ธ.ก.ส.ทุ่ม300ล้านดันกองทุนหมู่บ้าน ขึ้นชั้นธนาคารชุมชน

ธ.ก.ส.ทุ่ม300ล้านดันกองทุนหมู่บ้าน ขึ้นชั้น"ธนาคารชุมชน"ช่วยรากหญ้า

ธ.ก.ส.ทุ่มงบ 300 ล้านบาท ยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารชุมชน ตั้งเป้าปี 48 ขยายให้ได้ 2,700 แห่ง เผยที่ผ่านมามีกองทุนที่เข้มแข็งและพร้อม 83 กองทุน แนะลิขสิทธิ์เวบไซต์หารายได้เข้ากองทุน

นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่จะให้ธนาคารของรัฐเข้าดูแลและสนับสนุนให้ธนาคารของรัฐเข้าไปดูแลสนับสนุนต่อยอดกองทุนหมู่บ้านเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านระบบการเงินและความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้กำหนดแผนพัฒนากองทุนหมู่บ้านตามนโยบายต่อเนื่อง

โดยขณะนี้สามารถยกระดับกองทุนหมู่บ้านที่เข้มแข็งเป็นสถาบันการเงินของชุมชนแล้ว 83 กองทุน แยกเป็นภาคเหนือ 8 จังหวัด 24 กองทุน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด 43 กองทุน ภาคกลาง-ตะวันออก 2 จังหวัด 7 กองทุน และภาคใต้-ตะวันตก 4 จังหวัด จำนวน 9 กองทุน โดยกองทุนเหล่านี้มีความพร้อมดำเนินตามภารกิจ คือ ระดมทุนจากสมาชิก ให้มีการรับฝากเงิน บริการสินเชื่อ ร่วมลงทุนในโครงการพิเศษเพื่อชุมชน ทำธุรกรรมกับธนาคาร และให้บริการชำระค่าบริการต่างๆ ซึ่งแต่ละธนาคารนั้นมีความพร้อมด้านเครื่องมือและระบบงานของตัวเอง สามารถจัดทำระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐานยอมรับได้ มีเวลาปฏิบัติงานแน่นอน มีพนักงานในพื้นที่ประจำ พร้อมให้บริการสมาชิกตลอดเวลา

ทั้งนี้ระบบบัญชีและการให้บริการของกองทุนฯ จัดทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเวบไซต์เชื่อมโยง ธ.ก.ส. ดังนั้น จึงสามารถตรวจสอบระบบบัญชีได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ระบบบัญชีที่จัดทำเป็นเวบไซต์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากการดำเนินการของกองทุนเอง ธ.ก.ส.จะส่งเสริมให้จดลิขสิทธิ์ในอนาคต หากมีหน่วยงานอื่นขอร่วมใช้ลิขสิทธิ์นี้ให้กองทุนเก็บใบอนุญาตเป็นรายได้เข้ากองทุน

สำหรับการดำเนินงานปี 2548 นั้น ธ.ก.ส.กำหนดเป้าหมายให้สาขาคัดเลือกกองทุนหมู่บ้านที่มีความพร้อมและเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาเป็นธนาคารชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 2,700 แห่ง โดยจัดสรรงบ 300 ล้านบาทรองรับและดำเนินการอบรม เตรียมความพร้อมให้คณะกรรมการกองทุน และปรับปรุงอาคารสำนักงานรวมถึงจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์

"กองทุนที่จะยกระดับเป็นธนาคารชุมชน ควรมีเงินทุนหมุนเวียนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่ง ธ.ก.ส.ต้องการให้เกิดการรวมตัวของกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งสามารถเดินทางได้สะดวก และเมื่อมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก จะทำให้ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรและสมาชิกได้มากด้วย ปัจจุบันกองทุนทั่วไปเฉลี่ยจะมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งยังถือว่าน้อยเกินไป ซึ่งการที่ ธ.ก.ส.สนับสนุนให้เกิดธนาคารชุมชน เนื่องจากมีเกษตรกรรายย่อยอีกมากที่ต้องการกู้เงินเพียง 10,000-20,000 บาท ดังนั้น การยกระดับกองทุนขึ้นมาจึงจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในระดับท้องถิ่นมากขึ้น" นายธีรพงษ์ ย้ำ

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด