อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
พรุ่งนี้แล้ว (13 ต.ค.) ที่ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆ่า “เจริญ วัดอักษร” แกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 10 ก.ย. เนื่องจากจำเลยบางคนอ้างว่าป่วย บางคนไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุผล ศาลจึงออกหมายจับ ... คดีนี้ น่าลุ้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจำเลยอยู่ในส่วนของผู้จ้างวานฆ่านายเจริญ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง จึงน่าจับตาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาจะออกมาทางไหน?
ย้อนกลับไป คงไม่มีใครคาดคิดว่า วันที่ 21 มิ.ย.2547 จะเป็นวันสุดท้ายของนายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และแกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ...วันนั้น ระหว่างที่นายเจริญนั่งรถทัวร์กรุงเทพฯ-บางสะพาน เพื่อกลับบ้านที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่นายเจริญได้มายื่นเอกสารและให้การต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีที่ได้ร้องเรียนเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธงในเขต อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปรากฏว่า หลังจากนายเจริญลงจากรถทัวร์เพื่อเดินทางเข้าบ้านพัก แต่ยังไม่ทันถึงจุดหมาย ปรากฏว่า ได้มีคนร้ายบุกกระหน่ำยิงเขา 9 นัด ที่บริเวณสี่แยกบ่อนอก จนเสียชีวิต!
ต่อมาคนร้ายถูกจับกุมดำเนินคดี 5 คน โดยมือปืนมี 2 คน คือ นายเสน่ห์ เหล็กล้วน และนายประจวบ หินแก้ว ส่วนผู้จ้างวาน คือ นายธนู หินแก้ว ทนายความ, นายมาโนช หินแก้ว อดีต ส.จ.ประจวบคีรีขันธ์ และนายเจือ หินแก้ว อดีตกำนัน ต.บ่อนอก โดยถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น และผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490
หากย้อนเวลากลับไป ก่อนหน้าที่นายเจริญจะถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2547 แทบไม่น่าเชื่อว่าบุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ต่างเป็นเพื่อนที่รู้จักกันดีกับนายเจริญมาก่อน แต่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนก็มาขาดสะบั้นลงเพียงเพราะมีโครงการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก” ที่จะเข้าไปผุดขึ้นในพื้นที่ และให้บังเอิญว่านายเจริญมีความคิดเห็นทางหนึ่ง คือ คัดค้านโครงการดังกล่าว เพราะประเมินแล้วว่าโรงไฟฟ้าจะนำหายนะมาสู่พื้นที่และชุมชน แต่เพื่อนที่คบกันมาแต่ไหนแต่ไรอย่างนายเสน่ห์ไม่คิดอย่างนั้น กลับเห็นถึงประโยชน์ที่โรงไฟฟ้าหยิบยื่นให้ นายเสน่ห์จึงไปทำงานสนับสนุนโรงไฟฟ้าร่วมกับตระกูลหินแก้ว นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ ย้อนความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งหมดให้ฟัง
“ต้องบอกว่ารู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะตัวของดิฉันกับตัวเจริญ เพราะนายเสน่ห์นี่ต้องบอกว่ากินเที่ยวนอนอยู่ด้วยกันกับเจริญสมัยวัยรุ่น คือเจริญเขาเป็นคนที่มาตั้งรกรากอยู่ที่บ่อนอก คือมาจากที่อื่น มาอยู่บ่อนอกประมาณ 20 ปีแล้ว มาอยู่ตั้งแต่สมัยเริ่มจะเป็นวัยรุ่น ก็คือมาเที่ยวมากินมานอนมากินข้าวหม้อเดียวกันอยู่กับนายเสน่ห์ แต่พอมามีปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้า ก็คือ เขาอยู่อีกขั้วหนึ่ง คือเห็นแก่ประโยชน์ที่โรงไฟฟ้าหยิบยื่น และไปร่วมทำงานกับโรงไฟฟ้า สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าร่วมกับนายเจือ หินแก้ว นายธนู หินแก้ว นายมาโนช หินแก้ว บ้านตระกูลหินแก้ว เพราะเขาเป็นลูกน้องกันอยู่ด้วย แต่ส่วนของพวกเราก็ไม่ได้เห็นอย่างนั้น กลับเห็นอีกแบบหนี่ง ถ้าเกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ต้องเรียกว่าถ้าภาษาชาวบ้านก็บอกว่า “นำความฉิบหายมาให้ชุมชนเรา” ใช่มั้ย”
“เราก็เลยเห็นอีกแบบหนึ่ง ก็เป็นความคิดเห็นที่ต่างกัน เราก็เลยไม่คบไม่ค้าไม่พูดคุยกัน เพราะในช่วงนั้นต้องถือว่าเป็น “มาตรการทางสังคม” ในชุมชนเรา เราจะบอยคอตคนเหล่านี้ จะไม่คบไม่ค้าไม่พูดไม่คุย มันก็เลยต่างคนต่างอยู่ และสำหรับกลุ่มผู้ต้องหาที่นอกเหนือจากนายเสน่ห์ ถ้าถามว่า รู้จักดีมั้ย? ต้องบอกว่ารู้จักกันดีมาก นายประจวบ หินแก้วก็รู้จักกันดี นายธนู หินแก้ว นายมาโนช หินแก้ว นายเจือ หินแก้ว คือถ้าโดยลำดับสายญาติก็ต้องถือว่าเป็นญาติกับตัวดิฉันด้วย เป็นลูกพี่ลูกน้องกันด้วยซ้ำไป ก็รู้จักกันดี แต่มามีปัญหากันเรื่องโรงไฟฟ้า ก็คือเลิกคบเลิกค้ากันไป แต่ถ้าถามว่าเจริญเคยมีปัญหาส่วนตัวกับนายประจวบ นายเสน่ห์มั้ย ต้องตอบยืนยัน 100% เลยว่าไม่มี เพราะที่ผ่านมาก็คือเป็นเพื่อนกัน แต่พอมามีปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้า ก็คือต่างคนต่างอยู่ และไม่เคยพูดจากระทบกระแทกกระแนะกระแหนหรือเจอหน้าด่าทออะไรกัน ไม่เคย ก็คือไม่คุยกันเลย ต่างคนต่างอยู่”
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างนายเจริญกับตระกูลหินแก้วของนายเจือ-นายธนู และนายมาโนชนั้น นางกรณ์อุมายอมรับว่า มีการกระทบกระทั่งกันมาตลอด ไม่เพียงเรื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่ตระกูลหินแก้วยังมีปัญหาเรื่องบุกรุกที่สาธารณะคลองชายธงด้วย นายเจริญจึงได้คัดค้านและชวนชาวบ้านบอยคอต จนตระกูลหินแก้วหมดสภาพ ไม่มีใครนับหน้าถือตาอีกต่อไป
“สำหรับกลุ่มของกำนันเจือ ทนายธนู หรือ ส.จ.มาโนช หินแก้ว ต้องยอมรับว่ามีเรื่องกระทบกระทั่งกันมาโดยตลอด แต่อาจจะไม่ใช่โดยตรงนัก หมายถึงว่าเจอหน้าแล้วด่ากันอย่างนี้อาจจะไม่ใช่ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาต้องเรียกว่า เขาเป็นหัวโจกในการสนับสนุนโครงการ (โรงไฟฟ้า) พวกเราก็บอยคอตเขาว่าจะไม่คบไม่ค้า ทำให้คนที่เคยนับหน้าถือตา เมื่อก่อนเขาเคยเป็นคนที่มีคนนับหน้าถือตาในชุมชน เป็นกำนัน อดีตกำนัน เป็น ส.จ. พวกเราก็คือทำให้เขาเหมือนหมดสภาพจากการเป็นผู้ทรงเกียรติในชุมชน ไม่เคารพนับถือ ไม่ร่วมสังฆกรรมกับเขา เวลามีงานศพ งานบวช งานแต่ง เวลาเขามางาน เจ้าภาพเองก็จะรู้สึกอึดอัด ในส่วนของเจ้าภาพที่คัดค้านโรงไฟฟ้า ผู้ที่เขาคัดค้านเขาจะรู้สึกอึดอัด เพราะชาวบ้านจะไม่พูดด้วย จะรู้สึกว่าแล้วไปต้อนรับคนพวกนี้ทำไม สุดท้ายเขา(ตระกูลหินแก้ว)ต้องปิดตัวเองไปโดยปริยาย โดยไม่ได้มาร่วมสังฆกรรมกับพวกเราในส่วนของคนที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า เขาก็จะมีในส่วนของพวกเขา”
“และหลังจากนั้นเจริญเองก็จะชอบรณรงค์ชาวบ้านหรือเวทีชุมนุมหรือไฮด์ปาร์ก เจริญก็จะพูดเสมอ คือเรียกคน 3 คนนี้ว่า “ไอ้ 3 ทรราช” ตลอด เจริญบอกว่า เป็นคนที่ “ขายบ้านเกิดกิน” และรณรงค์ไม่ให้คนเติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท.ของเขา จนเขาต้องปิดกิจการลง อย่างนี้ก็ถือว่าเราเคยมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน และกลุ่มคนเหล่านี้ต้องบอกว่านอกจากสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าแล้ว ก็ยังเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับที่ไปบุกรุกที่สาธารณะพื้นที่คลองชายธง ที่เจริญไปคัดค้านอยู่”
การที่นายเจริญเป็นแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกไม่ให้เข้ามาตั้งในพื้นที่ แม้จะทำได้สำเร็จ เพราะในที่สุดได้มีการย้ายโครงการไปสร้างที่อื่นแทน แต่ก็เหมือนเป็นความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตที่ต้องจบลงด้วยวัย 37 ปี สำหรับนางกรณ์อุมาในฐานะภรรยาแล้วเชื่อว่า สาเหตุการถูกยิงของนายเจริญมาจากเรื่องโรงไฟฟ้าแน่นอน ไม่ใช่ความแค้นส่วนตัวกับนายเสน่ห์หรือนายประจวบ ที่เปลี่ยนบทบาทจาก “เพื่อน” มาเป็น “มือปืน” แน่นอน ดังนั้นนางกรณ์อุมาจึงหวังมาตลอดว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะช่วยนำคนที่อยู่เบื้องหลังที่จ้างวานฆ่านายเจริญมาลงโทษได้ หลังจากที่เคยผิดหวังกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่มาแล้ว
“ในวันที่เจริญถูกยิงตาย ต้องเรียนตรงๆ ว่า การมาของเจ้าหน้าที่ตำรวจเองต้องถือว่ามาในที่เกิดเหตุช้าผิดปกติ และหนำซ้ำจากคำบอกเล่าของพยานแวดล้อม คือเห็นในระยะไกลว่าเจริญถูกยิง ก็เห็นทิศทางว่ามือปืนขับมอเตอร์ไซค์ไปทางไหน หลบหนีทางไหน การติดตามจับกุมในคืนนั้นไม่เกิดขึ้นเลย และหลังจากที่เราได้นำเจริญไปส่งที่โรงพยาบาล จริงๆ แล้วในคดีฆาตกรรมอย่างนี้ต้องมีการนำศพส่งนิติเวช และให้ผ่าพิสูจน์ พิสูจน์หัวกระสุนว่าเป็นปืนชนิดไหนอะไร เพื่อที่จะนำหลักฐานเหล่านี้มาประกอบในคดีถ้ามีการจับกุมผู้ต้องหา แต่ปรากฏว่า การดำเนินการในวันนั้น ตำรวจของท้องที่เขาทำเพียงแค่มาชันสูตรศพ มาสอบสวนแบบขอไปที ในภาษาของพวกเราความเห็นของพวกเราในคืนนั้นที่ร่วมกันไปโรงพยาบาลกับชาวบ้าน คือรู้สึกเลยว่า ทำแบบขอไปที และ(ตำรวจ)ไม่แนะนำเราด้วยซ้ำไปว่าศพนี้จะต้องไปผ่าที่นิติเวชก่อน”
“แต่จริงๆ ตัวเองพอมีความรู้อยู่บ้าง ก็เลยหลังจากนำศพเจริญกลับมาจากโรงพยาบาลแล้ว เราก็เลยได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้านว่าจะเอาอย่างไร ชาวบ้านก็มีความเห็นว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง คดีของเจริญไปไม่ถึงไหนแน่ ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า เราควรจะไปเรียกร้องต่อดีเอสไอ เพราะในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ และรัฐบาลเองก็กล่าวอ้างว่า จะมาผดุงความยุติธรรมให้กับสังคมไทย และเป็นหน่วยงานที่คานอำนาจกับตำรวจ เขากล่าวอ้าง เราก็เลยมีการแห่ศพของเจริญเข้ากรุงเทพฯ กันในวันรุ่งขึ้น เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องกับดีเอสไอ และนำศพไปให้คุณหมอพรทิพย์ผ่าชันสูตรศพ”
แม้คดีนี้ ตำรวจจะสามารถจับกุมได้ทั้งมือปืน 2 คน และผู้ต้องสงสัยจ้างวานได้อีก 3 คน โดยได้จากการซัดทอดของมือปืน แต่ระหว่างที่คดีอยู่ในศาล ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความคลางแคลงใจต่อการทำงานของดีเอสไอที่ทำหน้าที่คุมขังผู้ต้องหาทั้งหมดระหว่างพิจารณาคดี เมื่อจู่ๆ มือปืนทั้ง 2 คนที่ฆ่านายเจริญ คือ นายประจวบ หินแก้ว และนายเสน่ห์ เหล็กล้วน เกิดมาป่วยตายในคุกก่อนที่จะได้ขึ้นสืบพยานในศาล โดยนายประจวบเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2549 ส่วนนายเสน่ห์เสียชีวิตในอีก 4 เดือนถัดมาวันที่ 2 ส.ค. 2549 เมื่อจำเลยเสียชีวิต ศาลจึงจำหน่ายคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองออกไป แต่คดีในส่วนของผู้ที่ถูกซัดทอดว่า เป็นผู้ว่าจ้างฆ่านายเจริญอีก 3 คน คือ นายธนู หินแก้ว, นายมาโนช หินแก้ว และนายเจือ หินแก้ว ซึ่งเป็นพ่อของนายธนูและนายมาโนชนั้น ยังคงดำเนินต่อไป
การตายของมือปืนทั้งสองทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า ทำไมพยานปากสำคัญในคดีนี้ต้องตายหมด และตายก่อนที่จะได้ขึ้นสืบพยานในศาล?, ทำไมทั้งสองต้องพร้อมใจกันตายด้วยโรคเอดส์เหมือนกัน ดังที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งสาเหตุการตายต่อศาล, ทำไมญาติไม่รู้ว่านายเสน่ห์ หนึ่งในมือปืนเป็นโรคเอดส์ แล้วทำไมนายเสน่ห์จึงบอกกับญาติก่อนตาย 1 วันว่า ตนเป็นโรคมาลาเรีย และมาลาเรียขึ้นสมองนานแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ให้กินแต่ยาพาราเซตามอล?
การตายในคุกแบบมีเงื่อนงำของมือปืนซึ่งเป็นพยานปากเอกทั้งสองคน ทำให้นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ อดสงสัยไม่ได้ เพราะตลอดเวลาที่ได้เจอกันในศาล ก็ไม่เห็นว่า นายเสน่ห์จะป่วยด้วยโรคร้ายแรงอะไร นางกรณ์อุมาบอกด้วยว่า ไม่อยากจะคิดว่า มีการฆ่าตัดตอน 2 มือปืน เพื่อไม่ให้สาวถึงผู้บงการ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากทั้งสองไม่ได้ตายตามธรรมชาติ แต่ถูกทำให้ตาย ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับจำเลยที่เหลืออีก 3 คน เพราะแม้นายประจวบและนายเสน่ห์ จะเคยซัดทอดนายเจือ-นายธนู และนายมาโนชว่าเป็นผู้จ้างวาน แต่เมื่อไม่มีบุคคลทั้ง 2 มาให้การในศาลแล้ว โอกาสที่รูปคดีจะเหมือนเดิม คงยาก
“ถ้าสุดท้ายแล้ว ไม่ได้ตายเองตามธรรมชาติเนี่ย ก็แสดงว่าเขาก็ต้องถูกทำให้ตายใช่มั้ย? และถ้าถูกทำให้ตาย ก็แสดงว่าคนที่เขาทำให้ตาย เขาก็ย่อมหวังผลในคดีอยู่แล้วว่า ให้เป็นประโยชน์กับจำเลยที่เหลือ เพราะคดีของเจริญเนี่ย จับผู้ต้องหาทั้งหมดเบ็ดเสร็จคือ 5 คน 2 คนเป็นมือปืน อีก 3 คนก็ถูกตั้งข้อหาใช้จ้างวานจากการซัดทอดของนายเสน่ห์และนายประจวบ เพราะในเบื้องต้น ที่เราได้ติดตามคดีร่วมกัน ก็คือ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดี และในส่วนของดีเอสไอก็ดี ก็ได้รับการบอกเล่าว่า นายเสน่ห์กับนายประจวบได้มีการซัดทอดคนเหล่านี้ แต่พอในชั้นศาล จะเรียกว่าไม่ซัดทอดก็คงไม่ได้ แต่ต้องเรียกว่าเป็นการพลิกคำให้การมากกว่า ในชั้นศาลที่เป็นนัดไต่สวนมูลฟ้อง ตัวมือปืนก็มีการรับสารภาพ คือยิงเจริญเอง แต่เหตุผลคือ เป็นเรื่องความแค้นส่วนตัว เราถือว่า มันพลิกคำให้การ ถึงแม้เขาจะพลิกคำให้การในชั้นไต่สวน แต่ถ้าตราบใดถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องขึ้นเป็นพยานฝ่ายจำเลย ทางเราก็ต้องมีโอกาสที่จะซักถาม และคงจะได้ความจริง ทำให้ความจริงมันกระจ่างได้ แต่เขาเสียชีวิตแล้ว และไม่มีโอกาสได้พูดอะไร มันก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้รูปคดีมันเป็นได้อย่างเดิม”
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2551 ว่า นายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานจ้างวานให้ฆ่าผู้อื่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ให้ประหารชีวิต ส่วนนายมาโนช และนายจือ จำเลยที่ 4-5 ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานนำสืบไม่ชัดเจนไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
ต่อมาศาลอุทธรณ์ มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2556 พิพากษากลับยกฟ้องนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 จากเดิมที่ถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตฐานจ้างวาน โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้เอาผิดจำเลยได้ นอกจากนี้ยังพิพากษายืนยกฟ้องนายมาโนช และนายจือ จำเลยที่ 4-5 โดยระหว่างฎีกาจำเลยทั้งสามได้รับการปล่อยตัว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2558 ศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ แต่จำเลยมาศาลไม่ครบ โดยมีเพียงนายมาโนช จำเลยที่ 4 ที่เดินทางมา ส่วนนายธนู จำเลยที่ 3 ไม่เดินทางมาศาล โดยไม่แจ้งเหตุผล ขณะที่นายเจือ จำเลยที่ 5 ไม่มาศาลโดยอ้างว่าป่วย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และให้ทนายความนำใบรับรองแพทย์มายื่นขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาฎีกาออกไปก่อน ด้านศาลพิจารณาแล้ว เห็นควรให้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาออกไปก่อนตามที่จำเลยที่ 5 ร้องขอเพื่อความยุติธรรม ส่วนนายธนู จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่า ทราบหมายโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 3 เพื่อติดตามตัวมาฟังคำพิพากษา โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกาอีกครั้งในวันที่ 13 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น.
…คงต้องลุ้นกันว่า วันที่ 13 ต.ค.นี้ คำพิพากษาศาลฎีกาคดีฆ่านายเจริญ วัดอักษร จะออกมาอย่างไร จะพิพากษาประหารชีวิตจำเลยฐานจ้างวานฆ่าตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ หรือจะพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจำเลย ...ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร งานนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่า “เจริญ วัดอักษร” แกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก จะตายฟรีหรือไม่?