ตามที่สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ประณามไทยและออกมาตรการระงับและทบทวนกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ หรือ PCA กับไทยจนกว่าไทยจะคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ฑูตอียูประจำประเทศไทยชี้แจงว่า มาตรการต่างๆ จะไม่กระทบกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรปต่อไปนั้น
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า นี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความหน้าไหว้หลังหลอกของสหภาพยุโรป เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนทางกลุ่มฯ เคยทำหนังสือไปสอบถามเรื่องนี้ แต่สหภาพยุโรปไม่ยอมชี้แจงใดๆ
“เราถามอียูว่า การที่อียูเน้นย้ำหนักแน่นให้รัฐบาลทหารของไทยเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน เปิดให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพทำหน้าที่ตรวจสอบภาครัฐได้อย่างเต็มที่ แต่ทำไมยังคงจะเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีผลกระทบมากต่อการเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษา เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพ จะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี รวมถึงผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะอื่นๆ อีกจำนวนมาก
ทั้งที่ขณะนี้ กลไกการตรวจสอบและรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในประเทศไทยยังเป็นไปอย่างจำกัด ชัดเจนว่า นี่คือความหน้าไหว้หลังหลอก และเกลียดตัวกินไข่ฯ ของอียู ที่จะคงความสัมพันธ์ที่ตัวเองได้ประโยชน์เอาไว้เท่านั้น ไม่ต่างกับสหรัฐอเมริกา ที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ แต่จะคงการให้ความช่วยเหลือด้านทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสหรัฐฯ เท่านั้น”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า ถึงแม้อียูจะต้องการเดินหน้าเจรจาต่อ แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้โอกาสนี้ในการชะลอการเจรจาเอฟทีเอให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือ การศึกษาผลกระทบและโอกาสที่แท้จริงของการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาถือว่า อยู่ในระดับที่รับไม่ได้ ผู้เจรจาฝ่ายไทยขาดข้อมูลจนยากที่จะเชื่อว่าการเจรจาจะนำมาซึ่งประโยชน์สำหรับประชาชนโดยรวม
“จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การเปิดเสรีด้านบริการสาธารณะ และความคุ้มครองการลงทุนที่จะให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องรัฐไทยผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (ISDS) ทั้งนี้ การไม่ศึกษาและการไม่สร้างความโปร่งใส เป็นช่องทางให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและการคอรัปชั่นทางนโยบายซึ่งสามารถเกิดได้ในทุกระบอบการปกครอง”
ดังนั้น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จึงขอเรียกร้องให้มีการประชุมคณะทำงานสามฝ่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการติดตามการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ที่มีนางศรีรัตน์ รัฐะปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานโดยด่วนที่สุด หลังจากที่ไม่มีการประชุมเลยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดหัวข้อการศึกษาและรับฟังความเห็นของประชาชนโดยไม่เสียเวลาอีกต่อไป
“หากกระทรวงพาณิชย์ยังบ่ายเบี่ยง และปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน เท่ากับมีเจตนาหลบเลี่ยงและมีวาระแอบแฝง อย่างไม่สามารถปฏิเสธได้” ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว