ให้ พณ.ไปทำรายงานวิจัยผลกระทบอย่างเจาะลึกทุกภาคส่วน และจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
1. นี่เป็นการแก้กฎหมายล่วงหน้าก่อนทำเอฟทีเอ และความตกลงมาดริดซึ่งจะทำให้ไทยเสียอำนาจต่อรอง เพราะยอมไปทั้งหมดแล้ว ทั้งที่ไม่มีการทำวิจัยศึกษาผลกระทบอย่างเจาะลึก และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
2.การให้กลิ่นและเสียงจดเครื่องหมายการค้าได้ เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่าเป็น TRIPS + อีกทั้ง ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต
3. ร่างกฎหมายนี้เคยค้างที่วุฒิสภาชุดที่แล้ว
การประชุมกรรมาธิการก็ตั้งข้อสังเกตมากถึง การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีความพร้อมทั้ง เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ และจะมีผลกระทบต่อสังคมไทย
4.การจดทะเบียนให้กับกลิ่นจะมีผลร้ายมากกว่าการให้สิทธิบัตร ไม่ควรที่พณ.จะมาหลอกครม.ให้พิจารณารวบรัดเช่นนี้เพราะในสิทธิบัตรถ้านำกลิ่นธรรมชาติ อาทิ น้ำมันที่สกัดจากพืชมาผสมกันต้องเกิดผลพิเศษที่ไม่ได้แปลว่ามีกลิ่นใหม่ขึ้นมาเท่านั้น ต้องมีผลสำคัญบางประการที่พิสูจน์ได้ ต้องมีความใหม่ มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ไม่ใช่ทักษะสามัญ จึงรับจดสิทธิบัตร แต่เครื่องหมายการค้าเท่ากับว่า นำเอาวัตถุธรรมชาติมาผสมกันแล้วได้รับจด ต่อไปบุคคลอื่นก็นำเอาวัตถุเหล่านั้นมาผสมกันไม่ได้เลย ทั้งที่เป็นสมบัติสาธารณะ จึงเป็นการละเมิดสิทธิสาธารณะ
5. เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่นจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ
- ยา ที่สารแต่งกลิ่น รส (Flavor) ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพัฒนาตำรับยา อาจเกิดกรณีกล่าวหาว่ามีการละเมิดเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิตยาภายในประเทศทั้งที่ไม่ได้เจตนา ก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศเพิ่มขึ้น และหน่วงเวลาการพัฒนายาชื่อสามัญออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถขายยาผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลดราคาเลยเพราะไม่มีคู่แข่ง
- เครื่องมือแพทย์ (เช่น ถุงยางอนามัยที่มีการแต่งกลิ่นของผลิตภัณฑ์เพื่อให้น่าสนใจ หากมีการให้เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่น ก็อาจมีผลกระทบเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยา วัตถุอันตรายที่ใช้ในทางสาธารณสุข เช่น ผลิตภัณฑ์ทากันยุงก็เป็นประเด็นเดียวกัน
- เครื่องสำอาง เนื่องจากกลิ่นนั้นถือเป็นส่วนสำคัญของตัวผลิตภัณฑ์ และในประเทศไทยนั้นการผลิตเครื่องสำอางนั้นมีแพร่หลายในทุกระดับ ทั้งในระดับโรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก จนถึงระดับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ซึ่งมีอยู่ในแทบทุกชุมชน หากมีการให้เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีอยู่มากมายทั่วประเทศจะมีกลิ่นที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกับเครื่องสำอางของโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ หรือเหมือนกับกลิ่นที่มีผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว กลายเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ก่อให้เกิดการฟ้องร้องมากมาย