ภาคประชาชนนัดชุมนุมหน้าทำเนียบฯ พฤหัสนี้ กระตุ้นรัฐบาลฟังเสียงประชาชน ในการเจรจาเอฟทีเอไทย – อียู จัดตั้งกลไกหารือก่อนหลังการเจรจาทุกรอบ

เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) แถลงข่าวการชุมนุมของภาคประชาชนจากกรณีการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เอฟทีเอไทย-อียู ที่รัฐบาลกำลังจะไปเริ่มเจรจาในวันที่ ๖ – ๗ มีนาคมนี้ จะเจรจาในหลายประเด็นที่ไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเออื่นๆ และเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดทำกรอบการเจรจา ไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากเวทีการรับฟังความคิดเห็นเสนอให้รัฐสภาพิจารณาด้วย

“วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ นี้ พวกเราภาคประชาสังคมจะไปชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลคำนึงถึงข้อเรียกร้องเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเดินหน้าทำเอฟทีเอ โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ดังนั้นระหว่างการเจรจารัฐบาลต้องจัดตั้งกลไกให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล ไม่ใช่ฟังแต่ความต้องการของภาคธุรกิจส่งออกเท่านั้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยอมเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับอียู และยอมรับข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้านยา จะทำให้ยารักษาโรคถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น ส่งผลให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา เข้าไม่ถึงการรักษา ซึ่งจะเพิ่มภาระให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ และงบประมาณของประเทศ “แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะอ้างว่า มีการตั้งคณะทำงาน 2 คณะ แต่ยังไม่มีรายละเอียดอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบที่ชัดเจนพอ ดังนั้น รัฐบาลต้องรับปากต่อสัญญาประชาคมว่า จะไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของอียูที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ และต้องให้ทีมวิชาการของ อย.และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำงานเต็มศักยภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคธุรกิจและกรมเจรจาฯบีบคั้นตลอดเวลา”

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลยอมรับข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ จะส่งผลให้บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และต้นทุนการผลิตด้านเกษตรกรรมและอาหารจะสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง ซึ่งอาหารจะถูกผูกขาด และถูกกำหนดราคาโดยบริษัท จากการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร “ดังนั้น การเจรจาต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการเจรจาทั้งเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งกลไกการรับฟังความคิดเห็นและหารือกับทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-อียู กรมเจรจาฯก็เคยจัดกลไกที่ว่ามาแล้ว”

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ชมรมเพื่อนโรคไต} เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่, เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการควบคุมยาสูบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATCA) และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

เอฟทีเอรายประเทศ: 
หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: