การเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็บ (Regional Comprehensive Economic Partnership, RCEP) รอบที่ 3 ส่งผลให้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา” (Intellectual Property Working Group, IPWG) ขึ้น ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2557 ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบนโต๊ะเจรจา ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวคือการบังคับใข้มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่ามาตรฐานสากลที่ระบุอยู่ในข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือข้อตกลงทริปส์
มาตราการทรัพย์สินทางปัญญาที่ญี่ปุ่นเสนอนั้น คือมาตราการที่เน้นแต่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับด้านอื่นๆ เข่น การสาธารณสุข การเกษตร การคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ และเข้มงวดเกินกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกแบบย่อๆ ว่า “มาตรการทริปส์พลัส” หรือ “มาตรการทริปส์ผนวก”
ผลลัพธ์หลักๆ ของมาตรการทริปส์พลัส จะทำให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยาสามารถผูกขาดตลาดสินค้าของตนเองได้อย่างกว้างขวางและยาวนานยิ่งขึ้น ยาวนานกว่าที่ระบุอยู่ในข้อตกลงทริปส์ ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยารักษาโรค เพราะจะทำให้บริษัทยาอื่นไม่สามารถผลิตยาชนิดเดียวกันในราคาที่ถูกกว่าเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ เพราะต้องยึดระยะเวลาการคุ้มครองออกไปเกินกว่ามาตรฐานโลกที่ 20 ปี หรือทั้งๆ ที่ยาตัวนั้นไม่ได้มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข จะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่เป็นมาตรการยืดหยุ่นเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตเนื่องจากขาดแคลนยาในราคาที่ถูกกว่าได้ ในที่สุดแล้ว ราคายาจำเป็นที่ใช้รักษาโรคร้ายแรงต่างๆ จะมีราคาแพง
ข้อตกลงอาร์เซ็บก็คือข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ รูปแบบหนึ่ง ในกรณีนี้ เป็นการเจรจาเอฟทีเอระดับภูมิภาคระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศนอกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ การประชุมอาร์เซ็บเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. 2555 ที่กัมพูชา การประชุมได้ดำเนินการมาแล้ว 5 ครั้ง
กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ได้เฝ้าติดตามการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ล่าสุด องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่ชื่อว่า “องค์กรหมดไร้พรมแดน” ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิขย์ของอินเดีย เพื่อแสดงความกังวล ที่ญี่ปุ่นเสนอมาตรการทริปส์พลัสในการเจรจาข้อตกลงอาร์เซ็บ และขอให้อินเดียระวังและเจรจาอย่างรอบครอบในเรื่องนี้ เพราะอินเดียถือเป็นประเทศหลักที่ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคร้ายแรงหลายชนิดในราคาที่ไม่แพงให้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างๆ
เอกสารน่าสนใจเพิ่มเติม
- ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน(Regional Comprehensive Economic Partnership ‘RCEP’) โดย รณรงค์ พูลพิพัฒน์
- การจัดทำความตกลงภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) โดย ไกรสิทธุ์ วงศ์สุรไกร
ที่มาของรูป : www.thaifta.com/trade/public/ronnarong_24oct55.pdf