ธุรกิจข้าว "เจียเม้ง" สะดุด ยอมรับเกือบ 3 ปีจำนำข้าว หันเป็นลูกจ้างรัฐผลิตข้าวถุง และให้เช่าโกดังกลางเก็บข้าว ทำเหินห่างคู่ค้าเก่า ต้องตั้งหลักใหม่หลังสิ้นรัฐบาล สวนทาง ผู้ส่งออก-โรงสีเจ้าอื่น ดี๊ด๊าหลังสิ้นจำนำ-รัฐบาลระบายข้าวต่อเนื่อง ดันยอดกระฉูด จี้พาณิชย์ ยกเลิกมาตรการต้องแจ้งขนย้ายข้าวเปลือก-ข้าวสาร 5 ตันขึ้นไป อัดมาตรฐานใหม่ข้าวหอมมะลิ 98% ยากทางปฏิบัติ;
;นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง จำกัด (บจก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ของบริษัทในปีนี้ว่าคงต้องเริ่มตั้งหลักใหม่ หลังจากไม่มีงานนโยบายรัฐมาป้อนจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทได้หันไปเป็นลูกจ้างรัฐบาลแบบเต็มตัว อาทิ รับจ้างเป็นผู้รับจ้างปรับปรุงข้าวบรรจุถุง ตรา อคส. และตราถูกใจ จึงทำให้ไม่ได้ติดต่อกับลูกค้าต่างประเทศเดิมเลย คาดว่าจากนี้ไปจะต้องปรับตัว ขณะนี้ได้เริ่มติดต่อกับลูกค้าเก่าของบริษัท ถึงความต้องการข้าว คาดการณ์ว่าในเดือนมิถุนายนนี้ทางบริษัทจะสามารถตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ได้ แต่ขณะนี้ยังมองภาพไม่ออกว่าจะส่งออกได้เท่าไร (ก่อนรัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าวเจียเม้งเคยส่งออกข้าวได้สูงสุดปีละประมาณ 4 แสน แต่หลังมีโครงการรับจำนำได้หันมาทำธุรกิจให้รัฐเช่าคลังเก็บข้าว และรับจ้างกระทรวงพาณิชย์ในการปรับปรุงข้าวเพื่อทำข้าวถุงขายให้ประชาชน โดยเจียเม้งมีคลังให้รัฐบาลเช้าเก็บข้าวจำนวน 6 คลัง)</p>
<p>ขณะที่นายปัญญา จินตธีระ บริษัทข้าวสุวรรณภูมิ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิ กล่าวว่า ในปีนี้มีเป้าหมายผลักดันการส่งออกที่ 5 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ประมาณ 4.5 หมื่นตัน ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้า 5 หมื่นตัน เนื่องจากบริษัทมีคู่ค้าที่เหนียวแน่น ยอดขายในช่วงที่รัฐบาลมีโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่ได้ตกต่ำเหมือนรายอื่น อีกทั้งข้าวหอมมะลิไทยมีคุณภาพดีกว่าข้าวหอมจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งข้าวหอมกัมพูชา และข้าวหอมเวียดนาม กัมพูชา โดยตลาดส่งออกของบริษัทอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และแคนาดา</p>
<p>สอดคล้องกับนายวิชัย ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงสีข้าวเจริญผล จำกัด ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิจำหน่ายในประเทศ ตรา "ส้มโอ" เป็น 1 ในบริษัท ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรัฐบาล กล่าวว่า บริษัทกำลังเตรียมตัวที่จะส่งออกข้าวอีกครั้ง แต่ขณะนี้ราคาข้าวไทยยังไม่นิ่งจากที่รัฐบาลรักษาการยังมีการระบายข้าวในสต๊อกออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้นำเข้าจึงมองว่าราคาข้าวไทยน่าจะลงต่ำอีกจึงยังไม่รับซื้อ อย่างไรก็ดีจากการที่รัฐบาลยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกไปโดยปริยายเนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ มีผลให้เวลานี้การซื้อข้าวสารในตลาดสามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องไปแข่งขันซื้อข้าวกับรัฐบาลขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นการทำลายคุณภาพข้าวหอมมะลิ เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพมากนัก แต่เน้นเรื่องปริมาณมากกว่า ซึ่งทางกับกระทรวงพาณิชย์ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้มีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิใหม่เป็นข้าวหอมมะลิเกรดพรีเมียม 98% และข้าวหอมมะลิ 92% ซึ่งในส่วนของข้าวหอมมะลิ 98% ไม่มีผู้ส่งออกรายใดทำได้ ปัจจุบันทำได้สูงสุดแต่เกรด 92% เท่านั้น</p>
<p>ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ปรับปรุงมาตรฐานใหม่อีกครั้งโดยคำนึงถึงภาคปฏิบัติของผู้ส่งออกที่สามารถทำได้จริง ตรงไหนที่ทำไม่ได้ควรยกเลิก รวมถึงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาต การอนุญาต แบบหนังสืออนุญาต และวิธีการขนย้ายที่บังคับให้การขนย้ายข้าวเปลือก/ข้าวสาร ตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไปต้องแจ้งให้ทราบ เรื่องนี้ก็ควรยกเลิก เพราะไม่มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว หากยกเลิกไปจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับโรงสีและผู้ส่งออก ได้มีโอกาสแย่งกันซื้อข้าวเพื่อดึงราคาข้าวในประเทศขึ้นมาได้