เอฟทีเอวอท์ชเผยไทยเป็นแหล่ง ทิ้งขยะพิษจากญี่ปุ่น

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

กรีนพีซ และกลุ่มเอฟทีเอ วอท์ช (FTA-Watch)ประณามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หลังพบข้อมูลอนุญาตให้ ญี่ปุ่นนำขยะพิษ และสารเคมีอันตรายมาทิ้งในประเทศไทยได้

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นักวิชาการของกลุ่ม FTA Watch และผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากการติดตามรายละเอียด ข้อตกลงเปิดเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น พบว่ายังไม่ได้มีการการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากข้อตกลงฉบับนี้ จากการอนุญาตให้นำขยะพิษและสารเคมีอันตรายมาทิ้งในไทย ดังนั้นอำนาจการตัดสินใจจะลงนามไม่ควรยกให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ควรจะรอให้มีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน

กระทรวงการต่างประเทศของไทระบุว่า ร่างฉบับล่าสุดของข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น จะถูกนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีชั่วคราวในเดือนธ.ค.นี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ และจะนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาการลงนามรับรองในเดือนมกราคม 2550

"ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามในอนุสัญญาบาเซล ซึ่งบังคับใช้กฎหมายในระดับสากลเพื่อยับยั้งการส่งออกสารเคมีเป็นพิษจากประเทศอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่ขณะนี้ทั้งไทยและ ญี่ปุ่นยังไม่ให้สัตยาบันต่อข้อห้ามบาเซล ซึ่งมีการแก้ไขในตัวอนุสัญญาที่ไม่อนุญาตแม้แต่การค้าขยะ พิษที่แอบแฝงมาในรูปของการรีไซเคิล เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น- ฟิลิปปินส์ได้กลายเป็นประเด็นร้อนและก่อกระแสประท้วงขึ้นในกรุงมะนิลา หลังจากมีการเปิดเผยว่า ข้อ ตกลงเสรีการค้านี้ได้อนุญาตให้นำเข้าขยะซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายเข้ามาทิ้งในฟิลิปปินส์ โดยสถานะของฟิลิปปินส์ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อข้อห้ามบาเซลเช่นกัน

นายกิตติคุณ กิตติอร่าม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ความพยายามเพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งทิ้งขยะพิษอย่างถูกกฎหมายของญี่ปุ่นครั้งนี้ไม่ต่างอะไรจากความพยายามก่ออาชญากรรม ญี่ปุ่นพยายามบีบบังคับอย่างไม่รู้สำนึกละอายต่อประเทศไทย ให้กลายเป็นที่ทิ้งขยะโดยใช้ข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือ กลุ่มเคลื่อนไหวทั้งสองยังได้ร่วมกันประณามการไม่เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดในข้อตกลงนี้

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: