SuperSci : แอปพิทักษ์ทะเลด้วยอาหารบนจาน

จาก'เล สู่จาน เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชัน ที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนาขึ้นกับ และได้จัดงานเปิดตัวแอปพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือน ก.ย. ณ ศูนย์ค้าดิเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพมหานคร

อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แอปพลิเคชันจากเลสู่จาน : A guide to Sustainable Seafood เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยทีมงานกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการบริโภคอาหารทะเลแก่ผู้บริโภค ให้สามารถศึกษาและใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างสะดวกสบายผ่านทางสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญในชีวิตประจำวัน

อัญชลี อธิบายว่า เนื้อหาในแอปพลิเคชันจะประกอบอยู่ 8 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ เกี่ยวกับเราที่เป็นข้อมูลการทำงานของกรีนพีซ, เลเล่าเรื่อง, สัตว์ทะเลที่ไม่ควรกิน, กุ้ง หอย ปู ปลา ไซส์ไหนดี แหล่งชิม ช้อป สไตล์รักเล, เคล็ดไม่ลับฉบับรักเล, ลงมือปกป้องทะเล และเรื่องราวของปลาทูน่า ซึ่งไฮไลท์สำคัญอยู่ที่รายการ เลเล่าเรื่อง และกุ้งหอย ปู ปลาไซส์ไหนดี

ในรายการ เลเล่าเรื่อง อัญชลีแนะนำว่า เนื้อหาที่น่าทำความเข้าใจอยู่ที่ประเภทของการทำประมงแบบทำลาย เช่น การใช้อวนรุนและอวนลาก ซึ่งเป็นการทำประมงแบบล้างผลาญที่ทำให้สัตว์น้ำในทะเลไทยน้อยลงจนอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะใช้อวนตาข่ายขนาดเล็กในการจับ ทำให้ลูกปลาวัยอ่อน หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ไม่ต้องการติดขึ้นมาด้วย ซึ่งในส่วนนี้แอปพลิเคชันได้ให้ข้อมูลพร้อมภาพประกอบอย่างละเอียด เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

นอกจากนี้ในรายการ กุ้ง หอย ปู ปลา ไซส์ไหนดี ยังระบุขนาดของสัตว์ทะเลตัวเต็มวัยแต่ละชนิดที่ควรบริโภคไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมด้วยเคล็ดลับการเลือกซื้ออาหารให้ได้ของทะเลที่สด สะอาด สภาพดี คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายและไม่ทำร้ายระบบนิเวศทางทะเล

“บางคนเขาไม่รู้ว่าปลาชนิดนี้ ตัวเต็มวัยมันตัวใหญ่แค่ไหน ทำให้บางทีก็ถูกแม่ค้าหลอกให้ซื้อปลาวัยอ่อน ทั้งๆ ที่มันยังไม่โตเต็มที่ ซึ่งการทำแบบนี้เท่ากับการหลอกลวงผู้บริโภคและที่สำคัญยังเป็นการตัดวงจรของสัตว์ทะเล เพราะถ้าปล่อยให้มันโตอีกนิด มันก็จะออกลูกหลานมาให้เราได้กินอีกมากมาย เช่นเดียวกับการจับแบบใช้อวนรุนและอวนลากที่เป็นการกว้านเอาปลาทั้งหมดที่มีในบริเวณนั้นขึ้นมา ที่กรีนพีซทำแอปฯ นี้ขึ้นก็เพราะเชื่อว่าพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในท้องทะเล ผ่านการเลือกซื้อและบริโภคด้วยความตระหนักและความรู้ เพียงแค่เริ่มตั้งคำถามว่าก่อนที่อาหารทะเลจะมาสู่จานของเรา มีที่มาจากแหล่งใด จับช่วงไหน จับด้วยวิธีใด แค่นี้ก็จะช่วยทะเลได้อีกมาก” ผู้ประสานงานกรีนพีซ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีรายการแนะนำแห่งชิม ช้อปสไตล์รักเล ที่เป็นการรวมเอาแหล่งร้านอาหารและชุมชนประมงยั่งยืน ทั่วประเทศพร้อมแนวทางอนุรักษ์ เมนูเด็ดและแผนที่มาไว้ในที่แอปพลิเคชัน เพื่อให้เหล่านักชิมที่มีใจอนุรักษ์ได้เดินทางไปตามรอย เพื่อรับประทานอาหารรสชาติอร่อย และเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่ได้รับการการันตีว่าได้สัตว์ทะเลมาจากการทำประมงแบบรับผิดชอบ เช่น โครงการประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์ แพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี, ชุมชนบ้านในไร่ จ.พังงา, ร้านโบ.ลาน กทม. และ ครัวใส่ใจ กทม.

ท้ายสุด อัญชลี ยังฝากผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากเลสู่จานได้ที่ระบบปฏิบัติการแอพสโตร์ (App Store) และกูเกิลเพลย์ (Google Play) ตั้งแต่วันนี้ ไม่มีค่าใช้จ่าย

แหล่งข่าว: 
ผู้จัดการออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด