นักกฎหมายชี้คนทั่วไปโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีเจตนาอวดสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มทั้งทางตรงทางอ้อมถือว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายรวมถึงนักรีวิวเครื่องดื่มมีดีกรีหากไม่ได้ทำเพื่อโฆษณาให้กับบริษัทผู้ผลิตไม่ได้อวดสรรพคุณหรือชักชวนผู้อื่นดื่มเชื่อว่าจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
จากกรณีที่เหล่าคนดังทั้งดารานักร้องต่างโพสต์ภาพคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมาจนถูกดำเนินคดีไปหลายรายในข้อหาความผิด"โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ซึ่งประเด็นนี้นำมาสู่ความไม่มั่นใจของประชาชนในการโพสต์ภาพลงบนโซเชียลมีเดีย (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม) ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาอธิบายเพิ่มเติม (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม)
มติชนออนไลน์สัมภาษณ์ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อสอบถามในประเด็นในดังกล่าว รวมถึงกรณีร้านค้าแสดงภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่รีวิวทดสอบคุณภาพหรือเปรียบเทียบรสชาติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นข้อมูลโดยไม่ได้เป็นไปเพื่อการค้า
นายสราวุธเบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภากล่าวว่า มาตราหลักที่ใช้ในการดำเนินคดีคือมาตรา32 ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม" ซึ่งโทษของการฝ่าฝืนมาตรา 32 คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากถูกสั่งให้งดแล้วยังฝ่าฝืนแล้วต่อไปจะถูกปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เพราะฉะนั้นกฎหมายได้ห้ามไว้ ดังนั้นการโฆษณาเพื่ออวดอ้างว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดนี้ดีจึงเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจครบตามองค์ประกอบของกฎหมาย
"เรื่องนี้เป็นคดีอาญาฉะนั้นการฝ่าฝืนกฎหมายต้องกระทำโดยเจตนาซึ่งการโฆษณาหมายถึงการกระทำให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าแล้วก็หมายความรวมไปถึงการสื่อสารทางการตลาดด้วย"นายสราวุธกล่าว
นายสราวุธ อธิบายว่ากรณีที่คนทั่วไปถ่ายรูปตนเองและเพื่อนโดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในภาพนั้นหากไม่ได้มีเจตนาในการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มทั้งทางตรงทางอ้อมจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายเพราะฉะนั้นจึงต้องแยกแยะให้ดีว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่
นายสราวุธยกตัวอย่างเหตุการณ์ไปสังสรรค์กับเพื่อนแล้วถ่ายรูปกัน บังเอิญในภาพติดขวดเหล้า ขวดไวน์ ขวดเบียร์ โดยไม่ได้มีเจตนาในการโฆษณาในการชวนให้คนมาดื่ม เพราะไม่ได้บอกว่าไวน์ยี่ห้อนี้ดี เบียร์ยี่ห้อนี้ดี กรณีนี้ไม่เข้าเงื่อนไขความผิดตามกฎหมาย เพราะไม่ได้มีเจตนา
สำหรับร้านค้าทั่วไปที่วางเหล้าเบียร์ไว้บริเวณหน้าร้าน นายสราวุธ เปิดเผยว่า ในกรณีนี้ต้องดูที่ข้อเท็จจริง ต้องดูที่วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ในทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้ไม่มีการโฆษณาในวงกว้าง ไม่ต้องการให้เผยแพร่ ไม่ส่งเสริม และไม่จูงใจให้คนดื่ม ดังนั้นจึงต้องดูกันที่เจตนา ไม่ใช่ว่าผิดทุกเรื่อง
ส่วนกรณีการรีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงในโซเชียลมีเดีย นายสราวุธ ระบุว่า ต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำ ยกตัวอย่างเช่น บางเว็บไซต์เขียนเนื้อหาเปรียบเทียบรสชาติไวน์ซึ่งมีการให้คะแนนตามรสนิยมและความชอบของผู้รีวิว แต่หากไม่ได้ทำไปเพื่อการโฆษณาสินค้าให้กับบริษัทผู้ผลิตใด หรือไม่ได้อวดอ้างสรรพคุณหรือชักชวนให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มองว่าไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบความผิด แต่ทางที่ดีผู้รีวิวสินค้าแอลกอฮอล์ต้องรอบคอบและระมัดระวัง
"แต่สิ่งที่ประชาชนควรจะรู้นอกจากมาตรา32แล้วมาตรา31ประชาชนก็ควรจะรู้ด้วยว่าเขาห้ามขายหรือห้ามดื่มที่ไหนบ้างเช่นในวัดสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานศึกษา สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง มากกว่านั้นควรจะรู้ด้วยว่าห้ามขายให้กับคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามขายให้กับคนที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามีหลายมิติ ไม่ใช่แค่ประเด็นการโฆษณา ประชาชนควรจะรู้ด้วยว่าห้ามบริโภคที่ไหน ห้ามขายที่ไหน ห้ามขายกับใคร ส่วนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่ค่อยเป็นห่วง เพราะเขามีนักกฎหมาย เขาต้องศึกษากฎหมายกันอยู่แล้ว แต่ประชาชนต้องได้รับความรู้เรื่องนี้ให้มากขึ้น" นายสราวุธ กล่าว