เครือข่าย FTA ลองของ รธน.50 ยื่นผู้ตรวจการ ขอให้ศาลวินิจฉัย JTEPA ไม่สมบูรณ์

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 นี้ เวลา 14.00 น. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ได้แก่ มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีที่คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลนานนท์) ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีผลใช้บังคับภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 โดยไม่ต้องเสนอสภานิติบัญญัติเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ และต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการยื่นหนังสือทางการทูตกับฝ่ายญี่ปุ่นไปแล้วนั้น

ในคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า (1) กรณีการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นเป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยให้ถือว่าการแสดงเจตนาผูกพันเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีผลเป็นโมฆะ (2) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่ามติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 ที่ไม่นำเสนอความตกลง JTEPA เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้มีหนังสือทางการทูตและแจ้งความพร้อมในการปฏิบัติตาม JTEPA ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2550 เป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย (3) ขอให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามมาตรา 190 ที่บัญญัติให้รัฐสภาเห็นชอบก่อนการแสดงเจตนาผูกพัน ตามมาตรา 190 วรรค 2

ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายที่ยื่นคำร้องชี้แจงว่า การดำเนินการครั้งนี้ไปโดยมีเจตนารมย์เพื่อให้กระบวนการเจรจาและจัดทำความตกลงระหว่างประเทศของไทยเป็นไปตามหลักการและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 และไม่สร้างปัญหาซ้ำรอยเหมือนเช่นที่ผ่านมา

อนึ่ง รศ.ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล ผู้อำนวยการโครงการสถาบันศึกษากฎหมายเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจเมื่อฉบับวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การวินิจฉัยจะออกมาใน 2 แนวทาง คือ "ขัด" กับ "ไม่ขัด" รัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลชี้ว่าไม่ขัดมาตรา 190 ถือว่าความตกลง JTEPA สมบูรณ์พร้อมใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนทันที และหากมีผู้ทักท้วงหรือภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความตกลง ก็สามารถทำได้ 4 แนวทาง คือ 1)การทบทวนความตกลง (revise) 2)แก้ไขเปลี่ยนแปลงความตกลง (modification) 3)แก้ไขเพิ่มเติมความตกลง (amendment) และ 4)การทำให้ความตกลงสิ้นสุดลง (termination)

ส่วนในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า JTEPA เข้าข่ายมาตรา 190 และการดำเนินการของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ ย่อมหมายความว่า การดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายภายในตามข้อ 172 ของความตกลง JTEPA นั้นไม่ชอบ และทำให้การส่งหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตให้กับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมนั้น ไม่ชอบด้วย

"ในกรณีนี้รัฐไทยต้องรีบแจ้งให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่นทราบว่า การแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างกันก่อนหน้านี้ เป็นกระบวนการภายในที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบตามกฎหมายภายใน ตามสนธิสัญญากรุงเวียนนา รัฐไทยสามารถแจ้งให้คู่สัญญาทราบและกลับมาดำเนินการตามกฎหมายขั้นตอนภายในให้เรียบร้อยก่อนแสดงผลผูกพันตามความตกลงได้อีกครั้งหนึ่ง" ดร.ลาวัณย์กล่าว

ส่วนผลหลังจากนั้นอาจเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 2 ทางในกรณีที่ความตกลงเจเทปาต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือ ในแนวทางที่หนึ่ง หาก สนช.ไม่เห็นชอบในข้อบทความตกลง การดำเนินการต่างๆ ที่ดำเนินไปแล้ว ก็จบ และไม่สามารถแสดงเจตนาผูกพันได้

แต่ถ้าในกรณีที่ สนช.เห็นชอบกับความตกลง ก็จะมีเห็นชอบทั้งหมด หรือเห็นชอบแต่ต้องแก้ไข ซึ่งการเห็นชอบทั้งหมดจะทำให้แสดงเจตนาผูกพันได้ แต่ถ้าเห็นชอบโดยต้องแก้ไข อาจต้องเจรจากันใหม่ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายญี่ปุ่นว่าจะยินยอมหรือไม่ รศ.ดร.ลาวัณย์ ให้สัมภาษณ์

AttachmentSize
PDF icon 2007_JTEPA_26_10_2550.pdf168.08 KB
หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: 
เอฟทีเอรายประเทศ: