มาตรา183 กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง

โดย  กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

ตามที่สภาปฏิรูป แห่งชาติ (สปช.) กำลังจะลงมติตัดสินว่าจะเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มีข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ดังนี้

  1.  มาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญนี้คือการเปลี่ยนแปลงจากบทบัญญัติในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจา สร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเป็นกลไกสร้างระบบการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ผลจากการทำหนังสือสัญญาเกิดประโยชน์โดยรวมมากที่สุดต่อประเทศชาติ และเสริมประสิทธิภาพการเจรจาไปด้วย เช่น คณะเจรจายังสามารถใช้ “กรอบเจรจา” ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย บทบัญญัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อารยประเทศต่างๆ ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

  2.  สาระสำคัญของมาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญที่ต่างไปจากมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือ

    1. การขยายนิยามตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือสัญญาเกี่ยวกับ การเปิดเขตการค้าเสรีหรือเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกหรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือที่เกี่ยวกับการใช้หรือแบ่งสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

    2. ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับทำหนังสือสัญญานั้น แต่แทนที่จะเป็นการชี้แจงกรอบการเจรจาและขอรับความเห็นชอบต่อรัฐสภา ในร่างรัฐธรรมนูญกลับระบุให้เสนอและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้น

    3. มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย แต่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวเท่านั้น และยังกำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบผูกพันตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน

    4. ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรมนั้น มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดคำสำคัญที่เคยมีอยู่ในมาตรา 190 เมื่อปี 2550 ไป คือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ใช่แค่ผลกระทบต่อประชาชนดังที่ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ

  3.  ข้อสังเกตบางประการต่อมาตรา 183 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)

    1. การขยายนิยามวรรคสอง แม้ดูเหมือนจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นจุดที่น่าห่วงที่สุด เพราะการขยายความวรรคสองที่ไปผูกหนังสือสัญญาทางเศรษฐกิจไว้กับกรอบองค์การการค้าโลก ทำให้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศสำคัญๆหลายประเภทหลุดรอดจากการพิจารณาของรัฐสภาไป เช่น สัญญาเงินกู้จากองค์การการเงินระหว่างประเทศ อาทิ IMF, ADB, JIGA รวมทั้งสัญญาเงินกู้กับจีน ที่มักกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศต้องปฏิบัติตาม และบางหนังสือสัญญาที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในความตกลงพหุภาคีขององค์การการค้าโลกที่มาตรานี้ใช้อ้างอิงอีกแล้ว แต่มีอยู่ในความตกลงทวิภาคี และภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลไม่ต่างหรือร้ายแรงกว่าเอฟทีเอ นี่เป็นความพยายามของหน่วยราชการที่ผลักดันผ่านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดที่พยายามกันหนังสือสัญญาเงินกู้ออกและความตกลงด้านการลงทุนต่างๆจากการรับรู้ของสาธารณชน ทั้งนี้ ยังพบว่า นิยามวรรคสองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ส่งมอบให้สปช.นั้น ชัดเจนว่า ล้าหลังกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมธิการยกร่างฯเผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นการเอาขอบเขตขององค์การการค้าโลก (WTO) ไปครอบเอาไว้ทั้งที่แทบจะไม่มีความตกลงใดๆเกิดขึ้นจากองค์กรนี้ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา

    2. การลดระดับการผ่านความเห็นชอบกรอบเจรจาจากรัฐสภาทั้งคณะ เหลือเพียงแค่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาที่แม้จะระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภารวมอยู่ด้วยนั้น ถือเป็นการถอยหลังในเชิงสาระสำคัญที่สุด เพราะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้น เมื่อทำแล้วจะมีผลผูกพันยาวนานมากกว่าชั่วอายุคน กรอบเจรจาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความรอบคอบในการเจรจาเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาได้อีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรแค่ผ่านคณะกรรมาธิการต่างประเทศของรัฐสภาเท่านั้น แต่ยังจำเป็นที่จะต้องผ่านรัฐสภาด้วย

    3. การกำหนดให้คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย ยังไม่สามารถรับประกันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่หลากหลายได้ ซึ่งในที่สุดอาจจะมีแค่ภาคเอกชน 3 สมาคมดังที่เคยเป็นมาก็ได้

    4. ประเด็นเงื่อนเวลาที่ระบุให้พิจารณากรอบการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าวเท่านั้นเป็นการกำหนดที่เร่งรัดอย่างมาก สุดท้ายคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภานี้ก็จะไม่ได้ต่างอะไรกับตรายาง เช่นเดียวกับที่กำหนดเงื่อนเวลาให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบผูกพันตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน ทั้งที่ในหลายประเทศให้เวลาพิจารณาในขั้นตอนนี้ถึง 6 เดือน

    5. การเยียวยาแก้ไขผลกระทบเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันว่าการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศโดยมากจะมีผู้ได้รับประโยชน์กระจุกตัว ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความกระจายตัวอย่างมาก และบ่อยครั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งพึงได้รับความใส่ใจจากผู้กำหนดนโยบายเป็นพิเศษ แต่มาตรา 183 ตามร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดคำสำคัญที่เคยมีอยู่ในมาตรา 190 เมื่อปี 2550 ออกไป ซึ่งในที่สุดอาจทำให้การเยียวยาแก้ไขผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ถูกละเลยในที่สุด

    6. และน่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าจะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ไม่สามารถทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง ทั้งที่เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมากและเป็นกลไกสำคัญ

 

นับตั้งแต่ปี 2550 มีความพยายามแก้ไขมาตรา 190 หลายครั้ง เพื่อทำลายธรรมาภิบาลในกระบวนการเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สาระตามมาตรา 183 ในร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นหลักในการร่างกฎหมายประกอบนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) วิเคราะห์แล้วว่า ไม่อาจสร้างกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งในระบอบการเมืองประชาธิปไตย แต่อาจเป็นการจำกัดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชน ผู้เดือดร้อนต้องใช้ท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง

หากสาระเช่นนี้ผ่านไปก็เท่ากับว่า สิ่งที่นัก(การเมืองด้อยคุณภาพ) กลุ่มทุนครอบชาติ และฝ่ายข้าราชการประจำล้าหลัง ที่เคยพยายามทำลายธรรมาภิบาลในการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศแต่ไม่เคยทำสำเร็จ รัฐประหารได้มาช่วยทำให้สำเร็จแล้ว

4 กันยายน 2558

ที่มา : ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต https://twitter.com/wickedthsoldier

หมวดหมู่ของเนื้อหาในเว็บ: