เสวนา "Single Gateway อินเตอร์เน็ตเพื่อความมั่นคง?" 4 ทัศนะ อำนาจลับ ถึง กะลาภิวัฒน์

จากการที่รัฐบาลมีนโยบายตั้งทางออกเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตออกสู่ต่างประเทศทางเดียวหรือที่เรียกว่า"ซิงเกิลเกตเวย์"เพื่อแทนที่ระบบปัจจุบันที่มีประตูทางผ่านเชื่อมต่อมากกว่า 10 ช่องทาง โดยให้เหตุผลในการควบคุมการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศและเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหลังจากเผยแพร่คำสั่งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องเหมาะสมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากระบบการเชื่อมต่ออินเตอร์แบบช่องทางเดียวอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้า การสื่อสาร และภาพลักษณ์ของประเทศในประเด็นสิทธิเสรีภาพ

วันนี้ (11 ตุลาคม 2558) มีการจัดงานเสวนา "Single Gateway อินเตอร์เน็ตเพื่อความมั่นคง?" จัดขึ้นโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน, อาจารย์ปริญญา หอมอเนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอินเตอร์เน็ต, ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ kapook.com และ sanook.com ซึ่งดำเนินรายการโดย ลูกแก้ว โชติรส

ลูกแก้ว โชติรส ผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ในปัจจุบันเส้นพรมแดนของรัฐชาติมีความชัดเจน แต่ในโลกของอินเตอร์เน็ตความเลื่อนไหลของเส้นพรมแดนไม่มีความชัดเจน รัฐจึงรู้สึกว่าเส้นพรมแดนที่ไม่ชัดเจนอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ แต่คำถามคือซิงเกิลเกตเวย์จะตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้หรือไม่ ต้องลองไปฟังความคิดความเห็นของวิทยากรท่านต่างๆ

หรือการเกิดขึ้นของ Single Gateway ไม่ใช่เพื่อความมั่นคง แต่เป็นเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจ?

ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ kapook.com และ sanook.com กล่าวว่า Single Gateway ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานแล้ว ในสมัยก่อนการมีระบบนี้ทำให้ต้องใช้อินเตอร์เน็ตในราคาแพง แต่ต่อมามีการเติบโตของตลาดเสรี อินเตอร์เน็ตจึงถูกลงและเร็วขึ้น ดั้งนั้นการทำ Single Gateway จึงเป็ยการย้อนไปยุคประมาณ 20-30 ปี และถึงที่สุดมันน่าจะขัดกับหลักการอินเตอร์เน็ต

ปรเมศวร์ กล่าวต่อว่า หากจะทำ Single Gateway เพื่อความมั่นคง ก่อนอื่นก็ต้องนิยามก่อนว่า ความมั่นคงคืออะไร เพราะถ้าพูดถึงความมั่นคงของอินเตอร์เน็ตมันต้องหมายถึงความรวดเร็ว ความสะดวก และต้องมีหลายทาง ไม่ใช่มีทางเดียว เพราะการมีด่านเดียวในทางปฏิบัติแล้ว มันทำให้ตรวจสอบไม่ได้ และที่สำคัญในอนาคตการจราจรทางอินเตอร์เน็ตจะมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้

"หรือจริงๆแล้ว Single gateway ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อความมั่นคงเป็นหลัก แต่อาจเป็นเหตุผลด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญมันตอบโจทย์เศรษฐกิจของใคร ? " ปรเมศวร์ กล่าวทิ้งท้าย

Single Gateway อาจเป็นการเพิ่มอำนาจลับในการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจาก iLaw ระบุว่า ในทางกฎหมายหากตำรวจจะจับบุคคลที่ทำผิดกฎหมายในกรณีคอมพิวเตอร์ เช่น โพสต์ข้อความผิดกฎหมาย อันดับแรกตำรวจจะต้องติดต่อไปที่เว็บไซต์นั้น แล้วขอเลข IP Adress เพื่อนำไปขอผู้แจ้งการใช้งานจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ เช่น TRUE DTAC หรือ AIS เพื่อหลังจากนั้นสามารถยึดคอมพิวเตอร์เพื่อขอดูประวัติการใช้งาน หรือบุคคลที่ใช้งานเพื่อสืบสวนต่อไป แต่หลังจากที่ติดตามคดีที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ประมาณ 4 คดี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจไทยมักมีการเล็งตัวเพื่อจะจับบุคคล แล้วหลังจากนั้นค่อยหาหลักฐาน เช่น คดีอากง เป็นต้น แต่การต้องขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการรายอื่น เช่น

อย่างไรก็ตาม ยิ่งชีพ อธิบายต่อว่า มีผู้ให้บริการบางรายที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐไทยในหลายกรณีเช่น Facebook หรือ Google ดังนั้น ถ้ามองไม่แง่นี้ การตามจับบุคคลของรัฐไทยในโลกอินเตอร์เน็ตจึงต้องวิ่งไปขอความร่วมมือหลายแห่งหลายที่ ไม่สามารถใช้อำนาจลับได้อย่างง่ายดาย

"การทำ Single Gateway จึงอาจเป็นการเพิ่มอำนาจลับ เพราะรัฐต่างมีความพยายามในการดับการสื่อสารอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐไหนก็ตาม เพราะเขามองว่า อินเตอร์เน็ตเป็นหอกข้างแคร่กับรัฐบาล สำหรับในไทยการต่อสู้ของภาคประชาชนไม่อยากให้จบที่ Single Gateway แต่อยากให้สนใจในสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น" ยิ่งชีพ กล่าวจบ

ต้องสร้างระบบอินเตอร์เน็ตที่ส่งเสริมเศรษฐกิจและไม่ละเมิดสิทธิ์ส่วนตัว

อาจารย์ปริญญาหอมอเนกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอินเตอร์เน็ตระบุว่า การทำ Single Gateway เพื่อจะรวมท่อไว้ดักดูการเข้าออกของอินเตอร์เน็ตนั้น ไม่ใช่คำตอบ เพราะถึงที่สุด มันมีทางหนีทีไล่ได้ตลอด

อาจารย์ปริญญา มองว่า ทางออกของการออกแบบโลกอินเตอร์เน็ตในสังคมคือ การเปิดเวทีพูดคุย ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องเห็นด้วย นอกจากนั้น ความเป็นส่วนตัวและความเชื่อมั่นในรัฐบาลก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบ้านเรายังไม่มีกฎหมายเพื่อความเป็นส่วนตัว เพราะโจทย์อย่างหนึ่งคือการส่งเสริมเศรษฐกิจและต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

"ยิ่งเราทำระบบปิด จะยิ่งไม่เวิร์ค มันยิ่งจะมีคนต่อต้าน แต่ถ้าเราทำระบบเปิด ยิ่งส่งเสริมให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน มันจะเวิร์ค เพื่อชาติของเรา มันไม่ใช่การให้คนไม่กี่คนมาทำ แล้วผ่าน ครม. มา สนช. แล้วเป็นกฎหมายแบบปิด แบบนั้นมันไม่เวิร์ค" อาจารย์ปริญญา อธิบาย

Single Gateway เป็นหนึ่งในกระบวนการ "กะลาภิวัฒน์"

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจของ Single Gateway คือนโยบายนี้เป็นหนึ่งในหลายสิ่งอย่างของรัฐไทยที่พยายามจะทำในยุคนี้ โดยขอตั้งชื่อว่าเป็นกระบวนการ "กะลาภิวัฒน์" ซึ่งกระบวนการกะลาภิวัฒน์เป็นความกลัวของรัฐที่พยายามจะควบคุมสังคม Digital โดยที่ไม่รู้เลยว่าโลกเราไปไกลกว่าอินเตอร์เน็ตแล้ว

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ระบุว่า ผู้มีอำนาจที่ดำเนินนโยบายลักษณะนี้ไม่เข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมเชิงซ้อนมาโดยตลอด คิดเพียงแต่ว่าสังคมไทยคนทุกคนเหมือนกันหมด ซึ่งสังคมแบบนี้ไม่มีอยู่จริง มีแต่ในจินตนาการเท่านั้น

"Single Gateway จึงเป็นความพยายามในการรวมศูนย์อำนาจเพื่อส่งเสริมระบอบเผด็จการอย่างยั่งยืน มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ในอีกแง่หนึ่ง นี่เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน" ผศ.ดร.ยุกติ กล่าวต่อ

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวโดยสรุปว่า Single Gateway เป็นการสูญเสียวิสัยทัศน์แคบๆที่พยายามจะปิดหูปิดตาประชาชน ต้องการให้คนเงียบ โดยรัฐพยายามทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ในสังคมหนึ่งๆ มันยังมีกลไกอื่นในการจัดการกับปัญหาอีกมากมาย Single Gateway เป็นการเดินสวนทางกับโลกที่เปิดโอกาสให้กับคนในโลกอนาคต และปิดโอกาสให้กับการกระจายอำนาจออกไปสู่ประชาชน

แหล่งข่าว: 
มติชนออนไลน์

เนื้อหาข่าวเป็นการรวบรวมเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มิได้นำไปเพื่อการค้าแต่อย่างใด