เสวนาถามตอบปัญหาพลังงานชาติ "พุทธอิสระ" คุมเกม "ปิยสวัสดิ์" นำทีม ปตท. แจง "รสนา" ไม่เข้าร่วม

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมผู้เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงในงาน "เสวนาถามตอบปัญหาพลังงานชาติ" โดยมีพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำ กปปส.เข้าร่วมด้วย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ทั้งนี้การจัดงานเสวนาดังกล่าว เพื่อเปิดเวทีให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นถึงการปฏิรูปพลังงาน ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต

บรรยากาศที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี นายวีระ สมความคิด ขึ้นเวทีเข้าร่วมเสวนาถาม-ตอบ เรื่องการปฏิรูปพลังงานเพื่อความปรองดองของชาติ โดยมีพุทธอิสระ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาบนเวที ในงานมีการตั้งคำถามถึงการคืนท่อส่งก๊าซ

ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน นายวีระ สมความคิด นางบุญยืน ศิริธรรม นายอิฐบูรณ์ อ้นวงศ์ษา ขณะที่นางรสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย จะไม่เข้าร่วมการสัมนาครั้งนี้ เนื่องจากติดภารกิจเป็นวิทยากรที่จังหวัดในภาคใต้

ทั้งนี้ ในงานยังมีตัวแทนจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยงานเสวนาเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00-15.40 น. รวมเวลา 6ชั่วโมง 40นาที โดยบนเวทีเสวนาไม่มีการพักเบรกเพื่อรับประทานอาหารใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญตัวแทนจาก2ฝ่ายที่มีความเห็นต่างกัน ขึ้นเสวนาในเวทีเดียวกัน โดยหลวงปู่พุทธอิสระได้กำหนดกฎเกณฑ์การเสวนา คือ จะให้ฝ่ายภาคประชาชนเป็นผู้คำถาม และให้ฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.เป็นผู้ตอบ โดยกำหนดเวลาการเสวนาฝ่ายละเท่ากันๆ และในช่วงท้ายจะเปิดให้ประชาชนที่เข้าร่วมได้แสดงความเห็น

โดยบรรยากาศการเสวนาตลอดทั้งวันนั้นพบว่า มีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีความเห็นเอนเอียงไปทางฝั่งเครือข่ายภาคประชาชน มีเพียงจำนวนหนึ่งที่เอนเอียงทางฝั่งกระทรวงพลังงาน โดยสังเกตได้จากพฤติกรรมการปรบมือเมื่อฝ่ายที่ตนเองสนับสนุนแสดงความเห็น หรือวิจารณ์อีกฝ่าย

ดังนั้น บรรยากาศการรักษาความปลอดภัยในการเสวนาครั้งนี้จึงค่อนข้างเข้มงวด โดยผู้ร่วมสัมมนาจะต้องติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์ว่าเข้าร่วมสัมมนาในฐานะอะไร มีการตรวจกระเป๋า ป้องกันการพกพาอาวุธ และมีการระดมกำลังทั้งทหารและตำรวจประมาณ 100 นาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นแรกที่มีการหารือในเวทีเสวนา คือ เรื่องคืนท่อก๊าซของ ปตท.แก่รัฐ โดยภาคประชาชนย้ำเรื่องข้อสังเกตของ สำนักงานตรวจเงินเงินแผ่นดินที่ ปตท.คืนไม่ครบทั้งบนกบกและในทะเลเพราะต้องคืนประมาณ3.6 หมื่นล้านบาทแต่ ปตท.คืนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2551 วงเงินเพียง 1.6 หมื่นล้านบาท

โดยประเด็นนี้ ทาง ปตท.ได้พยายามชี้แจงว่าคำสั่งศาลปกครองถือเป็นที่สุด โดยศาลให้คืนสมบัติเฉพาะกรณีเงินลงทุนของ ปตท.ที่ใช้อำนาจมหาชนรอนสิทธิ์เท่านั้น และที่ผ่านมา ศาลฯได้ส่งบัณทึกไปยัง สตง.และช่วงที่ผ่านมา สตง.ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของ ปตท.ก็ไม่เคยท้วงติงใดใด ในรายงานประจำปีการตรวจสอบบัญชี ปตท. ทั้งนี้หลังการชี้แจงเครือข่ายภาคประชาชนยังโต้แย้ง หลวงปู่พุทธอิสระจึงสรุปว่าหากโต้แย้งไปมาคงไม่จบ ดังนั้น หลวงปู่จะพิจารณาเรื่องนี้และนำขึ้นสู่การฟ้องร้องศาลอีกครั้ง

ต่อมามีการสอบถามเรื่อง ราคาแอลพีจีโดยเฉพาะภาคปิโตรเคมี ซึ่งเครือข่ายโดยนายปานเทพ ใช้ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภามาสอบถาม โดยอ้างว่าปิโตรเคมีซื้อในอัตราต่ำกว่าการจำหน่ายแก่ประชาชน ทาง ปตท.ได้ชี้แจงว่า ให้มองย้อนไปในอดีตตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่5 ซึ่งเป็นช่วงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาอิสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมมายตาพุด จ.ระยอง คือ ต้องส่งเสริม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในประเทศที่ใช้ประโยชน์จากเม็ดพลาสติกมหาศาล โดยราคาแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซฯใช้สูตรอิงตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยราคาเฉลี่ยในปี2556 หน้าโรงแยกก๊าซฯที่ 592 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 19.24 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เมื่อรวมเงินกองทุนน้ำมันฯและภาษีมูลค่าเพิ่มจะเท่ากับ 21.60 บาทต่อกก. โดยใช้ก๊าซ 67% จากโรงแยกก๊าซฯ ขณะที่กาีใช้แอลพีจีจีจากโรงกลั่นน้ำมันคิดเป็น 7% ราคามากกว่าคือ 30.22 บาท/กก.(930 เหรียญต่อตัน) ทำให้แอลพีจีสำหรับปิโตรเคมีมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 22.85 บาทต่อกก.

นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงประเด็นราคาน้ำมัน เปรียบเทียบระหว่างไทยและต่างประเทศ ประเด็นการส่งออกน้ำมันของไทยที่เครือข่ายภาคประชาชนตั้งคำถามว่าราคาถูก แต่ใช้ในประเทศแพง

ประเด็นนี้ทางฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.ยืนยันว่าใกล้เคียงกัน แต่เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีการเก็บภาษีหลายส่วน รวมทั้งมีกองทุนน้ำมันเข้ามาดูแลด้วย

นอกจากนี้ ในเสวนานายวีระยังตั้งคำถามต่อฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.ว่า ตัวแทนคนใดถือหุ้นบริษัทปตท.บ้าง ซึ่งประเด็นนี้นายปิยสวัสดิ์กล่าวยอมรับว่ามีหุ้นอยู่ในปตท.เป็นจำนวน4,400 หุ้น ซึ่งการถือหุ้นดังกล่าวตามกฎหมายสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ฝ่ายผู้ฟังสัมมนาฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนเริ่มส่งเสียงโห่ร้อง จนหลวงปู่พุทธอิสระต้องห้ามปราม จากนั้นนายไพรินทร์ได้ชี้แจงว่า หากต้องการทราบข้อมูลควรเข้าไปตรวจสอบในเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ หรือรายงานประจำปีของปตท.เพราะเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ส่วนข้อมูลการถือหุ้นของตนเองจะส่งให้หลวงปู่พุทธอิสระอีกครั้ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางหลวงปู่พุทธอิสระมีความเห็นว่าหากจะคาดคั้นคำตอบคงไม่จบ อยากให้ข้อมูลการถือหุ้นมีการส่งเอกสารตามทีหลัง

ทั้งนี้ ช่วงท้ายการเสวนา หลวงปู่พุทธอิสระได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเสนอแนะเรื่องที่ต้องการให้ปฏิรูปพลังงาน ทางเครือข่ายภาคประชาชนจึงเสนอหลายประเด็น อาทิ

ขอให้ปรับโครงสร้างการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันเห็นว่ามีความบิดเบือน ขอให้แอลพีจีของภาคปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับภาคครัวเรือน ขนส่ง และครัวเรือน พร้อมจัดสรรแอลพีจีให้ภาคครัวเรือนและขนส่งได้ใช้เป็นกลุ่มแรก และไม่ให้ข้าราชการเข้าเป็นกรรมการบริษัทพลังงานเพราะอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน

ขณะที่ข้อเสนอฝั่งกระทรวงพลังงานและปตท. คือ อยากให้มีการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติมีความเหมาะสม อยากให้มีการประหยัดพลังงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเสวนาพบว่า ตลอดทั้งวันผู้เข้าร่วมสัมมนามักแสดงอาการไม่พอใจ โห่ร้อง บางรายลุกขึ้นตะโกน ตั้งคำถามระหว่างที่การเสวนาดำเนินอยู่ เพื่อกระตุ้นให้ตัวแทนฝ่ายกระทรวงพลังงานและปตท.เกิดความไม่พอใจ ทำให้หลวงปู่พุทธอิสระต้องห้ามปราม ตักเตือน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายปิยสวัสดิ์ส่งสัญญาณระหว่างอยู่บนเวทีขอให้หลวงปู่ฯช่วยตักเตือนอีกครั้ง ซึ่งหลวงปู่ฯรับปาก แต่นายวีระซึ่งนั่งอีกฝั่งได้ยินจึงมีการตอบโต้ไปมากับนายปิยสวัสดิ์ ทำให้หลวงปู่ต้องยกมือห้ามทั้ง2ฝ่ายให้สงบ

ภายหลังจบการเสวนาในเวลา15.40น. หลวงปู่พุทธอิสระกล่าวว่า จะสรุปข้อเสนอทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าเป็นอย่างช้า โดยเชื่อว่าการเสวนาจะเป็นประโยชน์เพราะประชาชนหลายคนเข้าใจมากขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องท่อก๊าซที่ยังขัดแย้ง จะให้ทุกฝ่ายส่งเอกสารมาพิจารณาว่าบกพร่องอย่างไร ให้ฝ่ายกฎหมาย นิติกรเข้ามาดู และหลังจากนี้อาจจัดเวทีเสวนาพลังงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหารือเรื่องพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน เนื่องจากในเสวนายังไม่มีการคุยครั้งนี้ ส่วนเครือข่ายประชาชนบางท่านที่ไม่มาหากนำไปพูดข้างนอกอีกจะไม่เหมาะสม

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด