BOI เร่งอนุมัติ 50 โครงการ "เกษตร-ยานยนต์" เฮ

บีโอไอ" เร่งเครื่องปลุกเศรษฐกิจ 1 พฤษภาฯ ประชุมนัดแรก ชงบอร์ดตั้งคณะอนุกรรมการช่วยพิจารณาโครงการที่ค้าง 500 โครงการ ลุ้นอนุมัติลอตแรก 50 โครงการ ธุรกิจเกษตร-ยานยนต์-บริการ-ปิโตรเคมี มีเฮ ประธาน ส.อ.ท. ชี้ช่วยความเชื่อมั่นนักลงทุนฟื้น</p>
<p>นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประชุมคณะกรรมการ หรือบอร์ดบีโอไอ นัดแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม หลังจากที่มีการแต่งตั้งบอร์ดใหม่อย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกจากการเตรียมรายงานภาวะการลงทุนในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 แล้ว วาระเพื่อพิจารณาสำคัญ คือ 1) การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณาโครงการที่ค้างกว่า 400 โครงการ รวมมูลค่า 660,000 ล้านบาท และ 2) การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่ยื่นเสนอขอรับการส่งเสริม</p>
<p>การตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าว วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การอนุมัติโครงการเร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 200-750 ล้านบาท ซึ่งโครงสร้างของคณะอนุกรรมการชุดนี้จะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น</p>
<p>เลขาฯบีโอไอยังระบุด้วยว่า การพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในการประชุมนัดแรกนั้นจะดำเนินการได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ด ว่าจะให้คณะอนุกรรมการชุดใหม่ไปดำเนินการก่อน หรือหากบอร์ดตัดสินใจจะอนุมัติโครงการทันทีก็สามารถดำเนินการได้ เพราะบีโอไอได้เตรียมรายละเอียดเพื่อเสนอโครงการที่ขอรับการส่งเสริมเข้ามารวม 50 โครงการไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบริการ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี</p>
<p>"โครงการค้างอนุมัติค่อนข้างมาก 400-500 โครงการ จึงจำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณา เพื่อไม่ให้ล่าช้าไปมากกว่านี้ ขณะเดียวกันก็จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซามาระยะหนึ่ง ส่วนโครงการที่ลงทุนต่ำกว่า 200 ล้านบาท สำนักงานสามารถอนุมัติได้ตามปกติ ส่วนของโครงการที่มากกว่า 750 ล้านบาท จะต้องเข้าบอร์ดบีโอไอ"</p>
<p>นายอุดมกล่าวเพิ่มเติมถึงภาวะการลงทุนในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ว่า แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะยังยืดเยื้อ แต่โดยภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมูลค่าการลงทุนลดลงเพียงร้อยละ 10 รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 234,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บีโอไอยังเชื่อมั่นว่าปีนี้ภาพรวมการลงทุนทั้งหมดน่าจะยังยืนที่ระดับ 800,000-900,000 ล้านบาทได้</p>
<p>ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้วาระสำคัญที่บีโอไอจะต้องเร่งทำคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ด้วยการเร่งอนุมัติโครงการที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหลังจากนี้ ส.อ.ท.จะต้องหารือกับบีโอไอในประเด็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่จะนำมาสนับสนุนการทำงานของภาคเอกชนให้เกิดประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด</p>
<p>ขณะที่นายเดวิด นาร์โดน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประชุมบอร์ดบีโอไอในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ถือเป็นสัญญาณบวกของการลงทุนทั้งของนิคมอุตสาหกรรมเหมราชและการลงทุนของประเทศ เพราะเท่าที่ผ่านมาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมช่วงไตรมาส 1 ไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าที่วางไว้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยการเริ่มอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ จะส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 2 ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น และที่สำคัญจะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้ จึงเชื่อมั่นว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว ช่วงนี้ถ้าการเมืองไม่เข้ามากระทบการทำงานของภาคเศรษฐกิจ ภาพรวมน่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ</p>
<p>ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงสร้างบอร์ดบีโอไอที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประกอบด้วยกรรมการ 13 คน คือ นายกฯเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรองประธาน และกรรมการที่มาจากส่วนราชการและเอกชนคือ นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และเลขาธิการบีโอไอ</p>
<p>ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคือ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายวิทิต ลีนุตพงษ์ รวมถึงที่ปรึกษาคือ หม่อมราชวงศ์พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ นายสมชาย หาญหิรัญ นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายภัคพล งามลักษณ์ และนายพิชัย ชุณหวชิร

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด