เปิดใจ “นายกฯ ประมงพื้นบ้านปัตตานี” กับการทำความเข้าใจนิยาม “ประมงพื้นบ้าน”

ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำสั่งฉบับที่ 24/2558 หนึ่งในประเด็นสำคัญของคำสั่งนี้คือ ห้ามใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างทำการประมง ซึ่งในหลายเครื่องมือที่ถูกห้ามนี้มี “ลอบพับ” หรือ “ลอบไอ้โง่” รวมอยู่ด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาในแวดวงชาวประมงพื้นบ้านด้วยกันตามมา

“ASTVผู้จัดการภาคใต้” จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ “มุหามะสุกรี มะสะนิง” นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี เพื่อไขความกระจ่างในเรื่องนี้ ซึ่งได้เรียบเรียงไว้ตามเนื้อหาข้างล่างนี้แล้ว

ในห่วงเวลาที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับชาวประมงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น “ประมงพื้นบ้าน” และ“ประมงพาณิชย์” ที่ใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาพื้นที่ทำกินที่จัดสรรไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวประมงด้วยกันเอง และข้อจำกัดของพื้นที่ทำประมง เพื่อลดความแย้งในการจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำ

ทางกรมประมง ได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ทำประมงแยกกันระหว่าง “ประมงพื้นบ้าน” กับ “ประมงพาณิชย์” โดยกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ให้ทำประมงห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 3 ไมล์ทะเล หรือ 3,500 เมตร โดยทางกรมประมงได้นำปะการังเทียมวางไว้เป็นระยะๆ เพื่อแนวกั้นไม่ให้เรือประมงพาณิชย์ล่วงล้ำเข้าเด็ดขาด เพราะเป็นพื้นที่ทำประมงของเรือประมงพื้นบ้าน

เนื่องจากปัจจุบันเครื่องมือการทำประมงของชาวบ้านได้มีการพัฒนาเพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำให้ได้มากที่สุด บางครั้งขาดการคำนึงถึงการทำลายหวงโซ่ของการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำทางทะเล เช่น การใช้เครื่องมือ “ลอบพับ” หรือ “ลอบไอ้โง่” ที่ทางกรมประมงได้มีการศึกษาวิจัย และพบว่า เป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า เป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย

แต่ชาวประมงพื้นบ้านมีจำนวนไม่น้อยได้นิยมใช้เครื่องมือดังกล่าวใช้ในการทำประมง เพราะส่วนหนึ่งมาจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และบางส่วนเกิดจากความโลภมาก จึงขาดความสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรสัตว์ในอ่าวปัตตานีเป็นอย่างมากในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีเศษ และยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านประเภทอวนลอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในห่วงเวลาดังกล่าว ชาวประมงอวนลอยหลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะไม่สามารถทำประมงได้ นำเรือขึ้นฝั่ง แล้วขายแรงงานรับจ้างก่อสร้าง บางส่วนขายแรงงานร้านอาหารฝังประเทศมาเลเซีย เป็นต้น นับเป็นการสูญเสียอาชีพภูมิปัญญาชุมชนที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ที่เคยเป็นรากฐานเศรษฐกิจในระดับรากหญ้ามานานนับร้อยปี

เมื่อมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 24/2558 ที่ห้ามใช้เครื่องมือ “ลอบพับ” หรือ “ลอบไอ้โง่” ชาวประมงเหล่านี้ก็เกิดความรู้สึกว่าถูกรัฐรังแก แล้วยังอ้างตัวเองว่า เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งที่เขาสิ้นจากการเป็นประมงพื้นบ้าน เพราะลอบไอ้โง่มาจากไต้หวัน ไม่ใช้เครื่องมือจากพื้นบ้านแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 สภาเกษตรกรจังหวัดปัตตานี ได้จัดให้มีการจัดสัมมนาเรื่อง “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการต่อสถานะของชาวประมงชายฝั่ง ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน” โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี 163 คน จาก 20 กว่าหมู่บ้านเข้าร่วมประชุมพูดคุยกับตัวแทนชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายตามคำสั่งของ คสช. ณ โรงแรมปาร์ควิวรีสอร์ท จ.ปัตตานี ทั้งนี้ ในส่วนของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีได้มีข้อเสนอร่วมกัน ดังนี้

ประการหนึ่ง ควรจะต้องมีการกำหนดนิยามของคำว่า “ชาวประมงพื้นบ้าน” ให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่สังคม เพราะเมื่อเกิดปัญหา หรือผลกระทบจากนโยบายของรัฐความเป็นชาวประมงพื้นบ้านมักจะถูกกล่าวอ้างมาโดยตลอด

ในทัศนะของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ขอให้นิยามคำว่า ชาวประมงพื้นบ้าน คือ กลุ่มชาวประมงที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงกับทรัพยากรประมง และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุล อาศัยภูมิปัญญาในการเข้าถึงทรัพยากรประมง โดยใช้เครื่องมือประมงจับสัตว์น้ำเฉพาะที่โตได้ขนาด จับสัตว์น้ำตามฤดูกาล ไม่ใช้เครื่องมือที่ทำลายล้าง

ชาวประมงพื้นบ้านมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย

1) ชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือ และเครื่องยนต์เรือที่ใช้จะมีขนาดความยาวตั้งแต่ 5-12 เมตร ใช้เครื่องยนต์มีกำลังไม่เกิน 150 แรงม้า ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำตามฤดูกาลที่โตได้ขนาด ไม่ใช้เครื่องมือที่ทำลายล้าง ทั้งนี้ เครื่องมือประมงที่ทำลายนั้นเป็นไปตามผลการศึกษาของนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องระบุไว้

2) ชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือ แต่ไม่มีเครื่องยนต์ เรือที่ใช้มักเป็นเรือพาย เรือแจว หากินอยู่ในอ่าว ในลำคลองตามป่าชายเลน ใช้เครื่องมือประมงแบบง่ายๆ เลือกจับสัตว์น้ำที่โตได้ขนาดตามฤดูกาล ใช้เครื่องมือประมงในการจับสัตว์น้ำไม่มากนัก ประเภทลอบปลาเก๋า อวนลอยกุ้ง แหทอดปลากระบอก แร้วจับปูดำ เป็นต้น

และ 3) ชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่มีเรือ และเครื่องยนต์ ชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้จะใช้ภูมิปัญญา และทักษะความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคลในการจับสัตว์น้ำ และพืชพรรณที่อยู่ในอ่าว และป่าชายเลน เช่น การงมหอยด้วยมือเปล่า จับกุ้งด้วยมือเปล่า หาสาหร่ายผมนางในอ่าวปัตตานี ใช้แหกุ้งจับกุ้งตามแนวลำคลอง ริมฝั่งทะเล หาหอยเสียบตามชายฝั่งทะเล เป็นต้น

สำหรับชาวประมงที่หากินตามแนวชายฝั่ง จ.ปัตตานี และในอ่าวปัตตานี โดยการใช้เครื่องมือที่ทำลายล้าง และผิดกฎหมาย เช่น เครื่องมืออวนรุน อวนลากข้าง ลอบพับดักกุ้ง หรือลอบไอ้โง่ ไม่ใช่ชาวประมงพื้นบ้าน เพราะไม่เป็นไปตามนิยามของชาวประมงพื้นบ้าน เป็นเพียงชาวประมงขนาดเล็กที่ใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญของชาวประมงพื้นบ้าน คือ การไม่ใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง และผิดกฎหมาย ต้องใช้เครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และสมดุลต่อธรรมชาติเท่านั้น

อีกประการหนึ่ง เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อนโยบายและกฎหมายที่ทางรัฐบาล และ คสช.ได้ประกาศใช้คำสั่ง คสช.ที่ 24/2558 เพราะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้ชาวประมงทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรของคนเล็กคนน้อยในสังคม สอดคล้องต่อแนวนโยบายการปฏิรูปของรัฐบาลปัจจุบัน

ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.ปัตตานี ได้ประสบปัญหาต่อปัญหาทรัพยากรประมงเสื่อมโทรมมาอย่างยาวนานร่วม 40 ปี มีฐานะความเป็นอยู่ยากจนลง ชุมชนประมงพื้นบ้านหลายชุมชนใน จ.ปัตตานีต้องล่มสลายกลายเป็นแรงงานที่ต้องอพยพย้ายถิ่นไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน

เรือประมงพื้นบ้านหลายร้อยลำต้องปล่อยให้ตากแดด แห้งกรอบ ผุพังไป เพราะไม่มีสัตว์น้ำให้จับ เครื่องมือของชาวประมงพื้นบ้านหลายพันผืนถูกรุน ถูกลาก ถูกทำลายจากเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายสูง และผิดกฎหมาย โดยไม่เคยได้รับการชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ หรือจากกลุ่มคนที่ทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านเลย ทรัพยากรสัตว์น้ำที่เป็นตัวเล็กตัวน้อยหลากหลายชนิดต้องถูกทำลายอย่างมากมายมหาศาล ตามข้อมูลทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ

แต่ในอดีตที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้มากนัก ส่งผลให้วิกฤตของความขัดแย้งระหว่างชาวประมงกลุ่มต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มคนที่ใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรมีการกระทำผิดซ้ำซากมาอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอยางจริงจัง และต่อเนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา จนรู้สึกว่าการกระทำความผิดเป็นเรื่องปกติ

จนมาถึงปัจจุบันนี้ที่รัฐจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คนที่กระทำผิดกฎหมายกลับกลายเป็นคนที่ถามหา และเรียกร้องความถูกต้องจากภาครัฐ ร้องขอเวลา ขอการผ่อนผัน ขอยกเลิกกฎหมาย ขอการชดเชย ขอการเยียวยา ฯลฯ

เหตุที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่ถูกต้อง ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบยั่งยืน ต่อสู้เรียกร้องขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม กลายเป็นคนผิด ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่ไปฟ้องร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐมาจัดการกับเขา

ปัจจุบันนี้ชาวประมงพื้นบ้านที่ จ.ปัตตานี กลับถูกคุกคาม ถูกขู่ฆ่า ถูกลักลอบทำลายเครื่องมือประมง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดในขณะนี้แล้ว

เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี จึงเห็นด้วยต่อนโยบาย และกฎหมายที่ทางรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการทำการประมงไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นธรรมต่อทุกกลุ่ม เป็นการปฏิรูปที่ไม่เคยมีรัฐบาลยุคไหนทำอย่างจริงจังมาก่อน และนับเป็นโอกาสเดียวที่ดีที่สุด และโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้ทะเลเป็นฐานอาชีพที่มั่นคงของชาวประมงทุกกลุ่ม มีทรัพยากรใช้อย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี ประกอบด้วย

1.ทางเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี ขอให้มีการดำเนินการ 3 มาตรการควบคู่กันอย่างจริงจัง ได้แก่ มาตรการแรก อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรโดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้มากยิ่งขึ้น คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรสัตว์น้ำ

มาตรการที่สอง การสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล โดยการปลูกหญ้าทะเล ปลูกป่าชายเลน จัดสร้างปะการังเทียมในรูปแบบต่างๆ ทั้งปะการังเทียมในรูปแบบของโครงการพระราชดำริ ปะการังเทียมในรูปแบบภูมิปัญญาชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อให้สัตว์น้ำมีบ้านมีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งผสมพันธุ์ แหล่งอาหาร และแหล่งหลบภัย ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนจำนวนสัตว์น้ำให้เพิ่มขึ้น และพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์สัตว์น้ำก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มสัตว์น้ำวัยอ่อนเข้าสู่วงจรห่วงโซ่ของสัตว์น้ำ และมาตรการที่สาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

คำสั่ง คสช.ที่ 24/2558 ที่มีการประกาศใช้นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม แต่หากไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง และต่อเนื่องก็เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวที่ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม

ทางเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี จึงขอเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายเริ่มมีความเกรงกลัวต่อกฎหมายดังกล่าว บางส่วนเริ่มนำเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายไปเก็บขึ้น ไม่นำออกมาทำการประมงแล้ว แต่ก็ยังคงมีกลุ่มคนอีกบางส่วนที่ยังคงมีการลักลอบใช้อย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้ผู้ที่นำเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายไปเก็บขึ้น ต้องนำเครื่องมือที่ผิดกฎหมายมาใช้ต่อ หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

2. ทางเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี ขอเสนอให้มีการแต่งตั้งตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านในแต่ละอำเภอของ จ.ปัตตานี ร่วมเป็นคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบายของ คสช.ในเรื่องของการประมง เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับรู้ และให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งเพื่อให้ตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้านจากแต่ละพื้นที่ได้นำข้อมูลไปชี้แจงทำความเข้าใจต่อชุมชน สร้างความเข้าใจ รับรู้ถึงผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการในชุดดังกล่าวที่ทางจังหวัดจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการทำประมง ตามที่รัฐบาลและ คสช.มีนโยบายไว้

3. ทางเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี ขอให้มีการช่วยเหลือ และส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยการสนับสนุนเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ไม่ทำลายล้างให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน

ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.ปัตตานี เป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดกลุ่มหนึ่งที่รัฐควรจะให้ความช่วยเหลือตามแนวนโยบายของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ทางเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี จึงขอเสนอให้มีการช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน โดยการจัดหาเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่ไม่ทำลายล้าง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากในแต่ละปีของชาวประมงพื้นบ้านในการจัดหาเครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำตามฤดูกาลต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้ชาวประมงพื้นบ้านใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ทำลายทรัพยากร และสมดุลต่อธรรมชาติต่อไป

แหล่งข่าว: 
ผู้จัดการออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด