แนวโน้มราคายางปรับตัวลดลง จากแรงกดดันตลาดซื้อขายล่วงหน้า

ปาจารีย์ พวงศรี
<p>สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร คาดแนวโน้มราคายางปรับตัวลดลง โดยได้รับแรงกดดันจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลง เนื่องจากจีนและสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ไตรมาสแรกปี 2557 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 และยังได้รับแรงกดดันด้านราคาน้ำมันที่คาดว่าลิเบียอาจส่งออกน้ำมันดิบได้มากในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคายางยังมีปัจจัยสนับสนุนจากข้อมูลสต๊อคยางญี่ปุ่นที่ลดลง 259 ตัน</p>
<p>ทั้งนี้ สถานการณ์ยาง วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2557 ราคายางปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากวันสุดท้ายของเดือนที่แล้ว โดยราคายางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน (ไม่อัดก้อน) ซื้อขายที่กิโลกรัมละ 61.55 บาท และ 66.13 บาท เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 0.18 และ 0.14 บาท ตามลำดับ สถานการณ์ราคายางอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ กระตุ้นตลาด การขึ้นลงของราคายางเป็นไปตามกระแสข่าวรายวัน อย่างไรก็ตามสต๊อคยางทั้งของประเทศผู้ใช้ (จีน) และประเทศผู้ผลิต ยังเป็นปัจจัยกดดันไม่ให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นมากนัก</p>
<p>ด้าน การเก็งกำไร ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 206.2 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 0.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนตุลาคม อยู่ที่ 206.2 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.0 เยนต่อกิโลกรัม ส่วนราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 212.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลง</p>
<p>สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการมองว่า ราคายางยังคงทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากในระยะนี้ เพราะไม่มีปัจจัยทั้งด้านบวกและลบเข้ามากระตุ้นตลาด สต๊อคยางของผู้ประกอบการมีอยู่จำนวนมากที่ยังไม่ได้ขาย เพราะขายออกยากและราคายางที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ซื้อบิดพลิ้วไม่รับมอบยางตามสัญญา ผู้ประกอบการจึงชะลอการซื้อ

หมวดหมู่ของข่าว: 

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด