ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
<p>ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement) หรือ TPP เป็นความตกลงด้านการค้าเสรี (FTA) ที่ทางสหรัฐอเมริกามุ่งหมายที่จะพัฒนาให้เป็นความตกลงทางการค้าแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ต้องการให้เปิดเสรีครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง (มีการเจรจา 25 หัวข้อหลัก) และมีมาตรฐานสูง ในปัจจุบันมีประเทศร่วมเจรจา 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม เม็กซิโก แคนาดา และญี่ปุ่น จนถึงขณะนี้การเจรจา TPP ยังคงยืดเยื้อไม่ได้ข้อยุติ</p>
<p>สำหรับประเทศไทย รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ได้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 เห็นชอบให้ประเทศไทยประกาศแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาความตกลง TPP เพื่อแสดงไมตรีจิตต้อนรับการมาเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีโอบามา แต่เนื่องจากความไม่มั่นคงของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้การเข้าร่วมเจรจาของไทยยังไม่คืบหน้า อย่างไรก็ดี ยังคงมีการศึกษาวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเจรจาในอนาคต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้การเจรจา TPP โดยศึกษาตัวบทเจรจาที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และด้านการเปิดเสรีและการคุ้มครองลงทุน</p>
<p>ในด้านสิ่งแวดล้อม เอกสารตัวบทฉบับล่าสุดที่หลุดและเผยแพร่ออกมา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจวิเคราะห์ว่าความตกลง TPP จะมีผลต่อการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติได้มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่น นิยามและขอบเขตของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งกฎหมาย กฎระเบียบของประเทศสมาชิกและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (provision thereof) แต่จำกัดเฉพาะกฎหมายของรัฐส่วนกลาง หรือรัฐบาลกลางเท่านั้น ไม่รวมกฎหมายในระดับต่ำกว่ารัฐบาลกลาง ข้อกำหนดดังกล่าวอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติเนื่องจากกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเป็นกฎหมาย หรือกฎระเบียบในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจมีข้อขัดแย้งกับด้านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ เนื้อหาของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในร่างความตกลง TPP มุ่งเน้นที่ปัญหามลพิษ การคุ้มครองพืชและสัตว์ แต่ไม่ครอบคลุมถึงกฎหมายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ ข้อกำหนดดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ พลังงาน ทรัพยากรน้ำ ฯลฯ กับการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติภายใต้บทคุ้มครองการลงทุน</p>
<p>ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพกับการค้า มีเนื้อหาที่ระบุยืนยันหลักการและมาตรการต่างๆ ในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) มีข้อกำหนดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยระบุเฉพาะในกรณีการใช้"ทรัพยากรพันธุกรรม"(genetic resources) แต่ไม่ครอบคลุมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ "ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง" (Derivatives) ของทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งมีการใช้ประโยชน์เกิดขึ้นมากในสถานการณ์จริง ดังนั้น จึงไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมประสบอยู่ จากการที่ถูกนำทรัพยากรพันธุกรรมไปวิจัยและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่กระนั้นก็ดี ทางสหรัฐฯก็ไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดดังกล่าวเนื่องจากสหรัฐฯไม่ได้เป็นภาคอนุสัญญา CBD</p>
<p>ในประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับบทด้านสิ่งแวดล้อม สหรัฐมีข้อเรียกร้องให้สามารถใช้บทบัญญัติการระงับข้อพิพาทเช่นเดียวกับที่ใช้ในบทอื่นๆ ในมาตรฐานที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งการชดเชยความเสียหาย กระบวนการพิจารณาและการลงโทษ แต่เนื่องจากถูกอีก 11 ประเทศที่ร่วมเจรจาคัดค้านอย่างหนัก ในร่างตัวบทล่าสุดจึงระบุให้ใช้กลไกปรึกษาหารือในระดับเจ้าหน้าที่และระดับรัฐมนตรีและการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการ หากอนุญาโตตุลาการตัดสินว่ามีการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในบทสิ่งแวดล้อม ให้ประเทศคู่ขัดแย้งได้ร่วมกันจัดทำ "แผนปฏิบัติการ" ที่ตกลงร่วมกันและเป็นที่พอใจของคู่ขัดแย้ง ทั้งนี้ ไม่มีการระบุถึงบทลงโทษหากมีการละเมิดข้อกำหนดต่างๆ ในบทสิ่งแวดล้อม หรือการไม่ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการตามข้อกำหนดของอนุญาโตตุลาการ</p>
<p>โดยภาพรวม จากเนื้อหาตัวบทสิ่งแวดล้อมฉบับล่าสุด อาจกล่าวได้ว่าให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าเรื่องการค้าและการลงทุน เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเพียงหลักการ แนวปฏิบัติ แต่ขาดกลไกที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ขาดมาตรการลงโทษหากไม่มีการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ และขาดกลไกระงับข้อพิพาทในระดับเท่าเทียมกับบทอื่นๆ ภายใต้ความตกลง TPP แต่สำหรับในด้านการค้า เนื้อหาบทสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าว อาจมองได้ว่าเป็นผลดีในแง่การไม่สร้างมาตรการกีดขวางทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ขึ้นใหม่</p>
<p>บทสิ่งแวดล้อมฉบับสุดท้ายจะมีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับล่าสุดหรือไม่ เพียงใด ยังต้องติดตามต่อไป บทสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่มีข้อขัดแย้งสูง ทำให้การเจรจา TPP ยืดเยื้อไม่สามารถสรุปยุติได้ตามแผนที่กำหนดไว้