เครือข่ายกลุ่มหนุนเหมืองแร่ทองคำยื่นหนังสือต่อนายกฯ ชี้กลุ่มคัดค้านให้ข้อมมูลบิดเบือน ย้ำเหมืองกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ และทำให้ความเป็นอยู่ชาวบ้านดีขึ้น
1 ต.ค. 2558 ผู้จัดการออนไลน์ASTV รายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายประชาชนและชุมชนคนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี (ปชท.) นำโดยสุรชาติ หมุนสมัย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีมีกลุ่มคัดค้านการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก โดยกลุ่มผู้คัดค้านได้แพร่กระจายข้อมูลอันเป็นเท็จและบิดเบือน ทำให้เกิดความเสียหายและตื่นตระหนกต่อชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบเหมือง โดยทางเครือข่าย ปชท.จ.พิจิตร ประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง ขอยืนยันว่าประชาชนตลอดจนชุมชนรอบเหมือง สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่มีผลกระทบเรื่องสุขภาพ น้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งพืชผลทางเกษตร จึงขอชี้แจงข้อมูลและขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี
พร้อมทั้งชี้แจงว่าประชาชนในชุมชนรอบเหมืองและพื้นที่ใกล้เคียงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการจ้างงาน เงินค่าภาคหลวง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เงินกองทุนพัฒนาตำบล รวมทั้งโครงการต่างๆ ที่เหมืองได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่โดยรอบ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ สั่งการหน่วยงานเกี่ยวข้องนำข้อมูล และผลการตรวจวัด รวมถึงการเฝ้าระวังต่างๆ ทั้งทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนำเสนอให้สังคมรับทราบ
ขณะเดียวกันรายงานข่าวจากพิจิตรทูเดย์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 สุรชาติ หมุนสมัย ได้เป็นแกนนำพาชาวบ้าน และพนักงานของบริษัทอัครา รีซอ์สเซส มาชุมนุมรวมตัวกันที่บริเวณหน้าเหมืองแร่ทองอัครา เพื่อเรียกร้องขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนโยบายทองคำเพื่อที่จะให้เหมืองทองอัคราสามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป
ก่อนหน้านี้ วันที่ 30 ก.ย. THAI PBS NEWS รายงานว่า สุรชาติ หมุนสมัย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนและชุมคนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี และคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้รับเหมา ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ไทยพีบีเอสเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นกลางและครบถ้วนต่อกรณีเหมืองทองคำชาตรี ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และ ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม โดยยืนยันว่าประชาชน ตลอดจนชุมชนรอบเหมืองฯ สามารถอยู่ร่วมกันได้ดี ไม่ได้มีผลกระทบเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ดังที่หลายกลุ่มกล่าวอ้าง