สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ (FTA Watch) ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนมากกว่า 10,000 รายชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา แต่นายชัย ชิดชอบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในขณะนั้นมีคำสั่งปฏิเสธร่างพระราชบัญญัตินี้เนื่องจากวินิจฉัยว่า ไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ผู้แทนกลุ่ม FTA Watch จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของประธานรัฐสภา โดยระบุว่าร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่องสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล และสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลก่อนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ จึงเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการอยู่ในหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ
ต่อมา วันที่ 30 ตุลาคม 2555 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 9 คณะรัฐมนตรี โดยมาตรา 190 วรรคห้า ประกอบกับบทเฉพาะกาลมาตรา 303(3) ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดทำกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีจัดทำกฎหมายในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีผู้ฟ้องคดี (ประชาชน) จึงไม่อาจเสนอร่างพระราชบัญญัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย หรือหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐให้รัฐสภาพิจารณาได้ คำสั่งปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และศาลได้พิพากษายกฟ้อง
คำพิพากษานี้ มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกฎหมายหลายฉบับที่ประชาชนได้รวบรวมรายชื่อเสนอไปแล้วหรือกำลังดำเนินการ โดยอาจไม่สามารถเสนอได้อีกต่อไปหากไม่ได้เป็นกฎหมายที่กำหนดตามหมวด 3 หรือ 5 ของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด แม้ว่า พรบ ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จะบัญญัติเพียงว่า “กฎหมายที่จะเสนอ (...) ต้องมีหลักการเกี่ยวกับเรื่องที่บัญญัติในหมวด 3 (...) หรือ หมวด 5 (...)” เท่านั้น ดังที่ปรากฏแล้วว่า กฎหมายหลายฉบับก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายภายใต้หมวด 3 หรือ 5 เป็นการเฉพาะก็ยังได้รับการพิจารณา ตัวอย่างเช่น ร่าง พรบ ตั้งจังหวัดภูเวียง พ.ศ. ... ร่าง พรบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พรบ ล้มละลาย พ.ศ. เป็นต้น
นอกจากนี้ทั้งรัฐธรรมนูญและ พรบ.ว่าด้วยการเสนอกฎหมายฯ ไม่ได้มีเงื่อนไขกำหนดห้ามมิให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ซ้ำกับรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐหน่วยอื่นๆ อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีบทบัญญัติใดที่สงวนอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อรองรับมาตรา 190 ไว้เฉพาะแก่รัฐบาลเพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตามจุดสำคัญอย่างยิ่งคือ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีนี้อาจส่งผลให้กฎหมายใดๆก็ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดทำอยู่แล้ว องคาพยพอื่นๆ ในสังคมก็จะถูกตัดสิทธิไปโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือฝ่ายนิติบัญญัติเอง แม้ว่าการเสนอกฎหมายโดยประชาชนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ได้เป็นการไปตัดสิทธิรัฐบาลในการเสนอกฎหมายเดียวกันแต่อย่างใด นั้นหมายถึงประเทศไทยจะไม่มีทางมีกฎหมายใช้หากคณะรัฐมนตรีไม่ทำหน้าที่ หรือทำอย่างเชื่องช้า
ดังจะเห็นได้ว่าจนถึงวันนี้ผ่านไปแล้วกว่า 4 ปี ประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายเพื่อรองรับมาตรา 190 เลย ซึ่งเป็นการฉุดรั้งและลดทอนประสิทธิภาพทางการต่างประเทศของรัฐไทย อีกทั้งได้ก่อให้เกิดทั้งความสับสนและขัดแย้งในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทางกลุ่ม FTA Watch จะดำเนินการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป