ผลกระทบฝนทิ้งช่วง/ภัยแล้งกระทบข้าวเสียหาย 1,539ลบ. พื้นที่กว่า 3.3แสนไร่

ณัฐญา เนตรหิน
<p>ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า ทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะนำความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมมาสู่ประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตรที่ต้องต้องพึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณท์แปรรูปทางการเกษตรที่สำคัญในตลาดโลก จึงจำต้องตระหนักในเรื่องนี้</p>
<p>สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)ในประเทศไทยในขั้นต้น ตั้งแต่ตุลาคม 2556 ถึง ปัจจุบัน (30 เมษายน 2557) ในพื้นที่ 43 จังหวัด 308 อำเภอ 1,913 ตำบล 18,246 หมู่บ้าน แบ่งเป็นด้านพืช 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี กระบี่ นครศรีธรรมราช ปัตตานี และสตูล (จังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว) เกษตรกรได้รับผลกระทบ 125,004 ราย พื้นที่ประสบภัย 922,854 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 798,103 ไร่ พืชไร่ 12,532 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 112,219 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 50,040 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นข้าว 337,580 ไร่</p>
<p>จากการประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง/ภัยแล้ง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – ปัจจุบัน<br />
(30 เมษายน 2557) มีมูลค่าความเสียหาย 1,539.76 ล้านบาท โดย ณ ปัจจุบันพบความเสียหายเฉพาะ ข้าว 1,539.76 ล้านบาท จากพื้นที่เสียหาย 337,580 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 200,803.51 ตัน รายการสินค้าเกษตรอื่น ยังคงอยู่ในช่วงการสำรวจความเสียหาย</p>
<p>และส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมที่แท้จริง (Real GDP) ด้านพืช ได้แก่ ข้าว 305.41 ล้านบาท รายการสินค้าเกษตรอื่น ยังคงอยู่ในช่วงการสำรวจความเสียหาย รวมมูลค่าผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร 305.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.0705 ที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร<br />
ในส่วนของมาตรการรองรับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ดำเนินการมีดังนี้</p>
<p>1. จัดทําแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจําปีงบประมาณ 2557 เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี 2557 ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย และปัญหาศัตรูพืชระบาด ได้กําหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางการดําเนินงานในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ (คณะทํางานวางแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร พฤศจิกายน 2556) ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ด้านการเกษตร (กรมส่งเสริมการเกษตร) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอขอเงินงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2555/56 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 และวันที่ 10 มิถุนายน 2556 โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ กรณีของ ข้าว 1,113 บาท/ไร่ พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ และพืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาท/ไร่ และกรณีอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ 605 บาท/ไร่ กรมชลประทาน วางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้ง ปี 2556/2557 ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ จำนวน 33,069 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจำนวน 20,566 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,921 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์ และอื่น ๆ 5,748 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 12,654 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 243 ล้าน ลบ.ม.</p>
<p>2.แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ปี 2556/2557 จำนวน 13.00 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 10.82 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.18 ล้านไร่ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการปลูก จำนวน 5.09 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 4.74 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.35 ล้านไร่ ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2556/2557 ณ วันที่ 17 เมษายน 2557 ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ 17.65 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 15.67 ล้านไร่ และพืชไร่ พืชผัก 1.98 ล้านไร่</p>
<p>3.การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 253 เครื่อง ในพื้นที่ 23 จังหวัด แบ่งเป็นเพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปรัง จำนวน 21 จังหวัด 222 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก(6) พิจิตร(10) อุตรดิตถ์(4) ตาก(14) สุโขทัย(4) กำแพงเพชร(2) อุดรธานี(8) หนองคาย(17) หนองบัวลำภู(8) บึงกาฬ(2) ขอนแก่น(5) มหาสารคาม(22) ร้อยเอ็ด(31) กาฬสินธุ์(52) ชัยนาท(12) สิงห์บุรี(3) นครสวรรค์(5) พระนครศรีอยุธยา(1) อ่างทอง(10) อุทัยธานี(3) สุพรรณบุรี(3) ตามลำดับ และเพื่อช่วยเหลือพื้นที่พืชไร่ ในพื้นที่จำนวน 2 จังหวัด 31 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย(3) แพร่(28)</p>
<p>4.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำฝนหลวงตั้งแต่เดือน 10 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงปัจจุบัน (29 เมษายน 2557) มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 68 วัน มีฝนตก 59 วัน ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 1,382 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 67 จังหวัด

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด