เหตุค้านแก้รธน.มาตรา 190 ‘เอ็นจีโอ’ ชี้มุ่งกระชับอำนาจฝ่ายบริหาร-ชนชั้นนำแท้จริง ชงคลอดกม.ลูกที่ชัดเจน-ยืดหยุ่น ‘กรรณิการ์ กิจติเวชกุล’ ระบุหากไทยยอมรับทริปพลัสต้องสูญเงินเข้าถึงสิทธิยา 1.2 แสนล./ปี-เมล็ดพันธุ์ 1.4 แสนล./ปี หวังแลกกับการต่อสิทธิการค้า
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทซ์ จัดเสวนา ‘แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190:กระชับพื้นที่ชนชั้นนำ กำจัดพื้นที่ประชาชน?’ ณ ลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยนายจักรชัย โฉมทองดี นักกิจกรรมทางสังคม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เดิมนั้นตั้งแต่ประกาศใช้มา 6 ปี ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งตนก็ไม่ได้คัดค้านการแก้ไขใหม่เพียงแค่ต้องการมีส่วนร่วมเท่านั้น
นายจักรชัย กล่าวว่า มาตรา 190 เดิมก็เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล กล่าวคือ การที่ฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงมีความโปร่งใส ตรวจสอบ มีความรับผิดรับชอบต่อการกระทำในสัญญามากขึ้น ด้วยหลักการที่ว่านี้ก็ไม่เคยทำให้กระบวนการในการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเกิดความล่าช้าแต่อย่างใด
นักกิจกรรมทางสังคม ยังกล่าวถึงความแตกต่างระหว่าง มาตรา 190 เดิมกับร่างมาตรา 190 ที่ผ่านวุฒิสภาในวาระ 3 ด้วยว่า เรื่องที่เคยอยู่ภายใต้มาตรา 190 เดิม โดยมีวรรค 2 เป็นตัวกำหนด คือ เรื่องเขตแดน การผูกพันทางการค้าการลงทุน งบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ และเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
ดังนั้นชัดเจนว่าตามเจตนาเดิมไม่ได้ต้องการให้ทุกเรื่องเข้ามาอยู่ภายใต้ มาตรา 190 แต่จะเอาเฉพาะเรื่องสำคัญ ๆ เท่านั้น อีกทั้งยังมีการกำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีการเสนอกรอบการเจรจาก่อนดำเนินการเจรจา ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสามารถเข้าถึงรายละเอียดข้อมูล มีการศึกษาผลกระทบมาก่อนอันเป็นหลักของธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ซึ่งการเสนอกรอบให้ประชาชนทราบนั้นเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการเจรจาอย่างแน่นอน ทั้งยังทำให้รัฐสภาสามารถนำกรอบการเจรจาเดิมมาเป็นมาตรวัดว่าผลการเจรจาเป็นไปตามกรอบเดิมที่กำหนดไว้หรือไม่
ในทางกลับกันร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ฉบับใหม่นี้ นายจักรชัย กล่าวว่า ได้ตัดเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนและรัฐสภาออกไป ทำให้สภาฯ ตัดสินใจด้วยความไม่รู้ข้อเท็จจริงโดยละเอียด เพราะไม่ได้มีการติดตามร่วมรับรู้และตรวจสอบฝ่ายบริหาร และหากมีข้อผิดพลาดรัฐสภาก็จะดำเนินการแก้ไขได้ยาก เนื่องจากผ่านการเซ็นสัญญาระหว่างประเทศมาเรียบร้อยแล้ว
สำหรับสิ่งที่ยังคงเหลือใน มาตรา190 ฉบับใหม่ นายจักรชัย กล่าวว่า มีเพียงการเปิดการค้าเสรีและการลงทุนระหว่างประเทศเท่านั้น หมายความว่าฝ่ายบริหารสามารถทำการผูกพันการค้าระหว่างประเทศได้โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนไม่รับรู้เรื่องเลยก็ได้
"หากร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ผมก็เสนอให้มีการกำหนดรายละเอียดในกฎหมายลูกอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับที่ได้เพิ่มเติมไว้ใน มาตรา 190 เดิม เพราะเราไม่จำเป็นต้องมานั่งแก้รัฐธรรมนูญทุกปี หากในกฎหมายลูกมีชัดเจนและยืดหยุ่นพอ อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา 6 ปี มาตรา 190 ยังไม่เคยก่อให้เกิดปัญหา และการแก้ไขครั้งนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการกระชับอำนาจบริหารและกระชับอำนาจชนชั้นนำอย่างแท้จริง" นายจักรชัย กล่าว
ด้านน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทซ์ กล่าวถึงคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กรอ.) ซึ่งประกอบด้วย 3 สมาคม ได้แก่ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กำลังพยายามตัดไม่ให้มีการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพในการเจรจาเอฟทีเอทุกฉบับ ดังนั้นการพยายามผลักดันมาตรา 190 ออกมาในรูปแบบดังกล่าวไม่ใช่จำกัดเฉพาะผู้นำทุกสีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกลุ่มธุรกิจด้วย เนื่องจากต่างเห็นว่าการค้าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนที่เหลือจะเกิดอะไรขึ้นนั้นค่อยเยียวยาทีหลัง
"ได้ถามกลุ่มธุรกิจอยากได้อะไรมากที่สุดจากการเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป ซึ่งไม่มีเหตุผลอื่นนอกเสียจากการต่อสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งตัวเลขที่กรมเจรจาการค้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภา ผ่านกรอบมาตรา 190 นั้น มีราว 3 แสนล้านบาท/ปี ถือเป็นการโกหกตัวเลข เนื่องจากเป็นเพียงตัวเลขการส่งออกทั้งหมดไปอียูเท่านั้น แต่หากไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าก็มิได้หมายความว่า อียูจะห้ามไทยส่งออก โดยได้พบตัวเลขที่กรมเจรจาการค้าหากไม่ได้ต่อสิทธิพิเศษจะสูญเสียประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท/ปี"
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวถึงงานศึกษาวิจัยระบุ หากเราต้องยอมรับตามข้อเรียกร้องเรื่องทริปพลัส เฉพาะการเข้าถึงสิทธิทางยาจะเสียค่าใช้จ่ายราว 1.2 แสนล้าน/ปี รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้นราว 6 เท่า เสียค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เฉพาะ 2 เรื่องนี้ก็เสียค่าใช้จ่ายแล้ว 2.6 แสนล้านบาท/ปี เพื่อแลกกับสิทธิการค้า ส่วนจะให้ทำอย่างไรนั้น ตอบแบบตรงไปตรงมา คือ ไม่รู้
ขณะที่นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า การกระชับอำนาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ได้เสียของชนชั้นสูง ซึ่งมีอำนาจการต่อรองมากอยู่แล้ว ในขณะที่ภาคประชาชนจริง ๆ ถูกนำมาเป็นไม้ประดับหรือผักชีโรยหน้า เพื่อไม่ต้องการให้มีส่วนร่วมจริงจัง แต่ปัญหา คือ ปัจจุบันเรายังมีความหวังว่าประชาชนอย่างน้อยที่สุดได้ตื่นขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งคิดว่าเรื่องคงจะไม่จบเพียงเท่านี้
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีที่สุด ซึ่งควรมีการแก้ไขจริง ๆ แต่ควรแก้ไขไม่ให้สุดโต่งระหว่างกลุ่มสองกลุ่มเกินไป โดยที่ประชาชนถูกทิ้ง หากควรแก้ไขโดยประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจจริง ๆ ต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้” ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าว