พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนเมือง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ madpitch@yahoo.com

ยากจะเริ่มต้นคอลัมน์วันนี้ว่า "การเมืองเป็นเรื่องมายา ข้าวปลา(และพืชผัก)ในเมืองสิเรื่องจริง" ก็ดูจะหวือหวาไปสักหน่อย เอาเป็นว่าในสภาวะที่ไม่มีอะไรน่าแปลกใจว่าทำไมเราจึงได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แบบที่เราเห็นๆ อยู่ หรือสงสัยไปก็ไม่ได้ดับทุกข์อะไร ผมว่ามาคุยกันในเรื่องที่ใกล้ตัวของคนจำนวนมาก และเอาเข้าจริงแล้วก็กำลังจะใกล้ตัวกับคนอีกจำนวนไม่น้อยในอนาคตอันใกล้

ครับผม ‚ผมกำลังพูดถึงเรื่องของอาหารการกินในเมือง แต่อาจจะไม่เหมือนในกรณีเดียวกับรายการพาไปชิมตามที่ต่างๆ เสียทีเดียว แต่อยากจะพูดถึงเรื่องว่า ตกลงเรารับประทานอาหารในเมืองนั้นเราควรคิดถึงเรื่องอะไรกันบ้าง

พูดให้เข้ากับเรื่องการเมือง (จะพูดทำไม? ก็บอกแล้วว่าไม่ควรพูด หรือไม่น่าแปลกใจอะไร หรือควรจะแปลกใจว่าทำไมไม่มีอะไรน่าแปลกใจเอาเสียเลย? อ้าว? ไหนบอกว่าจะไม่พูดแล้วไง) ก็คือเห็นมีความพยายามจะจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย จัดระเบียบลอตเตอรี่ จัดระเบียบรถตู้ รถวิน แล้วสงสัยต่อไปอาจจะต้องจัดระเบียบเรื่องอาหาร ที่คิดได้ไกลกว่าเรื่องของการขายให้เป็นที่เป็นทางหรือความสะอาดอย่างเดียว มาสู่เรื่องคุณค่าทางโภชนาการ หรือไปไล่จับร้านอาหารแพงๆ ว่าขายแพงไปป่าวด้วยไหมครับเนี่ย?

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า คือถ้าเราดูกันอย่างผิวเผินแล้ว กรุงเทพฯนั้นช่างเป็นเมืองน่าเที่ยว (มากกว่าเมืองน่าอยู่) หากวัดจากโพลของหลายสำนัก (แม้ว่าปัจจุบันอาจจะเสียแชมป์ไปบ้าง แต่ของแปลกในโลกแบบนี้ก็ควรจะน่าเที่ยวอยู่ดีมิใช่หรือครับ?) และส่วนหนึ่งที่ใครๆ ก็ประทับใจก็คือเรื่องของอาหารการกินในกรุงเทพฯ ซึ่งหากมาอยู่ได้สักพัก ใครๆ ก็ชมเปาะว่าสามารถหาอาหารกินได้ในหลายราคา ตั้งแต่ถูกถึงแพง โดยเฉพาะอาหารราคาถูกนั้นเราสามารถหากินได้อย่างมากมาย

คำว่า "มาอยู่สักพัก" นั้นใช้ตั้งแต่นักท่องเที่ยว ไปจนถึงคนที่อพยพ หรือใช้คำที่กลางกว่านั้นคือ "เคลื่อนย้าย" ตัวเองเข้าสู่เมือง ซึ่งแบบแผนของการเคลื่อนย้ายและเหตุผลของการเคลื่อนย้ายอาจจะแตกต่างกัน ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายแบบมาเลยแนวทิ้งถิ่นฐาน หรือมาๆ ไปๆ มาเป็นวงรอบ/ฤดูกาล หรือลักษณะของการเชื่อมโยงของเมืองกับชนบทที่ซับซ้อนขึ้นในแบบอื่นๆ อาทิ จากชนบทสู่เมือง หรือจากชนบทสู่เมืองเล็กๆ ในแนวเมืองอุตสาหกรรมหรือเมืองบริการ เป็นต้น

แต่ช้าก่อนครับ การที่เราสามารถหาของถูกกินในเมืองได้นั้น เราควรจะต้องทำความเข้าใจมากกว่าเรื่องของความสะอาด หรือการจัดระเบียบที่ค้าขายไม่ให้เกะกะกิจกรรมในเมืองในแบบอื่นๆ (อาทิ การจัดพื้นที่บนทางเท้าให้ขาย แต่ต้องมีที่ให้คนเดินด้วย) โดยเฉพาะเรื่องของคุณค่าทางอาหาร

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เราอาจจะพูดได้ว่าเราสามารถหาของถูกกินได้ในเมือง แต่คุณค่าทางอาหารที่เราควรจะได้รับก็จะต้องมีด้วย รวมไปถึงความหลากหลายในตัววัตถุดิบด้วย

เรื่องนี้ไม่ควรเป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่ควรจะเป็นสิทธิหนึ่งของเมือง นอกเหนือไปจากเรื่องของที่พักอาศัย และเรื่องของความปลอดภัยจากอาชญากรรม

ลองยกตัวอย่างที่อาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ครับ ว่าตอนนี้เรามี "ช่องว่าง" ทางด้านอาหารมากน้อยแค่ไหน? อาทิ เราเคยเห็นไหมครับว่าอาหารบางอย่างจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน แต่ว่าราคาต่างกันมากมาย เช่นสิ่งที่เราเรียกว่า "ผลไม้" นั่นแหละครับ

ในตลาดสดนั้นเราจะเห็นราคาผลไม้ที่แพงและถูกต่างกัน อย่างคนจนในวันนี้จะมีโอกาสรับประทานผลไม้ได้เพียงไม่กี่อย่างที่อยู่ในรถเข็นแก๊งๆ ตามท้องถนนเท่านั้นเอง ดีขึ้นมาหน่อยก็คือสินค้าตามฤดูกาลที่เป็นผลมาจากการตัดสินใจปลูกที่ค่อนข้างผิดพลาด คือแห่กันปลูกจนถูกมาก (อาทิ ทุเรียนบางปี มังคุด หรือเงาะ) ส่วนผลไม้ที่เคยกินได้แต่ตอนนี้คงยากนั้นอาจจะเป็นส้มนั่นแหละครับ หรือถ้าจะได้กินก็จะต้องเป็นน้ำส้มที่คั้นจากส้มที่ลูกเท่ามะนาวเท่านั้น

นั่นคือเรื่องของความหลากหลายในตัวอาหารที่อยู่ในเมือง ที่สำคัญไม่น้อยกว่าความสะอาด หรือการจัดระเบียบที่ขายของเหล่านี้

มาว่าด้วยเรื่องอาหารกัน อาหารที่ถูกมากๆ ก็จะหนีไม่พ้นอาหารที่ทอดจากน้ำมันที่ค้าง หรืออาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเท่าไหร่ คือที่เขียนแบบนี้ไม่ใช่มาดัดจริตนะครับ คือว่ามันก็อร่อยและมีกิน แต่มันไม่ใช่อาหารที่จะกินได้ทุกวัน เพราะว่ามันจะมีผลต่อสุขภาพ และนี่คือสิ่งที่เป็นสิทธิในเมืองที่สำคัญ นั่นก็คือสิทธิที่จะมีสุขภาพดีในเมือง โดยไม่ต้องพึ่งแต่สวนสาธารณะเท่านั้น คือมันต้องมีประกอบกันหลายๆ อย่างนั่นแหละครับ

ประเด็นต่อมาที่สำคัญนั่นก็คือตัวของผักเอง ซึ่งในอดีตนั้นผักเป็นสินค้าที่ถูกมาก แต่ในปัจจุบันราคาผักแพงขึ้นมาก และมากเสียจนดูเหมือนว่าจะไม่คุ้มในการประกอบอาหารเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ที่สามารถควบคุมต้นทุนในการเลี้ยงและผูกขาดในการเลี้ยงได้มากกว่า จนบางทีสำหรับคนที่มีอายุขึ้นมาจะพบว่าสมัยนี้ราคาอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์อาจจะถูกกว่าราคาอาหารที่ประกอบด้วยผัก อย่างลองไปที่ร้านข้าวแกง จะพบว่าอาหารจานที่เป็นผักมีน้อยลง ซึ่งอาจจะมีองค์ประกอบหลายประการ ไม่นับเรื่องของกรณีการไปเข้าเทศกาลบางอย่างเข้าไปด้วย

เรื่องความมั่นคงทางอาหารในเมืองนั้นกลายเป็นเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้นในโลก อย่างกรณีเมืองในญี่ปุ่นนั้น มีประสบการณ์หนึ่งที่น่าสนใจอยากมาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่าน นั่นก็คือ เมืองอย่างฟุกูโอกะ ในบริเวณรอบๆ เมืองนั้น จะมีร้านค้าเล็กๆ ที่ทางเทศบาลเมืองของเขาจัดเอาไว้ เพื่อให้คนในท้องถิ่นนำเอาผัก-ผลไม้และสินค้าอื่นๆ ที่ทำเองมาฝากขาย ย้ำว่าต่างจากนำมาขายเอง เพราะขายเองคือตลาดและแบ่งที่ขาย ส่วนที่ฝากขายก็คือนำมาลงบัญชีเอาไว้ แล้วค่อยมารับเงินในภายหลัง

การนำของมาฝากขายในร้านค้าของเทศบาลนั้น ส่งเสริมให้เกิดการอยู่ได้และอยู่รอดในการปลูกผัก-ผลไม้อย่างน่าสนใจคือ คนที่มีที่ดินไม่ใหญ่ก็สามารถนำของที่เหลือจากการเพาะปลูกของตัวเองมาขายได้และมีคนมาอุดหนุน และแก้ปัญหาเรื่องรายใหญ่มาถล่มราคาได้ เพราะคนในท้องถิ่นก็รู้ว่าของนี้ใครปลูก ใครทำ โดยไม่ต้องมีเยอะ แล้วก็ทำให้มีค่ากับข้าวไปหมุนเวียนได้ และทำให้เกิดการส่งเสริมการเพาะปลูกในพื้นที่ได้ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดร้านอาหารในท้องถิ่นที่เป็นร้านที่เน้นความสามารถในการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีว่าเมืองนี้ผลิตสินค้าเกษตรบางอย่าง และร้านอาหารเล็กๆ ในพื้นที่ก็ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเองในการทำอาหาร ส่วนพ่อค้าแม่ค้าเดิมนั้นก็ต้องปรับตัวเรื่องคุณภาพ หรือนำของที่แปลกกว่าเดิมมาขาย มิได้หมายถึงว่าจะไม่มีงานทำไปเสียเลยทีเดียว

ความสำคัญของเรื่องการเพาะปลูกและผลิตอาหารในเมืองนี่ อยู่ที่ว่าในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จริงนั้น ในวันนี้มันไม่ได้มีลักษณะง่ายๆ ของการมีเขตเมืองกับเขตชนบท หรือเมือง ชานเมืองในฐานะที่อยู่อาศัย และชนบท หากแต่มันเป็นพื้นที่เมืองที่เติบโตที่ชานเมืองตรงขอบระหว่างเมืองกับชนบทที่มีทั้งส่วนของเมืองและชนบทอยู่ด้วยกัน อาทิ บ้านจัดสรรกับสวนเป็นต้น และหนึ่งในพื้นที่ที่จะสามารถทำให้คนอยู่ด้วยกันได้ก็คือการที่เทศบาลนั้นเปิดให้มีบริการร้านค้าเช่นนี้ ไม่ใช่แค่มีตลาดนัดที่เอาของมาจากไหนไม่รู้มาขาย หรือเน้นแต่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบสร้างภาพจริงๆ คือมาเที่ยวเพื่อสร้างภาพในแง่การถ่ายภาพเอาไปลงในที่นู่นที่นี่ โดยไม่เข้าใจคุณค่าและที่มาของสินค้าเกษตรเหล่านั้นเอาเสียเลย

การส่งเสริมการปลูกผักปลูกผลไม้เหล่านี้ในพื้นที่เมืองและพื้นที่ที่กลายเป็นเมืองตามขอบเมืองนั้น เป็นการยกระดับการมีชีวิตของผู้คนในเมือง ทั้งในแง่คุณค่าของสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะแร่ธาตุและวิตามิน ซึ่งแตกต่างไปจากห้างขนาดใหญ่ที่เน้นการขายสินค้าไม่กี่ชนิดที่ควบคุมราคาและสามารถขนส่งมาจากแดนไกลได้ และยังเป็นการเพิ่มรายได้เล็กๆน้อยๆ ให้กับผู้ที่เพาะปลูก รวมไปถึงยังเป็นการลดรายจ่ายของผู้คนในเมืองได้ด้วย

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจจากประสบการณ์เล็กๆ ของผมคือ การไปประเทศเยอรมนีนั้น เราจะพบว่าผักบางอย่างเขาไม่ได้ขายเป็นกำ แต่ขายเป็นกระถาง ซึ่งเราสามารถนำไปเลี้ยงต่อและสามารถเก็บกินได้อีกพักใหญ่ คืออย่างน้อยอีกสักรอบสองรอบ กรณีของผักชี สะระแหน่ หรือโหระพานั่นแหละครับ

ของเหล่านี้รัฐบาลท้องถิ่นในระดับเมือง คือเทศบาลต่างๆ อาจจะลองพิจารณาส่งเสริมให้เกิดการเพาะปลูกเล็กๆ เหล่านี้ได้ครับ ผักบางอย่างไม่ใช่เรื่องของความอิ่ม แต่มันก็จำเป็นมิใช่น้อย โดยเฉพาะผักชี-ต้นหอมนี่แหละครับ ซึ่งผมก็ขอท้าเลยครับว่าท่านผู้อ่านบางท่านตอนนี้อาจจะยังกินผักชี-ต้นหอมอยู่ แต่ไม่เคยรู้ว่ามันราคาสักเท่าไหร่แล้วที่ตลาด

การส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆ หรือพืชผักที่ส่งเสริมสารอาหารและความหลากหลายและความมั่นคงทางอาหารนั้น (ไม่ได้แปลว่ามีกินอย่างเดียว แต่ต้องหลากหลายและมีประโยชน์) นั้นจะส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ที่ดินได้เช่นกัน อาทิ เรื่องของการเข้าใจระบบนิเวศรอบบ้าน อย่างลำธาร คู คลอง หรือยาฆ่าแมลงต่างๆ ที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้ในกรณีของการปลูกพืชผักเหล่านี้ในปริมาณที่น้อย และเราสามารถดูแลได้ และทำให้เราต้องดูแลระบบนิเวศมากขึ้น เพราะเราพบและเห็นมากขึ้นว่าอาหารต่างๆ ของเรานั้นผลิตในเมืองและรอบเมือง และจำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ดี

ย้ำว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของการเพาะปลูกในพื้นที่ชนบท แต่เป็นเรื่องของการเพาะปลูกในเมือง หรือในเขตเมืองขนาดเล็ก และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่กำหนดที่ดินว่าเป็นเขตเกษตรกรรม แต่หมายถึงการทำให้การเกษตรกรรมนั้นสามารถแทรกตัวลงไปในพื้นที่ดินแบบอื่นได้ และนี่คือการกำหนดนิยาม "ความมั่นคง" ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย ไม่ใช่ความมั่นคงในแบบที่เราคุ้นชินกันว่าเป็นภารกิจของหน่วยงานเดียว แต่หมายถึงความมั่นคงในแง่ของความทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างฉับพลันทันที และเป็นความมั่นคงที่สามารถส่งเสริมความหลากหลายของอาหารได้อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจจะลองพิจารณาถึงการทำความเข้าใจระบบนิเวศแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องมองว่าต้นไม้ที่ปลูกในเมืองนั้นจะต้องเป็นเพียงไม้ดอกหรือไม้ประดับเท่านั้น แต่อาจจะเป็นไม้แบบอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอาจจะกำหนดสิทธิให้กับองค์กรสาธารณะหรือองค์กรท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล เช่นโรงเรียนของเทศบาล ซึ่งอาจจะเป็นผู้ปลูกและดูแลพืชผักเหล่านี้

เราอาจจะพูดถึงการเพาะปลูกในพื้นที่บางแห่งที่เราอาจจะนึกไม่ถึงเช่นหลังคาหรือดาดฟ้า โดยจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับเรื่องของการสูญเสียพื้นที่ด้านเกษตรกรรมที่อยู่รอบๆ เมืองไปมากขึ้นจากการขยายตัวของความเป็นเมืองออกไปเรื่อยๆ ซึ่งพื้นที่ที่หายไปนั้นเดิมเคยเป็นพื้นที่ที่ใช้ผลิตอาหารได้

ในมุมของเมืองนั้น เราอาจจะต้องพิจารณาถึงระบบอาหารของเมืองทั้งระบบ ซึ่งรวมไปถึงการทำความเข้าใจว่าจะต้องพึ่งพาอะไรจากภายนอก และจะสามารถลดการพึ่งพาอะไรได้บ้าง ยิ่งถ้าไม่ได้มองแต่ในเรื่องของเมืองใหญ่ซึ่งมีระบบอาหารเมืองที่ซับซ้อน เราอาจจะลองพิจารณาเมืองระดับย่อยๆ โดยเฉพาะเมืองแบบที่เน้นการท่องเที่ยว ที่ทำให้เราต้องมาพิจารณาเรื่องของความยั่งยืนของการพัฒนาและการมีชีวิตในเมืองเหล่านั้น อาทิ เมืองแห่งการท่องเที่ยวนั้น อาจจะต้องนำเข้าอาหารเป็นหลักเสียจนทำให้ค่าครองชีพของคนในท้องที่ที่ผันตัวไปอยู่ในภาคบริการนั้นจะต้องแบกรับภาระรายจ่ายมากขึ้น และเมื่อไม่อยู่ในฤดูการท่องเที่ยวแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะอยู่รอด หรืออาจจะต้องใช้เงินออมที่มีอยู่จากการทำงานในฤดูกาลท่องเที่ยวมาใช้จ่าย

การมองเห็นระบบอาหารในเมือง รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในเมืองนั้นจะมีส่วนสำคัญในนโยบายการเกษตรของประเทศด้วย รวมทั้งนโยบายพัฒนาชนบท โดยไม่ได้เน้นแต่การผลิตสินค้าราคาถูก แต่ต้องรวมไปถึเรื่องของแบบแผนทางตลาด ความปลอดภัย และความเสี่ยงในการลงทุนของการเกษตรของประเทศ ไม่ใช่เน้นแต่ผลิตเพื่อการส่งออก หรือผลิตถูกๆ เท่านั้น

ยิ่งต่อไปเมืองจะมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น เรื่องความมั่นคงทางอาหารของเมืองก็ยิ่งจะต้องพูดกันมากขึ้นตามไปอยู่ดีครับ และนี่เป็นเรื่องที่กระทบทั้ง "ความมั่นคง" และ "ความสุข" ของคนไม่ใช่น้อยจริงๆ นะครับผม

(ที่มา:มติชนรายวัน 26 สิงหาคม 2557)

แหล่งข่าว: 
ประชาชาติธุรกิจ

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด