"ทีดีอาร์ไอ" ประเมินมาตรฐานการให้ข้อมูลประชาชนตาม สิทธิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พบหน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังเปิดสัญญาสัมปทาน-จัดซื้อจัดจ้างไม่ละเอียดและไม่โปร่งใสพอ ชี้ สขร.ขาดความอิสระ ถูกการเมืองแทรกแซง เตรียมจัดทำข้อเสนอ จี้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ภายหลังจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอเปิดเผยงานวิจัยการซื้อสื่อของภาครัฐ จัดทำโดย รศ.ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนายธิปไตย แสละวงศ์
( อ่านประกอบ : "เดือนเด่น-ทีดีอาร์ไอ"เผยเบื้องหลังผลวิจัยรัฐซื้อสื่อ- นสพ.น่าห่วงสุด ที่นี่ http://www.isranews.org/isranews-news/item/32306-re03.html )
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าทีมวิจัยชุดดังกล่าวยังสำรวจและจัดทำรายงานการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการกับการต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศไทยและเตรียมนำเสนอต่อสาธารณะในเร็วๆ นี้ โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ทีมวิจัยชุดนี้ระบุว่ารายงานการวิจัยทั้งสองหัวข้อ ถือเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องกันเนื่องจากจัดทำขึ้นภายใต้เจตนารมณ์เดียวกันคือมุ่งสำรวจขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยภาคประชาชน ซึ่งนอกจากการตรวจสอบกระบวนการของภาครัฐในดารซื้อสื่อแล้ว การสำรวจ ประเมินเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนของภาครัฐ ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นกลไกการตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชั่น และเป็นการตรวจสอบว่าหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสหรือไม่ อย่างไร
สาระสำคัญตอนหนึ่งของรายงานการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการกับการต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศไทย ระบุข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และสัญญาสัมปทาน โดยประเด็นสำคัญตอนหนึ่งของรายงานดังกล่าว ระบุว่าแม้ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานที่ถูกจัดแสดงไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น ถือเป็นข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงได้รวดเร็วและไม่มีต้นทุน โดยเฉพาะสำเนาสัญญาสัมปทานที่มีลายเซนต์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปรากฏอยู่นั้น ถือเป็นข้อมูลที่แสดงความโปร่งใสของหน่วยงานได้อย่างดีที่สุด แต่ปัญหาที่พบคือ เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีความไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวอาจจะมีรายละเอียดที่เป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่น ข้อมูลตาม พ.ร.บ. ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 มาตรา 6 หรือตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 15 (6) ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทเอกชนคู่ค้า จึงไม่กล้าที่จะเปิดเผยสำเนาสัญญาสัมปทานทางเว็บไซต์ ด้วยเหตุนี้ รัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานจึงเลือกที่จะจัดทำข้อมูลสรุป
นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดจากการเปิดเผยข้อมูลทางเว็บไซต์ รัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานจึงทำการจัดเตรียมสถานที่ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูตามเงื่อนไขข้อที่กำหนด โดยที่ประชาชนไม่ต้องทำหนังสือใดๆ เพื่อขออนุญาต เช่น ห้องสมุด เค้าเตอร์ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น โดยการนำสำเนาเอกสารของข้อมูลที่ต้องการออกมาจากสถานที่ที่จัดเก็บข้อมูลนั้น อาจจะมีค่าใช้จ่าย เช่น การสำเนาเอกสาร และการรับรองเอกสาร เป็นต้น ซึ่งมีการกำหนดค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไว้แล้ว หรือในเงื่อนไขสุดท้าย ถือเป็นเงื่อนไขที่วัดระดับความโปร่งใสที่น้อยที่สุดของรัฐวิสาหกิจในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาสัมปทาน เนื่องจากหน่วยงานนั้นๆ ไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ อีกทั้งการที่ประชาชนต้องขอข้อมูลโดยการทำหนังสือร้องขอนั้นต้องใช้เวลาในการรอพอสมควรและมีต้นทุนในการร้องขอ
นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลหรือไม่สามารถเปิดข้อมูลได้ ประชาชนจำต้องทำเรื่องร้องเรียนผ่าน สขร. ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการคอยข้อมูลอีกอย่างน้อย 30 วัน
ข้อมูลรายงานของทีมวิจัย ระบุด้วยว่าจากการสำรวจเว็บไซต์และการติดต่อสอบถามหน่วยงานเพื่อที่จะทางโทรศัพท์ประเมินรัฐวิสาหกิจทั้ง 11 แห่ง เกี่ยวกับการเข้าตรวจดูข้อมูลสัญญาสัมปทานนั้น พบว่า มีรัฐวิสาหกิจ 4 แห่งที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เหลืออีก 7 แห่ง มีเพียงการเปิดข้อมูลในสถานที่ที่จัดไว้ในหน่วยงาน หรือกำหนดให้ประชาชนที่ต้องการข้อมูลทำหนังสือเพื่อร้องขอข้อมูลต่อหน่วยงาน
ทั้งนี้ ขั้นตอนหนึ่งในการการสำรวจ ทีมวิจัยแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจได้เป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง คือกลุ่มที่ทำตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 9 (6) (ข้อมูลสัญญาสัมปทาน) และมติ ครม. วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องนำข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7 (ข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงาน) และมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ทำตามเฉพาะ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 9 (6)
และกลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่ไม่ทำตามกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ เลย
ทีมวิจัยพบว่า รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มแรกคือรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ทีโอที และการบินไทย โดยการทางพิเศษฯเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งเดียวที่เปิดเผยสำเนาฉบับจริงของสัญญาสัมปทาน แม้ว่าจะยังไม่มีกฎหรือระเบียบใดบังคับให้ต้องนำลงเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ จึงถือได้ว่าเป็นการแสดงความโปร่งใสในระดับที่ดีมาก และสามารถเป็นมาตรฐานให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้
ในทางตรงกันข้าม รัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่สองและสามนั้นยังคงบกพร่องไม่ทำตามกฎหมายหรือมติ ครม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่สาม ได้แก่ อสมท. การท่าเรือฯ การรถไฟฯ และ กสท. โทรคมนาคม ที่ยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลสัญญาสัมปทานให้ประชาชนได้เข้าถึงได้ง่ายโดยไม่มีอุปสรรค
ทีมวิจัยระบุในรายงานตอนหนึ่งว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว พ.ร.บ . ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นเพียงกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐและข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐเท่านั้นมิได้รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานเอกชน เช่น ข้อมูลเวชระเบียนที่บันทึกเกี่ยวกับสุขภาพและการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในครอบครองของโรงพยาบาลเอกชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่กับธุรกิจ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ รายได้ ที่อยู่ในครอบครองของบริษัทโทรคมนาคม บริษัทประกันภัย ฯลฯ แม้ว่าตามหลักการแล้ว การปกปิดหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกันกับหลักการในการรักษาความลับหรือเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ของสาธารณะในบางกรณี ความเสียหายที่จะเกิดจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลของธุรกิจเอกชนอาจน้อยกว่าผลประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เช่น ในกรณีที่มีการร้องขอให้รัฐวิสาหกิจเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอในการประมูลของบริษัทที่เข้าร่วมในการประมูลเพื่อตรวจสอบว่าเป็นข้อเสนอที่มีลักษณะของการฮั้วกันกับผู้ชนะการประมูลหรือไม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายแม่บทว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ทำให้ขาดหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยหรือปกปิดข้อมูลที่บังคับใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ทั้งนี้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ กระบวนการและขั้นตอน รวมทั้งวิธีการในการพิจารณาความเหมาะสมของการเปิดเผยหรือปกปิดข้อมูลของหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองข้อมูลแต่อย่างใด
เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายเน้นไปที่บทบาทหน้าที่ของ สขร. ในการรับเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์คำสั่งของหน่วยงานของรัฐมากกว่ากฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้วางหลักเกณฑ์ดังกล่าวเอง ซึ่งการกำหนดให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนดกฎกติกาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากฝ่ายบริหารไม่มีแรงจูงใจที่จะให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกฎหมายว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในต่างประเทศจะให้ความสำคัญแก่การวางกระบวนการ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ของหน่วยงานราชการในการพิจารณาที่จะเปิดเผยหรือปกปิดข้อมูลที่มีการร้องขอ โดยกระบวนการอุทธรณ์นั้นไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานเฉพาะกิจดังเช่น สขร. แต่ประชาชนสามารถร้องเรียนได้โดยตรงต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลปกครอง
สุดท้าย การที่ สขร. ยังคงเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้มิได้มีสถานภาพเป็นองค์กรอิสระ จึงไม่ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ที่จะเป็นไปเพื่อการทุจริตหรือไม่ก็ตาม อนึ่ง ประสบการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นว่า เมื่อการร้องขอข้อมูลเกี่ยวโยงกับการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลแล้ว การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงมิให้มีการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของ สขร.
หนึ่งในทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า “ความกังวลที่เรามีต่อมาตรฐานการใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของไทยคือ หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐของไทย คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นมากแค่ไหน ระหว่างการเลือกที่จะปกปิดข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นชั้นความลับ กับการเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลเนื่องจากคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะ อย่างหลังนี้ เราพบว่ารัฐยังไม่ให้ความสำคัญมากพอ”