มูลนิธิบูรณะนิเวศ เตือนสติ กต. อยากกำกับดูแล JTEPA ควรติดตามแก้ปัญหานำเข้าขยะอันตรายด้วย

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

ตามที่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเสนอให้ ครม.โอนภารกิจกำกับดูแลความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) จากกระทรวงพาณิชย์ไปที่กระทรวงต่างประเทศ โดยออกเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ เรื่องการปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการกำกับการดำเนินการตามข้อตกลง โดยมอบให้ รมว.กต. เป็นประธาน 

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งติดตามมลพิษอุตสาหกรรมและเคยได้ท้วงติงเนื้อหาความตกลง JTEPA ตั้งแต่ก่อนลงนามเมื่อปี 2550 ว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นที่ทิ้งขยะอันตรายจากญี่ปุ่น มองว่า กระทรวงใดจะมารับผิดชอบการกำกับดูแลได้ดีกว่ากันนั้น ตนไม่แน่ใจ แต่ 6 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความตกลง JTEPA ในสังคมไทยที่กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเจรจากำลังปรากฏชัดอย่างน่าวิตก หากกระทรวงการต่างประเทศต้องการเป็นหน่วยงานกำกับดูแลความตกลง JTEPA ก็ควรพิจารณาดำเนินการติดตามปัญหาการนำเข้าขยะอันตรายด้วย เพราะนี่คือผลพวงหนึ่งของการเจรจาที่ไปยอมรับขยะสารพิเษและขยะอันตรายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ปกติ

“ขณะนี้ ประเทศไทยมีปัญหาทั้งขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชนรุนแรงมาก และมีโรงงานคัดแยกและแปรรูปขยะมากจนผิดปกติ ซึ่งหลังจากการคัดแยกและแปรรูปแล้ว จะมีขยะที่เหลือจากกระบวนการถูกนำไปทิ้งตามที่ต่างๆทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังเป็นภาระกับสังคม และกำลังก่อความเสียหายกับชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการติดตามพบว่า มีขยะอันตรายนำเข้าจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ไปลอบทิ้งตามหลุมขยะของชุมชนและตามที่ต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี แต่ 6 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐซึ่งไปทำความตกลงให้ขยะอันตรายกลายเป็นสินค้าปกติ ไม่เคยทำข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลว่า แต่ละปีมีการนำเข้าขยะอันตรายจากกี่ประเทศ เป็นปริมาณเท่าไร และเศษสุดท้ายจากการคัดแยกที่ไม่สามารถแปรรูปแล้วไปอยู่ที่ใด”

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งโรงงานแปรรูปขยะที่มากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอีกรูปแบบของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง

“เราพบว่า ปี 56-57 มีขยะที่ไม่สามารถแปรรูปได้ถูกลักลอบทิ้งจำนวนมาก และจากการติดตามข่าวนับจากเพลิงไหม้ที่แพรกษา จาก มี.ค.-มิ.ย. 57 พบว่ามีการลอบเผาบ่อขยะชุมชนมากถึง 15 ครั้ง ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นการทำลายหลักฐานการลอบทิ้งขยะอันตราย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ แต่ไม่มีการสำรวจปัญหาที่แท้จริง”

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ว่า รัฐบาลต้องมีการทบทวนตรงนี้ และควรมีการศึกษา-การสำรวจว่า จากความตกลง JTEPA ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายขยะอันตรายทั้งนำเข้าและส่งออกกี่ชนิด จำนวนเท่าไร และปลายทางการกำจัดส่วนที่ไม่สามารถแปรรูปได้อยู่ที่ไหนอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้ชุมชนต่างๆเป็นผู้รับภาระผลกระทบจากสารพิษเหล่านี้

“จากบทเรียนครั้งนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้ารัฐบาลทำการค้า ความตกลงกับประเทศใดๆอีก ขอให้เปิดเผยข้อมูล นี่เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถปล่อยให้รัฐบาลและหน่วยราชการนำพาประเทศชาติ โดยประชาชนไม่ได้รับรู้อีกได้ เพราะเสียหายมาก”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 เอฟทีเอ ว็อชท์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ร่างความตกลง JTEPA มีข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้าของเสียและของเสียอันตรายบรรจุไว้ด้วย โดยแอบแฝงรวมอยู่ในฐานะที่เป็นสินค้า ดังปรากฏในบทที่ 3 ของร่างความตกลงที่กล่าวถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ข้อ 28 ถึงแม้จะไม่มีคำว่าสิ่งปฏิกูลหรือกากของเสีย หรือกากของเสียอันตรายโดยตรง แต่ความหมายของสินค้าของร่างความตกลงฯนั้นไม่ใช่สินค้าทั่วๆ ไป จึงมีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะกลายเป็นถังขยะหรือแหล่งลงทุนของธุรกิจกำจัดขยะ หรือแปรรูปขยะของญี่ปุ่น โดยที่การเจรจาในขณะนั้น กระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าทีมเจรจาและไม่เคยเชิญหน่วยราชการด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมหารือ

สำหรับของเสียอันตรายที่อยู่ในพิกัดภาษีศุลกากรของ JTEPA อาทิ ขี้แร่, ขี้ตะกอน, เศษอื่นๆ ที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า, ตะกอนของน้ำมันเบนซินชนิดเติมสารตะกั่ว, ตะกอนของสารกันเครื่องยนต์เคาะที่มีตะกั่ว, เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล, ของเสียทางเภสัชกรรม, ของเสียจากสถานพยาบาล, ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน, ขยะเทศบาล, ตะกอนจากน้ำเสียและของเสียอื่นๆ, ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ, น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรคและของเหลวกันการเยือกแข็ง, ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน 

เอฟทีเอรายประเทศ: 
หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: