เมื่อไม่มี "ทักษิณ" เมื่อไม่มี "ยิ่งลักษณ์" อยู่เสียแล้ว ถนนทุกสายก็เดินตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานเดียว
เพราะ "หนังหน้าไฟ" ได้หมดไป
ไม่ว่าเรื่องราคายางพารา ไม่ว่าเรื่องปฏิรูปพลังงาน ทุกคำถามก็พุ่งปลายหอกเข้าใส่ ไม่มีอะไรเป็นเหมือนกับ "กันชน" ให้
ถ้าปล่อยให้ "ขาหุ้นพลังงาน" เดินทัพทางไกลได้
ถ้าปล่อยให้ นายวีระ สมความคิด ร่วมกับ "เครือข่ายปฏิรูปพลังงาน" เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังสวนจตุจักรได้
นั่นหมายถึง "กฎอัยการศึก" ไม่มีความหมาย
ในอีกด้าน ย่อมเท่ากับ "หมายความ" ว่า รูปธรรมแห่งความเป็นสองมาตรฐานทางการปฏิบัติก็ปรากฏให้เห็น
ที่เคย "เดินตรง" ก็เริ่ม "เอียง"
ขณะเดียวกัน นับวันการดำเนินมาตรการ "กฎอัยการศึก" ก็เริ่มสะท้อนลักษณะ 2 ด้านให้ปรากฏอย่างเด่นชัดเป็นลำดับ
ความมั่นคง "เยี่ยม" แต่ "เศรษฐกิจ" ก็ขาดความมั่นใจ
ยังไม่ทันจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "นายกรัฐมนตรี" ยังไม่ทันที่การฟอร์ม "ครม." จะดำเนินไปอย่างสถิต
ก็มี "โจทย์" มี "การบ้าน" มายืนรออยู่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลพวงอันเนื่องแต่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคต่ำ ความรู้สึกในการจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคัก
นั่นเพราะเกิดความไม่มั่นใจในทาง "ความคิด"
แม้กระทั่งขาเชียร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอย่าง "เครือสหพัฒน์" ก็ออกมายอมรับว่ายังมองไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว
อย่าถามถึง "การท่องเที่ยว" เพราะสิ้นหวังไปนานแล้ว
ไม่ใช่เพราะผู้คนไม่มั่นใจในความแข็งแกร่งของ คสช. ตรงกันข้าม มั่นใจเป็นอย่างมาก มั่นใจเป็นอย่างสูง
เป็นความมั่นใจในหลักการแห่ง "กฎอัยการศึก"
เป็นความมั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีละเว้นและผ่อนปรน แต่จากกฎอัยการศึกนั้นเองทำให้กว่า 40 ประเทศประกาศเตือนประชาชนของตนให้ระมัดระวังการเดินทางเข้ามา
นั่นหมายถึง "ประกัน" ไม่ยอม "การันตี" ให้
การบ้านเหล่านี้ยังสามารถคลี่คลายไปได้ตามสถานการณ์ซึ่งอ่อนตัวลงเป็นลำดับ แต่เรื่องของยางพารา เรื่องของพลังงาน นับวันยิ่งเป็นเรื่องยาก
เพราะสะท้อนความต่างในทาง "ความคิด"
เป้าหมายในการปฏิรูปพลังงานอันปรากฏผ่านเสียงของเครือข่าย "ขาหุ้น" จากภาคใต้ อันปรากฏผ่านเครือข่าย "ทวงคืน ปตท." จาก น.ส.รสนา โตสิตระกูล
มิได้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องในเรื่อง "ปรัชญา"
น่าสนใจก็ตรงที่ เครือข่าย "ขาหุ้น" ก็ดี เครือข่าย "ทวงคืน ปตท." เกาะติดอยู่กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแนบแน่น
ต้องการให้ "ประชาชน" เป็นเจ้าของ "พลังงาน" อย่างแท้จริง
ต้องการจำกัดกรอบ จำกัดบทบาท จำกัดอิทธิพลของสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "กลุ่มทุนใหญ่" ซึ่งเดิมเคยมองว่าอยู่ภายใต้การครอบงำของ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" แต่เมื่อบรรดาหุ่นเชิดของ "ระบอบทักษิณ" ได้ถูกโค่นล้มลงไป
ก็มี "ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย-ประเสริฐ-พละ-วิเศษ" เข้ามาแทน
คำถามอยู่ที่ว่า คสช.จะเลือกยืนกับฝ่ายใด จะเลือกเอากับฝ่ายที่นั่งสลอนอยู่ในคณะกรรมการสรรหา สปช.สายพลังงาน หรือเลือกเอา "ขาหุ้น" และ "ทวงคืน ปตท."
นี่คือ "พลังงาน" หลังยุค "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์"
ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสมอเป็นเพียง "นักสังเกตการณ์" เฝ้าดู
แต่ภายหลังจากวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ลงมาเล่นเอง บริหารจัดการเอง บนพื้นฐานแห่งความปรารถนาจะ "คืนความสุข" ให้กับประเทศชาติ ประชาชน
นี่คือ "โจทย์" ทางการเมืองที่เป็นจริงและแหลมคมยิ่ง
ที่มา:มติชนรายวัน 27 สิงหาคม 2557