กระทรวงพานิชย์เร่งรวบรัดจัดทำกรอบการเจรจา
เอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป ที่รัฐบาลกำลังจะไปเริ่มเจรจาในวันที่ 6-7 มีนาคมนี้ จะเจรจาในหลายประเด็นที่ไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเออื่นๆ ทั้งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน และสินค้าทำลายสุขภาพเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ดังนั้นจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและดำเนินตามขั้นตอนมาตรา 190 อย่างเคร่งครัด
แต่ที่ผ่านมา การรับฟังความคิดเห็น การเตรียมการเจรจา การร่างกรอบเจรจาฯ และการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ล้วนมีความบกพร่องทั้งกระบวนการและเนื้อหา ข้อห่วงใยหลายเรื่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศและสังคมทุกภาคส่วนในระยะยาวถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ
กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า จัดรับฟังความคิดกว่า 60 ครั้งทั่วภูมิภาค แต่ในครั้งนั้นไม่เคยมีการนำร่างกรอบการเจรจามาให้พิจารณา เป็นเพียงการถามความเห็นว่าคิดอย่างไรหากจะเปิดการเจรจา และเมื่อจัดทำกรอบการเจรจาก็ไม่ได้นำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อกังวลที่ได้จากเวทีเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด
วัตถุประสงค์และเป้าหมายการเจรจา ไม่ได้คำนึงถึงระดับการพัฒนา หลักการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ไม่มีการสร้างระบบให้เกิดภูมิคุ้มกัน และการสร้างความพร้อมของกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งไม่กำหนดให้มีระยะเวลาในการปรับตัวและมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
อุ้มภาคธุรกิจที่ไม่รู้จักโต
- การเจรจาหวังผลเพียงแค่การได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ต่อเท่านั้น ทั้งที่สาเหตุของการถูกตัดสิทธิ GSP เกิดจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูงติดต่อกัน 3 ปีและมีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5% ไปแล้ว ทำให้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องถูกตัด GSPอย่างไรก็ตาม แม้จะถูกตัดสิทธิ GSP ทั้งหมดจะส่งผลกระทบกับการสูญเสียรายได้จากการถูกแย่งตลาดเพียง 2,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 79,422 ล้านบาท) ไม่ใช่ทั้งหมดของมูลค่าการส่งออกที่คิดเป็น 2.97 แสนล้านบาท แต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีการประเมินผลจากวิกฤตยูโรโซนที่เป็นปัจจุบัน ที่น่าจะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกลดลง
- รัฐบาลไทยตั้งเป้าจะเจรจาแค่ 10 รอบภายในระยะเวลา 1 ปีครึ่ง เพื่อให้ทันต่อสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากสหภาพยุโรปต้นปี 2558 โดยไม่ใส่ใจว่า นี่จะคือการลดอำนาจการต่อรองในการเจรจา
- ข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจได้รับการตอบสนอง เช่น ไม่ให้เพิ่มการคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้เพิ่มมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ไม่ให้นำเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนมาบังคับภาคธุรกิจ
แต่ไม่เหลียวแลผลกระทบต่อชีวิตและการทำมาหากินของประชาชน
- ยารักษาโรคถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น ยาราคาแพงจะคงอยู่ในตลาดยาโดยไม่มียาที่ถูกกว่าเข้ามาแข่งขัน ส่งผลให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา เข้าไม่ถึงการรักษา เพิ่มภาระกับงบประมาณของประเทศ และระบบหลักประกันสุขภาพจะถูกสั่นคลอน หากมีการยอมรับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาด้านย
- เปิดทางให้บรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตเกษตรกรรมและอาหารจะสูงขึ้นอย่างมาก หากยอมรับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ
- เปิดทางให้บริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลงทุนทางการเกษตร ด้วยเงินทุน เทคโนโลยี และการเอื้อประโยชน์ทางนโยบายจากรัฐบาล เกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง อาหารถูกผูกขาดและถูกกำหนดราคาโดยบริษัทจากการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร
- ขณะที่ยารักษาโรคมีราคาแพง สินค้าที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจะได้รับการลดภาษีอย่างมโหฬาร เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ จะมีราคาถูก กระตุ้นให้เกิดนักดื่ม-นักสูบหน้าใหม่ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นภาระโรคในระยะยาว และยังจำกัดอำนาจของรัฐในการออกนโยบายและมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบ
- เอฟทีเอนี้ จะเป็นอุปสรรคสำหรับการกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข, การคุ้มครองผู้บริโภค, ปกป้องสิ่งแวดล้อม, ช่วยเหลือเกษตรกร, อุดหนุนเอสเอ็มอี ด้วยกลไกที่เรียกว่า กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเรียกค่าเสียหายจากงบประมาณแผ่นดิน หากรัฐบาลกำหนดนโยบายที่กระทบต่อการหากำไรของบริษัทข้ามชาติ
- ปิดกั้นการเข้าถึงความรู้ทั้งหนังสือและโลกออนไลน์ ผ่านเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายที่เกินไปกว่าที่ตกลงไว้ในองค์การการค้าโลก
ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เป็นประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นรวมถึงประชาชนทั่วไป เราขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจา ให้คำมั่นต่อสัญญาประชาคมและมอบนโยบายและจุดยืนที่ชัดเจนแก่คณะผู้เจรจา ดังนี้
- ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (ไม่ยอมทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ
- การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุขสาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
- ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
- ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า
- ให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล