฐมนตรีฝึกงานเป็นจำนวนมาก มีรัฐมนตรีขาประจำชั้นหนึ่งเพียง 4 คนเท่านั้นที่ดำรงตำแหน่งเดิมได้โดยไม่ถูกถอดถอน ส่วนรัฐมนตรีขาประจำชั้น 2 จะมีอยู่แค่ 15 คนที่มักจะถูกสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่จะมีรัฐมนตรีขาจรเป็นจำนวนมากถึง 38 คน ซึ่งนายกทักษิณจะแต่งตั้งถอนถอนตำแหน่งคนกลุ่มนี้ในคณะรัฐมนตรีเพื่อตอบแทนบุญคุณทางการเมืองและทำงานไม่เข้าตาทักษิณ

?การบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีทุกคนไม่มีใครกล้าตีเสมอทักษิณ นโยบายทุกอย่างถูกชี้นำจากทักษิณทั้งสิ้น ส่งผลให้รัฐมนตรีที่อยู่กระทรวงไม่สามารถออกนโยบายที่มีเนื้อหา สาระและจุดเน้นได้ และข้าราชการเองก็ปรับตัวไม่ทัน?

นักวิชาการรายเดิมกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ระบอบทักษิโณมิกส์ไม่ต้องการให้กลุ่มนักวิชาการกลุ่มขุนนางนักวิชาการ หรือเทคโนแครต ที่เคยเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจประเทศเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เช่น กลุ่มเทคโนแครตในกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย เปลี่ยนบทบาทคนเหล่านี้ให้เป็นเพียงผู้รับสนองนโยบายไปปฏิบัติเท่านั้น จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจประเทศแบบเดิมกับระบอบทักษิโณมิกส์

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า ดังนั้นทักษิณจะออกเมนูนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมาก็เพื่อกอบโกยคะแนนเสียงจากประชาชนและผลประโยชน์ส่วนบุคคลของคนในรัฐบาล ดูได้จากนโยบายประชานิยมต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนมาโดยตลอด พร้อมกับพยายามปิดบังซ่อนเร้น และอำพรางภาระต้นทุนความเสี่ยงไม่ให้ประชาชนรับทราบ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การที่รัฐบาลทักษิณนำเครื่องมือนโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Policy Instrument) เพื่อนำไปสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาตามแนวทางทักษิโณมิกส์ ที่เน้นทวิวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ (Dual Track) ที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า โดยรัฐบาลบีบให้ให้สถาบันการเงินของรัฐ ทำหน้าที่แทนรัฐในการสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เฉพาะกลุ่มเป็นพิเศษ เช่นการปล่อยสินเชื่อต่างๆ เพราะรากหญ้าคือหัวใจสำคัญของระบอบทักษิโณมิกส์

?ก่อนเลือกตั้งปี 44 เป็นรัฐบาลไทยรักไทยขี่กระแสชาตินิยม จึงชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกกล่าวหาว่าขายชาติเดินตามแนวกฎหมาย 11 ฉบับ เดินตามก้นไอเอ็มเอฟ ทักษิณจึงเสนอให้ไทยต้องลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจโลก เช่น การลงทุนต่างประเทศ และการส่งออก แต่เสนอให้เน้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า หาประโยชน์จากตลาดบริโภคในประเทศ (Domestic Demand Rate Growth)?

นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า ระบอบเศรษฐกิจทักษิโณมิกส์ในอีก 4 ปีข้างหน้า การลดหรือเพิ่มอำนาจรัฐจะขึ้นหรือลง อยู่กับว่านโยบายทางเศรษฐกิจทุกๆ อย่างจะออกมาเพื่อตอบสนองคะแนนนิยม และผลประโยชน์ส่วนบุคคลของคนในรัฐบาล เช่น การแสวงหาค่าเช่า และส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามถ่ายโอนและดูดซับอำนาจ และทรัพยากรของรัฐเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นฐานหาเงินทุนการเมืองสำคัญของคนในรัฐบาล เช่น การแปรรูป กฟผ. ปตท. หรือการซื้อคืนรถไฟฟ้าบีทีเอส

?การปฏิรูประบบภาษีอากรเป็นไปทิศทางการลดหย่อน ยกเว้นภาษีให้ประชาชน ก็เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน แต่จะไปล้วงเงินจากอบายมุข เช่น กองสลาก เปิดบ่อนกาสิโนมากขึ้น?

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวอภิปรายว่า เครื่องมือนโยบายกึ่งการคลังที่รัฐบาลทักษิณใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันระบอบทักษิโณมิกส์นั้น โดยการโยกเงินงบประมาณแผ่นดินมาไว้ที่งบกลาง เป็นช่องโหว่เปิดทางให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างสะดวก โดยมีจำนวนเงินในงบกลางมากกว่างบประมาณแผ่นดินปกติถึง 25% ซึ่งในการใช้จ่ายต่างๆ จะไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ดังนั้น คาดว่าในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาจากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลใช้นโยบายกึ่งการคลังไป ซึ่งปัญหาจะค่อยๆ โผล่ออกมาให้เห็นเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะขาลง

?โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการ 30 บาท เมืองใหม่นครนายก อีลิทการ์ด และไทยแลนด์พลาซา ฯลฯ การใช้เงินภาครัฐไม่สามารถเห็นงบดุลการใช้จ่ายทั้งหมดในเศรษฐกิจมหภาคได้ ที่รัฐบาลทักษิณใช้อย่างเรี่ยราดกระจัดกระจายระหว่างตระเวนหาเสียงในการประชุม ครม.สัญจรทั่วประเทศ ไม่มีมีการตรวจสอบโปร่งใส แต่ไม่ได้เปิดเผยออกมาว่าในจำนวนเงินที่ใช้ไปขาดดุลเท่าไร วิเคราะห์ลำบาก?

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด