28 กุมภาพันธ์ 2556
เรียน ฯพณฯนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
สำเนาเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์)
หัวหน้าคณะเจรจา (นายโอฬาร ไชยประวัติ)
เรื่อง ให้สัญญาประชาคมและมอบนโยบาย-จุดยืนที่ชัดเจนแก่คณะผู้เจรจา
ตามที่ฯพณฯนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปกรุงบรัสเซล ในวันที่ 6-7 มีนาคมนี้ เพื่อเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป รอบแรก และได้กำหนดระยะเวลาว่าจะเร่งเจรจาอย่างเร่งด่วนให้เสร็จสิ้นในการเจรจาเพียง 10 รอบใช้เวลา 1 ปีครึ่งจากนั้นจะมาเข้าสู่กระบวนการเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อให้ทันการต่อสิทธิพิเศษทางการค้าที่จะหมดในสิ้นปี 2557 นั้น
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และภาคประชาสังคม อันประกอบด้วยภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ องค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน 28 องค์กรที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรี ได้พยายามให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อท้วงติงกับหน่วยราชการและรัฐบาลมาโดยตลอดว่า เอฟทีเอกับสหภาพยุโรปนี้ ไทยอาจจำต้องเจรจาในหลายประเด็นที่ไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเออื่นๆ ทั้งเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน และสินค้าทำลายสุขภาพเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ดังนั้นจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและดำเนินตามขั้นตอนมาตรา 190 อย่างเคร่งครัด
แต่ที่ผ่านมา การรับฟังความคิดเห็น การเตรียมการเจรจา การร่างกรอบเจรจาฯ และการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ล้วนมีความบกพร่องทั้งกระบวนการและเนื้อหา-ข้อห่วงใยหลายเรื่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศและสังคมทุกภาคส่วนในระยะยาวซึ่งจะมีผลกระทบกับงบประมาณแผ่นดินมากกว่าแสนล้านบาทถูกละเลยไม่ให้ความสำคัญ แต่หันไปให้ความสำคัญกับสิทธิพิเศษทางการค้าที่จะเสียไปทั้งที่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้น ได้ผลประโยชน์เพียงไม่กี่กลุ่มธุรกิจส่งออก โดยมูลค่าความเสียหายประมาณ 80,000 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เป็นประโยชน์กับประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นรวมถึงประชาชนทั่วไป ตามนโยบายของรัฐบาลของ ฯพณฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยได้ประกาศไว้ต่อรัฐสภา เราขอเรียกร้องให้ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจา ให้คำมั่นต่อสัญญาประชาคมและมอบนโยบายและจุดยืนที่ชัดเจนแก่คณะผู้เจรจา ดังนี้
- ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO (ไม่ยอมรับทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ
- การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ต้องไม่มีผลให้มีการนำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
- ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
- ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า
- ให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล
ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนใคร่ขอให้ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจา โปรดใคร่ครวญถึงผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและประชาชนไทย ภายใต้ความรับผิดชอบของท่านทั้งสอง ที่ทำการแทนลูกหลานของเราในอนาคตว่า การแลกประโยชน์ของชาติ ที่เป็นของคนไทยทุกคน กับประโยชน์ของภาคธุรกิจส่วนน้อยนั้นจะเป็นการคุ้มค่าหรือไม่
ขอแสดงความนับถือ
(ภญ. สำลี ใจดี)
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์,
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท,
กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน,
เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์,
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา,
เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการควบคุมยาสูบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATCA)
Attachment | Size |
---|---|
จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีภาษาอังกฤษ ฉบับที่ 2 | 10.62 KB |
จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีภาษาอังกฤษ ฉบับที่ 1 | 13.44 KB |
จดหมายถึงนายกรัฐมนตรีภาษาไทย | 77.66 KB |